14:41
ขโมยและขมายในทรัพย์สินทางปัญญา
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ระบบเศรษฐกิจของโลกปัจจุบันทำให้สิ่งที่เรียกกันว่า "ทรัพย์สินทางปัญญา" ทำเงินได้มโหฬาร หากสามารถสร้างระบอบ (regime) กรรมสิทธิ์ที่ครอบคลุมไปได้ทั่วโลก
โดยอาศัยกลไกหลายอย่าง มหาอำนาจได้สถาปนาระบอบกรรมสิทธิ์นี้ขึ้น ผ่านองค์กรระหว่างประเทศ, กระบวนการยุติธรรมระหว่างประเทศ, และสนธิสัญญาทวิภาคี-พหุภาคีกับประเทศต่างๆ หลายฉบับ เพื่อเป็นหลักประกันว่า จะสามารถหากำไรจากทรัพย์สินทางปัญญาของตนได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ และอย่างมั่นคงยืนนาน
ระบอบกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญานี้ ไม่ใช่ระบอบที่เป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายนัก นอกจากทรัพย์สินทางปัญญามีลักษณะแตกต่างจากทรัพย์สินประเภทอื่น ตรงที่การหวงกรรมสิทธิ์อาจเป็นผลให้เกิดความเสื่อมโทรมด้านสุขภาพและชีวิตของคนอื่นได้มาก (เช่น กรรมสิทธิ์ของสูตรยารักษาโรค) ระบอบกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญายังเปิดให้มีการละเมิดสิทธิพื้นฐานของผู้คนได้อีกมากด้วย
อย่างน้อยมีสิทธิพื้นฐาน 5 ประการ ที่ระบอบกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งใช้อยู่ในปัจจุบัน ล่วงละเมิดอยู่เป็นประจำ
1/ ที่มนุษย์อยู่รอดมาได้ถึงทุกวันนี้ ก็ต้องอาศัยทรัพย์สินทางปัญญาที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ ทรัพย์สินส่วนนี้เป็นทรัพย์สินสาธารณะ กล่าวคือไม่มีบุคคลใดไปขึ้นทะเบียนถือกรรมสิทธิ์ส่วนตัว ในทุกท้องถิ่นทั่วโลก ล้วนอุดมด้วยทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นสาธารณะเช่นนี้ ระบอบกรรมสิทธิ์ที่สถาปนากันขึ้น ทำให้เกิดความพยายามของธุรกิจที่จะเข้าไปถือครองกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นสาธารณะเหล่านี้ โดยอาศัยรูปแบบต่างๆ ทั้งที่ใช้หรือไม่ได้ใช้วิทยาการสมัยใหม่เข้าไปกระทำต่อทรัพย์สินดังกล่าว เช่น พันธุ์พืช, พันธุ์สัตว์, เทคนิควิธี, หรือแม้แต่ผลิตภัณฑ์ที่ชาวบ้านหรือชาวพื้นเมืองใช้กันมาหลายชั่วคน
หากระบอบกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญาเปิดให้ธุรกิจทำเช่นนี้ได้กว้างขวางมากขึ้นไปเรื่อยๆ ในที่สุด การดำรงชีวิตตามปกติสุขของผู้คนทั้งโลก จะต้องซื้อหาไปทุกย่างก้าว ก่อให้เกิดความเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า
2/ ระบอบทรัพย์สินทางปัญญาที่มหาอำนาจสถาปนาขึ้น เปิดโอกาสอย่างกว้างขวางให้เกิดการกีดกันการพัฒนาตัวทรัพย์สินทางปัญญา เพราะการปิดกั้นหรือหวงห้ามกระบวนการผลิตบางอย่าง ทำให้ผู้อื่นไม่สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์นั้นให้ดีขึ้นได้ ตัวอย่างที่เห็นชัดคือการปิดบังหวงห้าม source code ของระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ ทำให้ผู้อื่นไม่สามารถปรับปรุงระบบปฏิบัติการให้มีประสิทธิภาพดีขึ้นได้ ต้องปล่อยให้ผู้ถือครองกรรมสิทธิ์หากินกับระบบของตนเองจนได้กำไรคุ้มแล้ว จึงจะพัฒนาเองเป็นระบบใหม่อีกระบบหนึ่ง และก็หวงห้ามไว้ตามเดิม
ในขณะที่ระบบปฏิบัติการซึ่งเปิดให้เป็นสมบัติสาธารณะ (open source) กลับสามารถพัฒนาไปได้อย่างรวดเร็ว เพราะมีผู้มองเห็นข้อบกพร่องของระบบ และสามารถพัฒนาให้เอาชนะข้อบกพร่องนั้นไปได้เรื่อยๆ รวมทั้งสามารถใช้ข้ามระบบกันได้ ในขณะที่ระบบปฏิบัติการแบบปิดย่อมกีดกันไม่ให้มีการใช้ข้ามระบบ เพื่อหวงตลาดไว้ในมือของตนเองตลอดไป
3/ นอกจากการกีดกันโดยปิดบังหวงห้ามกระบวนการผลิตแล้ว บริษัทยักษ์ใหญ่ยังสามารถใช้เงินลงทุนมหาศาลที่ตนมีอยู่เพื่อกีดกันทางสังคม ป้องกันมิให้ลูกค้ามีทางเลือกอื่นมากไปกว่าตกเป็นทาสของบริษัทตลอดไป
หลายปีมาแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวกับไอซีทีในเมืองไทย พยายามพัฒนาระบบปฏิบัติการเปิด เพื่อให้เหมาะและใช้ได้ดีกับภาษาไทย และรองรับโปรแกรมที่คนไทยอาจคิดขึ้นเองในอนาคต ในเวลาต่อมาบริษัทยักษ์ใหญ่ก็ใช้วิธีให้ทุน ในรูปของความช่วยเหลือ ทั้งแก่หน่วยงานนั้น และแก่มหาวิทยาลัยที่สอนด้านคอมพิวเตอร์อย่างเต็มที่ ในบัดนี้ประเทศไทยอยู่ในฐานะยอมจำนนอย่างราบคาบต่อระบบปฏิบัติการของบริษัทยักษ์ใหญ่ไปแล้ว เพราะ "ความช่วยเหลือ" ซึ่งทั้งหน่วยงานและมหาวิทยาลัยไทยรับไปเต็มคราบ
รัฐบาลของบริษัทที่ถือกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญายังสามารถใช้พลังทางการเมืองและเศรษฐกิจ กดดันการแสวงหาทางเลือกที่จำเป็นของโลกด้วย ดังเช่นการกดดันไทยหลังจากที่ไทยประกาศบังคับใช้สิทธิบัตรยาบางตัว หรือสั่งซื้อยาที่จำเป็นบางตัวจากประเทศที่ไม่ยอมรับระบอบกรรมสิทธิ์
ควรกล่าวด้วยว่า ส่วนหนึ่งของการหากำไรสูงสุดจากทรัพย์สินทางปัญญานั้น กระทำโดยการ "ผูกขาด" ในเชิงเทคนิค และมักทำอย่างซับซ้อนซ่อนเงื่อน สหภาพยุโรปมีคดีฟ้องร้องบริษัทซอฟต์แวร์ที่ "ผูกขาด" ในเชิงเทคนิคเช่นนี้หลายคดี เป็นผลให้บริษัทเหล่านั้นต้องเปิดให้มีการแข่งขันเสรี และถูกปรับเงินจำนวนมาก น่าสังเกตว่ากระทรวงและหน่วยงานด้านนี้ของไทยไม่เคยตั้งต้นเรื่องประเภทนี้อันจะนำไปสู่คดีในศาลเลย
4/ บัดนี้ ธุรกิจที่หากินกับทรัพย์สินทางปัญญา กำลังละเมิดสิทธิพื้นฐานของผู้คนอีกอย่างหนึ่ง คือสิทธิความเป็นส่วนตัวและสิทธิในเคหสถาน ในสหรัฐ หากบริษัทพบโดยการสอดแทรกเข้ามาเมื่อเวลาที่ผู้ใช้ต่ออินเตอร์เน็ตว่า ได้ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของตน ก็อาจขอกำลังเจ้าหน้าที่เข้าค้นและยึดเครื่องคอมพิวเตอร์ได้ทันที เช่นเดียวกับอำนาจที่เจ้าหน้าที่รัฐมีในการบุกเข้าตรวจค้นจับกุมยาเสพติด ไม่นานมานี้ก็ได้ยินนักการเมืองในฝ่ายบริหารของไทย เสนอให้อำนาจทำนองเดียวกันนี้แก่บริษัทและเจ้าหน้าที่ของรัฐอีกเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ในเมืองไทย เมื่อผู้บริโภคต่ออินเตอร์เน็ต บริษัทเจ้าของระบบปฏิบัติการก็อาจสอดแทรกเข้ามาตรวจสอบได้ว่า เครื่องคอมพิวเตอร์นั้นใช้ระบบปฏิบัติการที่ขโมยมาหรือไม่ หากพบว่ามีการละเมิด ก็อาจลงโปรแกรมเล็กๆ ลงไปในคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นผลให้มีข้อความเตือนอยู่ตลอดเวลา หรือบางกรณีมีผลให้เครื่องทำงานช้าลง
ตามท่าอากาศยานในยุโรป จะมีเจ้าหน้าที่จากบริษัทเครื่องอุปโภคดังๆ คอยตรวจดูว่า ผู้ใดใช้เสื้อผ้าหรือกระเป๋าที่เป็นของปลอมบ้าง หากพบ กฎหมายอนุญาตให้เจ้าหน้าที่บริษัทยึดสินค้าปลอมเหล่านี้เพื่อนำไปทำลายได้ทันที มีข้าวของในกระเป๋าเดินทางปลอมเท่าไร ก็ต้องเทออกมาบรรจุถุงพลาสติคหิ้วไปเอง
การขโมยนั้นผิดแน่ แต่เพื่อป้องปรามการขโมย เราจำเป็นต้องสังเวยสิทธิพื้นฐานแค่ไหน สังคมจึงจะอยู่เป็นสุขได้ เช่นเดียวกับการมุสาก็ผิดแน่ เราจะเปิดโอกาสให้ตำรวจศีลธรรมเข้ามาจับโกหกเราในบ้านเรือนเมื่อไรก็ได้กระนั้นหรือ และนี่เป็นการลงโทษแก่ผู้รับซื้อของโจรที่เหมาะสมกับการกระทำผิดแล้วหรือ
5/ หลักการของสินค้าที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญาบางอย่างนั้นประหลาดอยู่ กล่าวคือทรัพย์สินที่ซื้อไปนั้นสามารถใช้ได้เป็นส่วนตัวเท่านั้น จะเอาไปใช้ในเชิงพาณิชย์ไม่ได้ ฉะนั้นพี่เบิร์ดซึ่งมีความสุขในการร้องเพลงให้คนอื่นฟัง จึงไม่อาจแสวงหาความสุขได้ เมื่อดีเจเอาเพลงของพี่เบิร์ดไปเปิดผ่านวิทยุให้คนได้ฟังกันมากๆ เพราะดีเจได้เงินจากการเปิดเพลง จึงต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้แก่บริษัทต้นสังกัดพี่เบิร์ด
โดยหลักการทำนองเดียวกันนี้ เบรกรถยนต์ที่เรียกว่าเอบีเอสนั้นก็เป็นสินค้าทรัพย์สินทางปัญญาเหมือนกัน หากใช้ในรถส่วนตัวก็สามารถเบรกได้ตามใจชอบ หากนำไปใช้ในรถโดยสาร คนขับจะเบรกแต่ละครั้งต้องคิดก่อนว่าคุ้มหรือไม่ เพราะทุกครั้งที่ใช้เบรกก็ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์เหมือนกัน
กรรมสิทธิ์ของทรัพย์สินนั้น ต้องมีที่สิ้นสุดที่ใดที่หนึ่ง จะหากินกับกรรมสิทธิ์นั้นชั่วฟ้าดินสลายไม่ได้ แต่ในบรรดาสินค้าทรัพย์สินทางปัญญาหลายต่อหลายอย่าง การแลกเปลี่ยนด้วยเงินไม่ทำให้กรรมสิทธิ์ของเจ้าของเดิมสิ้นสุดลง สินค้าเหล่านี้จึงไม่มีขาย มีแต่ให้เช่าตามเงื่อนไขเท่านั้น
ตลอดเวลาที่ผ่านมาหลายปี รัฐบาลไทยมองปัญหาเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาอย่างแคบมากๆ กล่าวคือจำเป็นต้องยอมรับระบอบกรรมสิทธิ์ที่มหาอำนาจสถาปนาเอาไว้ เพื่อป้องกันมิให้ถูกกีดกันทางการค้า ดังนั้นจึงพร้อมจะสังเวยทรัพย์สินของผู้บริโภคไทยส่วนใหญ่ เพื่อเอาไปบำเรอผู้ส่งออกซึ่งมักมีเสียงดังเสมอ
ระบอบกรรมสิทธิ์นี้มีปัญหา และประเทศใหญ่ๆ บางประเทศก็หาได้ยอมรับระบอบนี้เต็มที่ไม่ เช่นจีนและอินเดียเป็นต้น ประเทศเล็กๆ อย่างไทยคงยากที่จะขัดขืนในขณะนี้ แต่รัฐบาลที่มองการณ์ไกล ต้องคิดวางแผนว่า เราจะร่วมกับประเทศอื่นๆ ในการปรับเปลี่ยนระบอบกรรมสิทธิ์นี้ให้เป็นธรรมแก่คนเล็กคนน้อยของโลก (ซึ่งรวมคนไทยด้วย) ได้อย่างไร
และในท่ามกลางระบอบกรรมสิทธิ์ที่ไม่เป็นธรรมนี้ เราจะรักษาตัวให้เสียเปรียบน้อยลงได้อย่างไร
การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญานั้นมีทั้งสองด้าน คือด้านขโมยและด้านขมาย รัฐมนตรีที่ขมีขมันในการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญานั้น แสดงความเอาใจใส่ต่อหน้าที่การงานของตนอย่างไม่ต้องสงสัย แต่เมื่อไม่ได้ทำอะไรอื่นมากไปกว่ายกกำลังเที่ยวปราบปราม (เหมือนรัฐมนตรีที่มีสมญาว่า "ตู้เย็น" ในสมัยก่อน) ความขมีขมันนี้ก็แสดงความตื้นเขินต่อปัญหาที่เผชิญอยู่ไปพร้อมกัน
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น