13:19

เรื่องของคนโกหก...ความจริงที่ควรรู้

เรื่องของคนโกหก...ความจริงที่ควรรู้ 
โดย นพ.กัมปนาท ตันสิถบุตรกุล จิตแพทย์โรงพยาบาลมนารมย์ 



ช่วงนี้มีข่าวคราวอื้อฉาวในแวดวงบันเทิงบ่อยครั้งที่พูดถึงเรื่องของดาราและครอบครัวของดาราบางคน มักไม่พ้นเรื่องส่วนตัว เรื่องเงินเรื่องทอง

ที่เป็นข่าวโด่งดังก็เห็นจะเป็นเรื่องการให้ข้อมูลเท็จต่อสังคม เช่น งานที่ทำอยู่ ความมีชื่อเสียงหรือแม้แต่ชาติกำเนิดของตัวเอง

นอกจากนี้บางคนก็เอาเรื่องในครอบครัวมาแฉมาเล่าสู่กันฟังเพราะเกิดความขัดแย้งในครอบครัว จนเกิดเรื่องเกิดราวถึงขั้นว่า จะฟ้องร้องกัน เพียงแค่นี้ก็พอจะให้สังคมตั้งคำถามว่า เกิดอะไรขึ้นกับคนเหล่านี้ ใครพูดเรื่องจริง ใครพูดไม่จริง และที่แน่ๆคนที่พูดไม่จริงหรือเช็คข่าวแล้วเรื่องราวไม่ตรงกับที่เคยบอกไว้ ก็กลายเป็นถูกตราหน้าว่าเป็นคน "ชอบโกหก"

ที่มากไปกว่านั้นสื่อหลายเจ้าก็ตั้งคำถามว่า ตกลงคนชอบโกหกหรือไม่เล่าเรื่องจริงนั้นป่วยทางจิตหรือเปล่า ทั้งๆ ที่ในชีวิตของคนเรานั้นผมเชื่อว่า อย่างน้อยสักครั้งที่เราก็เคยพูดโกหก แต่จะเพื่อเหตุผลอะไรนั้นก็คงหลากหลายแต่ก็มิได้หมายความว่า การพูดโกหกนั้นจะเป็นการทำสิ่งที่เลวร้ายจนให้อภัยมิได้



ก่อนจะไปถึงการวิเคราะห์ว่า ตกลงป่วยหรือไม่ป่วยนั้น อยากจะถามกลับเหมือนกันว่า เวลาที่คนที่อยู่ทางหน้าจอทีวีแทบทุกวัน เช่น นักการเมืองบางคน บุคคลที่มีชื่อเสียงบางคน กำลังเล่าเรื่องราวของตัวเอง บ้างก็ปฏิเสธแก้ตัวเรื่องที่คนอื่นจับได้ว่า ตนเองไปทำผิดอะไรมา บ้างก็พยายามสร้างภาพว่า เป็นคนดีของสังคมนั้น เหล่านี้เรียกว่าโกหกหรือเปล่า และจำเป็นต้องจัดการหรือประนามด้วยหรือไม่

ผมเห็นคนไทยก็ยังบริโภคเรื่องราวเหล่านี้อยู่ทุกวันและดูเหมือนจะเฉยๆแทบไม่ได้ให้ความสำคัญสักเท่าไรนัก บ้างก็ปลื้มไปตามภาพที่คนเหล่านั้นสร้าง บ้างก็มีอารมณ์ร่วมกับคนที่ตนเองรักตนเองชอบ จนในที่สุดความผิดก็เงียบหายไป คนไทยก็ลืมง่าย เรื่องก็ลงเอยไปด้วยดีหรือไม่ดี ไม่สำคัญ

แต่ที่แน่ๆพอมีข่าวใหม่เข้ามาให้วิพากษ์วิจารณ์ต่อก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจให้หยิบยกมากล่าวถึงอีก หมุนเวียนกันไปไม่รู้จบสิ้น

โกหก...เพราะจิตป่วยหรือจิตป่วน

โดยทั่วไปแล้วในวัยผู้ใหญ่สามารถแบ่งกลุ่มคนที่ชอบโกหกออกมาตามสาเหตุได้เช่นเดียวกัน ดังนี้

• กลุ่มที่ป่วยเป็นโรคจิตเวช ป่วยเป็นโรคจิต คนที่ป่วยแบบนี้ เวลาที่มีอาการหลงผิด ก็มักจะมีความคิด ความเข้าใจไปตามอาการหลงผิด (delusion) ของตัวเอง ส่วนใหญ่ก็เล่าเรื่องและคล้อยตามความคิดที่ผิดปกติไปเรื่อยๆ ในขณะนั้น ดูเหมือนเป็นการพูดโกหก แต่ผมเองไม่อยากใช้คำนี้ น่าจะเรียกว่า พูดเรื่องที่ไม่จริงเสียมากกว่า(ซึ่งไม่ได้เป็นการเจตนา) หากมีใครขัดใจหรือใครจะมาลบล้างคงไม่ได้ และจะรู้สึกโกรธและไม่พอใจ

โดยทั่วไป กลุ่มนี้เจอไม่มากนัก (ประมาณว่า ร้อยละ 1 ถึง 2 ของประชากรในประเทศ) แต่ก็พบบ้างเวลาที่พูดออกมาเป็นเรื่องเป็นราว แต่พอฟังให้ดีๆ เรื่องราวก็ยังคงไม่ปะติดปะต่อหรือเล่าเรื่องที่เป็นโลกส่วนตัวของตัวเองมากเกินไป และบางรายก็จะมีอาการประสาทหลอน เช่น หูแว่วร่วมด้วย

• กลุ่มที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ผู้ป่วยเหล่านี้บางครั้งมีการพูดเรื่องที่ไม่จริง เพราะมีความหวาดกลัว ไม่กล้าที่จะต่อสู้กับความจริง ทนไม่ได้กับความเจ็บปวดในโลกแห่งความเป็นจริง

ดังนั้นการพูดเรื่องราวต่างๆที่ไม่เป็นจริงก็เหมือนกับการพูดให้ตัวเองรับรู้ในเรื่องที่ไม่เป็นจริง แต่ไม่เจ็บปวดคงจะดีกว่า ทำบ่อยๆจนกลายเป็นหลอกตัวเอง แต่ลึกๆในใจก็รู้ดี เพราะฉะนั้นแม้หน้าจะชื่น แต่ก็อกตรม อยู่ดีครับ

• กลุ่มที่มีปัญหาทางด้านบุคคลิกภาพ เรียกว่า "พูดเท็จโดยกมลสันดาน" ซึ่งอาจจะอยู่ติดตัวไปอีกนานจนแก่ชราเลยก็ได้ หากไม่คิดกลับตัวกลับใจ ดังจะได้กล่าวโดยละเอียดต่อไป

คนชอบโกหกกับสิบแปดมงกุฏ

กรณีนี้คงเป็นกรณีที่พบมากที่สุดในสังคมไทย ผมมิได้บอกว่า คนที่พูดโกหกทุกคนเป็นสิบแปดมงกุฎทั้งหมด เพราะเชื่อว่า หลายคนก็เป็นคนที่มีจิตใจดี ไม่ได้ตั้งใจที่จะหลอกลวงใคร

แต่บางครั้งที่ไม่ได้พูดความจริงก็ด้วยเหตุผลที่ชั่งน้ำหนักแล้วว่า การพูดความจริงออกไปอาจจะก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าพูดโกหกไปก่อนชั่วคราว ตัวอย่างเช่น กรณีที่ญาติยังไม่กล้าที่จะบอกความจริงว่า ผู้ป่วยคนนั้นป่วยเป็นโรคมะเร็งในระยะสุดท้าย ซึ่งจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน แต่หากบอกความจริงทันทีแก่ผู้ป่วยก็อาจจะทำให้ตกใจ ช็อค และอาจจะอาการแย่ลงอย่างรวดเร็วจนเสียชีวิตเร็วกว่าที่ควรจะเป็น

อย่างไรก็ตามแม้ในความเป็นจริงแล้ว ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะรับรู้ความเจ็บป่วยของตนเองก็ตามการเลือกกาละเทศะในการพูดความจริงเพื่อบอกข่าวร้ายนั้นก็ถือว่า ยังมีความสำคัญอยู่

ส่วนประเภทที่อ้าง (แบบแก้ตัว) ว่าไม่กล้าที่จะพูดความจริงหรือมีบางทีก็ฟังดูมีหลักการ ในความเป็นจริงแล้วเรื่องแบบนี้ส่วนใหญ่คนก็มักจะรู้ทัน แต่การจับให้ได้คาหนังคาเขาก็มิใช่เรื่องง่าย เพราะคนที่กระทำพฤติกรรมเหล่านี้อยู่นั้นมักจะมีความสามารถในการหลบหลีกได้ไปเรื่อยๆ อาจจะใช้เวลานานมากที่จะจับผิดข้อมูลได้

อย่างไรก็ตามหากเราเชื่อว่าเวรกรรมมีจริงนั้น จะเห็นได้ว่าการโกหกต้องใช้พลังงานในการสร้างเรื่องราวต่างๆอย่างมากมายมหาศาลและต้องอาศัยความจำและสมาธิอย่างมากในการให้เรื่องราวปะติดปะต่อกันได้เหมือนในบทละครน้ำเน่าทั้งหลาย แต่ในที่สุดมักจะพลาดจนมุม เพราะการโกหกมากๆจนเรื่องราวบานปลายออกไปนั้นมักจะทำให้สิ่งที่ไม่สามารถจะเป็นจริงได้โผล่ขึ้นมาเรื่อยๆ แต่ก็ยังมีคนหลายคนที่แม้ว่าพยายามจะหลอกคนอื่นแล้วไม่สำเร็จ ก็เลยใช้กลไกทางจิตชนิดที่เรียกว่า Pseudologia Fantastica ในการหลอกตัวเองก่อนและพ่วงด้วยการหลอกผู้อื่นด้วย

Pseudologia Fantastica เป็นคำที่ใช้กันวงการจิตเวชและจิตวิทยา เป็นวิธีการอย่างหนึ่งของมนุษย์ในการบอกกล่าวเล่าเรื่องต่างๆตามที่ตนเองเข้าใจหรือต้องการให้เป็นอย่างนั้น การพูดเรื่องราวต่างๆที่ไม่เป็นความจริงกรอกหูตนเองอยู่ซ้ำๆบ่อยๆ บางคนใช้วิธีการแบบนี้มาตลอดทั้งชีวิต จนในที่สุดคนคนนั้นก็จะคิดว่าเรื่องที่ตนเองพูดโกหกอยู่นั้นเกิดขึ้นจริงๆและเป็นเรื่องจริง หากพูดออกสู่สาธารณะ ก็จะทำให้คนในสังคมเชื่อว่าเรื่องโกหกนั้นเป็นเรื่องจริงในที่สุด

แต่ทั้งนี้หากมีการพิสูจน์ตามกระบวนการกฎหมายแล้วเป็นเรื่องไม่จริงก็ต้องรับโทษในที่สุด วิธีการแบบนี้พบได้มากในกลุ่มคนที่เป็น Psychopath หรือ Sociopath เรียกง่ายๆว่า "สันดานโจร" นั่นเอง และไม่มีการเลือกชั้นวรรณะ การศึกษา และฐานะทางสังคม สามารถพบได้ทั่วไป ที่สำคัญที่สุดคือ "ไม่ได้เป็นความเจ็บป่วยทางจิตเวช" เพื่อใช้ในการลดหย่อนหรือเป็นข้ออ้างในการไม่ต้องรับโทษ

คนประเภทนี้มีความสามารถในการเล่นละครน้ำเน่าหลอกคนทั่วๆไป และที่สำคัญก็คือหลอกตัวเองด้วย คนประเภทนี้เป็นกลุ่มที่ยากเกินการเยียวยา จุดจบของคนชอบโกหกประเภทนี้มีอยู่ 2 ที่ คือ 1.ติดคุกหรือถูกดำเนินคดี และ 2.อาจจะถูกฆ่าตายในที่สุด 


เพราะฉะนั้นเวลาที่คุณดูข่าวคนพวกนี้ออกมาบีบน้ำตาร้องห่มร้องไห้ โกหกหลอกลวงคนทั้งประเทศ ก็ใช้สติพิจารณาสักนิดก็ได้ครับว่า คุณอาจจะกำลังดู "ละครน้ำเน่า" อยู่แค่นั้นเอง

โดย นพ.กัมปนาท ตันสิถบุตรกุล จิตแพทย์โรงพยาบาลมนารมย์
วันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2552

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น