คอลัมน์ สุวรรณภูมิ สังคมวัฒนธรรม
The Islamic World and Muslims in Southeast Asia จากเอกสารเผยแพร่ความรู้ ของ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
@อาหรับ
ในภาษาเซเมติด แปลว่า "ทะเลทราย" หรือคนที่มีชีวิตอยู่ในทะเลทราย คนเหล่านี้ไร้สัญชาติใดๆ
ในพระคัมภีร์อัลกุรอ่าน "a?r?b" หมายถึง พวกเบดูอิน ส่วนพระคัมภีร์ไบเบิล (Matt. 2:1) กล่าวว่า "ปราชญ์จากตะวันออก" ที่เดินตามดวงดาวไปนครเยรูซาเล็มนั้นอาจหมายถึงพวกเบดูอินซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของทะเลทรายอาระเบีย มากกว่าที่จะเป็นพวกมาไก (Magi) จากเปอร์เซียอย่างที่เคยเชื่อๆ กัน
@ อูฐ
เป็นสัตว์ที่มีประโยชน์และสำคัญต่อชาวเร่ร่อนในเขตทะเลทราย อย่างที่มักจะได้ยินประโยคที่ว่า "เป็นเรือแห่งทะเลทราย" แต่แท้จริงมันเป็นมากกว่านั้น เพราะชาวเร่ร่อนดื่มนมกินเนื้อ นุ่งห่มหนัง และใช้หนัง+ขนสร้างกระโจมเต๊นท์ ฉี่ใช้เป็นยาบำรุงผมและยารักษาโรค ส่วนมูลใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ มันจึงคือ "ของขวัญพิเศษจากพระอัลลอฮ์" มันสามารถมีชีวิตอยู่ได้ถึง 5 วันในฤดูร้อนโดยไม่ต้องดื่มน้ำเลย และในฤดูหนาวมันสามารถอยู่ได้นานถึง 25 วัน เข้าใจว่าอูฐเข้าสู่อาระเบียเมื่อประมาณ 3,000 ปีที่แล้ว โดยพวกมีเดียนจากเมโสโปเตเมีย
@ กุหลาบ
เป็นดอกไม้ที่นิยมกันมากในเปอร์เซีย เมื่อตอนคริสต์ศตวรรษที่ 10-12 ที่มีคำนิยมกล่าวกันว่า "กุหลาบสีขาวเกิดจากเหงื่อของท่านศาสดาขณะท่องไปในราตรี (nocturnal journey) เพื่อขึ้นไปอัญเชิญพระคัมภีร์อัลกุรอ่านลงมาจากสวรรค์ชั้นที่ 7 โดยนั่งไปบนหลังม้าวิเศษที่เรียก อัล บุรอก (al Bur?q) จึงเกิดเป็นกุหลาบสีเหลือง ส่วนกุหลาบสีแดงเกิดจากเหงื่อของเทวทูตจิบรีล (Gabriel)"
คำว่า กุหลาบ ในภาษาเปอร์เซียมาจากคำว่า กุล (gul) ซึ่งแปลว่า ดอกกุหลาบ และ ออบ (ob) ซึ่งแปลว่าน้ำ กุหลาบ (gul?b) คือน้ำดอกกุหลาบ หรือที่ภาษาไทยเดิม (สมัยอยุธยา) เรียกว่า "น้ำดอกไม้" ซึ่งสั่งเข้ามาจากประเทศเปอร์เซีย
@ ม้า
ม้าเปอร์เซียได้รับการยอมรับว่าเป็นม้าสายพันธุ์ที่ดีที่สุดในโลก สันนิษฐานว่าเดิมม้าป่าได้ถูกทำให้เชื่องเป็นสัตว์เลี้ยงโดยพวกชนเผ่าเร่ร่อนอินโดยูโรเปียน แถบทิศตะวันออกของทะเลสาบแคสเปียน แล้วพวกแคสไซต์-ฮิตไทต์ ได้นำเข้าสู่ดินแดนอาระเบียเมื่อ 2000 BC. โดยผ่านซีเรีย จากนั้นสายหนึ่งเดินทางเข้าสู่อียิปต์ อีกสายหนึ่งเข้ากรีซ
ม้าอาหรับเข้าสู่สเปนเมื่อศตวรรษที่ 8 พร้อมกับคลื่นของศาสนาอิสลาม สำหรับสายพันธุ์ม้าที่ดีคือ ม้าเบอร์เบอร์ (โมร็อกโก) และอันดาลูเซีย (สเปน)
ม้าเป็นสัญลักษณ์ของความกล้าหาญ นักกีฬา ฐานะและการอยู่รอดของชาวเบดูอิน
@ อินทผลัม
เป็นพืชสำคัญของอาระเบีย ผลของมันเรียกว่า ทัมรฺ (tamr) ใช้กินกับนม (อาหารหลักของพวกเบดูอิน) เป็นอาหารทั้งของคนและของอูฐ เข้าใจว่าแต่เดิมอยู่ในแถบเมโสโปเตเมีย เป็นพืชดั้งเดิมที่ดึงดูดให้มนุษย์มาตั้งถิ่นฐานที่นั่น กล่าวกันว่าท่านศาสดารับประทานเป็นอย่างแรกเมื่อละศีลอดในช่วงระมะดอน ชาวมุสลิมจึงยึดถือปฏิบัติตามกันจนปัจจุบัน
@ ตัวเลข
ตัวเลขสากลที่เราใช้กันอยู่จะเรียกกันว่า เลขอารบิค แต่แท้จริงคนอาหรับกลับเรียกว่า เลขฮินดี (Hindi) เพราะเป็นระบบตัวเลขที่ชาวอาหรับรับเอามาจากพวกอินเดียเมื่อศตวรรษที่ 9 เดิมนั้นการจะเขียนจำนวนก็ใช้ด้วยการสะกดเป็นตัวอักษร เช่น หอ-งอ-อึ-ไม้เอก-งอ "หนึ่ง" เป็นต้น
@ ส้ม
พวกอาหรับนำส้มเข้ายุโรป แต่เป็นส้มที่มีรสเปรี้ยวขม (bitter orange) ซึ่งเรียกว่าส้มเซวิลล์ (Seville) อันเป็นชื่อเมืองของสเปน ส่วนส้มชนิดหวานนั้นเป็นส้มที่พวกโปรตุเกสได้มาจากอินเดีย เมื่อประมาณศตวรรษที่ 10-11
@ โซดา
เป็นภาษาละตินสมัยกลาง มีความหมายว่า ปวดหัว มาจากคำพูดว่า ซุดา(sฺud?) ในภาษาอาหรับ ซึ่งหมายถึง "การแยกความเจ็บปวดออกจากหัว"
@ อ้อย
ชาวอาหรับรู้จักการกินน้ำตาลจากต้นอ้อยก่อนใคร โดยในภาษาอาหรับเรียกว่า ซุคคัร (sukkar) ยุโรปกินของหวานโดยใช้น้ำผึ้งวิลเลียมแห่งไทร์ (William of Tyre) บันทึกถึงสวนอ้อยในเมืองของตน (ปัจจุบันเมืองไทร์อยู่ในประเทศเลบานอน) เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 12 น้ำตาลจากอ้อยใช้เจือกับน้ำที่กลั่นจากดอกไม้ เช่น กุหลาบไวโอเล็ต และอื่นๆ ตลอดจนใช้ประกอบอาหาร เข้าใจว่าต้นอ้อยเข้าสู่ยุโรปโดยพวกครูเสดได้ไปจากประเทศซีเรีย
@ กาแฟ
ตำนานเกี่ยวกับกาแฟมักเริ่มจากการที่ตาคาลดี (Khaldi) ชายเลี้ยงแพะสังเกตว่า แพะกินผลไม้ป่าชนิดหนึ่งแล้วมันมีอาการคึกคะนอง แกลองทำตามก็ได้ผลทำนองเดียวกัน คนจึงเรียกแกว่า "ตาคาลดี แพะเต้นระบำ" (dancing goat) ตำนานมักจะระบุเวลาว่าตกอยู่ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 6 โดยให้สถานที่ว่าเป็นแถบที่ราบสูงเอธิโอเปียอันเป็นถิ่นกำเนิดต้นไม้ชนิดนี้
การดื่มกินกาแฟนิยมกันในหมู่ชาวอาหรับและมุสลิมโดยวิธีการกินนั้นสันนิษฐานว่า กินกันทั้งเม็ดในตอนต้น แล้วจึงค่อยๆ พัฒนาเป็นการคัดแยกเม็ดที่สุก นำมาตากแล้วขัดเปลือกนอกออกเอาเมล็ดภายในไปคั่วจนแห้ง (เบา) แล้วนำมาตำชงดื่มแต่น้ำ อย่างที่เรามักจะเห็นในกระโจมเต๊นท์ของพวกเบดูอิน-อาหรับจะมีครกไม้ (สำหรับตำเมล็ดกาแฟคั่ว) กับกาสำหรับชงตั้งอยู่ที่เตาไฟกลางเต๊นท์เสมอ
ความนิยมดื่มกาแฟข้ามจากชาวอาหรับไปสู่ชาวยุโรปโดยผ่านนครเวนิซ การที่กาแฟกลายมาเป็นสินค้าทำให้นำมาสู่การผูกขาดห้ามนำพันธุ์ออกนอกโลกของอาหรับ ซึ่งมีนครเมกกะฮ์เป็นเมืองส่งออกในศตวรรษที่ 17
ดัตช์เป็นพวกแรกที่ประสบผลสำเร็จในการขโมยพันธุ์ออกไปจากเมืองมอคคา (Mocha) ในเยเมนเมื่อปลายศตวรรษที่ 17 โดยนำไปปลูกที่หมู่เกาะอาณานิคมของคนในอินโดนีเซีย เช่น ชวา บาหลี สุมาตรา ติมอร์ ชื่อของกาแฟแต่เดิมคือ กะฮ์วา (kahwa) ในภาษาอาหรับและกาฮ์เวห์ (kahveh) ในภาษาตุรกี จึงมีชื่อเรียกอื่นๆ เช่น มอคคา ชวา และกัฟฟี (kaffee) ในภาษาดัตช์ เป็นปกติที่เราจะสั่งกาแฟว่า "ขอชวาสักถ้วย" ในยุโรปศตวรรษที่ 18 และในคอมพิวเตอร์ของเรา ก็จะมี icon รูปถ้วยกาแฟควันฉุยแทน java script
ชาติอื่นๆ ในยุโรปประสบผลสำเร็จในการนำพันธุ์กาแฟไปปลูกที่ละตินอเมริกา กลายเป็นชื่อต่างๆ เช่น บราซิล อาร์เจนตินา โคลัมเบีย ฯลฯ และปลูกกันมากจนกลายเป็นแหล่งผลิตใหญ่สุดในโลกปัจจุบัน
กาแฟมีหลายสายพันธุ์ แต่ที่ถือว่าสำคัญก็คือ อารบิก้า ซึ่งจะให้รสขม (ไม่เฝื่อนหรือเปรี้ยว) กับโรบัสต้าซึ่งจะให้กลิ่นหอม อาจกล่าวได้ว่าผลิตภัณฑ์กาแฟทุกๆ ชื่อ จะมีสัดส่วนของการผสมหลักสองสายพันธุ์นี้ทั้งนั้น
คนในโลกอาหรับ (ยกเว้นเอเชีย) นิยมดื่มกาแฟที่มีรสขมผสมน้ำตาลเข้มข้น และมีกลิ่นกาแฟไหม้เพราะคั่วไฟแก่ (หลายกรณีมีการเติมเครื่องเทศลงไปด้วย เช่น กระวานบด) ในยุโรปเองก็นิยมดื่มกาแฟเข้มข้นคล้ายกัน ฝรั่งเศสนั้นผสมด้วยนมต้ม 1 ส่วน เรียก ลาเต้ อิตาลีนั้นดื่มเอสเพรสโซ่ กินกันจอกเล็กเข้มข้นแบบพวกอาหรับ แต่หากผสมนมเดือดฟองฟู โรยผงโกโก้และอบเชย เรียก คาปูชิโน่ ส่วนพวกเวียนนาใส่วิปครีมด้วยแล้วเสิร์ฟพร้อมน้ำเย็น 1 แก้ว อเมริกามักถูกดูถูกว่ากินกาแฟรสอ่อน (คั่วด้วยไฟอ่อนปานกลาง) เหมือนน้ำล้างแก้วจนมีกาแฟยี่ห้อใหม่ๆ ออกมา ซึ่งคนนิยมกินกันเพราะชื่อยี่ห้อมากกว่ารสชาติ
คนไทยนั้นโดยทั่วไปกินกาแฟตามคนภาคใต้ ซึ่งน่าจะสืบทอดมาจากพวกมุสลิมเพื่อนบ้าน รสชาติที่ชอบคือ ขม-หวาน-ข้น-มัน ส่วนกาแฟสำเร็จรูปน่าจะนิยมตามอิทธิพลผู้ที่ไปอเมริกาแล้วนำกลับเข้ามาในช่วงทศวรรษ 2500 นี้เอง
@ ฮาเร็ม
ในภาษาอาหรับแปลว่า "หวงห้าม" ซึ่งหมายถึงเขตอันเป็นส่วนตัวในบ้านของชาวมุสลิม ซึ่งในขนบแบบมุสลิมนั้น สตรีจะไม่สมาคมกับบุรุษที่ตนไม่ได้เกี่ยวข้องด้วยในทางใดทางหนึ่ง
@ หนังตะลุง (shadow play)
อาจกำเนิดจากตะวันออกไกล พวกมุสลิมได้รับมาจากอินเดียหรือเปอร์เซียประมาณศตวรรษที่ 12 จากนั้นนิยมแพร่หลายทั่วไปแล้วเข้าสู่กรุงคอนสแตนติโนเปิลและยุโรปตะวันออกโดยผ่านไปทางอียิปต์และเอเชียตะวันตก
@ นิทานอาหรับราตรี
ต้นร่างนั้นชื่อว่า หะซาร อัลฟฺซานะ (Haz?r Alfs?na นิทานพันเรื่อง) ประพันธ์โดย ญะฮ์ชิยาริ (Jahshiy?ri) เมื่อศตวรรษที่ 10 ต่อมามีการผนวกนิทานเรื่องราวจากแหล่งต่างๆ เช่น อินเดีย กรีก ฮีบรู อียิปต์ และอื่นๆ แล้วเรียกว่า อัลฟฺ ลัยละฮ์ วะ ลัยละฮ์ (Alf laylah wa-laylah-พันกับหนึ่งราตรี) ได้รับการแปลเป็นภาษาฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 18 แล้วถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษโดย เอ็ดเวิร์ด วิลเลียม เลน (ศตวรรษที่ 19) จอห์น เพน (ปลายศตวรรษที่ 19) และเซอร์ริชาร์ด เบอร์ตัน (ค.ศ. 1885-8)
@ อุมัร อัล คัยยาม หรือ โอมาร์ คัยยาม
เกิดและตายที่เมืองนัยซาบูร (ค.ศ.1038 หรือ ค.ศ.1048-1123/4) คนไทยรู้จักท่านในฐานะเป็นผู้ประพันธ์บทกวี 4 บรรทัด (รุบา-อิ-ยาต-Ruba-i-yat) แท้จริงท่านเป็นทั้งกวี นักดาราศาสตร์ และที่สำคัญก็คือเป็นนักคณิตศาสตร์ ท่านได้สร้างปฏิทินที่มีความแม่นยำขนาดคลาดเคลื่อนเพียง 1 วัน ในรอบ 5,000 ปี ในขณะที่ปฏิทินตะวันตกที่ใช้กันอยู่ (แบบเกรเกอเรียน) นั้น จะคลาดเคลื่อน 1 วัน ในรอบ 3,000 ปี
วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11268
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น