11:46

ประวัติศาสตร์โลก ผ่าน "เกลือ"

คอลัมน์ สุวรรณภูมิ สังคมวัฒนธรรม 
ปรับปรุงจากบทแปลของ เรืองชัย รักศรีอักษร 
มติชน : หนังสือพิมพ์คุณภาพ 
เพื่อคุณภาพของประเทศ 

 
การเสาะหาเกลือเป็นงานที่ท้าทายวิศวกรมานานหลายพันปี เป็นแรงผลักดันในการคิดค้นเครื่องจักรมหัศจรรย์ที่สุด รวมทั้งเครื่องจักรที่คล่องแคล่วที่สุด งานสาธารณะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดจำนวนหนึ่งเกิดจากความจำเป็นในการขนย้ายเกลือ

เกลืออยู่ในแถวหน้าที่สุดของการพัฒนาทั้งวิชาเคมีและธรณีวิทยา เกิดเส้นทางการค้าที่ยังคงเป็นเส้นทางสัญจรหลัก มีการสร้างพันธมิตร ได้ปกป้องจักรวรรดิ และได้กระตุ้นการปฏิวัติ ทั้งหมดนี้เพื่อบางสิ่งที่มีอยู่เต็มมหาสมุทร ผุดขึ้นจากบ่อน้ำพุ ก่อตัวเป็นแผ่นที่พื้นทะเลสาบ เป็นสายแร่เข้มข้นกินบริเวณกว้างในชั้นหินแร่ติดกับผิวดิน


แทบจะไม่มีสถานที่ใดบนโลกที่ปราศจากเกลือ

แต่เรื่องนี้ไม่เป็นที่กระจ่างชัดเจนจนกระทั่งธรณีวิทยาสมัยใหม่ได้เผยให้รู้ ดังนั้นประวัติศาสตร์ทั้งหมดก่อนศตวรรษที่ยี่สิบ จึงเป็นเรื่องราวของการค้นหาเกลือที่เต็มไปด้วยอันตราย การค้าเกลือ และการต่อสู้แย่งชิงเกลือ เป็นเวลาหลายพันปีแล้วที่เกลือเป็นตัวแทนของความมั่งคั่ง พ่อค้าเกลือในแคริบเบียนจะเก็บเกลือไว้ในห้องใต้ดิน ชาวจีน ชาวโรมัน ชาวฝรั่งเศส ชาวเวนิซ ตระกูลฮัพเบิร์ก และรัฐบาลอื่นๆ อีกมากมายได้เก็บภาษีเกลือเพื่อหาเงินในการทำสงคราม มีการจ่ายเกลือเป็นค่าจ้างให้แก่ทหาร และบางครั้งก็ให้แก่คนงานด้วย

เกลือมีค่าเสมือนเงินตราตลอดมา

ในตำราเกี่ยวกับทุนนิยมเรื่องความมั่งคั่งของชาติ (The Wealth of Nations) ของ อดัม สมิธ ซึ่งเขียนขึ้นใน ค.ศ.1776 เขาได้ชี้ว่าแทบทุกอย่างที่มีค่าสามารถนำมาใช้เป็นเงินได้ เขายกตัวอย่างเช่น ยาสูบ น้ำตาล ปลาคอดแห้ง และวัวควาย ทั้งยังบอกว่า


"ว่ากันว่าเกลือเป็นเครื่องมือสามัญของการค้าและการแลกเปลี่ยนในอะบีส ซีเนีย" แต่เขาเสนอความเห็นว่าเงินตราที่ดีที่สุดทำจากโลหะ เนื่องจากมีลักษณะทางกายภาพที่คงทนถาวร แม้ว่าค่าของโลหะไม่ถาวรเช่นเดียวกับสินค้าอื่น

ทุกวันนี้ภาพเมื่อหลายพันปีของความปรารถนา การต่อสู้แย่งชิง การกักตุน การเก็บภาษี และการแสวงหาเกลือ ดูเหมือนจะเป็นภาพที่งดงาม แต่ค่อนข้างโง่เขลา

ผู้นำของอังกฤษในศตวรรษที่สิบเจ็ดซึ่งกล่าวอย่างร้อนรนเกี่ยวกับอันตรายของชาติที่ต้องพึ่งพาเกลือทะเลของฝรั่งเศส ดูน่าขันมากกว่าผู้นำในปัจจุบันที่ห่วงใยเรื่องการพึ่งพาน้ำมันต่างประเทศ ทุกยุคทุกสมัยผู้คนจะมั่นใจว่าสิ่งที่พวกเขารู้สึกว่ามีค่าเท่านั้นจึงจะมีค่าอย่างแท้จริง

การแสวงหาความรักและการเสาะหาความร่ำรวยมักจะเป็นเรื่องราวที่สนุกที่สุดเสมอ ขณะที่เรื่องราวแห่งความรักเป็นเรื่องนิรันดร์ แต่เรื่องราวการเสาะหาความร่ำรวยเมื่อเวลาผ่านไปสักระยะก็ดูเหมือนว่าจะเป็นภาพลวงตาที่ดำเนินไปอย่างไร้แก่นสารเสมอ



สงครามเกลือในอเมริกา

เมื่อศึกษาแผนที่ของถนนแทบทุกแห่งในอเมริกาเหนือ จะสังเกตเห็นการออกแบบที่ไม่เป็นไปตามหลักเรขาคณิต แลดูแปลกตาของถนนสายรองซึ่งเป็นถนนในท้องถิ่น ผู้ดูแผนที่คงคาดเดาไว้ว่าเมืองเหล่านี้ตั้งขึ้นและเชื่อมโยงถึงกันอย่างไม่มีระเบียบ ไม่มีการวางแผนหรือออกแบบ ทั้งนี้เพราะถนนเหล่านี้เกิดจากการขยายทางเท้าหรือเส้นทางเดิน ซึ่งเดิมเป็นเส้นทางเดินของสัตว์ที่ค้นหาเกลือ

สัตว์หาเกลือได้ด้วยการหาบ่อน้ำพุน้ำเกลือ น้ำกร่อย เกลือสินเธาว์ หรือแหล่งเกลือตามธรรมชาติที่พอให้เลียกินได้

โป่งเกลือที่ค้นพบทั่วทั้งทวีปมักจะเป็นบริเวณที่ราบรกร้างขนาดหลายเอเคอร์ เนื้อดินสีน้ำตาลอมขาวหรือสีเทาอมขาวมีโพรงลึกจนเกือบเป็นหลืบถ้ำ เนื่องจากถูกเลียกินเป็นประจำ โป่งเกลือมักอยู่ปลายสุดของถนน เพราะเป็นแหล่งที่มีเกลือ เป็นจุดที่เหมาะสำหรับการตั้งถิ่นฐาน มีการสร้างหมู่บ้านตามโป่งเกลือ โป่งเกลือใกล้ทะเลสาบ อีรีเป็นทางกว้างที่เกิดจากควายป่า เมืองที่สร้างขึ้นที่นั่นจึงมีชื่อว่าบัฟฟาโล อยู่ในรัฐนิวยอร์ก

ตอนที่ชาวยุโรปมาถึงได้พบการทำเกลือปริมาณมากตามหมู่บ้านในอเมริกาเหนือ เมื่อ ค.ศ.1541 เฮอร์นันโด เดอ โซโต นักสำรวจชาวสเปนได้เดินทางขึ้นไปตามลำน้ำมิสซิสซิปปี และพบเห็น "การทำเกลือตามแม่น้ำ พอน้ำลดก็จะเหลือเกลืออยู่บนทราย เนื่องจากไม่สามารถเก็บเกลือโดยไม่มีทรายมาด้วย จึงต้องนำไปใส่ในตะกร้าที่ทำขึ้นเฉพาะ มีปากกว้างและก้นแคบ แล้วแขวนตะกร้าไว้บนเสาอกไก่ จากนั้นจึงเทน้ำลงไป โดยมีภาชนะรองรับข้างล่าง แล้วนำไปต้มให้ระเหยเหลือแต่เกลืออยู่ที่ก้นภาชนะ"

ชนเผ่าล่าสัตว์ที่ไม่ได้ปลูกพืชจะไม่ทำเกลือ ยกเว้นชาวเอสกิโมที่ช่องแคบแบริง พวกเขาล่ากวางเรนเดียร์ แกะภูเขา หมี แมวน้ำ วอลรัส และสัตว์อื่นๆ แล้วนำมาต้มในน้ำทะเลเพื่อให้มีรสเค็ม ก่อนที่ชาวยุโรปจะมาถึง หลายชนเผ่าอย่างเพนอบสกอต เมโนมินิ และชิพเพวาไม่เคยใช้เกลือ มิชชันนารีนิกายเยซูอิตในดินแดนของอินเดียนแดงเผ่าฮูรอนบ่นเรื่องที่ไม่มีเกลือ แม้ว่ามิชชันนารีท่านหนึ่งจะได้ให้ความเห็นว่า คนเผ่าฮูรอนมีสายตาดีกว่าชาวฝรั่งเศส และเห็นว่าที่เป็นเช่นนี้เพราะพวกเขาละเว้นจากไวน์ เกลือ และ "สิ่งอื่นที่ทำให้ความรื่นรมย์ของดวงตาเหือดแห้งไป และทำลายความมีสีสันของดวงตา"

กล่าวกันว่าชาวอินเดียนเผ่าพูเกตซาวนด์ซึ่งกินปลาแซลมอนเป็นอาหารหลัก ก็ไม่กินเกลือ ชาวเผ่าโมฮีแกนในคอนเนกติคัตกินกุ้งล็อบสเตอร์ หอยกาบ ปลาแชด ปลาแลมเพรย์ รวมทั้งข้าวโพดเป็นอาหารหลัก แต่ทว่า ตามที่คอตตัน เมเธอร์ กล่าวอ้าง "พวกเขาไม่มีเกลือแม้แต่เม็ดเดียวในโลก จนกระทั่งพวกเรานำไปมอบให้"

แต่ชาวเผ่าเดลาแวร์เติมเกลือลงในอาหารที่ทำจากข้าวโพด ชาวเผ่าโฮพีต้มถั่วและปลาหมึกด้วยเกลือ และกินกระต่ายแจ๊กแรบบิตด้วยการตุ๋นกับพริกและหัวหอมป่าในน้ำที่เติมเกลือ ชาวเผ่าซูนิกินก้อนแป้งต้มในซอสน้ำเกลือ และทำคูเชเว (kushewe) ซึ่งเป็นขนมปังเค็มทำจากมะนาวและซุเอตเค็ม เวลาเดินทางชาวเผ่าซูนิมักจะพกกระปุกเกลือและพริกแดงไปด้วย ส่วนประกอบของสองสิ่งนี้ยังคงเป็นเครื่องปรุงรสชั้นเยี่ยมในแถบตะวันตกเฉียงใต้

ประวัติศาสตร์ของทวีปอเมริกาเป็นประวัติศาสตร์แห่งสงครามเพื่อแย่งชิงเกลืออย่างไม่หยุดหย่อน

ใครก็ตามที่ครอบครองเกลือจะเป็นผู้มีอำนาจ เรื่องนี้เป็นความจริงทั้งก่อนที่ชาวยุโรปจะมาถึง และยังคงดำเนินต่อไปจนกระทั่งหลังสงครามกลางเมืองในอเมริกา



0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น