14:26

หมวก 6 ใบกับความคิด 6 แบบ

หมวก 6 ใบกับความคิด 6 แบบ
รายงานโดย :วันพรรษา อภิรัฐนานนท์
วันจันทร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2552


“หมวก 6 ใบกับความคิด 6 แบบ” (Six Thinking Hats) เป็นแนวคิดของดร.เอ็ดเวิร์ด เดอ โบโน ผู้นำระดับตำนานสาขาวิชาแนวคิดและการสอนทักษะความคิด

สำหรับแฟนนักคิดในเมืองไทย ส่วนใหญ่รู้จักแนวคิดเรื่องหมวก 6 ใบกันแพร่หลายจากสำนวนแปล ส่วนตัวผู้เขียนเองนิยมสำนวนแปลเล่มแรก สุรชัย รัตนกิจตระกูล มากที่สุด (ซีเอ็ดยูเคชั่น) จึงขออนุญาตถ่ายทอดสำนวนแปลของท่าน หวังว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับนักคิดนักบริหารรุ่นใหม่ที่กำลังอยู่ระหว่างปรับปรุงการคิด ทักษะ และการทำงานให้ฉลุย



หมวก 6 ใบ

“ความสามารถในการคิดเป็นทรัพยากรสูงสุดของมนุษยชาติ แต่เราก็ไม่ควรรู้สึกพึงพอใจ ไม่ว่าเราจะคิดเก่งเพียงไร เราก็ควรพยายามที่จะปรับปรุงทักษะด้านนี้อยู่เสมอ” เอ็ดเวิร์ด เดอ โบโน กล่าวไว้ในหนังสือหมวก 6 ใบของเขา สำหรับผู้เริ่มต้น หมวก 6 ใบคือแนวทางการคิดที่แปลกใหม่ (ตลอดกาล) ง่ายและปฏิบัติได้จริง โดยเป็นแนวคิดที่เสนอวิธีคิด วิธีการประชุมระดมความคิดที่แยกขั้นตอนการคิดออกเป็น 6 แบบที่แตกต่างกัน

หมวกขาว : ข้อเท็จจริง ตัวเลข ที่เป็นกลาง ไม่ปะปนกับข้อคิดเห็น หรืออารมณ์ความรู้สึกหรือเหตุผลด้านใดทั้งสิ้น
หมวกแดง : อารมณ์ความรู้สึก

หมวกดำ : เหตุผลด้านลบ

หมวกเหลือง : เหตุผลด้านบวก

หมวกเขียว : ความคิดสร้างสรรค์ ความคิดใหม่ๆ

หมวกฟ้า : การควบคุมขั้นตอนการคิด และขั้นตอนการใช้หมวกทั้ง 6 ใบ

เอ็ดเวิร์ด กล่าวว่า การแยกความคิดออกเป็น 6 ด้าน ทำให้สามารถมุ่งคิดเพียงครั้งละด้าน โดยไม่ต้องพะวงกับด้านอื่น ทำให้คิดได้ง่ายและมีประสิทธิผลสูง การคิดมีอุปสรรคที่ความสับสน เพราะเราพยายามคิดหลายๆ ด้านพร้อมกันมากเกินไป เช่น อารมณ์ความรู้สึก ข่าวสารข้อมูล หลักของเหตุและผล ความหวัง และความคิดสร้างสรรค์ เสมือนหนึ่งเราพยายามเลี้ยงลูกบอลหลายๆ ลูกไปพร้อมกัน

การคิดเพียงครั้งละด้านจะช่วยให้แยกความรู้สึกออกจากเหตุผล ความคิดสร้างสรรค์ออกจากการวิเคราะห์ข้อมูล เป็นต้น ผู้คิดสวมหมวกเพียงใบหนึ่งใบใดจาก 6 ใบ เพื่อจำกัดให้คิดเพียงครั้งละด้าน จึงสามารถชักนำ และควบคุมกระบวนการทางความคิดและกระบวนการระดมความคิด ทั้งกรณีมีผู้คิดคนเดียว และกรณีมีผู้คิดร่วมกันหลายคน โดยเฉพาะในที่ประชุมที่จะมีประโยชน์มาก หากให้บุคคลเปลี่ยนหมวกเพื่อไปคิดในด้านที่ต่างไปจากที่เขาเคยชิน เพื่อเป็นการเปลี่ยนมุมมองของแต่ละคน



The Thinker (French: Le Penseur) is a bronze and marble sculpture by Auguste Rodin
------------------------


นักคิดของโรแด็ง 

ตั้งอยู่ที่จัตุรัสหน้าอาคารรัฐสภาในนครบัวโนสไอเรส คือ The Thinker ประติมากรรมชิ้นเอกของออกุสต์ โรแด็ง นักคิดโลหะบรอนซ์นั่งเท้าคางอันเป็นสัญลักษณ์ของคนที่กำลังใช้ความคิดอย่างจริงจัง เอ็ดเวิร์ด บอกว่า หากท่านแสดงบทเป็นนักคิด ท่านก็จะเป็นนักคิดขึ้นมาจริงๆ เพราะสมองจะคล้อยตามบทที่กำลังแสดงอยู่ หลักในเรื่องนี้คือการคิดให้ครบทุกด้าน (ด้วยหมวกทุกใบ) จากนั้นจึงจัดระเบียบเพื่อมองให้เห็น 

หมวกขาว-สีขาว แสดงถึงความเป็นกลางและวัตถุวิสัย เป็นเรื่องของข้อมูลตัวเลข ข้อเท็จจริงต่างๆ 

หมวกแดง-สีแดง แสดงอารมณ์โกรธ อารมณ์ หมวกแดงจึงเป็นการมองทางด้านอารมณ์ ความรู้สึก สัญชาตญาณ 

หมวกดำ-สีดำ คือความมืดและด้านลบ หมวกดำจึงหมายถึงด้านลบ ข้อเสีย และเหตุผลในการปฏิเสธ 

หมวกเหลือง-สีเหลือง แสดงถึงความสว่างไสวและด้านบวก หมวกเหลืองจึงเป็นการมองในแง่ดี แง่บวก ความเป็นไปได้ ความหวัง ความมั่นใจว่าทำได้ เหตุผลในการยอมรับ 

หมวกเขียว-สีเขียว คือหญ้า พืช ต้นไม้ ความอุดมสมบูรณ์ ความเจริญเติบโต หมวกเขียวจึงหมายถึงความคิดสร้างสรรค์ ความคิดใหม่ๆ 

หมวกฟ้า-สีฟ้า คือความเยือกเย็น ท้องฟ้าอยู่เหนือทุกสิ่งทุกอย่าง หมวกฟ้าจึงเกี่ยวข้องกับการควบคุมและจัดระเบียบกระบวนการ และขั้นตอนการคิด หรือการจัดระเบียบการใช้หมวกสีต่างๆ นั่นเอง 

หมวกสีขาว 

“คุณทำตัวเหมือนกับคอมพิวเตอร์ได้ไหม ผมขอเพียงข้อเท็จจริงที่เป็นกลางเท่านั้น ผมไม่อยากให้คุณตีความหมาย (ได้โปรด) ผมขอเพียงข้อเท็จจริง เอาเป็นว่าคุณตอบผมได้ไหมว่า เรื่องนี้มีข้อเท็จจริงอย่างไร?” 

...บ่อยครั้งที่ข้อเท็จจริงและตัวเลขถูกห่อหุ้มด้วยความเห็น ข้อเท็จจริงไม่ได้ใช้เพื่อการเสนอข้อเท็จจริง แต่ถูกใช้เพื่อจุดประสงค์อื่น ข้อเท็จจริงและตัวเลขจึงรักษาความเป็นกลางได้ยาก บ่อยครั้งที่มันถูกใช้ในการสนับสนุนข้อคิดความเห็นของใครหรือฝ่ายใด 

ความคิดหมวกขาวจึงเป็นข้อเท็จจริงและตัวเลขที่เป็นกลางล้วนๆ แต่การใช้หมวกสีขาวไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะจะต้องอาศัยทักษะทั้งของผู้ขอข้อเท็จจริงและผู้หาข้อเท็จจริง ซึ่งอาจยากที่สุดในบรรดาหมวกทั้ง 6 ใบ สิ่งที่ต้องคิดให้มากคือความเป็นข้อเท็จจริงของใคร บ่อยครั้งที่ข้อเท็จจริงเป็นแค่ความเชื่อหรือความน่าจะเป็น และบ่อยครั้งที่เป็นข้อเท็จจริงที่ไม่มีข้อเท็จจริงอยู่เลย 

สรุป-สีขาว คือความเป็นกลาง ไม่มีสี ไม่มีความโน้มเอียง ผู้ขอข้อมูลควรตั้งคำถามโดยมุ่งเฉพาะจุดที่ต้องการข้อมูลจริงๆ ในทางปฏิบัติยังมีข้อเท็จจริงขั้นสูง (ตรวจสอบพิสูจน์แล้ว) และข้อเท็จจริงขั้นต่ำ (ยังไม่ตรวจสอบพิสูจน์) อย่าลืมชั่งน้ำหนักคำตอบที่ได้เสมอ 

หมวกสีแดง 

“ผมก็ไม่รู้ว่าทำไม แต่ผมรู้สึกว่าข้อตกลงนี้ส่งกลิ่นไม่ค่อยดี”...หมวกแดงตรงข้ามกับหมวกขาว อารมณ์ความรู้สึกตรงกันข้ามกับข้อเท็จจริงที่เป็นกลาง สัญชาตญาณ ลางสังหรณ์ ความประทับใจ ไม่ต้องการตัดสินใดๆ ไม่จำเป็นต้องสนับสนุนด้วยเหตุผล 

ถ้าเราไม่ยินยอมให้อารมณ์ความรู้สึกเข้ามามีส่วนในกระบวนการคิด อารมณ์ความรู้สึก ก็จะหลบอยู่ด้านหลังโดยไม่ได้สูญหายไปไหนเลย และจะมีอิทธิพลอย่างลับๆ ต่อการตัดสินใจแบบไม่ใช้เหตุผล สิ่งสำคัญคืออย่าให้อารมณ์มาบดบังความคิด แต่ต้องให้อารมณ์เป็นส่วนช่วยส่งเสริมความคิด บุคคลที่โน้มเอียงตามอารมณ์เป็นนักคิดที่ดี และคนบางคนก็สามารถใช้ประโยชน์จากสัญชาตญาณของตัวเองได้อย่างเหลือเชื่อ 

หมวกสีดำ 

“เหตุผลด้านลบ ทำไมจึงไม่ได้ผลกับเรา ไม่เหมาะสมกับประสบการณ์ของเรา การตัดสินเชิงวิจารณ์ การมองโลกแง่ร้าย” หมวกดำเป็นส่วนสำคัญของกระบวนการคิด แต่ก็มิใช่ส่วนเดียวที่สำคัญ ความคิดหมวกดำต้องมีเหตุผลเสมอ และต้องเป็นเหตุผลด้านลบด้วย (ถ้าเป็นอารมณ์ด้านลบคือหมวกสีแดง) การใช้หมวกดำจะต้องหาเหตุผลมาอธิบายเสมอ อันที่จริงประโยชน์สูงสุดข้อหนึ่งของแนวทางหมวก 6 ใบคือ การแยกให้ออกระหว่างอารมณ์ด้านลบกับเหตุผลด้านลบ 

การที่หมวกดำมุ่งเฉพาะที่เหตุผลด้านลบ ทำให้ผู้คิดไม่ต้องคอยพะวงว่า จะต้องหาเหตุผลทั้งสองด้านเพื่อความยุติธรรม ผลคือผู้คิดสามารถทุ่มเทความคิดให้กับเหตุผลด้านลบได้อย่างเต็มที่ จนกว่าเขาจะเปลี่ยนไปสวมหมวกสีอื่น บุคคลที่มองโลกแง่ร้าย ถ้าใช้วิธีการคิดแบบปกติคือการคิดหลายด้านพร้อมกัน ก็มักจะได้ความคิดหนักไปในทางลบ แต่ถ้าแยกและมุ่งที่แต่ละด้านของความคิด จะพบว่าหมวกดำเป็นเพียงการประเมินด้านลบ และเป็นด้านหนึ่งของความคิด (เท่านั้น) 

หมวกสีเหลือง 

“ความคิดด้านบวก สีเหลืองหมายถึงแสงสว่าง การมองโลกแง่ดี มุ่งที่ประโยชน์ ทัศนคติที่ว่าทำได้ ทำให้สำเร็จได้” คนส่วนมากมักมีโลกทัศน์ด้านลบมากกว่าด้านบวก โลกทัศน์ด้านบวกเกิดจากความอยากรู้ ความพอใจ ความโลภ ความปรารถนาต่อความสำเร็จ การสวมหมวกเหลืองคือการทำให้เรามีเครื่องมือไว้ช่วยเราให้มองด้านบวกอย่างจงใจ หมวกเหลืองต้องอาศัยวินัยมากเท่ากับหมวกขาวและดำ เพราะมิใช่การประเมินด้านบวกเท่าที่ปรากฏให้เห็น แต่รวมถึงการจงใจเสาะแสวงหาด้านบวกที่แฝงอยู่ด้วย 

นี่คือความสามารถในการมองออก และเข้าใจในคุณค่าบางประการที่ผู้อื่นมองไม่เห็น อย่าลืมลำดับมากน้อยของความเป็นบวกที่มองด้วย และอย่าลืมว่าเมื่อไรที่การมองโลกแง่ดีกลายเป็นความโง่เขลา จากความหวังสู่เหตุผล การมองโลกในแง่ดีและการมองโลกให้ตรงกับความเป็นจริง หมวกสีเหลืองรวมถึงการคาดเดาด้านบวก ประโยชน์ของคำว่า “ถ้า” ฉากแห่งอนาคต หรือทัศนคติแห่งการมองสู่อนาคตอย่างมีความหวัง หาร่องรอยและสำรวจอย่างจริงจัง 

หมวกสีเขียว 

“ความคิดใหม่ แนวทางใหม่ มุมมองใหม่ การสร้างสรรค์ความคิดใหม่อย่างจงใจ ความเปลี่ยนแปลง” หมวกเขียวคือภาพของการสร้างสรรค์ คือเมล็ดพันธุ์ที่เติบใหญ่แตกกิ่งก้านไม่รู้จบ คือการหลบหลีกจากความคิดเดิม สู่ความคิดใหม่ นั่นคือการเปลี่ยนแปลง บ่อยครั้งที่นักคิดสร้างสรรค์ที่ดีคือ คนธรรมดาที่เพียงมีเวลามากขึ้นกับการพยายามคิดสร้างสรรค์ 

หมวกใบนี้ยังมีศัพท์บัญญัติใหม่ ความคิดลากข้าง หรือความคิดแนวข้าง ซึ่งเป็นความคิดสร้างสรรค์ประเภทหนึ่ง แต่ความคิดลากข้างมีความหมายแคบกว่า เพราะเจาะจงประเภทที่เปลี่ยนแนวความคิดและมุมมองเท่านั้น อีกความหมายหนึ่งคือความคิดแนวข้างตั้ง ช่วยให้ผู้คิดผ่ารูปแบบเก่าไปสู่รูปแบบใหม่ แทนที่จะเพียงปฏิบัติตามหรือพัฒนาต่อจากรูปแบบเก่าดังวิธีคิดทั่วไป 

การเคลื่อนหน้าและการตัดสินใจแบบหมวกเขียว คือการใช้ความคิดหนึ่งเป็นจุดเริ่มต้นสู่การเคลื่อนไปข้างหน้า จุดสำคัญคือการเคลื่อนหน้าไม่ใช่การประเมินหรือตัดสินด้านบวก (หรือด้านลบ) ความพึงพอใจง่ายจนเกินไป เส้นทาง ทางเลือก ระดับของทางเลือก ทัศนคติที่ยอมรับว่ามีทางเลือก และความยินดีที่จะเสาะแสวงหาทางเลือก 

หมวกสีฟ้า 

“การจัดระเบียบวิธีการระดมความคิด การควบคุมขั้นตอนการใช้หมวกความคิด” เฉกเช่นท้องฟ้าที่ครอบคลุมทุกอย่างทุกสิ่ง สีฟ้ายังหมายถึงการควบคุมจากภาพรวม และความเป็นกลาง ความสงบเยือกเย็น การควบคุมตนเองได้ 

ความคิดมักเกิดเป็นระลอก บางครั้งเกิดขึ้นเป็นปฏิกิริยาตอบสนองต่อเหตุการณ์เฉพาะหน้า โดยมีจุดประสงค์หรือพื้นฐานอยู่เบื้องหลัง แต่สิ่งที่อยู่เบื้องหลังนี้-อะไรก็ตาม มักไม่ถูกแสดงออกมาให้ (ตัวเองและ) บุคคลอื่นทราบ ข้อเสนอ การตัดสิน ข้อวิจารณ์ ข้อมูล และอารมณ์ความรู้สึกมักผสมปนเปกันจนไม่อาจคุ้ยเขี่ยหาคำตอบได้ 

การโต้เถียงมักก่อให้เกิดแนวทาง การคิดตามลำพังหรือการคิดเป็นกลุ่มก็ตาม จะต้องหาแนวทางหรือโครงสร้างการคิดเสียก่อน หมวกสีฟ้ามีบทบาทเมื่อต้องวางแผนล่วงหน้า อาจเป็นการกำหนดจุดอย่างละเอียดหรือวางเป็นเค้าโครงหลักก็ได้ การตั้งประเด็น การถามให้ถูกคำถาม การหาคำจำกัดความให้ถูกต้อง การแทรกเสริมเป็นครั้งคราว หมวกฟ้ามีหน้าที่จัดระเบียบและควบคุมขั้นตอนการคิด การก้าวทีละขั้น ราวกับการออกแบบท่าเต้นบัลเลต์ที่ทำให้นักเต้นบัลเลต์ได้วาดลวดลายอย่างราบรื่นสวยงามบนเวทีฉะนั้น... 





0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น