11:02

ความจริงจาก An Inconvenient Truth

โลกสีเขียว
เพชร มโนปวิตร เรื่อง
โดย onopen.com - โอเพ่นออนไลน์


ความจริงจาก An Inconvenient Truth 

อัล กอร์ เปิดฉากการบรรยายเกี่ยวกับปัญหาภาวะโลกร้อน (Global Warming) ด้วยภาพโลกภาพแรกที่ถ่ายได้จากอวกาศ แม้เราอาจจะเคยเห็นภาพนี้มาแล้วไม่รู้กี่สิบครั้ง แต่โลกสีน้ำเงินใบนี้ก็ยังคงดูงดงามไร้ที่ติ 

กอร์กล่าวว่าภาพๆ นี้ช่วยให้เกิดขบวนการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมไปทั่วโลก เพราะมันช่วยเตือนสติให้ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญของโลกที่เราอยู่และปลุกให้คนเราตื่นขึ้นมาต่อสู้กับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่นับวันจะเลวร้ายลงเรื่อยๆ 

  An Inconvenient Truth เป็นหนังสารคดียาว 100 นาทีที่ฉายให้เห็นวิกฤติการณ์เรื่องโลกร้อนอย่างตรงไปตรงมาและลึกซึ้ง หนังไม่เพียงแต่นำเสนอข้อมูลวิทยาศาสตร์อันน่าสะพรึงกลัว หากยังสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนดูได้อย่างน่าทึ่ง ส่วนจะบรรลุผลขนาดเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมขนาดไหน หรือนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายหรือไม่นั้นเป็นเรื่องที่น่าติดตาม

หนังเดินเรื่องโดย อัล กอร์ อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาและผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีปี 2000 ที่แพ้การเลือกตั้งให้กับจอร์ช ดับเบิล ยู บุชไปอย่างเฉียดฉิวและน่าเคลือบแคลง ด้วยคะแนนเสียงลึกลับจากรัฐฟลอริด้า รัฐที่น้องชายบุชเป็นผู้ว่าการรัฐฯ

ดาวิส กุ๊กเกนเฮม ผู้อำนวยการสร้างหนังสารคดีเรื่องนี้ใช้เรื่องราวชีวิตส่วนตัวของกอร์มาเป็นตัวดำเนินเรื่องคู่ขนานและตัดสลับไปมากับการนำเสนอข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับโลกร้อนได้อย่างแยบคาย

ตั้งแต่สมัยกอร์เรียนมหาวิทยาลัย เขามีโปรเฟสเซอร์เป็นนักวิทยาศาสตร์คนแรกๆ ที่เริ่มตรวจวัดระดับคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ในชั้นบรรยากาศ และสิ่งที่ค้นพบนั้นก็กลายเป็นหลักฐานสำคัญอย่างหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่าโลกกำลังมีปัญหา มันทำให้กอร์เริ่มสนใจเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนมาตั้งแต่นั้น

ความเข้าใจผิดสำคัญข้อแรกที่คนส่วนใหญ่มีต่อปัญหาโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็คือ มนุษย์ตัวเล็กๆอย่างเราจะสามารถสร้างผลกระทบที่สั่นสะเทือนไปถึงดินฟ้าอากาศได้อย่างไร

ความจริงก็คือหากเปรียบโลกทั้งใบเป็นหอมหัวใหญ่ ชั้นบรรยากาศที่ห่อคลุมโลกอยู่และทำให้โลกกลายเป็นดินแดนของสิ่งมีชีวิตนั้นมีความหนาเพียงเปลือกสีน้ำตาลบางๆชั้นนอกสุดของหัวหอมเท่านั้นเอง ชั้นบรรยากาศที่มีความเปราะบางอย่างยิ่งนี้จึงมีความสำคัญมาก

หากขึ้นไปดูในชั้นบรรยากาศจะพบมวลก๊าซมากมายหลายชนิด กลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในการจับความร้อนจากดวงอาทิตย์ที่สะท้อนกลับจากผิวโลกคือกลุ่มก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas) ซึ่งความจริงแล้วเป็นสิ่งที่ดีและเรียกได้ว่าจำเป็นเพราะด้วยก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้เองที่ช่วยให้โลกไม่กลายเป็นดินแดนน้ำแข็ง

อย่างไรก็ตาม โดยปกติในธรรมชาติก๊าซเหล่านี้มีปริมาณน้อยมาก แม้แต่ก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่พบได้บ่อยที่สุดก็ยังพบไม่ถึง 4 โมเลกุลในทุกๆ 10,000 โมเลกุลของชั้นบรรยากาศ ความหายากตามธรรมชาติของมันช่วยให้โลกเราไม่ร้อนจนกลายเป็นเตาอบ

ในหนังเรื่องนี้กอร์เปรียบคาร์บอนไดอ๊อกไซด์เป็นตัวร้ายที่คอยดักไม่ให้ความร้อนหนีกลับออกไปนอกโลก เมื่อตัวร้ายมีเยอะขึ้นเรื่อยๆ ความร้อนจึงถูกเก็บไว้ในชั้นบรรยากาศเกิดเป็นภาวะเรือนกระจก จนทำให้อุณหภูมิโดยรวมสูงขึ้น

ปัจจุบันอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกของเราอยู่ที่ราว 14 องศาเซลเซียส หากเทียบกับชั้นบรรยากาศของดาววีนัสซึ่งมีคาร์บอนไดอ๊อกไซด์เป็นส่วนประกอบถึง 98 เปอร์เซ็นต์ อุณหภูมิพื้นผิวที่นั่นอยู่ที่ 477 องศาเซลเซียส ไฟนรกบรรลัยกัลป์ดีๆ นี่เองครับ

กอร์อธิบายว่าโลกที่น่าอยู่เริ่มเปลี่ยนไปเมื่อปริมาณคาร์บอนไดอ๊อกไซด์เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง การปฏิวัติโลกตั้งแต่ยุคอุตสาหกรรม ทำให้เกิดความต้องการใช้พลังงานมากขึ้นเรื่อยๆ การเผาไหม้เชื้อเพลิงอย่างเช่นถ่านหิน เชื้อเพลิงฟอสซิล น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ รวมไปถึงการสุมเผาอันเป็นวิธีตัดไม้ทำลายป่าแบบดั้งเดิม ล้วนแล้วแต่มีส่วนทำให้ปริมาณคาร์บอนไดอ๊อกไซด์เพิ่มสูงขึ้นอย่างผิดปกติ

กอร์ได้ชี้ให้เห็นถึงความจริงข้อนี้อย่างชัดเจนในหนัง ด้วยการใช้เครนไฟฟ้ายกตัวตามเส้นกราฟที่พุ่งสูงขึ้นอย่างน่าตกใจในช่วง 40-50 ปีมานี้และแนวโน้มในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า ข้อมูลนี้น่าพรั่นพรึงอย่างยิ่งโดยเฉพาะเมื่อพิจารณาข้อมูลย้อนกลับไปถึง 650,000 ปี ระดับคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ที่แม้จะมีวงจรขึ้นๆลงๆ ตามยุคน้ำแข็ง 6-7 ยุค แต่ไม่เคยมีครั้งไหนในประวัติศาสตร์ที่ระดับคาร์บอนไดอ๊อกไซด์พุ่งสูงผิดปกติเช่นนี้มาก่อน

ครับ ฝีมือมนุษย์ล้วนๆ และต้องยอมรับว่าปัจจัยที่มีความสำคัญมากอีกประการหนึ่งก็คือประชากรมนุษย์ กอร์เปรียบเทียบอย่างน่าฟังว่าแค่ภายในชั่วอายุของเขา จำนวนประชากรทั่วโลกได้เพิ่มขึ้นจาก 2 พันกว่าล้าน เป็น 6 พันกว่าล้านหรือประมาณ 3 เท่า ในขณะที่ย้อนกลับไปหลายหมื่นปี ประชากรมนุษย์ค่อนข้างคงที่หรือเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ มาตลอด

จำนวนคนที่เพิ่มขึ้นทำให้มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติสูงขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน และความต้องการอันไร้ขีดจำกัดของมนุษย์ก็กลายเป็นแรงกดดันมหาศาลต่อธรรมชาติและสมดุลของระบบนิเวศ

จากนั้นกอร์ชี้ให้เห็นถึงปัญหาใหญ่ข้อที่สองสำหรับคนส่วนมากก็คือความไม่แน่ใจ คือตกลงแล้วปัญหาโลกร้อนเนี่ยมันเป็นเรื่องจริงหรือเปล่า หรือเป็นเพียงนิยายที่นักวิทยาศาสตร์ช่างวิตกกลุ่มหนึ่งสร้างขึ้นมาให้คนตื่นตูมกันไปทั้งโลก

กอร์เลือกฉายภาพจากสถานที่ทั่วโลกเพื่อยืนยันว่าโลกกำลังร้อนขึ้นจริงๆ เขาเปรียบเทียบยอดเขาหิมะในหิมาลัย และคิริมันจาโรในแอฟริกาในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมาซึ่งปริมาณหิมะลดลงอย่างเห็นได้ชัด เขาพาเราไปถึงขั้วโลกเหนือ ขั้วโลกใต้ที่แผ่นน้ำแข็งกำลังละลายและแตกออกอย่างไม่หยุดหย่อน พาไปดูธารน้ำแข็งที่กำลังหดตัวลงอย่างรวดเร็วทั่วโลก

ปัญหาโลกร้อนไม่เพียงทำให้น้ำแข็งละลายเท่านั้น แต่ยังเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้สภาพภูมิอากาศทั่วโลกปรวนแปร เขายืนยันด้วยข้อมูลทางสถิติของภัยธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงอย่างเห็นได้ชัดทั้งภาวะน้ำท่วม ฝนแล้ง จำนวนไต้ฝุ่นหรือพายุเฮอริเคน โดยไม่ลืมที่จะเตือนให้ทุกคนนึกถึงเฮอริเคน Katrina ที่เข้าถล่มเมืองนิวออร์ลีนเมื่อสิงหาคมปีที่แล้ว ซึ่งนับเป็นภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของชนชาติอเมริกันที่คร่าชีวิตผู้คนไปเกือบ 2 พันคน และสร้างความเสียหายอีกกว่า 8 หมื่นล้านดอลลาร์

หากโลกยังร้อนขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดแผ่นน้ำแข็งที่แอนตาร์กติกาและกรีนแลนด์อาจจะละลายลงทั้งหมด และนั่นหมายถึงเภทภัยที่ร้ายแรงที่สุดจะเกิดขึ้น ลองนึกดูนะครับว่าระดับน้ำทะเลทั่วโลกที่สูงขึ้นถึง 6 เมตรจะทำให้เกิดภัยพิบัติขนาดไหน

เกือบครึ่งหนึ่งของนิวยอร์กจะอยู่ใต้น้ำ บริเวณที่จะสร้างอนุสรณ์สถาน 9/11 ในแมนฮัตตันจะจมอยู่ใต้ทะเล ยังไม่ต้องพูดถึงมหานครเช่นเซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง หรือบังคลาเทศที่มีคนอาศัยอยู่นับร้อยล้านคน

และถ้าวันนั้นมาถึง ผมเองก็ไม่อยากนึกภาพของกรุงเทพมหานครและมหาเมกะโปรเจ็คอย่างสนามบินสุวรรณภูมิ

กอร์ยืนยันว่าในทางวิทยาศาสตร์ประเด็นโลกร้อนไม่ใช่ข้อถกเถียงอีกต่อไป เรารีวิวบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการทางวิทยาศาสตร์เกือบพันเรื่อง ไม่มีงานศึกษาชิ้นไหนเลยที่ให้ผลขัดแย้งหรือโต้เถียงว่าปรากฏการณ์โลกร้อนไม่ได้เกิดขึ้นจริง

ถ้าเป็นเช่นนั้น แล้วความสับสนของคนในสังคมเกิดขึ้นได้อย่างไร

ไม่น่าแปลกใจเมื่อกอร์รีวิวบทความประเภทแสดงความคิดเห็นที่ตีพิมพ์ในสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ปรากฏว่ามีบทความมากมายเกือบ 50 เปอร์เซนต์ที่แสดงความเคลือบแคลงว่าภาวะโลกร้อนไม่ใช่เรื่องจริง แต่เป็นแค่เพียงวงจรธรรมชาติ หลายคนคิดว่าภาวะโลกร้อนเป็นเพียงปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ

แน่นอนว่าถ้าสังคมโลกโดยรวมยอมรับว่าภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาจริงๆ การลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดอ๊อกไซด์อาจกลายเป็นสิ่งจำเป็น กลายเป็นข้อบังคับ นั่นหมายถึงการเปลี่ยนแปลงวิถีการผลิต และการใช้ชีวิตของทุกคนบนโลก

แน่นอนว่า คนส่วนใหญ่ยังไม่พร้อมที่จะเปลี่ยน... ไม่จนกว่าจะมีอะไรมากระทบกับตัวเอง

ถึงตรงนี้หนังตัดไปให้เห็นถึงประสบการณ์ส่วนตัวอันเจ็บปวดของอัล กอร์

กอร์นำผู้ชมไปเยือนอดีตไร่ยาสูบของพ่อเขา ปัจจุบันโรงอบใบยารกร้างว่างเปล่า เขาเล่าว่าสมัยเป็นเด็ก แทบทุกหน้าร้อนเขาจะมาใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ เป็นช่วงเวลาที่เขามีความสุขและได้เรียนรู้ในการทำงานร่วมกับคนอื่น

กอร์มีพี่สาวคนหนึ่งซึ่งแก่กว่าเขาเกือบสิบปี แต่ทั้งคู่ก็สนิทกันมาก พี่สาวของกอร์สูบบุหรี่ตั้งแต่ตอนเป็นวัยรุ่นและไม่เคยหยุดสูบ

เขาบอกว่าในเวลานั้นมีรายงานการศึกษาโดยสมาคมแพทย์ของสหรัฐเปิดเผยว่า การสูบบุหรี่มีส่วนทำให้เกิดมะเร็งที่ปอด ทุกคนในเวลานั้นรับรู้ แต่ไม่มีใครสนใจอย่างจริงจัง ไม่มีใครรู้สึกว่ามันเป็นปัญหาของตัวเอง บริษัทยาสูบทำโฆษณาล้อเลียนผลการศึกษาว่าเพ้อเจ้อ

ในที่สุดพี่สาวของเขาก็เสียชีวิตด้วยมะเร็งที่ปอด พ่อของเขาเจ็บปวดกับสิ่งที่เกิดขึ้นมากและเลิกทำไร่ยาสูบตั้งแต่นั้น

กอร์บอกว่าเขาเข้าใจว่าธรรมชาติของมนุษย์ต้องอาศัยเวลาในการรับรู้ ทำความเข้าใจกับข้อเท็จจริง ก่อนจะนำไปสู่การปฏิบัติ แต่บ่อยครั้งที่มันสายเกินไป และกลับกลายเป็นช่วงเวลาที่เราต้องมานั่งสำนึกเสียใจ เสียใจว่าน่าจะได้ลงมือแก้ปัญหามาตั้งนานแล้ว

ก่อนจบ กอร์เตือนให้เราตระหนักถึงศักยภาพของมนุษย์ในด้านดี เราขจัดโรคร้ายได้สารพัด เราเดินทางไปเหยียบถึงดวงจันทร์และสำรวจอวกาศ

แม้แต่ปัญหาสาร CFC ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกอีกตัวหนึ่งที่ทำให้เกิดรูรั่วในชั้นโอโซนซึ่งเป็นวิกฤติสำคัญเมื่อราว 10 ปีมาแล้ว ไม่มีใครนึกว่ามนุษย์จะแก้ปัญหานี้ได้อย่างรวดเร็ว แต่ปัจจุบันเราสามารถลดปริมาณสารอันตรายเหล่านี้ลงได้จนอยู่ในระดับที่ปลอดภัย

กอร์ย้ำว่า สัญญาณเตือนภัยได้ดังขึ้นแล้ว ขึ้นอยู่กับว่าเราจะตอบสนองอย่างไร

หนังได้เปรียบเทียบการตอบสนองต่อปัญหาสองแบบ แบบแรกคือกบที่กระโดดลงไปในน้ำเดือดแล้วเด้งตัวออกมาในทันที กับอีกแบบหนึ่งที่เจ้ากบตัวเดิมกระโดดลงไปนั่งอยู่ในหม้อต้มที่ค่อยๆ อุ่นขึ้นเรื่อยๆ จนเดือด โชคดีที่มีมือมาช่วยดึงออกไปได้ทัน

โชคไม่ดีที่ปัญหาโลกร้อนไม่ได้เป็นปัญหาฉับพลันทันทีแบบน้ำเดือด มนุษย์เราจึงยังดูไม่ทุกข์ไม่ร้อน เหมือนเจ้ากบที่นั่งไม่รู้ร้อนรู้หนาวอยู่ในหม้อต้มที่กำลังจะถึงจุดเดือด

หนังเรื่องนี้ไม่เพียงแต่ดูสนุกและให้ข้อคิดมากมาย แต่ยังเตือนสติให้เราคิดถึง “โลก” บ้านหลังสุดท้าย สิ่งที่สำคัญที่สุดของเรา

เราเลือกได้ครับที่จะเปลี่ยนจากการยืนดูปัญหา และก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไข

ปัญหาโลกร้อน ไม่ใช่ข้อขัดแย้งทางวิทยาศาสตร์ หรือมุมมองที่แตกต่างกันในทางการเมืองหรือเศรษฐกิจ ปัญหานี้กำลังเกิดขึ้นจริงๆ ด้วยน้ำมือมนุษย์

การลงมือแก้ปัญหาจึงเป็นเรื่องของศีลธรรม จริยธรรม ที่เราสามารถเลือกได้

ตราบที่มนุษย์ยังรู้จัก ผิด ชอบ ชั่ว ดี เราสามารถแก้ปัญหานี้ได้

แต่ตราบใดที่อัตตาและความโลภ ยังเป็นธงนำชีวิตของคนส่วนใหญ่และผู้นำที่ขลาดเขลา

เราคงได้แต่ภาวนา และนับถอยหลัง...

... แต่ก่อนจะนับ อยากให้ไปดูหนังเรื่องนี้นะครับ ดูให้ถึงตอนจบ จะพบกับภาษิตแอฟริกันสั้นๆ ที่เท่ห์มาก

While you pray, move your feet – ระหว่างสวดอ้อนวอน ก็อย่างอมืองอเท้า
ครับ บ่นได้ วิจารณ์ได้ จะถึงขั้นสวดอ้อนวอนหรือสาปแช่งก็ได้ แต่ต้องลงมือทำด้วย

ป.ล. หาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ และ take action ได้ที่เว็บไซต์ www.climatecrisis.net

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น