09:32

ประมวล เพ็งจันทร์ "รู้สึกสุขเมื่อเห็นดอกไม้งามยามโรย"



ก่อนจะก้าว "เดินสู่อิสรภาพ" อันยิ่งใหญ่ของชีวิต กระทั่งนำสิ่งที่ผ่านและค้นพบมาบันทึกลงในหนังสือเล่มหนา เมื่อครั้งยังสอนวิชาปรัชญา อยู่ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประมวล เพ็งจันทร์ เคยบอกกับนักศึกษาว่า

"ชีวิตของคุณจะมีความหมายก็ต่อเมื่อคุณ เห็นความงามในดอกไม้ยามมันเหี่ยว เพราะถ้าเวลาเห็นความงามของดอกไม้ตอนมันบานใครก็เห็นได้ แต่ถ้าเมื่อใดคุณเรียนรู้ชีวิตแล้วคุณจะเห็นดอกไม้ที่มันเหี่ยวร่วงโรยมีความสวยงามได้

"ตอนนั้นผมพูดด้วยปรัชญา แต่ถ้าพวกเขาพบผมตอนนี้ ผมไม่ได้พูดจากปรัชญาแล้ว แต่ผมพูดด้วยความรู้สึก"

ความรู้สึกที่ผ่านการเคี่ยวกรำและบ่มเพาะให้รู้จักการมองเห็นด้านตรงข้ามของทุกๆ สิ่งที่คุ้นเคยกันว่างดงามและแสนดี หรือทุกๆ ปรากฏการณ์ที่เผชิญอยู่ในแต่ละขณะ นั่นคือต้องมีความพร้อมที่จะละสายตาไปจนถึงจิตใจจากทุกสิ่งเหล่านั้นได้ตลอดเวลา



ศิลปะการละวาง งานศิลป์ทางใจ

.....ที่เราใช้คำว่าศิลปเพราะมันไม่ตายตัว มันไม่ใช่ทราย ที่ไม่ว่าจะพูดกี่ครั้งมันก็ยังเป็นทราย แต่พอมันเป็นศิลป มันเป็นทัศนวิสัยของแต่ละคนที่เราต้องทำให้ชีวิตงดงาม ซึ่งมันไม่เหมือนกัน ฉะนั้นเวลาเราบอกว่าคนคนหนึ่งเข้าใจศิลปะการดำเนินชีวิตก็คือ เขาสามารถที่จะทำชีวิตของให้งดงาม ให้เป็นความเบิกบาน ไม่ใช่ความขุ่นมัวคับแค้น ถ้าคนมีศิลปะในการดำเนินชีวิตนี่นะ แม้กระทั่งเวลาที่ทุกข์ทรมานจากโรคภัยไข้เจ็บก็จะเบิกบานได้จากภายในจิตใจ

ถ้าพูดถึงความสุข ผมมีความรู้สึกหรือเชื่อนะว่า ธรรมชาติของคนเรา เราจะมีธรรมชาติที่เบิกบานอยู่ภายใน แต่ในช่วงชีวิตที่ผ่านมาสำหรับคนที่โตมาถึงวัยกลางคนหรือวัยผู้ใหญ่ มันเหมือนกับเราไปเสพติดอะไรบางอย่าง หรือมีอะไรมากระตุ้นภายในใจ

ยกตัวอย่างผมติดกาแฟ เวลาเราดื่มกาแฟแล้วรู้สึกสดชื่น ทั้งที่จริงๆ แล้วกาแฟเป็นเพียงสิ่งที่เราเอามาเสพจนติดเป็นนิสัย ให้มันเกิดความเคยชินในการดื่มกาแฟ แล้วทำให้มันรู้สึกสดชื่นขึ้นมาในภายหลัง

ฉะนั้นความรู้สึกยุ่งยากมันจะเกิดขึ้นมาในช่วงที่เมื่อเราไม่อยากจะดื่มกาแฟต่อไปอีกแล้ว ไอ้ความรู้สึกที่ว่ามันจะมีความขัดแย้งกันกับสิ่งที่เราต้องการ ซึ่งมันเป็นเงื่อนไขที่จะพาเรากลับคืนไปสู่สภาวะปกติที่เราเคยเบิกบานได้โดยที่เราไม่ดื่มกาแฟ

ผมเข้าใจว่าความยุ่งยากของคน มันเกิดขึ้นเมื่อเราไปติดอะไรบางอย่างที่มันถูกสั่งสม ถูกอบรมหรือถูกทำให้รู้สึกว่าสิ่งนี้คือเงื่อนไขของการที่จะทำให้มีชีวิตอย่างมีความสุข แต่สิ่งที่ผมเรียนรู้จากชีวิตที่ผ่านมาคือ เราจะมีความสุขได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่านเงื่อนไขนั้นก็ได้ แต่จะทำอย่างไรให้เราก้าวผ่านปลอดพ้น ในเงื่อนไขนั้น

ผมเข้าใจว่ามีคนจำนวนมากที่ยังตื่นขึ้นมาแล้วรู้สึกสดชื่นได้โดยไม่ต้องดื่มกาแฟใช่มั้ยครับ แต่ถ้าคนที่ติดกาแฟหรือคนที่ติดบุหรี่ไปแล้ว ตื่นขึ้นมาตอนเช้ามันจะรู้สึกได้เลยครับว่า ถ้าไม่ได้สูบบุหรี่สักมวน มันยังไงไม่รู้ ผมเข้าใจว่าโดยปกติของชีวิตมันก็มีลักษณะคล้ายๆ อย่างนั้นคือ เราถูกทำให้มีความเคยชินกับการที่เราต้องมีเงื่อนไขในการดำเนินชีวิต และเงื่อนไขที่เราพูดถึงมันก็มีองค์ประกอบบางสิ่งบางอย่าง เช่น ความสะดวกสบาย ความเพลิดเพลิน ที่ถูกทำให้เป็นเงื่อนไขที่จำเป็นของชีวิต

ถ้าหากแม้ว่าไม่สะดวกสบายแล้ว ชีวิตมันเหมือนกับไร้ค่า แล้วชีวิตมันก็เป็นชีวิตที่มีปัญหา ทั้งที่ความจริงแล้วชีวิตเรานี่นะครับ มันสามารถเผชิญปัญหาได้ตลอดเวลา ไม่อย่างนั้นแล้วเราจะแสวงหาที่ไปผจญภัยกันทำไม

ความรู้สึกที่มีอยู่ในตัวของแต่ละคน ที่มันมีความซับซ้อน มันเป็นการสั่งสมอะไรบางสิ่งบางอย่างมาเป็นเงื่อนไขภายในจิตใจเรา เราต้องย้อนกลับมาที่ตัวเราเอง แล้วค่อยๆ แกะด้วยตัวเองว่าเราติดอยู่กับอะไร มันมีเงื่อนไขมันมีปม ที่มนุษย์แต่ละคนต้องย้อนกลับไปมองตัวเองมากขึ้น

นี่คือสิ่งที่เป็นความรู้สึกพื้นฐานของการเปลี่ยนผ่าน ความรู้สึกเปลี่ยนผ่านตรงนี้ ผมเชื่อว่าทุกๆ คนมีอยู่แล้ว แต่ว่าเราจะตระหนักรู้หรือทำให้การเปลี่ยนผ่านมันชัดเจนหรือไม่.....

ชีวิตจะ "เปลี่ยน" หรือแค่ "ผ่าน"

.....การเปลี่ยนผ่านจากวัยหนุ่มมาเข้าสู่วัยกลางคนหรือสูงวัยไปสู่วัยชรา ถ้าพูดถึงในแง่ชีววิทยาสิ่งเหล่านี้มีการเปลี่ยนผ่านเป็นปกติ แต่การเปลี่ยนผ่านในช่วงที่เราอายุมาก จะทำให้เราต้องใช้ความรู้สึกนึกคิด จิตใจมากขึ้นกว่าการเปลี่ยนผ่านในช่วงที่เราเริ่มเจริญวัย เพราะเป็นการเปลี่ยนผ่านด้านความรู้สึก พอมันเปลี่ยนผ่านมันจะเห็นสิ่งที่เราเคยมีและผ่าน

ปกติชีวิตคนเรามันจะผ่าน มันจะเปลี่ยน หรือบางคนจะไม่เปลี่ยนไม่รู้ แต่มันผ่านไปเรื่อยๆ สิ่งสำคัญคือ อย่าปล่อยให้สิ่งที่ผ่านไปมันไม่ได้เป็นพลังแห่งการเรียนรู้ มันมีแต่ความรู้สึกโหยหา หรือระทมขมขื่นกับสิ่งที่มันผ่านไป

ผมมองว่าชีวิตนี้มันมีการเปลี่ยนผ่านตลอด ทำยังไงให้การเปลี่ยนผ่านทางชีวภาพและชีวเคมีเป็นคุณต่อความรู้สึกนึกคิดด้านจิตใจไปด้วย ตรงนี้เป็นประเด็นที่มีมิติทางจิตวิญญาณเข้ามาเป็นกฎของการเปลี่ยนผ่าน

พูดถึงจิตวิญญาณตามธรรมชาติของมนุษย์เรานะครับ เปรียบเทียบตัวเองตอนผมเป็นหนุ่ม เราจะมีความรู้สึกที่จะแสวงหาโลกภายนอกมากมาย พอรู้มากขึ้นก็ตื่นตาตื่นใจตื่นเต้น นึกถึงภาพตอนเป็นหนุ่มไปเที่ยวที่โน่นที่นี่ เราก็ลุย อย่างผมตอนเป็นหนุ่มเดินเป็นสิบกิโลฯไปเที่ยวผมก็ไป ปัจจุบันแค่เสียเวลาเล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่อยากแล้ว เมื่อก่อนผมชอบดูหนังก็ไม่ได้ไปดูในโรงแล้ว เดี๋ยวนี้ซื้อแผ่นมาดูเปิดดูได้ 15 นาที ก็เลิกดู เพราะรู้สึกมันเสียเวลา

มันเหมือนกับอาหารพอเราหิวเราอยากเสพ แต่พอมันอิ่มเราทานช้าลงแล้วนะ ไม่เหมือนตอนไปนั่งกินใหม่ๆ ทั้งๆ ที่กินอาหารจานเดิม รสชาติเดิม พอเราเริ่มอิ่มความรู้สึกที่อยากกินมันจะลดลงๆ เราไม่ได้ปฏิเสธ เพราะอาหารรสชาติไม่ดีนะไม่ใช่ ผมจึงใช้คำว่า ความอิ่ม คือ อิ่มเรื่องภายนอก

พระพุทธเจ้าตรัสบอกว่า ต่อให้ภูเขาทั้งลูกกลายเป็นทองคำ ก็ยังไม่เพียงพอสำหรับคนที่กระหายสมบัติ ผมเข้าใจว่านี่คือ ปม หรือรหัสอะไรบางอย่างที่จะนำไปสู่ความอิ่มที่สำคัญมาก แล้วไม่ใช่เรื่องความคิดด้วยนะครับ เพราะถ้าเป็นเรื่องความคิด เราทุกคนรู้จักอริยสัจสี่ได้ทุกคน ศึกษาธรรมเล็กๆ น้อยๆ ไม่ต้องไปเรียนมากมาย บรรยายครั้งสองครั้งก็จำได้

ฉะนั้นสิ่งที่เราพูดมันจึงไม่ใช่การกระทำทางด้านความคิด แต่เป็นการกระทำทางด้านความรู้สึกล้วนๆ...

ระหว่างรักกับละวาง

.....ถ้าจะให้อธิบายเรื่องของการมีศิลปะการละวาง ผมมีตัวอย่างเล่าให้ฟังเรื่องของความรักกับการละวางที่ไม่น่าไปด้วยกันได้ แต่ความจริงแล้วสองอย่างนี้เป็นเรื่องที่คู่กัน เมื่อก่อนในสมัยที่ผมยังเป็นนักทฤษฎี แล้วผมก็จำจากปราชญาอินเดียมาบอกลูกศิษย์ หรือคนที่ผมสนทนาด้วย ว่า ช่วงชีวิตของเรามันมีการเปลี่ยนผ่าน แล้วการเปลี่ยนผ่านในช่วงชีวิตของเรามีค่ามีคุณ มีความหมายที่งดงาม เมื่อเราผ่านจังหวะใดจังหวะหนึ่งได้

เขาบอกประโยคสำคัญว่า คนต้องมีชีวิตอยู่เพื่อความสำนึกรู้ที่ไม่ใช่มีความอยากมีชีวิตจนกระทั่งกลัวตาย และก็ไม่ใช่ว่าอยากตายจนชีวิตนี้ไร้ค่าคือ เป็นคนที่อยากมีชีวิตอยู่แต่ไม่ปล่อยให้ความอยากตายมาเบียดเบียนทำลายความหมายของชีวิต และก็ไม่ได้มีความรู้สึกว่าอยากมีชีวิตจนทำให้กลัวตาย คือบุคคลผู้ทำ จิตให้มีความเบิกบานกับสภาวะที่พร้อมที่จะอยู่และพร้อมที่จะตาย

สมัยที่ผมอ่านอย่างเดียวไม่เข้าใจนะ แต่เอามาใช้บ่อยเพราะดูเท่ดี แต่ไม่รู้ว่าเอามาใช้ได้จริงหรือเปล่า แต่พออยู่ไปพักหนึ่ง ผมรู้สึกว่าคำพูดนี้ไม่ใช่เป็นเพียงแค่คำพูดเท่ๆ แต่เป็นคำที่สะท้อนความรู้สึกนึกคิดของคนเลย แล้วความรู้สึกนึกคิดของคนตรงนี้มันมีความหมายที่มันยากที่จะให้คนไม่ได้รู้สึกนึกคิดแบบนี้มารู้สึกหรือเข้าใจความรู้สึกแบบนี้

กลับมาสู่ประเด็นเรื่องความรัก จริงๆ แล้วความรัก พอถึงจุดๆ หนึ่งแล้ว ความรักไม่ได้หมายถึงการครอบครอง ไม่ได้หมายถึงการที่เราได้มา แต่ความรักคือ บางสิ่งบางอย่าง เช่น ตอนที่ผมไปเยี่ยมแม่ที่ป่วยหนัก ช่วงที่กอดแม่ผมรู้สึกว่าจิตใจของแม่สงบ และมีความสุขที่ได้กอดผม ผมเลยบอกแม่ว่า พูดง่ายๆ ว่าผมอยากให้แม่จากผมไปตอนที่เรากอดกันนั่นแหละ มันเป็นความสุข

เพราะฉะนั้นสิ่งที่มันเกิดขึ้นก็คือ ตอนที่แม่กอดผมพลังของแม่ที่มีเท่าไหร่ส่งมาที่ผมหมดเลย แม่พยายามเอามือมากอดผมด้วยแรงกำลังของคนชราที่มีอยู่ หลังจากนั้นมือของแม่ก็ค่อยๆ คลายลง และสุดท้ายมันก็คลายออกเหมือนกับว่าไม่ได้มีแรงที่มาจากแม่อีกแล้ว น้ำหนักที่มือเหมือนกับน้ำหนักของวัตถุชิ้นหนึ่งเบาๆ ที่วางอยู่บนหลังผมเท่านั้น และผมรู้เลยว่า วาระสุดท้ายของจิตสำนึกรู้ของแม่มาถึงแล้ว

ผมบอกแม่ด้วยความรู้สึกที่ผมกอดแม่อยู่ว่า นี่เป็นช่วงจังหวะที่ดีที่สุดแล้ว ที่แม่จะได้จากไป และผมรู้สึกดีมาก ผมเป็นคนหนึ่งที่รักแม่มาก คนส่วนมากที่รักแม่จะไม่อยากให้แม่ตาย แต่ผมตอนนั้นอยากให้ชีวิตของแม่เป็นชีวิตที่งดงามเป็นชีวิตที่มีความสุข

ผมเล่าเรื่องนี้เพื่อกลับไปสู่ประเด็นของความรักเท่านั้นเองว่า ตอนที่เรายังมีความรักเชิงผูกพัน ตอนที่เรายังมีความรักเชิงหวงแหน เชิงครอบครอง ความรักของเรามันอยู่คนละขั้วกับความปล่อยวาง แต่กรณีที่ผมพูดถึงความรักที่ผมมีต่อแม่ ผมรู้สึกได้ถึงความหมายของการปล่อยวาง

มุ่งจุดหมาย-ไร้รูปแบบ

...ในชีวิตที่ต้องฝึกเรื่องการละ การวางก็ต้องพูดถึงการปฏิบัติธรรม เรื่องนี้ผมอยากบอกว่า ไม่ได้บอกว่ารูปแบบไม่ดี แต่อยากให้ลืมเรื่องรูปแบบ เพราะพอไปถึงจุดหนึ่งรูปแบบมันจะปรากฏออกมาเอง คือในทางปฏิบัติธรรมมันคงไม่ต่างกับเครื่องบินที่บินบนท้องฟ้าหรอก ที่เครื่องบินต้องบินไปตามเส้นทางอย่างเคร่งครัด ผมเข้าใจประเด็นนี้ เพราะผมเคยเป็นเด็กบนเรือที่ออกทะเล เขาเคยให้ผมถือท้ายเรือ ซึ่งเขาจะไม่ให้เราดูอะไรข้างนอกเลย ให้เราจ้องที่เข็มทิศ แล้วนายหัวบอกให้เรามองว่า เข็มทิศชี้ตรงอยู่ตรงนี้เท่านั้น

ถ้าตาผมไม่ได้ไปจ้องอยู่ที่ทะเล ทะเลมันไม่มีอะไรอยู่แล้วมันเวิ้งว้างว่างเปล่า ไม่มีอะไรจะบอกว่าไปผิดทางหรือถูกทาง บนผิวทะเลก็ไม่มีเครื่องหมายจราจรบอกเรา เพราะสิ่งที่บอกเราคือเข็มทิศที่วางตั้งตรงอยู่ข้างหน้าเรา แล้วนายหัวและไต้ก๋งก็บอกไว้แล้วว่าให้เอาเข็มทิศชี้ไปที่ทิศนี้นะ ถ้าจะขับเรือจากเกาะสมุยมาดอนสักให้เข็มทิศมันคงอยู่ที่ตรงไหน อย่างเดียวเลย แล้วเราจะไปเจอดอนสักโดยที่ไม่จำเป็นต้องคิดอะไรเลย

ฉะนั้นเรื่องปฏิบัติธรรมก็ไม่ได้ต่างอะไรกับการถือท้ายเรือ ให้เราถือตรงนี้ไว้ให้มั่นว่าเป้าหมายของเราคือ นิพพาน นิพพานคือเข็มทิศที่อยู่ในใจเรา แล้วเราจะมุ่งไปทางนั้นทางเดียว สุดท้ายแล้วมันจึงไม่ได้อยู่กับโลกนอกเหมือนกับผมถือท้ายเรือ....

กว่าจะสัมผัสถึงความงามของดอกไม้ยามโรยราได้ ย่อมต้องแลกมาด้วยความมุ่งมั่นในจุดหมายแบบไม่ปล่อยวาง

โดย วีณา โดมพนานคร
คอลัมน์ ร้อยเหลี่ยมพันมุม

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น