12:00

มนุษย์ เมื่อวาน วันนี้ พรุ่งนี้

เรื่อง-ธิติ มีแต้ม และอาจวรงค์ จันทมาศ 
โดย ASTVผู้จัดการรายวัน 1 ธันวาคม 2551 


วิวัฒนาการ 
------------- 
เคยสืบประวัติบรรพบุรุษต้นตระกูลของตนเองลึกกันไปถึงไหน 

ทวด-พ่อทวด-หรือว่าเคยสืบลึกไปถึงเรื่องราวของปู่ทวด-หรือบางคนเคยสืบย้อนไปลึกกว่านั้น ในความจริงเป็นเรื่องยากที่คนเราจะสามารถสืบลึกลงไปได้เรื่อยๆ อย่างไร้ขีดจำกัด เพราะในเมื่อยิ่งเข้าใกล้อดีต ข้อมูลที่ตกทอดมาถึงปัจจุบันนั้นกลับยิ่งน้อยลงๆ 

เอาแค่ปัจจุบันอาจจะพอเห็นได้แล้วว่าวิถีชีวิตของคนรุ่นพ่อแม่ (เมื่อ 40-50 ปีก่อน) นั้นแตกต่างจากสมัยนี้อย่างมาก เอาแค่การหากิน พวกเขาหลีกเลี่ยงการทำกินด้วยไม่ได้ จะกินข้าวต้องลงนาปลูกข้าว จะกินปลาต้องออกเรือไปจับมา ในขณะที่วันนี้เราสามารถหากินได้เลย (แต่ต้องจ่ายเงินก่อน) จึงไม่แปลกที่คนรุ่นปู่ย่ามาใช้ชีวิตอยู่กับลูกหลาน ในบางครั้งก็คุยกันไม่รู้เรื่อง ราวกับว่าคุยกันคนละภาษา 

แต่ก่อนที่จะไปหาความหมายทำนองสังคม เศรษฐกิจ การเมือง คงต้องพักไว้ก่อน เพราะเมื่อลองย้อนไปไกลกว่านั้น ช่วงเวลาของมนุษย์ก่อนจะมาเป็นมนุษย์แบบที่เห็นหน้าค่าตากันอยู่ทุกวันนี้ อาจทำให้รู้ว่าเรามาจากไหน จะไปไหน และจะไปอย่างไร บนถนนสายโลกปัจจุบัน 


มนุษย์ก่อนมนุษย์ และกิ้งก่าบนท้องฟ้า 

นานมาแล้วราว 400 ปีก่อนคริสตกาล โลกฝั่งตะวันตกเคยถูกปกคลุมด้วยความเชื่อที่ว่า สิ่งมีชีวิตบนโลกถูกสร้างขึ้นเป็นแพ็คเกจสำเร็จรูปโดยพระเจ้า หมายความว่า สิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ล้วนมีสภาพลักษณะเป็นแบบนี้มานานแสนนานโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง เพราะพระเจ้าได้สร้างทุกเผ่าพันธุ์ไว้อย่างสมบูรณ์แบบแล้ว 

แนวคิดนี้ฟังดูสมเหตุสมผลและน่าเชื่อถือในระดับชีวิตประจำวัน เพราะในช่วงชีวิตของคนเราคงไม่ได้เห็นไก่เดินสี่ขา แลบลิ้นสองแฉก และมีกระดอง แน่ๆ (ถ้าเห็นก็คงเป็นเรื่องใหญ่สำหรับไก่ตัวนั้น ที่นอกจากจะได้ลงข่าวหนังสือพิมพ์หน้าหนึ่งแล้วอาจถูกจับกุมไว้รุมขอโชคลาภด้วย) 

ไม่แปลก เพราะแม้แต่นักวิทยาศาสตร์ในยุคนั้นก็พากันเชื่อในแนวคิดนี้ 

และคงเป็นเรื่องแปลกพิสดารพอตัว ถ้าใครสักคนจะลุกขึ้นบอกว่า “สักวันหนึ่งกิ้งก่าอาจพากันโบยบินบนท้องฟ้า” 

มือแห่งการคัดเลือก 

ทุกวันนี้หลายคนอาจรู้จากห้องเรียนแล้วว่า สิ่งมีชีวิตทั้งหลายล้วนมีการเปลี่ยนแปลงสภาพร่างกาย รวมทั้งพฤติกรรมทีละน้อยๆ ไปในแต่ละรุ่น และเมื่อระยะเวลายาวนานพอ การเปลี่ยนแปลงที่สั่งสมเหล่านั้นจะปรากฏให้สังเกตเห็นได้ เหมือนกับหินที่ค่อยๆ ถูกน้ำหยดกร่อนจนเป็นรู การเปลี่ยนแปลงนี้เรียกว่า วิวัฒนาการ และพื้นฐานง่ายๆ ที่ทำให้วิวัฒนาการเกิดขึ้นก็คือ สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดมีความแตกต่างกันตามธรรมชาติ เช่น เพื่อนร่วมชั้นเรียนของเรามีความสูงต่างๆ กันไป เวลาวิ่งแข่งก็ช้าเร็วไม่เท่ากัน ฯลฯ ความแตกต่างเหล่านี้ปรากฏอยู่ทั่วไปในสิ่งมีชีวิตทั้งพืช สัตว์ จนถึงเชื้อโรค 

ตัวอย่างที่โดดเด่น เช่น ยีราฟคอยาว 

ในสมัยโบราณ เหล่ายีราฟนั้นมีทั้งคอยาวคอสั้น (เหมือนความสูงของเพื่อนๆ เราที่ไม่เท่ากัน) แต่เนื่องจากยีราฟตัวที่มีคอยาว สามารถหาใบไม้ที่อยู่สูงกินได้สบายปาก ส่วนตัวที่คอสั้นกว่าเพื่อนได้แต่หาเล็มหญ้า แต่เมื่อความแห้งแล้งเกิดขึ้นตามธรรมชาติ ต้นหญ้าไม่อาจอายุยืนเท่าต้นไม้ใหญ่ที่มีรากฝังลึก พวกยีราฟคอสั้นจึงหาหญ้ากินได้น้อยลง จนกระทั่งอดอยากและล้มตายในที่สุด ส่วนพวกคอยาวนอกจากจะมียอดไม้สูงๆ เป็นแหล่งอาหารแล้ว การมีคอยาวยังช่วยให้สามารถมองเห็นศัตรูได้ก่อนพวกคอสั้นด้วย ทำให้พวกยีราฟคอสั้นค่อยๆ สูญพันธุ์ไป เหลือไว้แต่ยีราฟคอยาว 

นี่คือกลไกหลักของวิวัฒนาการที่เรียกว่า “การคัดเลือกโดยธรรมชาติ” 

ในมุมกลับกัน สภาพแวดล้อมบางอย่างอาจไม่เหมาะสมสำหรับสิ่งมีชีวิตที่ตัวสูงใหญ่หรือว่องไวก็ได้ เพราะบนโลกก็ยังเต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิตที่ตัวเล็กและเคลื่อนไหวเชื่องช้าอีกมหาศาล บางครั้งความเล็กและช้า อาจปลอดภัยกว่าด้วยซ้ำไป 



ชาร์ล ดาร์วิน 
Charles Darwin (1809-1882) in his later years. Photo by J. Cameron, 1869.






โลกที่ไม่มีตัวเอก

มีการถกเถียงมากมายเกี่ยวกับทฤษฎีวิวัฒนาการจากหลายฝ่ายมาตลอด ทั้งจากกลุ่มศาสนาและจากนักวิทยาศาสตร์เอง

เมื่อราวร้อยกว่าปีที่แล้ว ช่วงที่ทฤษฎี “การคัดเลือกโดยธรรมชาติ” ถูกเผยแพร่ออกมาใหม่ๆ นั้น ศาสนจักรมีความเชื่ออย่างเหนียวแน่นว่า มนุษย์นั้นอยู่เหนือสัตว์อื่นๆ ในธรรมชาติ เพราะมนุษย์เราถูกสร้างโดยมีต้นแบบมาจากพระเจ้า

ทฤษฎีวิวัฒนาการไม่เพียงแต่เปลี่ยนมุมมองว่าแท้จริงแล้ว มนุษย์อาจไม่ได้แตกต่างไปจากสัตว์อื่นๆ ที่เผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติและเกิดวิวัฒนาการร่วมกัน แต่นักธรรมชาติวิทยาอย่าง ชาร์ลส์ ดาร์วิน ยังมีความคิดสุดแนวว่า “มนุษย์เป็นญาติกับลิง”

ซึ่งมักทำให้หลายคนค้านว่า ถ้ามนุษย์เปลี่ยนแปลงมาจากลิงจริง ทำไมทุกวันนี้ยังมีลิงเพ่นพ่านเต็มไปหมด (ทำไมลิงถึงไม่ยอมวิวัฒนาการกลายมาเป็นคนให้หมด)

แต่ที่ว่า “มนุษย์เป็นญาติกับลิง” หมายความว่ามนุษย์มีบรรพบุรุษร่วมกับลิงต่างหาก

ให้นึกภาพตามว่า หากมีคนกลุ่มหนึ่งกำลังออกเดินทางเพื่อหาที่ตั้งรกราก คนกลุ่มนี้เดินร่วมทางกันมาถึงทางแยกก็เกิดความจำเป็นต้องแยกทางกัน ส่วนหนึ่งไปทางซ้าย อีกส่วนไปทางขวา ทั้งสองกลุ่มจึงเริ่มหาที่ลงหลักปักฐานอยู่กินสร้างเผ่าพันธุ์ตัวเอง พอนานหลายหมื่นหลายแสนปีก็มีเหตุทำให้คนสองกลุ่มนี้ได้เดินทางกลับมาเจอกัน แต่พวกเขาไม่ได้พูดภาษาเดียวกันเสียแล้ว เนื่องจากเวลาผ่านไปนานมาก สิ่งแวดล้อม ประสบการณ์ชีวิต และการเรียนรู้ ที่สั่งสมมาจึงต่างกันไป จนในที่สุดก็กลายเป็นคนละเผ่าพันธุ์ไปเลย เผ่าหนึ่งหน้าตาเหมือนคน เผ่าหนึ่งหน้าตาเหมือนลิง

ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์พบหลักฐานยืนยันว่ามนุษย์เป็นญาติกับลิงมากขึ้นๆ ทั้งหลักฐานจากซากดึกดำบรรพ์และรหัสพันธุกรรม (ลิงชิมแปนซีมีความคล้ายคลึงทางพันธุกรรมกับมนุษย์มาก) และยังมีร่องรอยอื่นๆ ปรากฏให้เห็นว่ามนุษย์เองก็มีวิวัฒนาการไม่ต่างจากสัตว์อื่น เช่น กระดูกก้นกบที่เคยเป็นหางมาก่อน และไส้ติ่งที่เคยเป็นลำไส้มาก่อน (ในสัตว์กินพืชอย่างกระต่าย ไส้ติ่งของมันยาว ใช้ในการพักกากอาหารและเป็นที่อยู่ของแบคทีเรียที่ช่วยย่อยเปลือกไม้ใบหญ้าที่มันกิน)

พันธุ์ใหม่ในชั่วข้ามคืน

การวิวัฒนาการบางครั้งก็เกิดขึ้นเร็วจนสังเกตเห็นได้ชัด เมื่อประเทศในโลกส่วนใหญ่เข้าสู่วงจรการสร้างนวัตกรรมเพื่อเอาชนะธรรมชาติอย่างเต็มรูปแบบ พูดง่ายๆ ว่าอะไรที่ธรรมชาติสร้างมาไม่สมบูรณ์ มนุษย์จะทำให้สมบูรณ์เอง ส่วนผลลัพธ์ที่ตามมาก็อย่างที่เห็น...

แม้แต่วงการเกษตรกรรมที่มีคู่อริเป็นแมลงศัตรูพืชมากมาย ก็พบว่าสายพันธุ์พวกมันสามารถทนทานต่อยาปราบศัตรูพืชได้ดี มีการปรับตัวอย่างรวดเร็ว เชื้อโรคจำพวกแบคทีเรียล้วนเกิดอาการดื้อยา แม้จะมีการค้นพบตัวยาใหม่ๆ ที่ใช้ปราบปราม แต่ไม่นานพวกมันก็ทนทานดื้อด้านจนตัวยานั้นไม่สามารถทำอะไรได้!

ในกลุ่มชาวประมงพบว่า ปลาบางชนิดมีการผสมพันธุ์และวางไข่ในช่วงอายุที่น้อยลงจากเดิม ทั้งนี้เนื่องจากการจับสัตว์น้ำของคนเราในปริมาณมหาศาล ทำให้ปลาที่โตเป็นหนุ่มสาวเร็วมีโอกาสสืบทอดเผ่าพันธุ์สู่รุ่นต่อไปมากกว่า

สำหรับนักอนุรักษ์คงไม่สบายใจยิ่งกว่านั้น หากท้องทะเลจะมี ‘ปลาเรืองแสง’ ที่ประเทศไต้หวันเป็นผู้ตัดต่อพันธุกรรมขึ้น จนเป็นที่นิยมในตลาดโลก โดยนิตยสารไทม์ยกย่องให้เป็นสุดยอดนวัตกรรมแห่งปี 2003

ความวิตกกังวลยังคงตั้งคำถามว่า หากปลาเรืองแสงนั้นหลุดรอดไปผสมพันธุ์กับปลาธรรมดาตัวอื่น จนเกิดเป็นปลาสายพันธุ์ใหม่ขึ้น หรือที่พวกเขาเรียกมันว่า ‘ปลาผีดิบ’ ระบบนิเวศทั่วโลกจะเป็นอย่างไร

ยังไม่ทันจะได้คำตอบ ปี 2006 ก็มี ‘หมูเรืองแสง’ ที่ ศาตราจารย์ อู๋ ชิน ฉี คณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิยาลัยแห่งชาติไต้หวัน เป็นผู้นำทีมทดลองขึ้น โดยการฉีดโปรตีนที่สกัดจากแมงกะพรุนเข้าไปในนิวเคลียสของเซลล์ตัวอ่อนหมู

และให้เหตุผลว่า การเรืองแสงของหมูจะช่วยร่นเวลาในการทดลอง ทำให้นักวิจัยเห็นพัฒนาการของเนื้อเยื่อ เมื่อนำสเต็มเซลล์ไปปลูกถ่ายเพื่อซ่อมแซมตามอวัยวะต่างๆ ของมนุษย์ ทั้งยังแย้งว่าหมูเรืองแสงไม่เหมือนกับปลาเรืองแสง เพราะหมูในห้องแล็บคงไม่สามารถออกไปผสมพันธุ์กับหมูปกติได้ ไม่ต้องกังวลว่าจะเกิด ‘หมูผีดิบ’ อย่างที่เกิดปลาผีดิบในอเมริกา

การทดลองยังคงเดินหน้าต่อไป จนเมื่อปี 2007 ที่ผ่านมา อเมริกาเตรียมอนุมัติการผลิตข้าวเพื่อป้อนตลาดโลก แต่เป็นข้าวที่ตัดต่อเอาพันธุกรรมมนุษย์ใส่ลงไป ซึ่งอ้างว่าใช้รักษาอาการท้องร่วงในเด็กได้ ประกอบด้วยยีนดั้งเดิมของมนุษย์ที่แตกต่างกันในแต่ละพันธุ์ ซึ่งเป็นโปรตีนที่ต้านทานแบคทีเรียที่พบในน้ำนมและน้ำลาย

ส่วนนักวิทยาศาสตร์อังกฤษได้เพาะพันธุ์ไก่รุ่นพิเศษ ให้ออกไข่ที่มีโปรตีนสำคัญชนิดเดียวกับที่ใช้ทำยาปราบมะเร็ง พวกเขาหวังจะใช้ทำยาราคาถูก ไม่ต้องใช้ขั้นตอนการผลิตที่ซับซ้อน ซึ่งเป็นฝีมือจากนักวิทยาศาสตร์เจ้าเดียวกับที่โคลนนิ่งแกะดอลลีนั่นเอง

แต่นี่เป็นแค่ตัวอย่างส่วนหนึ่งเท่านั้น ในโลกของการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผู้ตั้งใจวาดฝันถึงอนาคตโลกที่ดีมีอยู่มากมาย ส่วนประเด็นการเมืองที่ฉุดลากฝันสวยๆ ของประชากรโลกให้ลงเหวนั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสารเคมีที่ถูกสร้างขึ้น ทำให้กระบวนการวิวัฒนาการเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนผลลัพธ์ต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในระยะยาวไปจนรุ่นลูกรุ่นหลาน-เหลนนั้น ยากจะคาดเดา เพราะเอาแค่โรคหวัดที่คนเป็นกันอยู่ ก็ไม่มีคำตอบชัดๆ ว่ามันจะสูญพันธุ์ไปได้อย่างไร แม้เภสัชกรจะคิดค้นยาตัวใหม่ๆ มาแค่ไหนก็เถอะ...



Vitruvian Man ภาพของลีโอนาโด ดา วินซี 
The Vitruvian Man is a world-renowned drawing with accompanying notes created by Leonardo da Vinci around the year 1487

ความสมบูรณ์ของร่างกาย 

หากว่ากันเฉพาะแต่ ‘คน’ สิ่งที่ทำให้คลายความกังวลลงบ้าง (โดยเฉพาะความปกติของร่างกายและจิตใจ) น่าจะนึกถึงสิ่งที่ ลีโอนาร์โด ดาวินชี ศิลปินเอกของโลกได้เสนอไว้ นั่นคือภาพ เดอะวิทรูเวียนแมน ที่เขาวาดขึ้นเมื่อประมาณช่วงปี ค.ศ.1490 และได้รับการยกย่องว่าเป็นภาพร่างที่ถูกต้องตามหลักสรีรศาสตร์มากที่สุด 

กล่าวกันว่า ลีโอนาร์โดต้องการสะท้อนถึงการผสมผสานกันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ และการทำงานของร่างกายมนุษย์นั้นสอดคล้องกับการเคลื่อนที่ของระบบจักรวาล รูปเหลี่ยมซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของยุคปัจจุบัน สี่เหลี่ยมเป็นสัญลักษณ์ของวัตถุ วงกลมคือสิ่งมีชีวิตและจิตวิญญาณ เมื่อรวมกันจึงกลายเป็นการดำรงอยู่ของมนุษย์ในปัจจุบันนั่นเอง สัญลักษณ์นี้จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน เพื่อแสดงถึงความเป็นสังคมมนุษย์ 

ทั้งนี้ ลีโอนาร์โดยังบอกไว้เสมอว่า ให้รักษาสุขภาพร่างกายของตนเองให้ดี เนื่องจากความพร้อมของร่างกายจะส่งผลกระทบต่อความพร้อมของสมองเรา ถ้าร่างกายเราอ่อนแอหรือเจ็บป่วย ก็ย่อมส่งผลต่อจิตใจและความคิดของเราด้วย 

LEONARDO DA VINCI 
Painted by himself 
Drawn and engraved by Charles Townley

เรื่องที่เล่ายังไม่จบ 

มนุษย์เรายังคงวิวัฒนาการต่อไปไม่ต่างจากแนวเพลงหรือสถาปัตยกรรมที่เปลี่ยนแปลงมาตามยุคสมัย ใครจะรู้ว่าวันข้างหน้า ‘มลพิษทางอากาศ’ อาจทำให้คนเรามีขนจมูกที่ดกครึ้มและยาวขึ้นเพื่อกรองอากาศ รสนิยมความงามของคนเราก็อาจเปลี่ยนไปจนมองเห็นขนจมูกเป็นความเซ็กซี่ได้ 

ลิงชิมแปนซี (อังกฤษ: Chimpanzee; ชื่อวิทยาศาสตร์: Pan troglodytes)

‘โทรศัพท์มือถือ’ ที่สร้างบทสนทนาได้นานข้ามวันข้ามคืน ไม่แน่อาจทำให้เรามีปากกว้างถึงใบหู 

กับวิถีชีวิตบนคีย์บอร์ด ‘คอมพิวเตอร์’ ที่เราพิมพ์แชตกับเพื่อนๆ ได้เร็วจนแทบไม่ต่างจากการพูดหรือพิมพ์รายงานแทนการเขียนบนกระดาษ ในอนาคต นิ้วมือของเราอาจได้แต่กระดกขึ้นกระดกลงเท่านั้น 

และก่อนที่ดวงอาทิตย์จะมอดดับไป ร่างกายมนุษย์อาจเรืองแสงเหมือนหมูตัวนั้นก็ได้ 

ยากที่จะบอกว่าหน้าตาของมนุษย์ในอนาคตจะเป็นอย่างไร เพราะปัจจัยที่ส่งผลนั้นมีมากมาย แต่ความเป็นมนุษย์จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ข้อหลังนี้อาจน่าสนใจกว่า... 

จิตล้วนๆ 

“อนาคตของมนุษยชาติอยู่ที่ การปฏิวัติจิต” (Spiritual Revolution) 
ท่านทะไลลามะ 

ขณะที่สังคมโลกได้เดินผ่านมหันตภัยทางธรรมชาติและสงครามทุกรูปแบบมาจนจะกลายเป็นเรื่องชินชาไปเสียแล้ว และดูจะยิ่งทวีคูณความรุนแรงมากขึ้นอย่างไม่ลดละ แต่กลับมีข้อเสนอต่อเผ่าพันธุ์มนุษย์อย่างเราๆ โดย ไมเคิล ทัลบอต (Michael Talbot) นักควอนตัมฟิสิกส์อเมริกัน กล่าวว่า ผู้ทรงเจ้าชาวอินเดียนแดงผู้หนึ่งอธิบายให้ฟังว่า 

"มีแต่มนุษย์เท่านั้นที่วิวัฒนาการมาถึงจุดที่ไม่รู้ว่า ตนเกิดและดำรงชีวิตอยู่ไปทำไม เพราะสมองให้คำตอบที่ชัดเจนไม่ได้ แถมเรายังลืมความรู้ลี้ลับว่าด้วยที่มาของรูปกาย ความรู้สึก และอารมณ์ รวมทั้งความฝันไปทั้งหมด เราไม่ได้ใช้จิตวิญญาณ และไม่รู้จักใช้ความรู้ที่จักรวาลได้มอบให้กับเราทุกๆ คน จริงๆ แล้วพวกเราไม่สำนึกด้วยซ้ำว่าสิ่งนั้นมีอยู่ ดังนั้น พวกเราจึงระหกระเหินเหมือนคนตาบอดไปบนถนนที่ไม่มีที่ไป” 

ข้อเสนอนี้อาจทำให้นึกถึงคนที่ร่างกายสมบูรณ์ สมองอัจฉริยะ ว่าดูจะกลายเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อยไปเลย หากขาดแคลนสิ่งที่เรียกว่า “จิตวิญญาณ” 

แม้แต่กวีนักคิดอย่าง พจนา จันทรสันติ ได้เคยบันทึกถึงความหมายทำนองนี้ไว้ว่า 

“แรกสุดในอารยธรรมอันเก่าแก่ของมนุษย์ เมื่อมนุษย์คนแรกเริ่มเรียนรู้ที่จะแย้มยิ้ม ช่างเป็นสิ่งน่าพิศวงยิ่ง มนุษย์เรียนรู้ที่จะยิ้มมาจากไหน หากมิใช่โลกธรรมชาติที่แวดล้อมเขาอยู่ เขาคงจะเรียนรู้จากรอยยิ้มอันสว่างไสวของแสงแดด จากดอกไม้ที่เบ่งบาน จากฤดูใบไม้ผลิและฤดูฝน นี่คือความรื่นเริงปีติอันเก่าแก่ เป็นอารมณ์อันเบิกบานของโลกที่ดำรงอยู่แต่ปางบรรพ์ และบรรดาความโศกเศร้าเหล่านั้นเล่า มนุษย์ได้เรียนรู้มาจากที่ใด หากมิใช่จากฤดูใบไม้ร่วง จากผืนดินอันแห้งแล้ง จากความยากลำบากและความตาย โลกธรรมชาตินี้เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกซึ่งสำแดงออกผ่านฤดูกาลและปรากฏการณ์ต่างๆ กัน ซึ่งฝากรอยประทับลึกอยู่ในดวงวิญญาณของมนุษย์” 

แต่... 

“อารยธรรมของโลกสมัยใหม่มีพื้นฐานอยู่บนความรุนแรง เทคโนโลยีของเราทรงพลังมหาศาล ทว่ากลับเป็นพลังที่ไม่มีทางบรรจบกับพลังธรรมชาติได้เลย ทั้งไม่อาจบรรลุถึงความนุ่มนวลกลมกลืน อันจะส่งผลเป็นดุลยภาพซึ่งเอื้อให้ทุกสิ่งในโลกธรรมชาติดำรงอยู่ร่วมกัน อารยธรรมเช่นนี้จะพัฒนารุดหน้าไป ทรงพลังแกร่งกร้าวขึ้นทุกขณะ และจะทำลายตัวมันเองลงในที่สุด ปิดยุคสมัยประวัติศาสตร์และล่มสลายอารยธรรมเดิมลง...” 

สิ่งที่พจนา กล่าวไว้ ทำให้ภาพการวิวัฒนาการของมนุษย์เริ่มเห็นเค้าลางเป็นวงเข็มนาฬิกามากขึ้นทุกขณะ และจากนี้ไปอะไรๆ ที่กำลังปรากฏขึ้นก็เป็นสิ่งที่เราต้องเผชิญร่วมกัน 

“...ฉันอยากจะกินอาหารจากใบไม้ ดื่มน้ำจากกระบอกไม้ไผ่ ขุดหัวเผือกหัวมันและเมล็ดธัญพืชที่งอกเงยจากฝนและน้ำค้างเหมือนหญ้าป่า จะถักเถาวัลย์ขึ้นทำเชือก สร้างบ้านเรือนจากดินหินและใบไม้ ฉันจะหักกิ่งไม้และเก็บก้อนหินขึ้นเป็นอาวุธป้องกันตัว จะมีชีวิตอยู่และตายไปอย่างเท่าเทียมเช่นเดียวกับชีวิตทั้งหลายบนโลก” 

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น