โดย ณัฏฐพงษ์ สกุลเลี่ยว คณะมนุษยศาสตร์ สาขาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ทั้งที่จริงแล้วไม่ควรจะมีการดูถูกหรือมี "ชนชั้น" อยู่ในระบบการศึกษามากนัก เพราะในความจริงสังคมมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ความรู้ที่หลากหลายเป็นอย่างยิ่งในการที่จะพัฒนาประเทศให้ก้าวไปข้างหน้า และผู้เขียนคิดว่าในการที่จะแก้ปัญหาและหาทางออกนี้ได้จะต้องกลับมาพิจารณาวิธีการสอนวิชาประวัติศาสตร์ในประเทศไทย
การสอนวิชาประวัติศาสตร์ไม่ว่าจะในชั้นประถม มัธยม หรือในรั้วมหาวิทยาลัยทั่วไป มักจะสอนแต่เรื่องราวที่อยู่ในกรอบของ "ประวัติศาสตร์แบบชาตินิยม" แถบทั้งสิ้น
แม้ว่าในระยะหลังมานี้จะมีการกำหนดให้มีการสอนประวัติศาสตร์ของแต่ละท้องถิ่น แต่เรื่องราวของท้องถิ่นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาส่วนมากก็จะเป็นเรื่องราวที่จะนำไปสอดแทรกกับประวัติศาสตร์แบบชาตินิยมได้เป็นอย่างดีเท่านั้น
ซึ่งประวัติศาสตร์ท้องถิ่นแบบนี้จะไม่ได้ช่วยให้ผู้เรียน (รวมทั้งครูด้วย) เกิดความเข้าใจความเป็นมาของชุมชนของตนเองได้ดีขึ้นแต่อย่างไร
เมื่อไม่สามารถนำมาอธิบายเหตุการณ์หรือประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้ วิชาประวัติศาสตร์จึงยังเป็น "ศาสตร์" ที่อยู่ในตำรา
ด้านดีของมันมีเพียงแค่เอาไว้รับใชัเราในยามที่จะต้องสอบไล่เท่านั้น เมื่อสอบเสร็จแล้วจำได้ก็ดี จำไม่ได้ก็ไม่เห็นจะเป็นอะไร
ด้านเสียอีกอย่างหนึ่งของการสอนประวัติศาสตร์แบบเดิมก็คือ การเน้นให้นักเรียนจดจำบทบาทของ "วีรบุรุษ" และวันเวลาที่เกิดเหตุการณ์สำคัญๆ มากเกินไป การวัดว่าใครมีความรู้ทางประวัติศาสตร์ดีที่สุดก็มักจะวัดกันตรงที่ใครจดจำว่าอะไรเกิดขึ้นตอนไหนได้มากที่สุด
เมื่อมาประกอบกับการเน้นบทบาทของวีรบุรุษประหนึ่งว่าความเปลี่ยนแปลงทั้งหลายที่เกิดขึ้น ล้วนขึ้นอยู่กับการกระทำหรือไม่กระทำของวีรบุรุษในยุคสมัยนั้นๆ สิ่งเหล่านี้ทำให้วิชาประวัติศาสตร์กลายเป็นวิชาที่สอนให้ "จำ" เป็นหลัก แต่ขาดการสอนให้นักเรียนรู้จักเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ ที่มีอยู่อย่างมหาศาลและนำมาร้อยเรียงให้เกิดเป็นคำอธิบายเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่มีพลัง
อยากจะเดาว่าที่ไม่อยากสอนให้นักเรียนนักศึกษาสร้างคำอธิบายใหม่ๆ ที่มีพลังก็เนื่องจากกลัวว่าคำอธิบายใหม่ๆ นั้นจะเป็นสิ่งที่เข้ามาท้าทายคำอธิบายแบบเดิม ซึ่งมีส่วนช่วยจรรโลงความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมของสังคมไทยไว้อยู่
เมื่อประวัติศาสตร์เป็นวิชาที่คนทั่วไปคิดว่าไม่มีความสามารถในการอธิบายหรือตอบปัญหาแก่ชีวิตและสังคมของตน วิชาประวัติศาสตร์จึงย่อมจะถูกละเลยและถูกลดคุณค่าอยู่เรื่อยๆ
ทางด้านแนวทางในการแก้ปัญหาผู้เขียนคิดว่าควรที่จะต้อง "ปฏิวัติ" วิธีการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ใหม่ทั้งหมด โดยเน้นไปที่การสอนกระบวนการแสวงหาข้อมูลหรือเหตุปัจจัยที่แวดล้อมเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ต่างๆ อยู่ แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นมาเชื่อมโยงกันให้เกิดเป็นคำอธิบายที่สลับซับซ้อนมากขึ้น
โดยที่ผู้สอนจะต้องให้ความสำคัญกับทักษะในการค้นหาเชื่อมโยงข้อมูลมากกว่าทักษะด้านความจำ เพราะเป็นทักษะที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมยุคโลกาภิวัตน์ที่ผู้คนจะถูกแวดล้อมไปด้วยข้อมูลจำนวนมหาศาล
ทักษะในด้านการจัดการข้อมูลตรงนี้จะช่วยให้มนุษย์สามารถดำรงอยู่ได้อย่าง "รู้เท่าทัน" และรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทุกเมื่อเชื่อวันได้ดียิ่งขึ้น
นอกจากนั้นการสอนวิชาประวัติศาสตร์จะต้องหันมาให้ความสำคัญการประวัติศาสตร์ชุมชนมากยิ่งขึ้น โดยจะต้องเน้นที่วิถีชีวิตความเป็นมาของชุมชน ชุมชนนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ระบบเศรษฐกิจเป็นอย่างไร ระบบความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชนด้วยกันเอง และระหว่างชุมชนอื่นเป็นอย่างไร เป็นต้น เพราะการศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชนแนวนี้จะทำให้เกิดความเข้าใจใน "ปัจจุบัน" ของชุมชนหรือสังคมมากขึ้น
เมื่อไหร่ที่วิชาประวัติศาสตร์ไม่ใช่วิชาที่มีไว้ท่องจำไปใช้ในยามสอบเท่านั้น แต่ทักษะของวิชาประวัติศาสตร์จะช่วยให้นักเรียนเข้าใจปัจจุบันและคาดการณ์อนาคตได้อย่างมีเหตุผล (ด้วยพื้นฐานทางประวัติศาสตร์) และเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้ผู้ศึกษาดำรงอยู่ในสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ดีขึ้น เมื่อนั้นสังคมก็ให้ความสำคัญกับวิชาประวัติศาสตร์มากยิ่งขึ้น
โดย ณัฏฐพงษ์ สกุลเลี่ยว
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น