11:25

ทัศนคติ

รายงานโดย :รศ.ดร.ศักดา ปั้นเหน่งเพ็ชร์
ภาควิชาวาทวิทยา คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันพุธที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

ในสังคมไทยของเราเมื่อพูดถึงทัศนคติ เรามักนึกถึงความหมายของคำนี้เพียงว่า “ชอบ” หรือ “ไม่ชอบ” ซึ่งก็เป็นความหมายที่ถูกต้องในบางส่วน

ทว่า โดยแท้ที่จริงแล้วในพจนานุกรมอธิบายความหมายของ Attitude ว่าหมายถึง “ทีท่า, ท่าทาง, กิริยาท่าทาง, อาการ, การแสดงออกและการวางตัว” ขอยกตัวอย่าง เช่น หากว่าครูคนหนึ่งมีทัศนคติที่ดีถูกต้องและเหมาะสมต่อหน้าที่ การงาน อาชีพและวิชาชีพครู เขาก็จะแสดงออก มีท่าทาง กิริยาอาการซึ่งสอดคล้องต้องกันกับอาชีพและฐานะของครู กล่าวคือ เห็นคุณค่าของการถ่ายทอดวิชาความรู้จากครูสู่ลูกศิษย์ รักการสอน รู้จักหน้าที่ของครู เตรียมการสอนเสมอทุกครั้งที่เข้าสอน ให้มีเนื้อหาสาระที่ตรงกับวิชาและเป็นประโยชน์ต่อลูกศิษย์ เข้าสอนและจบการสอนตรงตามเวลา มีจรรยาบรรณและจริยธรรมตามแบบฉบับอาชีพครู มีความสุขกับการได้สอนลูกศิษย์ เต็มใจยินดีและมุ่งมั่นที่จะให้ลูกศิษย์ได้รับความรู้อย่างเต็มที่ ทุกครั้งที่เข้าสอนก็อารมณ์ดี ยิ้มแย้มแจ่มใส สื่อสารได้ดี ชัดเจน และมีสัมพันธภาพที่ดีกับลูกศิษย์เช่นนี้เป็นต้น





นอกจากวิชาชีพหรือในงานอาชีพแล้ว เราอาจมีทัศนคติ คือความรู้สึกนึกคิด ความตระหนักในคุณค่า และการแสดงออกทั้งที่เกี่ยวข้องกับตัวเราเองและมีต่อสิ่งอื่นๆ ที่อยู่รอบตัวเราอีกด้วย ทัศนคติที่เรามีจะเป็นเครื่องกำหนด และควบคุมพฤติกรรมการแสดงออกทางด้านต่างๆ ของเรา

นักวิชาการในหลากหลายสาขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักจิตวิทยาและนักนิเทศศาสตร์ สนใจศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับทัศนคติ การค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ สามารถกระทำได้ในหลายแง่มุม ทว่าการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับทัศนคติที่น่าสนใจมากประการหนึ่ง คือ การศึกษาทัศนคติในการทำหน้าที่ของมัน

ทฤษฎีการศึกษาทัศนคติในสาระประเด็นสำคัญ คือ การกระทำหน้าที่และบทบาทความสำคัญของทัศนคติ ในฐานะที่เป็นเครื่องกำหนดพฤติกรรมทางความคิด และการแสดงออกของคนเรานั้น มีชื่อเรียกในทางวิชาการว่า Functional Theories การศึกษาค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับทัศนคติในเชิงนี้มุ่งให้ความสนใจ เน้นความสำคัญและเอาใจใส่ในเรื่องที่ว่า “เพราะเหตุใดคนเราจึงมีทัศนคติอย่างใดอย่างหนึ่งเช่นนั้น และก็จึงพยายามยึดถือติดแน่นอยู่กับทัศนคติที่ตนเองเคยมีอยู่นั้นไว้อย่างชนิดเหนียวแน่น ดื้อดึง มุทะลุ มีทิฐิ ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงได้โดยง่ายๆ !! ?”

ในอดีตมีนักวิชาการหลายท่าน ได้พยายามศึกษาพิจารณาค้นคว้าหาความรู้เกี่ยวกับการทำหน้าที่ของทัศนคติ ในบรรดานักวิชาการผู้สนใจเรื่องนี้ เคทส์ (Katz, 1960) และเคลแมน (Kelman, 1958) เป็นนักค้นคว้าวิจัยผู้เป็นที่รู้จักดี และมีชื่อเสียงมากที่สุดท่านหนึ่งในเรื่องเกี่ยวกับการทำหน้าที่ และความสำคัญของทัศนคติในเชิงปฏิบัติ

จากการศึกษาค้นคว้าทำการวิจัยเป็นเวลานานมากกว่า 40 ปี เคทส์อธิบายเพื่อชี้แจงว่า โดยพื้นฐานทัศนคติของคนเราที่พวกเราทุกคนมีต่อสิ่งต่างๆ อยู่นั้น ทำหน้าที่อย่างน้อยที่สุดเพื่อสนองความต้องการแก่เอกัตบุคคล (Individual) ใน 4 ประการ คือ

ประการแรก ทัศนคติ คือ สิ่งที่สามารถช่วยให้เราประสบความสำเร็จ ได้รับสิ่งซึ่งเป็นความต้องการที่จำเป็นของเราได้ ในประการนี้หน้าที่ของทัศนคติ คือ การปรับตัว (The Adjustment Function) เมื่อเรามีทัศนคติอย่างไรหรือไปในทางใด เราก็จะปรับตัวให้เป็นไปอย่างนั้นหรือในทางนั้น ทั้งนี้เพื่อให้เราได้รับในสิ่งที่เราต้องการ หรือมีความจำเป็นที่จะต้องมี ต้องเป็น ต้องได้ ฯลฯ

ในประการที่สอง ทัศนคติทำหน้าที่เสมือนเป็นเกราะ หรือเครื่องป้องกัน คือ สิ่งที่จะช่วยปกป้องตัวเราเองและช่วยต่อต้านภยันตรายภัยร้ายที่คุกคามจากภายนอก หน้าที่ของทัศนคติในประการที่สองนี้ ทำหน้าที่เสมือนเป็นทั้งเครื่องสัญญาณเตือนภัยและเป็นกำแพงปราการป้องกันภัยในขณะเดียวกันไปในตัวเลยทีเดียว ดังนั้นหน้าที่ของทัศนคติในลักษณะนี้จึงมีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า The Ego-Defensive Function บุคคลผู้มีทัศนคติระมัดระวังตนเอง ปกป้องตนเอง อยากเอาชนะ หรือไม่ต้องการที่จะถูกทำร้ายจึงมักมีพฤติกรรมในเชิงนี้อย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้เนื่องจากเขามีทัศนคติในลักษณะดังกล่าว และทัศนคติได้ทำหน้าที่ของมัน

ส่วนประการที่สาม ทัศนคติทำหน้าที่ช่วยให้เราสามารถสงวนรักษาผดุงอัตลักษณ์ (The Self-Identity) คือ เอกลักษณ์แห่งความเป็นตัวตนของเราที่แตกต่างจากบุคคลอื่น ทัศนคติที่เรามีอยู่ช่วยทำหน้าที่ส่งเสริมและสงวนรักษา ธำรงความเป็นเอกลักษณ์อันไม่เหมือนใครของเราให้คงอยู่ และมีความโดดเด่นชัดเจนในความมีคุณค่าทางเอกภาพของตัวเราเอง บุคคลใดผู้มีทัศนคติต่อตนเองหรือกลุ่มของตนเองอย่างไร ก็จะพยายามแสดงออกเพื่อสร้างเอกลักษณ์ให้แก่ตน

ส่วนระดับความชัดเจน หรือความรุนแรงของการแสดงออกนั้นขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยและสถานการณ์ที่แวดล้อมอยู่ เช่น ในโลกของการแข่งขันอย่างรุนแรงทางธุรกิจและการค้า ทัศนคติของเจ้าของกิจการค้าย่อมต้องการสร้างจุดขาย Market Positioning อันเป็นเอกลักษณ์ของตนให้ชัดเจน เป็นที่สะดุดตา เป็นที่รู้จัก และเป็นที่ประทับใจแก่สังคมให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ การลงทุนการใช้งบประมาณเพื่อการนี้ ต้องมีระดับปริมาณมากตามทัศนคติไปด้วย หน้าที่ของทัศนคติในเชิงนี้ จึงเป็นที่รู้จักกันในภาษาอังกฤษว่า The Value-Expressive Function

ฝ่ายประการที่สี่ ประการสุดท้าย หน้าที่สำคัญยิ่งของทัศนคติคือ การช่วยให้เราสามารถจัดระบบระเบียบข้อมูลข่าวสารความรู้ต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง ชัดเจน และเป็นไปตามลำดับความสำคัญแห่งเนื้อหาสาระ ทั้งนี้ เนื่องจากสารสนเทศและความรู้ต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเรานั้น มีค่าความหมายและความสำคัญต่อตัวเราต่างกัน หากเรามีทัศนคติต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปในแนวทางใดแนวทางหนึ่ง เราก็จะให้ความสำคัญต่อสิ่งนั้นมากกว่า สิ่งนั้นก็จะมีความหมายต่อเรามากกว่าด้วยเช่นกัน เมื่อเรามีทัศนคติว่า “มนุษย์ทุกคนควรมีหน้าที่และอาจสามารถช่วยลดภาวะโลกร้อนได้ทั้งสิ้น” ทัศนคตินี้ก็จะช่วยให้เราจัดสรรศึกษาค้นคว้าหาความรู้ในเรื่องนี้ เพื่อสนับสนุนและพิสูจน์ทัศนคติของเราดังกล่าว หน้าที่แห่งทัศนคติในประการที่สี่จึงเป็นการศึกษาหาความรู้ และคัดสรรข้อมูลข่าวสารเพื่อสนองแนวคิดและค่านิยมด้านต่างๆ ที่เรามีอยู่ ในภาษาอังกฤษจึงใช้คำว่า The Knowledge Function

คุณสมบัติแห่งสุภาพบุรุษที่สำคัญยิ่งประการหนึ่ง คือ การมีทัศนคติที่ดีต่อสิ่งต่างๆ ที่อยู่แวดล้อมตัวเรา หากเรามีทัศนคติที่ดีถูกต้องเหมาะสม พฤติกรรมการแสดงออกใน Performance ของเราก็จะงดงาม น่าดู ประทับใจ และน่าชื่นชมตามไปด้วย... สวัสดีครับ

ทัศนคติ
รายงานโดย :รศ.ดร.ศักดา ปั้นเหน่งเพ็ชร์
ภาควิชาวาทวิทยา คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันพุธที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น