13:40

รหัสดนตรีพลิกวิถีโลก (Music that Changed the World)

“ดนตรีเป็นทั้งความพอใจส่วนตน ความเคยชินส่วนบุคคล และความสนุกสนานบันเทิงอย่างไม่มีแก่นสาร พอๆ กับที่มันสามารถเป็นเครื่องมือในการจินตนาการ สร้างความรู้สึกนึกคิด สื่อสาร และสร้างสิ่งที่ดีเลิศ เท่าที่ศักยภาพเยี่ยงมนุษย์จะอำนวยให้” 

วีระ สมบูรณ์ 


คำนิยม

โลกที่สับสนซับซ้อนยุ่งเหยิง เหมือนอยู่กลางทะเลเพลิงที่เร่าร้อนเร่งรีบ มายาคติและอคติได้ผลิผุดงอกงามขึ้นเป็นเม็ดเงินและดอกเบี้ยที่ปลิวว่อนไปทั่วโลกที่ระบบทุนบริโภคนิยมรุกรานเข้าไปครองครอบงำ

สิ่งล่อแห่งจิตสำนึกการบริโภค ทำให้ไม่เกิดความพอดีและไม่สามารถถ่วงสมดุลซึ่งกันและกัน โครงสร้างพื้นฐานทางปัญญาถูกบดบังทำให้พร่าเลือนและบดเบลอไป

วงการเพลงและดนตรีโลกภายใต้เงื่อนไของทุนวัฒนธรรมก็เช่นกัน ได้แปรเปลี่ยนพลิกผันไปจากการเติบโตของการทำธุรกิจดนตรี ทำธุรกรรมทางผลิตภัณฑ์สินค้าความบันเทิงในแง่พาณิชย์ศิลป์ จนฉุดรั้งไว้ไม่อยู่กลายเป็นอุตสาหกรรมเพลงที่มีมูลค่ามหาศาล ถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่มีแต่เพิ่มพูนไม่มีทีท่าว่าจะลดลงด้วยเงื่อนไขการค้าเสรี

ศาสตร์และศิลปะที่ออกมาจากใจไม่มีเจตนาแฝงเร้นทางการค้าจากการสร้างสรรค์ดนตรีและบทเพลงจึงแทบจะไม่มีปรากฏ พื้นที่เหล่านี้ไม่ได้รับการโอบอุ้มอีกต่อไป

อัลบั้มเพลงเป็นร้อยเป็นพันล้านอัลบั้มที่ผลิตออกมาจากนักร้อง นักดนตรี และวงดนตรีทั่วโลกต่างทำเพื่อการขายเป็นหลัก
ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ผิดแต่อย่างใด เพราะโลกเป็นเช่นนี้ เงียบเฉยและชาชิน

แต่ก็มีบางคนที่เรียกได้ว่าเป็น ‘ศิลปิน’ ได้แสดงกระบวนทัศน์และชีวทัศน์ของเขาออกมาได้คมเข้มสมราคาของค่าฝีมือ

‘…พลังมหาศาลของการค้าขาย และการเอาแต่ผลิตสิ่งที่ตอบสนองระดับที่ต่ำสุด จนกลายมาเป็นวิถีชีวิตของผู้คนยุคนี้ไปเสียแล้ว แถมยังข่มขู่ปิดกั้นผู้คนไม่ให้สนใจคุณภาพ หรือไม่ก็เอาอะไรไม่รู้มาปนกับดนตรี ทั้งๆ ที่มันไม่ใช่ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีอำนาจน่าสยองขวัญเหมือนกัน เพราะถ้ามองไปข้างหน้าแล้วมันยังเป็นเช่นนี้ต่อไป อนาคตก็จะจบลงที่การเป็นเหมือนๆ กัน มีลักษณะเหมือนๆ กันไปหมด เราจะทำดนตรีออกมาก็ต้องทำแบบเดียวกัน ต้องให้ตอบสนองกับแนวทางพื้นๆ ในระดับต่ำที่สุดเหมือนๆ กัน ผมเป็นห่วงว่าท้ายที่สุดแล้วผลจะเป็นแบบนั้น…

ขนมปังนมเนยเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นแต่มันไม่ควรมาเป็นข้ออ้างให้เรากวาดเอาสิ่งดีๆ สิ่งที่เป็นด้านสูงส่งของชีวิตให้ตกหายไป…’

เป็นส่วนหนึ่งของบทสัมภาษณ์ความยาว 6 นาที ของ Bill Evans มือเปียโนแจ๊ซระดับตำนาน ที่บรรจุอยู่ในท้ายอัลบั้ม ‘I remember Bill: A tribute to Bill Evans’ ของ Don Sebesky ซึ่งอาจารย์วีระ สมบูรณ์ นำมาถอดความลงในบทที่ชื่อ ‘ศิลปินกับอัตลักษณ์’ และมาสรุปความถึงความคิดของ Evans อย่างขมวดเกลียวว่า



Bill Evans

‘โลกที่พลังอำนาจของการเอาแต่ค้าขายเพื่อหวังกำไรสูงสุดเข้ามาบดบังศิลปะจนน่ากลัวเป็นอย่างยิ่ง เพราะการค้าขายย่อมมุ่งที่จะสร้างแต่สิ่งพื้นๆ ง่ายที่สุด เร็วที่สุด ถูกที่สุด เพื่อที่จะจำหน่ายให้ได้มากที่สุด เข้าถึงจำนวนคนมากที่สุด ใช้ทุนจ้างคน สร้างนักสื่อสารมวลชน สร้างอุปสงค์อุปทานให้เป็นไปตามเจ้าของทุนที่ต้องการ ทำให้ตลาดมีทิศทางเป็นไปดังต้องการ 

การขาย จึงเป็นเรื่องของมาตรฐานดนตรีไป พื้นที่สำหรับดนตรีในแบบที่ตั้งใจทำกันจริงๆ จังๆ แทบจะไม่หลงเหลืออยู่เลย’ 

ปัญหาเหล่านี้ อาจจะถูกทำให้บรรเทาเบาบางได้จากการให้ความรู้หรือการศึกษาในเชิงความบันเทิงหรือเอ็ดดูเทนเมนท์แก่คนทั่วไปหรือเฉพาะวัยรุ่นได้ เป็นการถ่วงสมดุลและเปิดทางเลือก แทนที่จะถูกยัดเยียดจากแผนการตลาดเพื่อการค้าจะค่ายเพลงบรรษัทยักษ์ใหญ่เพียงถ่ายเดียว 

หนังสือรวมบทความทางดนตรีของอาจารย์วีระ สมบูรณ์ เล่มนี้ ถือเป็นการนำพื้นความรู้และประสบการณ์ตรงที่ไม่อิงในเชิงทฤษฎีดนตรีมากมายนัก แต่เป็นความหลังราคาแพงที่มีแกนคิดของการมักบ่มที่ดีเยี่ยม คัดสรรและเลือกมาตอบสนองการเปิดมุมมองในมิติใหม่ของการฟังเพลงและดนตรีที่ควบรวมความบันเทิงและความรู้ในเชิงสุนทรียศาสตร์ที่เท่าทัน 

ถ้อยทำนอง จังหวะจะโคนของหนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ 1. ‘Jazz & Blues’, 2. ‘Guitarist’, 3. ‘Music Civilization’, 4. ‘World Music’ ได้ให้อรรถรสขององค์ความรู้ที่ลึกกว่าการฟังเพลงในแบบธรรมดา ทั้งการประมวลในเชิงประวัติศาสตร์, สังคมวิทยา, มานุษยวิทยา และการสร้างสรรค์อัตลักษณ์ทางดนตรีที่ถือเป็นแม่แบบเป็นแนวทางต่อยอดสู่ผู้คนรุ่นต่อมา 

ความผิดเพี้ยนอัปลักษณ์ เปลือกกลวงว่างเปล่า อุตสาหกรรมเพลง ธุรกิจดนตรี และรายการเพลงยอดนิยม กลายเป็นทุนทางวัฒนธรรมโดยสมบูรณ์แบบ และล้วนเป็นสัญลักษณ์ของรากเหง้าการยึดครองทางการเมืองและวัฒนธรรม 

องค์ความรู้ในการเสพความบันเทิงทางบทเพลงและดนตรีเท่านั้นที่จะสร้างมาตรฐานการฟังเพลงและร่วมพัฒนาวงการดนตรีไปแบบคู่ขนานกัน 

ไม่ใช่ปล่อยให้พลังงานดุดัน-พรสวรรค์สุดสวยของศิลปินนักดนตรี กลายเป็นความเงียบของคนพ่าย และการวิวัฒน์ทางดนตรีและบทเพลงตีบตัน 





0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น