10:59

ขุนเพชร และความหมายในประวัติศาสตร์‏

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : เขียน
มติชนรายสัปดาห์ วันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 27 ฉบับที่ 1389



Adolf Bastian (26 June 1826 – 2 February 1905) was a 19th century polymath best remembered for his contributions to the development of ethnography and the development of anthropology as a discipline. 

Adolf Bastian เป็นขาวเยอรมันซึ่งเดินทางเข้ามาเมืองไทยและอยู่เมืองไทยระหว่าง 2405-2406 หลังเซอร์จอห์น บาวริง เพียง 7 ปี แต่เนื่องจากความสนใจและการศึกษาของสองคนนี้ต่างกัน ทำให้หนังสือของเขาเกี่ยวกับเมืองไทย แตกต่างกันมาก 

บาสเชี่ยนเรียนพูด และอ่านไทยได้ ทั้งมีโอกาสพบปะทั้งกับคนชั้นสูง (รวมทั้งได้เข้าเฝ้าฯ พระจอมเกล้าฯ ด้วย ซึ่งทรงยกย่องเขาเป็น "นักปราชญ์") และชาวบ้านทั่วไป ตลอดไปถึงผู้มีชื่อเสียงว่าเป็นผู้รู้ในเรื่องต่างๆ (เช่นหลวงพ่อโต ซึ่งเขาไม่ประทับใจเลย) อย่างกว้างขวาง จึงทำให้หนังสือของเขาเป็นบันทึกที่เกี่ยวกับสังคมไทยสมัยเก่า ที่ดีกว่าของเซอร์จอห์นอย่างเทียบกันไม่ได้ 

บาสเชี่ยนได้ชื่อว่า เป็นหนึ่งในบิดาของวิชาชาติพันธุ์วรรณนา (ethnography) อันเป็นวิชาที่นักมานุษยวิทยาไทยปัจจุบัน ยกย่องด้วยปาก แต่ดูถูกในใจเสมอมา 




  ส่วนของงานของเขาที่เกี่ยวกับเมืองไทยเพิ่งมีผู้แปลจากภาษาเยอรมันเป็นภาษาอังกฤษ และพิมพ์ขึ้นใน พ.ศ.2548 นี้เอง ในชื่อว่า A Journey in Siam (1863) ผมเพิ่งได้อ่านและมีบางเรื่องที่ผมอยากนำมาคุย

เป็นเรื่องเกี่ยวกับปลัดขิกหรือรูปลึงค์ขนาดต่างๆ น่ะครับ

แม้ว่ามีพระราชกำหนดในสมัย ร.1 ให้เก็บรูปลึงค์ที่ชาวบ้านนำไปใช้เซ่นสรวงบูชาต้นโพธิ์และศาลเจ้าต่างๆ ให้พ้นหูพ้นตาเสีย แต่การเซ่นสรวงบัดพลีเจ้าด้วยรูปลึงค์ก็ยังทำกันอย่างแพร่หลายมาจนสมัย ร.4

หนึ่งในสิ่งที่ใช้เซ่นสรวงบูชาสถานที่ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเป็นที่สิงสถิตของเจ้าและเทพาอารักษ์ อันควรแก่การเซ่นสรวงบัดพลีเพื่อคุ้มครอง และอำนวยความสวัสดีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นต้นโพธิ์, ไม้ประหลาด, หรือศาลเจ้า ก็คือรูปลึงค์ (ซึ่งมักทำด้วยไม้อันเป็นการสะดวกกว่าอย่างอื่น) และโยนี (ซึ่งทำด้วยแผ่นไม้รูปหัวใจและสลักตรงกลาง)

แม้แต่ศาลพระภูมิ (ซึ่งบาสเชี่ยนเรียกว่าศาลตาภูมิอย่างสม่ำเสมอตลอดเล่ม จนกระทั่งผมชักไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะพิมพ์ผิด หรือฟังผิด...เพราะฟังชาวบ้านพูดถึง "เจ้าที่" ในสมัยหลังแล้ว ก็คือผีดีๆ นี่เอง ไม่ใช่เทพ อักขราภิธานศรับท์ ของหมอบรัดเลย์อธิบาย "เจ้าที่" ว่า เป็นชื่อเจ้าของที่, เหมือนอย่างภูมิเจ้าที่เป็นต้น) ก็มักเซ่นกันด้วยรูปลึงค์อยู่ทั่วไป

อย่างไรก็ตาม เท่าที่ผมจับได้จากงานของบาสเชี่ยน ผมรู้สึกว่าเขาไม่ใช้รูปลึงค์เป็นเครื่องเซ่นสำหรับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาพุทธ และศาสนาพราหมณ์

ไม่มีใครเอารูปลึงค์ ไปถวายพระพุทธรูป แต่อาจเอาไปถวายเจ้า หรือเทพารักษ์ซึ่งมีหน้าที่ในการปกป้องดูแลวัด เจ้าหรือเทพที่มีหน้าที่ปกป้องดูแลวัดนั้น ในปัจจุบันยังมีอยู่ในวัดทางเหนือซึ่งเขาเรียกกันว่า "เสื้อวัด" แต่บาสเชี่ยนรายงานว่า ในกรุงเทพฯ สมัยนั้นเรียกว่าเทพารักษ์

ผมควรบอกด้วยว่า คนไทยสมัยนั้นตามรายงานของบาสเชี่ยนแบ่งเทวดาออกจากกันอย่างไร เทวดาซึ่งอยู่บนฟ้าหรือที่อื่นๆ นั้นเรียกว่าเทวดา แต่เทวดาอีกพวกหนึ่งอยู่บนพื้นโลกนี้เป็น "เจ้า" ของป่า, เขา, ต้นไม้ เช่นต้นตะเคียน, ที่ดิน, แม่น้ำ ฯลฯ ต่างๆ เรียกรวมๆ ว่าเทพารักษ์ (แม้ในภาษาพูดอาจปะปนกันเช่นรุกขเทวดา ที่จริงก็เป็นเทพารักษ์)

ส่วนภูมิเทวดานั้นเป็นเทวดาบนพื้นโลกก็จริง แต่มีหน้าที่รายงานความเป็นไปบนโลก (รวมทั้งการกระทำของมนุษย์) ต่อเทวดาผู้ใหญ่บนสวรรค์อีกทีหนึ่ง (ซึ่งทำให้ผมเข้าใจว่า "ตาภูมิ" กับ "พระภูมิ" เป็นคนละอย่างกัน แต่อิทธิพลจีนทำให้สองอย่างนี้มาปนกันในภายหลัง เพราะเจ้าจีนทำงานเหมือนพระภูมิ คือต้องส่งรายงานแก่สวรรค์ทุกปี)

เมื่อคนไทยสมัยนั้นตั้งศาลเจ้า ไม่ว่าจะในบ้านเรือนของตัวหรือที่ใดซึ่งเห็นว่าศักดิ์สิทธิ์ก็ตาม ศาลเจ้าก็มักจะมีเทพารักษ์คุ้มครอง (นอกเหนือจากตัวเจ้าที่ตั้งศาลให้) เทพารักษ์นี้มีรูปร่างเป็นตะเข้ และมักเรียกกันว่าตะเข้เจ้า

อันนี้ตรงกับที่อาจารย์ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม เคยบอกผมว่าในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง คนไทยนับถือจระเข้ (เหมือนพวกกูยนับถือแลน, คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ เคยเล่าเรื่องการบัดพลีสัตว์เลื้อยคลานประเภทนี้ ในหมู่พวกจ้วงในมณฑลกวางสี) ตามรายงานของบาสเชี่ยนบอกว่า หลักเขตกรุงเทพฯ ในสมัยนั้นจะมี "อาถรรพณ์" สะกดไว้ กล่าวคือ จระเข้ที่ว่ายน้ำเข้ามาในเขตเมืองจะโผล่เหนือน้ำไม่ได้ เป็นพระราชบัญญัติ หากจระเข้ตัวใดไม่ฟังพระราชบัญญัตินี้จะถูกลงโทษ (แน่นอนครับ ตามพิธีกรรม)

กว่าจะมีพระเจ้าแผ่นดินที่มีอำนาจเหนือพระราชอาณาจักรซึ่งคลุมความเชื่อท้องถิ่นอันหลากหลายในเมืองไทยได้ ก็ต้องสถาปนาพระราชอำนาจขึ้นเหนือผีและเทพท้องถิ่นจำนวนมากโดยอาศัยผู้รู้หรือ "นักวิชาการ" ช่วยกันสร้างความเชื่อหรือความชอบธรรมขึ้นมาให้สังคมยอมรับ ในสมัยนั้นจะเรียกว่าอะไรผมก็ไม่ทราบ

แต่สมัยหลังเรียกว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติครับ

และพวกศาลเจ้าประเภทต่างๆ นี่แหละครับ ที่มักมีผู้นำเอารูปลึงค์แลโยนีไปเซ่นสรวง

คำอธิบายที่บาสเชี่ยนได้รับจากชาวบ้านก็คือ รูปลึงค์มักเรียกกันว่า "ขุนเพชร" และโยนีมักเรียกกันว่า "ดอกบัว" ทั้งสองอย่างนี้เป็นดอกไม้ในแดนสวรรค์ บาสเชี่ยนก็รู้ว่านี่เป็นคำอธิบายที่ทำให้ความหมายทางเพศเลือนไป

อย่างไรก็ตาม ความหมายทางเพศของทั้งสองอย่างก็เลือนไปในความเชื่อของชาวบ้านจริงๆ ด้วย เช่น ศาลที่มีเจ้าเป็นเพศชาย เขาก็ยังเซ่นด้วยรูปลึงค์อยู่นั่นเอง

เพราะรูปลึงค์ก็ตามโยนีก็ตาม ล้วนเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์เท่านั้น ฝรั่งเรียกลัทธิพิธีอย่างนี้ว่า fertility cult หรือลัทธิพิธีเพื่อความอุดมสมบูรณ์ อันปรากฏในทุกวัฒนธรรม โดยเฉพาะในสังคมเกษตร แต่ก็ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารเท่านั้น หากรวมถึงความอุดมสมบูรณ์ ของการสืบลูกสืบหลานด้วย

แม้ในวัดโพธิ์ก็มีรูปลึงค์ศิลาซึ่งเขาเชื่อกันว่า หากหญิงใดต้องการบุตรก็ให้ถูอวัยวะเพศของตนกับรูปนั้น

ผมควรกล่าวไว้ด้วยว่า ความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งต่างๆ นั้นไม่ได้มาจากปุ๋ย, ดินฟ้าอากาศ, หรืออะไรที่แยกออกได้เป็นส่วนๆ เหมือนความเข้าใจของเราในปัจจุบัน

ความอุดมสมบูรณ์เป็นพลังธรรมชาติอย่างหนึ่ง ในบางวัฒนธรรมเชื่อว่าเป็นพลังงานที่มาจากวิญญาณ หรือพรของบรรพบุรุษ บางวัฒนธรรมเชื่อว่ามาจากพระเจ้า บางวัฒนธรรมเชื่อว่ามาจากพิธีกรรมที่ทำอย่างถูกต้อง

ลึงค์และโยนีเป็นที่มาของกำเนิดหรือความงอกงามอย่างเห็นได้ชัด เทพและเจ้าที่เขานับถือก็อำนวยพลังอันยิ่งใหญ่นี้ จึงต้องเซ่นกันด้วยรูปแห่งกำเนิดและความงอกงามเป็นธรรมดา

ในเมืองไทยสมัย ร.4 ซึ่งเรายังอยู่ในสังคมเกษตร การเซ่นเจ้าด้วยรูปลึงค์และโยนีอย่างแพร่หลายดังรายงานของนายบาสเชี่ยน จึงไม่น่าประหลาดใจอย่างไร

ประเพณีนี้เสื่อมถอยไปในปัจจุบันอย่างมาก เพราะความเป็นสังคมเกษตรของเราลดถอยลง และเพราะคนในปัจจุบัน ไม่ได้มองความอุดมสมบูรณ์อย่างบรรพบุรุษเสียแล้ว จึงไม่มีวันเข้าใจว่ารูปลึงค์ และโยนีจะช่วยให้อะไรงอกงามได้อย่างไร

ที่เราในปัจจุบันเห็นเครื่องเซ่นเช่นนี้ว่าอุลามกจึงไม่ประหลาดอันใด

แต่ที่น่าประหลาดก็คือ ร.1 ก็มีความคิดอย่างเดียวกับเราในปัจจุบัน จึงได้มีพระราชกำหนดให้เก็บเอาไปทิ้งเสีย ทั้งๆ ที่ในสมัยของท่าน คงมีการเซ่นสรวงเจ้าด้วยรูปลึงค์และโยนีกันดกดื่นไม่น้อยไปกว่าสมัย ร.4 (และอาจมากกว่าด้วย)

เหตุใด ร.1 จึงทรงมีพระราชวินิจฉัยแตกต่างไปจากคนร่วมสมัยของท่าน

ผมอยากจะเดาว่าเป็นเพราะวัฒนธรรมชนชั้นสูงสมัยนั้น พอใจจะอธิบายโลกจากแง่มุมของพระพุทธศาสนา มากว่าคติความเชื่อเดิม

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ชนชั้นปกครองมีวัฒนธรรมอย่างหนึ่งซึ่งไม่เหมือนวัฒนธรรมชาวบ้าน แม้ไม่แตกต่างกันเป็นขาว-ดำ แต่ก็มีส่วนที่ไม่ลงรอยกันนัก

วัฒนธรรมของชนชั้นสูงนี้แพร่หลายโดยผ่านสื่อต่างๆ (ภาพเขียนฝาผนังวัด, วรรณกรรม, กฎหมาย, พระราชพิธี ฯลฯ) จนมาถึง ร.4 แม้แต่ชาวบ้านด้วยกันเองบางหมู่บางเหล่าก็ไม่นิยมชมชอบไปกับพิธีกรรมเซ่นสรวงเจ้าด้วยรูปลึงค์อีกต่อไป

บาสเชี่ยนรายงานว่าคนไทยที่เคร่งศาสนามองการเซ่นเจ้าเซ่นผีด้วยสายตาตำหนิติเตียน เพราะเป็นเพียงข้ออ้างสำหรับกินเหล้า ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเป็นเครื่องเซ่น และเอาสิ่งอุลามกไปตั้งในที่สาธารณะ ซึ่งก็ตรงกับทัศนคติของพระราชกำหนดในสมัย ร.1 เพียงแต่เน้นระบบคุณค่าของพุทธศาสนามากกว่าเท่านั้น

สังคมไทยก็เหมือนสังคมอื่นๆ ในโลก หาได้เป็นน้ำเนื้อเดียวกันไม่ มีความแตกต่างในด้านต่างๆ ระหว่างคนอยู่มากมาย ที่ผมยกขึ้นมาคุยก็เฉพาะเรื่องศาสนาอย่างเดียวคือภายใต้ความเป็นชาวพุทธร่วมกันนี้ มีสีสันที่แตกต่างกันอย่างสุดกู่ และหากมีอำนาจจะทำได้ กลุ่มหนึ่งก็อาจใช้อำนาจแทรกแซงความเชื่อและการปฏิบัติ "ศาสนา" ของอีกกลุ่มได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง

สังคมที่ถูกระบายสีให้เหมือนกันหมดนั้นไม่มีอยู่จริงในโลก

และเพราะสังคมมีความต่างนี่แหละครับ ที่ทำให้เกิดพลวัตภายใน หรือพลังที่จะปรับเปลี่ยนตัวเองได้จากภายในตัวของตัวเอง ดังเช่นโลกทรรศน์แบบพุทธที่แพร่หลายมากขึ้นนับจาก ร.1 เป็นต้นมา

พลวัตอย่างนี้ต่างหากที่เป็นฐานให้แก่การปรับเปลี่ยนด้วยอิทธิพลตะวันตกในสมัยต่อมา ไม่ใช่อะไรๆ ก็มาจากฝรั่งไปหมด โดยไม่มีฐานอะไรในสังคมไทยเลย ขึ้นอยู่กับฝรั่งและอัจฉริยภาพของผู้นำเท่านั้น

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น