11:57

ลัทธิเสรีนิยมและประชาธิปไตย

ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน
ราชบัณฑิต
ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยซึ่งมีการกล่าวถึงบ่อยครั้ง มักจะมุ่งเน้นไปในเรื่องการเลือกตั้ง การมีสภานิติบัญญัติ การมีรัฐบาล การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล การยุบสภา ฯลฯ แต่ตัวแปรหลักที่สำคัญที่ขาดหายไปจากการวิเคราะห์ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย นั่นคือ อุดมการณ์เสรีนิยม (liberalism) อุดมการณ์เสรีนิยมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศตะวันตกตั้งแต่ในยุค The Age of Enlightenment ซึ่งมีนักคิดที่เน้นในเรื่องนี้ตั้งแต่รุสโซ มองเตสกิเออ จอห์น ล็อค เนื้อหาหลักของลัทธิเสรีนิยมคือเสรีภาพ (freedom) และความเสมอภาค (equality) อันจะเห็นได้ว่าเสรีภาพและความเสมอภาคนั้นเป็นส่วนประกอบสำคัญของอุดมการณ์หลังการปฏิวัติฝรั่งเศสปี ค.ศ.1789 ซึ่งได้พูดถึงเสรีภาพ สมภาพ และภราดรภาพ (liberty, equality and fraternity) ซึ่งกลายเป็นคำขวัญของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์




อุดมการณ์เสรีนิยมนี้จึงเป็นอุดมการณ์พื้นฐานของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย กล่าวคือ เป็นอุดมการณ์ที่ให้น้ำหนักกับความเป็นมนุษย์ ซึ่งจะต้องมีศักดิ์ศรี มีสิทธิเสรีภาพ เช่น เสรีภาพในชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน ที่สำคัญคือเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในทางการเมือง ฯลฯ ขณะเดียวกันมนุษย์ที่ถือกำเนิดมาในโลกนี้แม้จะแตกต่างกันในฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจ และแหล่งกำเนิด แต่ก็ต้องมีความเสมอภาคกันโดยเป็นประชาชนที่เท่าเทียมกัน มีความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมายและเสมอภาคในทางการเมือง บนพื้นฐานของอุดมการณ์เสรีนิยม อันได้แก่ เสรีภาพและความเสมอภาค ก็นำไปสู่ระบอบการปกครองที่อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน เข้าลักษณะเสียงประชาชนคือเสียงสวรรค์ ประชาชนจึงมีสิทธิ์ที่จะเลือกผู้แทนเข้าไปทำหน้าที่แทนตนในการบริหารประเทศ ทั้งในสภานิติบัญญัติ อำนาจฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ
จากการพัฒนาสถาบันทางการเมืองการบริหารดังกล่าวนี้ ก็ได้นำไปสู่การพัฒนากระบวนการการเลือกตั้ง สมาชิกสภานิติบัญญัติ กระบวนการออกกฎหมาย นอกจากนั้นก็มีการพัฒนาสถาบันบริหารซึ่งต้องรับผิดชอบต่อการบริหารบ้านเมือง โดยมีกลไกในการตรวจสอบการใช้อำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ขณะเดียวกันก็มีฝ่ายตุลาการซึ่งมีบทบาทสำคัญในการหาข้อยุติในข้อขัดแย้งในทางการเมืองและกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญและการปกครอง จนนำไปสู่หลักการที่สำคัญคือ หลักนิติธรรมและหลักธรรมาภิบาลในที่สุด
จากการใช้อำนาจรัฐของ 3 องค์กรดังกล่าวนี้ได้นำไปสู่การพัฒนากระบวนการถ่วงดุลอำนาจ (balance of power) และการแบ่งแยกอำนาจ (separation of powers) ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ การถ่วงดุลอำนาจและการแบ่งแยกอำนาจนี้ก็เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการใช้อำนาจในลักษณะระบบเผด็จการ เนื่องจากการใช้อำนาจรัฐซึ่งได้มาจากอำนาจอธิปไตยของประชาชนนั้นจะต้องทำเพื่อประโยชน์แก่ประชาชน และไม่กระทบกระเทือนต่ออุดมการณ์เสรีนิยม นั่นคือ เสรีภาพและความเสมอภาค ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยในประเทศตะวันตกจึงตั้งอยู่บนพื้นฐานอันสำคัญดังกล่าว และได้เจริญเติบโตมาในอังกฤษและยุโรปหลายประเทศ จนไปเจริญเติบโตในสหรัฐฯ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยจึงเป็นระบบการเมืองที่ให้น้ำหนักกับความสัมพันธ์ของมนุษย์ ทั้งในแง่สิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ อันเป็นสิทธิเด็ดขาดที่ไม่มีใครสามารถละเมิดได้ ระบบการเมืองการปกครองจึงต้องมีเพื่อให้เจ้าของอำนาจอธิปไตยได้รับประโยชน์มากที่สุด และผู้ที่ทำหน้าที่แทนประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยนั้นก็คือผู้ที่ได้รับอาณัติจากประชาชน ด้วยการได้รับเลือกจากประชาชนมาทำหน้าที่เพื่อเป็นตัวแทน แต่อำนาจที่แท้จริงยังอยู่ที่ประชาชน และที่สำคัญประชาชนยังคงไว้ซึ่งเสรีภาพและความเสมอภาคอันเป็นอุดมการณ์หลักซึ่งเป็นรากฐานของการพัฒนาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย
ถ้ามองในรูปนี้ระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีการออกแบบมาโดยละเมิดเสรีภาพและความเสมอภาคของประชาชน จะเป็นระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่พิกลพิการ ขณะเดียวกัน กฎหมายไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายฉบับใดก็ตามที่มองข้ามอุดมการณ์หรือลัทธิเสรีนิยมที่กล่าวมาแล้วนั้น ก็จะเป็นการละเมิดหลักการอันศักดิ์สิทธิ์ของระบบประชาธิปไตยโดยตรง ผู้ใช้อำนาจรัฐที่ละเมิดหลักการดังกล่าวก็คือผู้ต่อต้านระบบประชาธิปไตยอย่างเห็นได้ชัด ผู้ต่อต้านระบบประชาธิปไตยก็คือผู้ซึ่งละเมิดอาณัติที่ได้จากประชาชน และในกรณีใช้อำนาจเข้าล้มล้างระบบก็คือการประกาศสงครามกับประชาชนโดยตรง และนี่คือคติที่เชื่อกันทั่วไป แต่ขณะเดียวกันถ้าระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยพบกับอุปสรรคอย่างหนักจนเกิดอาการแคระแกน พิกลพิการ นำไปสู่ความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อสังคมและประชาชน ด้วยการละเมิดสิทธิขั้นมูลฐาน ละเมิดหลักนิติธรรม ลุแก่อำนาจ ฉ้อราษฎร์บังหลวง ผูกขาดอำนาจอย่างต่อเนื่อง ฯลฯ ประชาชนย่อมมีความชอบธรรมที่จะแก้ไขความพิกลพิการดังกล่าวด้วยการแสดงประชามติคัดค้าน หรือด้วยการสนับสนุนให้มีการเปลี่ยนแปลงระบอบที่แปลกแยกไปจากสิ่งที่ควรจะเป็น เพื่อทำการเยียวยารักษา ปูพื้นเพื่อนำไปสู่ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่แท้จริงอีกต่อไป
แต่ที่สำคัญก็คือ เมื่อมีการพูดถึงระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยหรือระบบประชาธิปไตย จะต้องมีการคำนึงถึงอุดมการณ์เสรีนิยมซึ่งเน้นหลักเสรีภาพและความเสมอภาค การพูดแต่กรอบ โครงสร้างและกระบวนการ หรือการทำงานของระบบโดยมองข้ามอุดมการณ์ที่สำคัญดังกล่าวแล้วนั้น จะทำให้มองภาพผิดจากสิ่งที่ควรจะเป็น และดูเหมือนว่าในหลายสังคมที่กำลังพัฒนา จุดเน้นไปมุ่งที่รูปแบบถึงกับมีการสรุปอย่างง่ายๆ ว่า ประชาธิปไตยเท่ากับการเลือกตั้ง หรือการเลือกตั้งเท่ากับประชาธิปไตย เมื่อมีการเลือกตั้งแล้วประชาธิปไตยก็เกิดขึ้น และจะมีการกล่าวอ้างโดยสมาชิกสภานิติบัญญัติเสมือนหนึ่งเป็นคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์ที่ให้ภูมิคุ้มกันผู้กล่าวอ้าง นั่นก็คือ "ข้าพเจ้ามาจากการเลือกตั้ง" ทั้งๆ ที่คำกล่าวดังกล่าวอาจไม่เป็นจริงในทางเนื้อหา



หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ( วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2551 )

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น