27 ธันวาคม 2551
เรื่อง เดวิด ควาเมน
โดย : ไทยโพสต์ อิสรภาพแห่งความคิด
A portrait of Alfred Russel Wallace is shown above his signature on the frontispiece of Darwinism (1889).
------------------ ในเวลาเดียวกับที่ชาร์ลส์ ดาร์วิน พัฒนาทฤษฎีวิวัฒนาการขึ้น แต่ยังไม่ทันได้เผยแพร่ออกไปนั้น หนุ่มนักธรรมชาติวิทยาผู้ไร้ชื่อเสียงเรียงนามอีกคนก็ได้คิดค้นทฤษฎีนี้ของตนเองเช่นกัน
อัลเฟรด รัสเซล วอลเลซ เกิดในครอบครัวยากจน เขาต้องออกจากโรงเรียนเพื่อไปทำงานด้วยวัยเพียง 14 ปี แต่ความที่เป็นคนใฝ่หาความรู้ วอลเลซจึงขวนขวายศึกษาด้วยตัวเองเป็นส่วนใหญ่ โดยอาศัยห้องสมุดประจำเมืองและสมาคมวิชาชีพต่างๆ
ช่วงที่เขาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่รังวัดที่ดิน ซึ่งต้องใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในชนบทของเวลส์ วอลเลซ เริ่มสนใจธรรมชาติ โดยเฉพาะการสังเกตพืชพรรณต่างๆ และฝึกตัวเองให้รู้จักจำแนกวงศ์พืช โดยดูจากหนังสือคู่มือราคาถูกๆ ต่อมาเมื่อไปเป็นครูสอนหนังสือที่เมืองเลสเตอร์ เขาจึงมีเวลารวบรวมรายชื่อหนังสือหลากหลายสาขาวิชาที่อยากอ่าน ซึ่งรวมถึงคำบอกเล่าว่าด้วยการเดินทางส่วนตัว (Personal Narrative of Travels) ของฮัมโบลต์ และความเรียงว่าด้วยหลักการด้านประชากร (Essay on the Principle of Population) ของมัลทัสที่จุดประกายความคิดเรื่องการดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดของทั้งวอลเลซและชาร์ลส์ ดาร์วิน
หนังสืออีกสองเล่มที่มีส่วนทำให้วอลเลซค้นพบเส้นทางชีวิตของตนเอง คือ บันทึกการเดินทางของเรือบีเกิล (The Voyage of the Beagle) งานเขียนของชาร์ลส์ ดาร์วิน ที่พรรณนาถึงการเดินทางอย่างมีชีวิตชีวา ส่วนอีกเล่มซึ่งไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน คือ ร่องรอยการสรรค์สร้างทางธรรมชาติวิทยา (Vestiges of the Natural History of
Creation) ซึ่งนำเสนอมุมมองเรื่องวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตบนโลก โดยตั้งสมมติฐานว่าด้วย "กฎแห่งการพัฒนา" ในสิ่งมีชีวิตกล่าวคือ สิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งจะแปรสภาพเป็นอย่างอื่นได้ตามสภาวะแวดล้อมภายนอก โดยพัฒนาไปเป็นขั้นๆ จากสิ่งมีชีวิตที่ไม่ซับซ้อนไปสู่รูปแบบที่ซับซ้อนมากขึ้น ผลลัพธ์ที่ได้คือการปรับตัวนั่นเอง หนังสือเล่มนี้จุดประกายให้เขากับสหายหนุ่มชื่อเบตส์เดินทางไปยังป่าดิบชื้นแอมะซอนเพื่อเก็บข้อมูลด้านธรรมชาติวิทยา ในระหว่างการเดินทาง พวกเขาหาเงินเป็นค่าใช้จ่ายด้วยการส่งตัวอย่างพืชและสัตว์ที่เก็บได้กลับไปขายให้พิพิธภัณฑ์และนักสะสมทั้งหลาย โดยมีแซมมวล สตีเวนส์ นักธุรกิจในกรุงลอนดอนเป็นตัวแทน
หลังกลับจากการตะลุยป่าแอมะซอนได้ไม่นาน วอลเลซก็วางแผนการเดินทางครั้งต่อไป คราวนี้เขามุ่งหน้าไปทางตะวันออกสู่กลุ่มเกาะมลายู วอลเลซเดินทางถึงสิงคโปร์ในเดือนเมษายน ปี 1854 และใช้เวลาอีก 8 ปี หลังจากนั้นลัดเลาะไปตามเกาะน้อยใหญต่างๆ ทุกที่ที่ไปเยือน เขาจะตั้งหน้าตั้งตาเก็บตัวอย่าง โดยสัดส่วนระหว่างจำนวนตัวอย่างต่อชนิดพันธุ์นั้นเกือบจะเท่ากับหกต่อหนึ่ง (ชนิดพันธุ์ละเกือบ 6 ตัวอย่าง) เลยทีเดียว
ผลที่ตามมาคือ วอลเลซสังเกตเห็นและแยกแยะได้ว่า ในบรรดาตัวอย่างที่รวบรวมได้นั้นมีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดแม้ในชนิดพันธุ์เดียวกัน และความแตกต่างทางพันธุกรรมที่พบในกลุ่มตัวอย่างชนิดพันธุ์เดียวกันนี้ อาจหมายถึงความได้เปรียบเสียเปรียบเชิงสรีรวิทยา ซึ่งความเข้าใจเช่นนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อแนวคิดเรื่องวิวัฒนาการจากการคัดเลือกโดยธรรมชาติ ความแตกต่างเฉพาะตัวสะท้อนให้เห็นความผันแปรในแต่ละชนิดพันธุ์ ซึ่งช่วยให้กระบวนการคัดเลือกดำเนินไปได้
นอกจากนี้ วอลเลซยังศึกษารูปแบบการแพร่กระจายของสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดทั้งในแง่ของพื้นที่และช่วงเวลา เขาพบว่าสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ จะปรากฏให้เห็นในบริเวณเฉพาะเท่านั้น และเมื่อผนวกความคิดนี้กับงานเขียนว่า ด้วยธรณีวิทยาและหลักฐานฟอสซิลจำนวนสามเล่มของชาร์ลส์ ไลเอลล์ ที่เสนอว่า สิ่งมีชีวิตจะสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นตามห้วงเวลา วอลเลซก็ได้สร้าง "กฎ" แห่งการกำเนิดของสิ่งมีชีวิต นั่นคือ สิ่งมีชีวิตที่คล้ายคลึงกันจะปรากฏอยู่ใกล้กัน ทั้งในมิติเชิงภูมิศาสตร์และธรณีกาล เพราะพวกมันสืบทอดมาจากบรรพบุรุษเดียวกัน
ในปี 1858 จู่ๆ วอลเลซก็จับเอาเงื่อนงำต่างๆ ทางชีวภูมิศาสตร์มาเรียงร้อยกับปรากฏการณ์ความแปรผันที่พบในชนิดพันธุ์เดียวกัน ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งของมัลทัสในเรื่องการเติบโตของประชากรอย่างรวดเร็วเกินกว่าโลกจะรับไหว ข้อเท็จจริงที่ว่าอาหารและถิ่นอาศัยมีอยู่อย่างจำกัด แม้ในช่วงที่อัตราการสืบพันธุ์ไม่ได้ถูกจำกัดไปด้วย และท้ายที่สุดลูกหลานของสิ่งมีชีวิตไม่ว่าชนิดใดส่วนใหญ่ก็อยู่ไม่รอด เขาจึงได้ข้อสรุปว่า กลุ่มที่ปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดีที่สุดจะอยู่รอด ยิ่งไปกว่านั้น กระบวนการนี้ต้องนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างมีทิศทางในชนิดพันธุ์หนึ่งๆ (เช่น คุณลักษณะที่ช่วยให้ปรับตัวได้ดีขึ้น หรือสายพันธุ์ใหม่ เป็นต้น)
วอลเลซรีบส่งต้นฉบับเรื่องนี้ไปให้ดาร์วิน ผู้ซึ่งเขาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเชิงวิทยาศาสตร์ด้วยทางจดหมาย ดาร์วินเองก็คิดเกี่ยวกับเรื่องนี้มาร่วม 20 ปีแล้ว หากยังมิได้เผยแพร่ความคิดนี้ออกไป และแล้วเย็นวันหนึ่งของเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน งานเขียนของวอลเลซก็ได้รับการนำเสนอต่อสมาคมลินเนียส พร้อมๆ กับบทความที่ไม่เคยเผยแพร่ที่ไหนมาก่อนของดาร์วิน ในฐานะการค้นพบร่วมกันของทั้งสอง ในภายหลังดาร์วินได้ตีพิมพ์หนังสือเรื่อง กำเนิดแห่งชีวิต หรือ On the Origin of Species ซึ่งเขาเขียนอย่างรีบเร่งหลังจากหายตกตะลึงกับงานเขียนของวอลเลซ หนังสือเล่มนี้ได้รับความชื่นชมจากวอลเลซอย่างมาก เนื่องจากเขาเป็นคนใจกว้างและพอใจในขีดความสามารถของตัวเอง เขาจึงไม่เคยรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจในเรื่องนี้ และให้การยกย่องดาร์วินเหนือนักวิทยาศาสตร์ทุกคน
Wallace's line between Australian and Southeast Asian fauna.
--------------------------------------
--------------------------------------
ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน วอลเลซได้ส่งรายงานอีกชิ้นหนึ่งชื่อ "สัตวภูมิศาสตร์แห่งกลุ่มเกาะมลายู" กลับไปที่ลอนดอนเพื่อตีพิมพ์ในวารสารของสมาคมลินเนียส เขาได้ขยายความข้อสังเกตเกี่ยวกับการแพร่กระจายของสัตว์ เพื่อชี้ให้เห็นถึงเขตชีวภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกันสองเขต ได้แก่ เขตอินเดียและเขตออสเตรเลีย โดยลากเส้นผ่านช่องแคบระหว่างเกาะบอร์เนียวและเซเลบีส ไล่ลงมาทางใต้ระหว่างเกาะบาหลีกับลอมบอก แม้ว่าทั้งสองเขตนี้จะมีสภาพอากาศและสภาพถิ่นอาศัยที่คล้ายคลึงกัน แต่กลับมีชนิดพันธุ์ของสัตว์แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เส้นที่ลากแบ่งเขตตะวันออกและตะวันตกนี้เป็นที่รู้จักกันในเวลาต่อมาว่า "เส้นวอลเลซ" (Wallace's line)
แม้ว่าวอลเลซจะไม่ได้มีชื่อเสียงโด่งดังเหมือนดาร์วิน ผู้คิดค้นทฤษฎีวิวัฒนาการเช่นเดียวกับเขา แต่นั่นคงไม่ใช่เรื่องสำคัญสำหรับวอลเลซ เพราะเขาให้ความสำคัญกับความคิดมากกว่าชื่อเสียง นอกจากนี้เขายังได้ใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่าบนเส้นทางชีวิตของตนเอง ที่ไม่มีเส้นทางไหนเสมอเหมือน.
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น