11:18

ศาสนาของโลกนี้ เรื่อง นิธิ เอียวศรีวงศ์

หลังการล่มสลายของจักรวรรดิโซเวียตและหลังการยอมจำนนต่อทุนนิยมในจีน เราได้ยินเรื่องประชาชนพากันหันกลับเข้าหาศาสนา (พุทธมหายาน, คริสต์ออร์โธ?? ดอกซ์, และอิสลาม) ทั้งในรัสเซีย, ยุโรปตะวันออก, เอเชียกลาง, และจีน

ประสบการณ์อันโหดร้ายเจ็บปวดของยุคสตาลินก็ ตาม, การปฏิวัติวัฒนธรรม ก็ตาม อาจทำให้เราอยากอธิบายว่า อย่างน้อยส่วนหนึ่ง ก็คงดึงให้คนหันกลับมาสู่ความร่มเย็นของศาสนธรรม เพราะประสบการณ์เหล่านั้นพิสูจน์ความล้มเหลวของระบอบคอมมิวนิสต์

ความทรงจำที่ขมขื่นปวดร้าวของสังคม มักมีผลทำให้ผู้คนหันเข้าถามปัญหากับสิ่งที่ลึกสุดในชีวิตด้านใน ซึ่งมีคำตอบที่เราคุ้นเคยอยู่ในศาสนา





หลังจากยุคเขมรแดง และความยากจนค่นแค้นที่ชาวกัมพูชาต้องเผชิญ ชาวเขมรก็ทำเหมือนคนอื่นๆ คือหันมาตั้งคำถามกับความเชื่อทางศาสนาของตน แต่แทนที่จะกระตุ้นให้เกิดศรัทธาแรงกล้าขึ้น กลับเกิดความรู้สึกว่าพุทธศาสนาไม่อาจตอบปัญหาของปัจจุบันได้เสียแล้ว

รายงานข่าวจากกัมพูชาหลายกระแสกล่าวตรงกันว่า เวลานี้ชาวพุทธเขมรจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ กำลังเปลี่ยนศาสนาไปเป็นคริสต์ ผู้กลับใจใหม่รายหนึ่งบอกแก่ผู้สื่อข่าวว่า เธอป่วยใกล้ตาย แต่รอดมาได้เพราะมิชชันนารีอเมริกันช่วยรักษาเธอให้หาย จึงเปลี่ยนศาสนา รวมทั้งกลุ่มเครือญาติทั้งหมดของเธอก็เปลี่ยนตามไปด้วย

ลูกสาวของเธอพูดตรงๆ ว่า มิชชันนารีอเมริกันจ่ายเงินช่วยเหลือให้เดือนละ 50 เหรียญสหรัฐในการที่ได้เปลี่ยนศาสนา

รายงานข่าวว่า มีเด็กหนุ่มสาวชาวกัมพูชาอีกมากที่อยากนับถือคริสต์เพื่อรับเงินช่วยเหลือ

แต่ทั้งนี้อธิบายได้ด้วยความยากจนข้นแค้นที่ชาวกัมพูชาต้องประสบหลังยุคเขมรแดง หรือแรงผลักดันทางเศรษฐกิจทำให้เปลี่ยนศาสนา

ยังมีคำอธิบายที่น่าสนใจกว่าของหลวงพ่อคาทอลิก ซึ่งมีมติของสำนักวาติกันครั้งที่สองว่าแสงสว่างของพระผู้เป็นเจ้าย่อมฉายไปยังทุกศาสนา จึงต่อต้านการใช้เงินในการเผยแพร่ศาสนา หลวงพ่ออยู่ในกัมพูชามาหลายสิบปี และคำอธิบายของหลวงพ่อซึ่งได้จากชาวเขมรเองก็คือ

"มีความคิดกันว่า พุทธศาสนาประสบความล้มเหลว และคำสอนหลักของพุทธศาสนา (ซึ่งชาวบ้านยึดถือ) คือทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วนั้น กลับถูกความเป็นจริงในสังคมกัมพูชาสมัยใหม่พิสูจน์ว่าไม่จริง"

อธิบดีกรมการศาสนาของกัมพูชาพูดอย่างเดียวกันว่า นอกจากพุทธศาสนาในสังคมสมัยใหม่ของกัมพูชาจะถูกท้าทายจากความเปลี่ยนแปลงแล้ว ยังเสริมด้วยประสบการณ์อันเลวร้ายในยุคเขมรแดงอีกด้วย ทำให้เกิดวิจิกิจฉากับพุทธศาสนาไปทั่วสังคม ... ก็พวกเขมรแดงถือพุทธมาก่อนเหมือนกัน เหตุใดจึงฆ่าคนได้มากมายอย่างโหดร้ายเช่นนี้"

อันที่จริงกระแสความเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่และรุนแรงที่เกิดแก่สังคมใดสังคมหนึ่ง มักมีผลกระทบไปถึงศาสนาทั้งสิ้น ที่มาก?กว่าเปลี่ยนศาสนา คือปฏิรูปศาสนาหรือตีความศาสนาใหม่ให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงนั้น

ว่าเฉพาะในเมืองไทย การปฏิรูปศาสนาครั้งใหญ่ (กว่าการเกิดธรรมยุติกนิกาย) กระทำโดยการที่รัฐเข้าควบคุมคณะสงฆ์อย่างเด็ดขาด, โดยการจัดการศึกษาแนวใหม่ให้แก่พระภิกษุ, และโดยการบรรจุพุทธศาสนาที่ตีความใหม่นี้เข้าไปในหลักสูตรการศึกษาของฆราวาส

แนวทางการตีความใหม่สรุปให้เหลือสั้นๆ ก็คือ การทำให้โลกียธรรมกลายเป็นคุณค่าหลักของคำสอน ในขณะที่ลดความสำคัญของโลกุตรธรรมลง ปล่อยให้เป็นเรื่องส่วนบุคคล หรือให้ความหมายทางโลกียะแก่คุณค่าทางโลกุตระ

เรื่องทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วเป็นตัวอย่างอันดีในเรื่องนี้

ในพระบาลีท่านพูดว่า ทำดีนั้นดี ทำชั่วนั้นชั่ว ก็ตรงไปตรงมานะครับ ไม่ได้สัญญาอะไรทั้งนั้น แต่ความต่อมาท่านเปรียบว่าเหมือนปลูกพืชอะไรก็ย่อมได้ผลอย่างนั้น จึงอาจทำให้เข้าใจได้ว่า ทำดีย่อมพึงหวังผลที่ดีตามมาได้ด้วย

แต่พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา ก็ต้องหวังผลการทำดีอย่างมีปัญญาด้วย เช่น ตักบาตรนั้นดีไหม ดีแน่หากตักบาตรด้วยสำนึกว่า ได้มีส่วนช่วยทะนุบำรุงพระศาสนาให้คงอยู่ หรือแม้แต่ช่วยทำนุบำรุงพระภิกษุให้ไม่ขัดสน กุลบุตรจะได้มีกำลังใจบวชเรียนสืบไป

ผลดีที่จะตามมาจากการตักบาตรแบบนี้ก็คือ ฝึกจิตใจให้ทำอะไรโดยคิดถึงตัวเองให้น้อยลง รู้จักคิดถึงสิ่งอื่น ไม่ว่าจะเป็นพระศาสนาหรือพระภิกษุก็ตาม การไม่ข้องติดอยู่กับตัวกูของกูสักวันละครั้ง ย่อมเป็นผลดีแก่ความเจริญงอกงามของสติและปัญญาของตัวอย่างไม่ต้องสงสัย

แต่หวังว่าจะถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่หนึ่ง มันคนละเรื่องนี่ครับ เพราะอยากถูกล็อตเตอรี่ก็ต้องเริ่มต้นด้วยการซื้อล็อตเตอรี่ ไม่ใช่ตักบาตร แล้วถ้าฉลาดก็ยอมรับว่าตัวได้ตกเป็นเหยื่อของทฤษฎีความน่าจะเป็นแล้ว โอกาสถูกมีไหม มีครับ แต่น้อยมาก

อยากรวยด้วยทรัพย์สินเงินทอง และมีความสุขพอสถานประมาณ ก็ปฏิบัติธรรมข้ออื่นเช่น ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์, โภควิภาคสี่, ฯลฯ เป็นต้น

ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ยังมีความหมายในทางโลกุตรธรรมก็ได้ คือปฏิบัติธรรมด้วยปัญญา หมายความว่ามีสติกำหนดรู้ถึงพระไตรลักษณ์ แม้จะเป็นฆราวาสธรรมก็อาจปฏิบัติได้โดยความไม่ยึดมั่นถือมั่น ย่อมให้ผลดีอย่างไม่ต้องสงสัย

แต่ทำดีในความหมายโลกุตระกลับไม่ปรากฏในคำเทศน์หรือในแบบเรียนศีลธรรม

อย่างไรก็ตาม หากตีความสุภาษิตนี้เฉพาะในทางโลกียะแต่อย่างเดียว ดังการปฏิรูปศาสนาของไทย ก็อาจเกิดความเข้าใจผิดอย่างที่มักเกิดแก่ชาวพุทธจำนวนมากไม่ได้ นั่นคือปลูกพืชอย่างหนึ่ง ผ่าไปหวังผลอีกอย่างหนึ่ง ไหนว่าทำดีแล้วได้ดีไง อุตส่าห์ตักบาตรทุกวัน ไม่เห็นรวยสักที

การเปลี่ยนจุดเน้นของพระพุทธศาสนามาอยู่ที่คุณค่าทางโลกียะนี้ กระทำขึ้นในยุคสมัยที่ไทยถูกท้าทายด้วยอารยธรรมตะวันตกอย่างรุนแรง ด้วยเหตุดังนั้นไทยจึงเปลี่ยนจุดเน้นของพุทธศาสนามาสู่ "โลกนี้" ให้สอดคล้องกับอารยธรรมตะวันตกยุคใหม่ ที่ตั้งอยู่บน "โลกนี้" เช่นกัน

และกระแสความเปลี่ยนแปลงทางศาสนาเช่นนี้แหละครับที่มีอิทธิพลในกัมพูชาไม่น้อย แม้ว่า (หรือเพราะเหตุว่า) กัมพูชาตกเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศสแล้ว

ทำให้ "ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว" ในความหมายที่แคบเช่นนี้แผ่ไปในกัมพูชาไม่ต่างจากไทย

ศาสนาทุกศาสนาย่อมประกอบด้วยสองมิตินี้-โลกนี้และโลกหน้า-ทั้งนั้น นั่นคือมีคำสอนที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ในสังคม และมีคำสอนที่เกี่ยวกับอะไรซึ่งสูงส่งและยิ่งใหญ่กว่ามนุษย์ อันอาจเรียกว่าโมกษ? ธรรม ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกันในแต่ละศาสนา

ที่สำคัญคือสองมิตินี้แยกออกจากกันไม่ได้ เพราะเกื้อกูลกันและเป็นพลังให้แก่กันและกัน

อารยธรรมแผนใหม่ซึ่งถือกำเนิดในโลกตะวันตกแยกสองมิตินี้ออกจากกัน และให้ความสำคัญแก่ "โลกนี้" มากกว่าหรือเพียงอย่างเดียว ผมคิดว่าการปฏิรูปศาสนาในดินแดนส่วนอื่นๆ ซึ่งเริ่มในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ล้วนตกอยู่ใต้อิทธิพลของกระแสความคิดแบบแยกสองมิติของศาสนาออกจากกันทั้งสิ้น

แต่มีกรณีที่น่าสนใจ (แก่ผม) อยู่สามกรณีซึ่งอยากพูดถึง

กรณีแรกคือการปฏิรูปในศาสนาอิสลาม ภายใต้แรงกดดันของจักรวรรดินิยมตะวันตกเช่นกัน ก่อให้เกิดขบวนการ "สมัยใหม่นิยม" (Modernism) ในศาสนาอิสลาม ซึ่งตีความคำสอนให้สอดคล้องกับอารยธรรมตะวันตก ไม่ว่าจะมีลักษณะ "ฆราวาสวิสัย" (secularism) มากสักเพียงใดก็ตาม

แต่กลับก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคมมุสลิมมากขึ้น เพราะเกิดปฏิกิริยาต่อต้านหลายต่อหลายกลุ่ม นับตั้งแต่กระแสความคิดที่ให้หันกลับไปยึดมั่นในแบบแผนประเพณีและแนวทางปฏิบัติที่เคยทำกันมาแต่โบราณอย่างเคร่งครัด ไปจนถึงการยอมปรับเปลี่ยนบางด้าน ที่ไม่มีข้อห้ามในคัมภีร์กุรอ่านหรือหะดิษ แต่ไม่มากเท่ากับพวก "สมัยใหม่นิยม" สุดกู่

ผลโดยสรุปก็คือ ไม่ชัดออกมาว่า อิสลามจะเผชิญกับโลกสมัยใหม่อย่างไร ก่อให้เกิดแนวทางที่อาจเป็นทางเลือกได้จำนวนมาก จากแนวทางที่ต่อต้านอารยธรรมแผนใหม่อย่างสุดกู่ ไปถึงแนวทางที่ประนีประนอมเช่นมุสลิมมาเลเซีย

อย่างไรก็ตาม เพราะอิสลามไม่ยอมทิ้งมิติ "โลกหน้า" ในศาสนา ผมคิดว่ากลับเป็นพลังให้เกิดทางเลือกในการตอบสนองได้ไม่สิ้นสุด โดยที่หลักการแห่งอิสลามก็ยังมีความสำคัญอยู่ในทุกทางเลือก อิสลามจึงอาจเป็นศาสนาเดียวในโลกปัจจุบันที่มีบทบาทในความคิดและการกระทำของศาสนิกมากที่สุด... ทั้งมิติของโลกนี้และโลกหน้า

คล้ายๆ กับอิสลามคือศาสนาฮินดู แต่แทนที่จะพยายามกลืนฮินดูเข้าไปในอารยธรรมแผนใหม่ นักปราชญ์ฮินดูกลับพยายามกลืนอารยธรรมแผนใหม่เข้าไปในฮินดู เช่นนักปราชญ์บางคนอธิบายว่า นับตั้งแต่ทฤษฎีแรงโน้มถ่วงไปจนถึงเครื่องจักรไอน้ำล้วนมีกล่าวไว้แล้วในฤคเวททั้งสิ้น สืบมาจนถึงทุกวันนี้ นักปราชญ์ฮินดูก็ยังพยายามจะสร้างคำอธิบายที่ทำให้ภควัตคีตา, อุปนิษัท ฯลฯ เป็นฐานของทฤษฎีสัมพัทธภาพ, ควอนตัม, ทฤษฎีเคออส ฯลฯ อยู่

ในขณะที่ความนับถือศาสนาแบบชาวบ้านก็ยังมีพลังอยู่เหมือนเดิม เพราะส่วนใหญ่ส่วนหนึ่งของสังคมอินเดียไม่ได้เปลี่ยนเร็ว ทำให้เกิดฮินดูหลายสำนวน ผมคิดว่าเป็นพลังในการตอบสนองอารยธรรมแผนใหม่ได้ดีเหมือนกัน คือยังรักษาความเป็นตัวเองไว้ได้ แต่ยังไม่มีโอกาสจะตอบสนองได้ชัดเจนเหมือนอิสลาม

กรณีไทย คือกรณีของการปฏิรูปศาสนาโดยรัฐ และกระทำสำเร็จเสร็จสิ้นได้หมดจด กลายเป็นพุทธศาสนาที่แทบจะไม่มีเป้าหมายสูงสุดทางจิตวิญญาณ

ศาสนา "โลกียะ" แบบนี้จะเผชิญกับความผันผวนแปรเปลี่ยนของโลกปัจจุบันได้ดีแค่ไหน ผมเกรงว่าจะไม่ค่อยดีนัก เพราะเมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่โตรุนแรงขึ้น ยากที่ผู้คนจะหันกลับไปหาแก่นแท้ของศาสนธรรม เพื่อใช้เป็นฐานสำหรับการปรับเปลี่ยน เหลือแต่จะนับถือต่อไปหรือไม่เท่านั้น

ในเมืองไทย ยังไม่เห็นการเปลี่ยนศาสนาเหมือนในกัมพูชา แต่หากถามว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังเป็นชาวพุทธอยู่หรือ? ต้องตอบโดยมีเงื่อนไขว่า "ชาวพุทธ" หมายถึงอะไรเสียก่อน แล้วจึงตอบได้ว่าเป็นหรือไม่เป็น



เรื่อง นิธิ เอียวศรีวงศ์ 

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น