14:28
รู้เท่าทันโพล โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
โพลคือการสำรวจ (ความเห็นหรือประสบการณ์) ของประชากรกลุ่มน้อยที่เลือกสรร เพื่อเป็นตัวแทน (ความเห็นหรือประสบการณ์) ของประชากรกลุ่มใหญ่ หากการสำรวจทำได้ถูกต้องตามหลักวิชา ผลที่ได้มาก็ใกล้เคียงความจริง นั่นคือสะท้อน (ความเห็นหรือประสบการณ์) ของประชากรกลุ่มใหญ่ได้จริง
หลักวิชาที่ว่า หรือหลักการของการเอาคนกลุ่มน้อยไปสะท้อนคนกลุ่มใหญ่ ประกอบด้วย 1.การเลือกสรรประชากรกลุ่มน้อย ต้องเลือกให้กระจายในลักษณะที่เทียบได้กับประชากรกลุ่มใหญ่ ด้วยจำนวนที่มากพอจะเป็นตัวแทนได้ 2.การตั้งคำถามที่ไม่มีการชี้นำ - ไม่เฉพาะแต่ถ้อยคำของคำถามเท่านั้นที่ต้องไม่ชี้นำ แต่คำนึงถึงบริบททางวัฒนธรรมด้วยว่า คำถามประเภทนี้ ในวัฒนธรรมที่ทำการสำรวจ คนย่อมเลือกตอบไปในทางที่วัฒนธรรม, กฎหมาย, หรือการโฆษณาชวนเชื่อได้กำหนดไว้แล้วเป็นต้น หากจำเป็นต้องถามคำถามประเภทนี้ ก็ต้องหากลวิธีตั้งคำถามให้หลุดพ้นจากการครอบงำ 3.ตีความสถิติที่เก็บได้อย่างไร เรื่องนี้ยากมาก เพราะไม่ได้อาศัยแต่วิชาสถิติเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีฐานความเข้าใจเกี่ยวกับเศรษฐกิจ, สังคม, การเมือง, และวัฒนธรรมของกลุ่มประชากรให้ดี และโดยหลักการแล้ว ต้องระวังไม่ตีความมากไปกว่าที่ตัวเลขสถิติบ่งชี้
อย่างไรก็ตาม แม้ทำอย่างถูกต้องตามหลักวิชา โพลก็ยังมีจุดอ่อนในตัวเองหลายอย่างซึ่งผู้อ่านหนังสือพิมพ์ต้องตระหนัก มิฉะนั้นแล้ว ผลสำรวจของโพลกลับจะกลับเป็นตัวชี้นำสังคมเสียเอง และผมอยากพูดถึงจุดอ่อนเหล่านี้
1 โพลมักสำรวจความเห็นหรือประสบการณ์ในระยะสั้น ทั้งสองอย่างนี้เปลี่ยนแปลงได้เร็ว โดยเฉพาะความเห็น เมื่อตอนที่ถูกถาม มีความเห็นอย่างนั้นจริง แต่ถัดไปอีกเพียงไม่กี่วัน ความเห็นนั้นก็เปลี่ยนไปแล้ว หรือประสบการณ์ก็เปลี่ยนไปแล้ว เช่น จากการสำรวจแม่ค้า เดือนนี้ไม่ค่อยมีคนซื้อเนื้อสัตว์ แต่เดือนหน้าคนหันกลับมากินหมูกันมากขึ้น (เพราะอะไรก็ตามที) ผลสำรวจของเดือนที่แล้วก็ผิดเสียแล้ว
ดังนั้น โพลที่สำรวจความเห็นหรือประสบการณ์ซึ่งมีนัยยะสำคัญต่อเศรษฐกิจ หรือการเมือง จึงมักทำซ้ำๆ ทุก 3 เดือนบ้าง ทุก 6 เดือนบ้าง เช่นความนิยมของประชาชนต่อรัฐบาล หรือแบบแผนการบริโภคสินค้าเป็นต้น
2 การทำโพลย่อมสิ้นเปลืองน้อยกว่าการสำรวจสำมะโนอย่างเทียบกันไม่ได้ แต่ไม่ใช่เพราะราคาถูกกว่าเท่านั้นที่ทำให้ต้องใช้โพลแทนการสำรวจแบบแจงนับ หากเพราะสิ่งที่โพลสำรวจคือสิ่งที่เปลี่ยนได้เร็ว นั่งแจงนับไปก็ไม่มีประโยชน์ เพราะกว่าจะนับเสร็จ ความเห็นและประสบการณ์ที่สำรวจมาก็เปลี่ยนไปแล้ว เขาจึงเก็บการสำรวจสำมะโนหรือแจงนับไว้ใช้กับอะไรที่เปลี่ยนช้าหน่อย และทำกันสัก 10 ปีครั้งหนึ่ง เช่นสัดส่วนของประชากรในภาคการผลิตต่างๆ, รายได้ต่อครัวเรือนในภาคการผลิตต่างๆ, ระดับการศึกษาของประชากรแยกตามรายภาค ฯลฯ เป็นต้น
เพราะฉะนั้น ทุกครั้งที่อ่านผลสำรวจของโพล ก็ขอให้เข้าใจด้วยว่า นั่นเป็นสภาพความเป็นจริงที่อาจจะจริงในช่วงสั้นๆ หนึ่งเท่านั้น สำรวจใหม่ก็อาจให้ผลต่างกัน
3 โพลสำรวจได้แต่ความเห็นและประสบการณ์ แต่สำรวจเพื่อหาข้อเท็จจริงไม่ได้ เช่นคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะนั่งอยู่ในรถคันที่ถูกกลุ่มเสื้อแดงทุบที่กระทรวงมหาดไทยในวันสงกรานต์หรือไม่ (หนังสือพิมพ์ในกรุงเทพฯ ฉบับหนึ่งสำรวจเรื่องนี้ผ่านทางเว็บไซต์ของตน) ทำโพลไปอย่างไรก็ไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าคุณอภิสิทธิ์นั่งอยู่ในนั้นหรือไม่ เพราะนั่นคือข้อเท็จจริง อย่างไรก็ตาม แม้ผลที่ได้มาไม่ได้บอกข้อเท็จจริงก็ตาม แต่บอกโดยนัยยะให้รู้ว่า ระหว่างการรณรงค์โฆษณาชวนเชื่อของฝ่ายเสื้อแดงและฝ่ายรัฐบาลนั้น ฝ่ายใดทำได้ผลกว่ากัน
4 ความเห็นบางอย่างที่โพลสำรวจอาจเป็นความเห็นที่ดำรงอยู่ได้นานๆ จนต้องเรียกว่าทัศนคติ แต่ผมไม่แน่ใจว่าเป็นทัศนคติหรือความเห็นกันแน่ ขอยกตัวอย่างการสำรวจของเอแบคโพลล์เรื่องความอยู่ดีกินดีของประชาชน แล้วพบว่า 51.2% เห็นว่าเขายอมรับรัฐบาลทุจริต หากทำให้ความเป็นอยู่ของราษฎรดีขึ้นได้ ผมออกจะสงสัยว่า หากทำการสำรวจเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดีแล้ว, และนัยยะทางการเมืองระหว่างทักษิณและศัตรูของทักษิณจืดจางไปแล้ว ตัวเลขจะออกมาในลักษณะเดียวกันนี้ ถ้าเป็นดังข้อสงสัยของผม นี่ก็เป็นเพียงความเห็นชั่วครั้งชั่วคราว ไม่ถึงกับเป็นทัศนคติของคนไทย
5 ผมไม่มีโอกาสเห็นตัวคำถามที่ใช้ในการสำรวจ แต่อยากเตือนให้ระวังด้วยว่า รัฐบาลทุจริตกับความอยู่ดีกินดีของประชาชน ในทางตรรกวิทยา ไม่ใช่ขั้วตรงข้ามสำหรับการเลือกนะครับ หากตั้งคำถามว่า รัฐบาลสุจริตที่ทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี กับรัฐบาลทุจริตที่ทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี จะเลือกอะไร นี่ต่างหากที่เป็นขั้วตรงข้ามในทางตรรกวิทยาจริง และถ้าถามอย่างนี้ ตัวเลขที่ออกมาจะเป็นอย่างไรกันแน่
อย่าลืมประสบการณ์ทางการเมืองของคนไทยด้วยว่า เรายังไม่เคยมีรัฐบาลสุจริตสักคณะเดียว (อย่างน้อยในทรรศนะของคนไทย) คำถามที่ไม่ระวังข้อนี้ จึงเท่ากับถามว่า ระหว่างรัฐบาลที่ทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี กับรัฐบาลที่ไม่สามารถทำอย่างนั้น จะเลือกรัฐบาลไหน ที่ประชาชนผู้ถูกสำรวจอีก 49.8% ไม่เอารัฐบาลทุจริต น่าจะสะท้อนพลังทางศีลธรรมของคนไทยด้วยซ้ำ แต่นั่นแหละอย่าเพิ่งดีใจ เพราะนี่เป็นการตีขลุมเอาความเห็นให้กลายเป็นทัศนคติอีกแล้ว
6 แม้โพลทำการสำรวจถูกต้องตามหลักวิชา คำถามก็ดี วิธีการก็ถูกต้องหมด ผลที่ได้มาก็ใช่ว่าจะบอกอะไรได้มากนัก อย่างที่นักหนังสือพิมพ์และนักการเมืองตีขลุม ผมขอยกตัวอย่างเดิม คือการสำรวจเรื่องเดิมของเอแบคโพลล์อีกครั้ง
สมมุติว่ากว่าครึ่งของคนไทยมีทัศนคติที่ไม่รังเกียจรัฐบาลคอร์รัปชั่นจริง ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจก็บอกอะไรไม่ได้มากนักอยู่นั่นเอง ทัศนคติเป็นกระบวนการทางสังคม กล่าวคือไม่เกิดขึ้นโดยฉับพลัน แต่ค่อยๆ ก่อรูปขึ้นจากชั่วอายุคนหนึ่งไปสู่อีกชั่วอายุคนหนึ่ง กระจายออกไปอย่างไม่เท่าเทียมกัน มีความแตกต่างเชิงทัศนคติระหว่างเพศ, ชนชั้น, สถานภาพ, ระดับการศึกษา, อาชีพ ฯลฯ แยะมาก ดังนั้น ผลรวมกว้างๆ ว่ากว่าครึ่งของคนไทยไม่รังเกียจการทุจริต จึงเป็นข้อมูลที่เราต้องยอมจำนน คือแก้อะไรไม่ได้ นอกจากขอเงินวิจัยจากกองทุนที่ไม่ค่อยฉลาดเอามาทำวิจัยเพิ่มเติม แล้วก็เสนออะไรเฉิ่มๆ เช่นให้สอนศีลธรรมในโรงเรียนมากขึ้น
ทั้งนี้ เพราะโพลไม่ได้สำรวจในเชิงกว้างและเชิงลึก (longitudinal) พอ
การสำรวจทำกับประชากร 1,228 ครัวเรือนใน 17 จังหวัด 31.6% ของผู้ตอบแบบสอบถามอยู่ในภาคการเกษตร 27% อยู่ในภาคธุรกิจและการลงทุน 15.2% เป็นลูกจ้าง 11,5% เป็นข้าราชการ มี 75 ราย ในทั้งหมดที่จบปริญญาตรี
ตัวเลขเหล่านี้ไม่ได้บอกว่าระหว่างคนต่างวัย มีความเห็นทำนองนี้มากน้อยต่างกันอย่างไร ทัศนคติเช่นนี้เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ หรือฝังรากลึกในวัฒนธรรมไทยอยู่แล้ว หรือในทางตรงกันข้าม คนรุ่นหนุ่มสาวกลับร่วมอยู่ในทัศนคติเช่นนี้น้อยกว่าคนสูงวัย ซึ่งแสดงว่าสังคมไทยกำลังเปลี่ยนไปสู่มาตรฐานความซื่อสัตย์ของบุคคลสาธารณะอีกอย่างหนึ่ง
75 รายที่จบปริญญาตรีขึ้นไปนั้น มีความเห็นอย่างนี้ต่ำกว่าหรือสูงกว่า 51,2% กลุ่มอาชีพต่างๆ มีความเห็นต่างกันหรือไม่
ถ้าเห็นว่าทัศนคตินี้เป็นปัญหาทางสังคม เป็นปัญหาของใครกันแน่
ปราศจากความรู้ทำนองนี้ ก็แก้อะไรไม่ได้ นอกจากหลอกทุนวิจัยไปกินเล่นเท่านั้น
โพลนั้นมีประโยชน์แน่ แต่ก็มีข้อจำกัดในตัวเองอยู่ไม่น้อย ผู้อ่านหนังสือพิมพ์ต้องรู้เท่าทัน ปล่อยให้สื่อตีขลุมและตีปี๊บไปโดยไม่ตื่นตาม เพราะโดยอาชีพสื่อย่อมผลิตและปรับสินค้าให้ขายดีในตลาด ปล่อยให้นักการเมืองตีขลุมและตีปี๊บต่อไป เพราะนักการเมืองย่อมหยิบเอาโพลที่ให้ประโยชน์ทางการเมืองแก่ตนมาใช้เป็นธรรมดา (เช่นแพ้เลือกตั้งที่สกลนครและศรีสะเกษเพราะ 51,2% ของคนไทยมันชั่ว) และต้องปล่อยนักวิชาการตีขลุมและตีปี๊บกับโพลต่อไป เพราะการล่าทุนวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของอาชีพเขา (ทั้งผู้ขอทุนและกรรมการผู้พิจารณาแหละครับ)
เหลือแต่คนธรรมดาทั่วไป ซึ่งรับข่าวสารข้อมูลจากสื่อชนิดต่างๆ เท่านั้น ที่อาจเป็นสติของสังคมได้ จึงต้องรู้เท่าทันโพล แม้ไม่รังเกียจโพลและเห็นประโยชน์ของโพลก็ตาม แต่ต้องรู้เท่าทันว่าโพลบอกอะไรแก่เราแค่ไหน
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น