11:29

ความหนักอึ้งของภาระและความเบาหวิวเหลือทนของชีวิต




“ความหนักอึ้งของภาระบดขยี้เรา ทำให้เราจมดิ่งลง กดเราตรึงติดกับพื้นธรณี ทว่าในกวีนิพนธ์แห่งความรักทุกยุคสมัย สตรีเพศล้วนโหยหาที่จะถูกทับถ่วงด้วยเรือนร่างของบุรุษ ภาระหนักอึ้งที่สุดกลายเป็นจินตภาพแห่งความเต็มเปี่ยมอันเร่าร้อนสุดแสนของชีวิต ยิ่งภาระหนักหน่วงเพียงไร ชีวิตเรายิ่งแนบชิดกับผืนปฐพี ยิ่งเป็นจริงเป็นจังและถูกต้องจริงแท้”


“ในทางกลับกัน ความเปล่าไร้ภาระโดยสิ้นเชิงทำให้คนเบาหวิวกว่าอากาศ ลอยล่องขึ้นไปในความสูงลิบลิ่ว ละจากพื้นโลกและโลกียวิสัย กลายเป็นแค่ความจริงเพียงครึ่งๆกลางๆ ทุกอิริยาบถเป็นอิสระเสรีพอๆกับที่ไร้ความสำคัญ”

(จาก “ความเบาหวิวเหลือทนของชีวิต”, มิลาน คุนเดอรา เขียน, ภัควดี วีระภาสพงษ์ แปล)




สิ่งใดคือความปรารถนาของมนุษย์? ความสุขจากการมีที่ทางให้ยึดเกาะ หรือความสุขจากการโบยบิน? หรือคำถามนั้นยิ่งใหญ่เกินไป ยิ่งใหญ่เกินความสามารถของมนุษย์ตัวเล็กๆ ยิ่งใหญ่เกินความสามารถของมนุษย์ที่จะกะเกณฑ์ได้?

เนื้อหาสาระของภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกดังกล่าว ได้ถูกบรรยายผ่านมุมมองของ “Milan Kundera” ในงานเขียนของเขาชื่อ “The Unbearable Lightness of Being” หรือฉบับแปลเป็นภาษาไทยโดยภัควดี วีระภาสพงษ์ในชื่อ “ความเบาหวิวเหลือทนของชีวิต”

จากความเบาหวิวบนหน้ากระดาษ ได้ถูกนำมาถ่ายทอดลงบนแผ่นฟิล์มโดยผู้กำกับ “Philip Kaufman” ภายใต้ชื่อเรื่องเดียวกัน โดยเนื้อเรื่องเป็นการกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงที่สลับซับซ้อน ซี่งมีฉากหลังของเรื่องราวเป็นช่วงที่ประเทศเชคโกสโลวาเกียถูกโซเวียตเข้าแทรกแซงการเมืองอย่างหนัก จนผู้คนมากหลายต้องลี้ภัยไปต่างแดน

แน่นอนว่าการอ่านหนังสือ และการชมภาพยนต์นั้นย่อมให้อรรถรสที่ต่างกันออกไป ถ้อยคำที่ร้อยเรียงบนแผ่นกระดาษอย่างละเมียดละไม สามารถสร้างจินตภาพให้ผู้อ่านได้อย่างอิสระเสรี ในขณะที่สีหน้าและอากัปกิริยาของตัวละคร รวมถึงเพลงประกอบบนแผ่นฟิล์มนำพาผู้ชมถลำลึกเข้าไปสู่ห้วงอารมณ์เดียวกับสถานการณ์นั้นๆ

จากแง่มุมดังกล่าว การอ่านงานเขียน ควบคู่กับการรับชมภาพยนต์ที่นำเสนอในเรื่องเดียวกัน จึงเปรียบดั่งการมองวัตถุสิ่งเดียวกัน ในมุมมองที่แตกต่างกัน ผู้ที่ได้อ่านควบคู่กับได้ชม “The Unbearable Lightness of Being” จึงอาจเห็นภาพรวมซึ่งหนังสือหรือภาพยนต์เพียงอย่างเดียวไม่อาจนำเสนอได้ทั้งหมด ภาพรวมของมนุษย์ที่พยายามกะเกณฑ์สิ่งต่างๆให้เข้าที่เข้าทาง แต่ด้วยความเป็นเศษเสี้ยวของสรรพสิ่งทั้งมวล การณ์จึงไม่เป็นดั่งหวังเสมอไป



Lena Olin and Daniel Day-Lewis in The Unbearable Lightness of Being - 1988


เนื้อหาของ “The Unbearable Lightness of Being” เป็นการกล่าวถึงการใช้ชีวิตของผู้คนที่ให้ค่า และให้ความหมายต่อสิ่งต่างๆที่แตกต่างกันออกไป เริ่มต้นที่ “โทมัส” (นำแสดงโดย Daniel Day-Lewis) ศัลยแพทย์เจ้าสำราญ ผู้เป็นที่หลงใหลของบรรดาหญิงสาว โทมัสใช้ชีวิตอย่างอิสระเสรี เปรียบได้ดั่ง “นกไร้ขา” ที่ไม่ยอมลงสู่ผืนดิน 

“ซาบรีนา” (นำแสดงโดย Lena Olin) ศิลปินชู้รักคนหนึ่งของโทมัส ดูจะเป็นผู้ที่เข้าอกเข้าใจเขามากที่สุด ในแง่ที่ไม่ต้องการแบกรับภาระใดๆ อย่างไรก็ตาม เส้นทางชีวิตของคนทั้งสองก็ไม่ได้ดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน 

ชีวิตของโทมัสได้กลับตาลปัตร เมื่อเขาได้พบกับ “เทเรซา” (นำแสดงโดย Juliette Binoche) หญิงสาวขี้อาย ซึ่งดูมีอะไรบางอย่างที่น่าค้นหา ทั้งสองพบกันด้วยความบังเอิญ แต่เหตุบังเอิญดังกล่าวก็นำพาให้ทั้งสองตัดสินใจใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน 

เทเรซานั้นเป็นผู้ที่ต้องการจะหนีไปจากอดีตของตนเองให้พ้น และคล้ายกับว่าเธอได้แบกเอาความหนักอึ้งมาให้แก่โทมัส การณ์ดังกล่าวได้สร้างสภาวะต้องเลือกระหว่างอิสระเสรี กับภาระอันหนักหนาให้แก่โทมัส 

อะไรถือเป็นสิ่งที่ทำให้โทมัสเลือกที่จะใช้ชีวิตร่วมกับเทเรซา อะไรถือเป็นสิ่งที่ทำให้เขาละทิ้งความเบาหวิวมาสู่ความเป็นจริงเป็นจัง สิ่งนี้ดูจะไม่มีคำตอบที่เป็นเหตุเป็นผลตายตัว สิ่งนี้ดูราวกับว่าจะต้องค้นหาคำตอบจากอารมณ์ความรู้สึกส่วนลึกที่โทมัสมีต่อเทเรซา ซึ่งตัวโทมัสเองก็ไม่อาจจะอธิบายออกมาได้ทั้งหมดเช่นกัน สิ่งนี้ดูจะต้องอาศัยผู้อ่าน และผู้ชมร่วมกันค้นหาคำตอบ 

ทำไมมนุษย์จึงเลือกทำอะไรแตกต่างกันออกไป? “The Unbearable Lightness of Being” ได้แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจของมนุษย์ต่อสิ่งเดียวกัน ความเข้าใจต่อสิ่งเดียวกันซึ่งมองกันคนละมุม เนื่องด้วยประสบการณ์ที่แต่ละคนต้องเผชิญมานั้นไม่เหมือนกัน ส่งผลให้การให้ความหมายต่อสิ่งนั้นๆแตกต่างกัน 

ในทางตรงข้าม ถึงแม้จะมีความเข้าใจต้องตรงกัน แต่ประสบการณ์ที่แตกต่างกันนั้นเอง ก็ไม่อาจทำให้คิดเห็นเหมือนกัน เนื่องด้วยความเข้าใจ กับการยอมรับนั้นไม่ใช่สิ่งเดียวกัน 


เทเรซานั้นเข้าใจได้ถึงความเจ้าชู้ของโทมัสเป็นอย่างดี แต่อย่างไรก็ตาม เธอก็ไม่อาจยอมรับมันได้ เนื่องด้วยความรู้สึกอ้างว้างเปล่าเปลี่ยวยังคงตามหลอกหลอนเธอ 

เช่นกันสำหรับโทมัส เขาเข้าใจเป็นอย่างดีว่าทำไมเทเรซาจึงรู้สึกเช่นนั้น แต่ให้ถึงที่สุดแล้ว ความเจ้าชู้ที่ฝังลึกอยู่ในตัวตนของเขา ก็ดูจะไม่สามารถกำจัดให้สิ้นซากไปได้ 

แตกต่างกันสำหรับซาบรีนา เธอไม่ได้เลือกที่จะมีพันธะเช่นเดียวกับโทมัส เธอยังคงใช้ชีวิตอิสระเสรีต่อไป โดยถึงแม้ความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับ “ฟรานซ์” (นำแสดงโดย Derek de Lint) นักวิชาการหนุ่มจะเป็นไปด้วยดี แต่เมื่อ ฟรานซ์ต้องการจะลงหลักปักฐานกับเธอ ซาบรีนาก็กลับตัดสินใจหลีกหนีไปให้พ้นจากที่ยึดเหนี่ยวนั้น 

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่ามนุษย์จะเลือกสรรสิ่งใด ชีวิตก็ไม่อาจเป็นดั่งความคาดหวังเสมอไป ในเมื่อมนุษย์นั้นไม่อาจที่จะเข้าไปควบคุมหรือจัดแจงทุกสิ่งทุกอย่างได้ต้องตามประสงค์ ผลที่ปรากฏจึงอาจเป็นสิ่งตรงข้ามกับความคาดหมายได้เสมอ 

การเข้ายึดอำนาจของโซเวียต ส่งผลต่อชะตาชีวิตของชาวเชคฯ ในวงกว้าง ซึ่งทั้งโทมัส,เทเรซา, และซาบรีนาก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เช่นกัน การเข้าควบคุมคนโดยรัฐอย่างเข้มงวด ทำให้ชีวิตของพลเมืองในกรุงปรากที่ไม่ยอมอ่อนข้อต่อโซเวียต ต้องตกต่ำลงสู่ห้วงเหว 

สุดท้าย สิ่งที่โทมัส หรือเทเรซาเลือกที่จะยึดเกาะ ก็ดูไร้สาระ เมื่อมันกลับไร้ซึ่งน้ำหนัก 

หรือการเลือกระหว่างความเบาหวิวกับความหนักอึ้งนั้นเป็นสิ่งที่ยากจะตัดสินใจได้? เมื่อชีวิตเรามีเพียงแค่หนึ่ง การทำอะไรบางอย่าง เมื่อผ่านแล้ว ก็ผ่านเลยไป ไม่สลักสำคัญอะไรกับโลกใบนี้ 

หรือการเลือกระหว่างความเบาหวิวกับความหนักอึ้งนั้นเป็นเรื่องโง่เง่าสิ้นดี? ในเมื่อแก่นสารสำคัญทั้งหลายของชีวิตมนุษย์ กลับตั้งอยู่บนรากฐานของความยุ่งเหยิงที่มนุษย์เราก็ไม่อาจหาญพอที่จะเข้าใจได้ 

หรือเราได้ตั้งคำถามผิดไป? ความเบา และความหนักนั้นมีอยู่จริงหรือ? หรือเราเพียงสร้างจินตภาพของสิ่งทั้งสองขึ้นมาเท่านั้น? 

(หน้าพิเศษ D-Life) 
คอลัมน์ AROUND THE WORLD 
โดย ณัฐกร เวียงอินทร์ 

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น