11:07

ว่าด้วยตัวแบบ ‘โบราณหรือสมัยใหม่’ ในทัศนะวิพากษ์ของรุสโซ

นอกจากความคิดแบบปฏิทรรศน์ที่ปรากฏอยู่ในความคิดทางปรัชญาการเมืองของรุสโซแล้ว ยังจะพบว่า รุสโซมีรูปแบบทางความคิดที่มีความผสมผสานกันอย่างมากระหว่างความเป็นโบราณ และสมัยใหม่ หากพิจารณาความคิดของรุสโซที่ปรากฏอยู่ใน Emile แล้วอาจกล่าวได้ว่า รุสโซพยายามนำเสนอชีวิตที่ดีของบุคคลผู้เป็นปัจเจก (private man) ในสังคมที่ดี รุสโซได้เขียน Emile ขึ้นตามพัฒนาการของช่วงชีวิตมนุษย์ตามทัศนะของเขาเอง หนังสือทั้ง 5 เล่มที่ประกอบกันขึ้นเป็น Emile ได้แบ่งลำดับขั้นทางการศึกษาตามพัฒนาการในชีวิตของคน นับตั้งแต่วัยทารก โดยให้ความสำคัญกับช่วงวัยหนุ่มสาว ซึ่งเป็นช่วงเวลาสำคัญสำหรับการมีความรัก การสมรสและการศึกษาขั้นสุดท้ายในช่วงวัยผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบ โดยชีวิตที่ดีตามทัศนะของรุสโซก็คือสภาวะการณ์ที่การแสดงออกทางธรรมชาติของ มนุษย์มีเสรีภาพสูงสุด (the freeest expression of human nature) โดยผ่านการศึกษาแบบส่วนบุคคลแก่มนุษย์ธรรมชาติ (private education of the natural man)



หากเทียบเคียงแนวคิดดังกล่าวของรุสโซกับทฤษฏีแบบ (Theory of Form) ของเพลโต (Plato.427-347 B.C.) ในอุตมรัฐ (Republic) จะพบความสอดคล้องกันในสาระสำคัญ โดยเฉพาะในเรื่องของการแสวงหาชีวิตที่ดี (good life) และระบอบการปกครอง (regime) ที่ดี การให้การศึกษาแบบส่วนบุคคลแก่มนุษย์ธรรมชาติของรุสโซที่ปรากฏอยู่ใน Emile มีวัตถุประสงค์อยู่ที่การค้นหาสภาวะอันดีงามของมนุษย์ เฉกเช่นเดียวกับเพลโต ที่ต้องการแสวงหาหรือสร้างสรรนครที่ดีที่สุด ซึ่งปกครองโดย”ราชาปราชญ์”(philosopher-king, philosopher who is a king) อย่างไรก็ดี แนวคิดเกี่ยวกับราชาปราชญ์ของเพลโต ในภาคปฏิบัติการจริงแล้วเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยากยิ่ง และอาจถือได้ว่าเป็นความคิดแบบปฏิทรรศน์ (paradox) ที่สำคัญในปรัชญาการเมืองของเพลโตประการหนึ่ง ทั้งนี้เพราะชีวิตทางการเมือง (political life) นั้น มีฐานอยู่บนความรักส่วนบุคคลของผู้ใดผู้หนึ่ง (love of one’s own) ไม่ว่าความรักนั้นจะเป็นความรักต่อตัวเอง ซึ่งนำไปสู่การแสวงหาอำนาจ (the quest of power) หรือความรักที่มีต่อประเทศชาติของตน อันนำไปสู่ความรักชาติอย่างปราศจากตัวตน (selfless patriotism) ในขณะที่ชีวิตตามแบบแผนของปราชญ์นั้นมีฐานอยู่ที่ความรักในความรู้ (knowledge)และสัจธรรม (truth) ทำให้นักปราชญ์ไม่ใส่ใจต่อการแสวงหาอำนาจเพื่อปกครอง แม้ว่าจะเป็นเมืองที่ดีตามทัศนะของเพลโตก็ตาม ในขณะที่ภาคการเมืองก็ไม่ปรารถนาที่จะได้ปราชญ์ขึ้นปกครองเช่นเดียวกัน ระบอบการปกครองที่ดีใน อุตมรัฐ ของเพลโตจึงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในทางปฏิบัติ รวมถึงก็ไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองใดๆ นอกเหนือไปจากการถูกใช้เพื่อสนับสนุนสภาพชีวิตแบบนักปราชญ์บนหอคอยงาช้างของ ชนชั้นปกครอง

ความพยายามที่จะนำเอารูปแบบการศึกษาตามธรรมชาติ (natural education) ของรุสโซมาใช้ใน Emile นั้น รุสโซต้องการมุ่งพัฒนาสภาวะมนุษย์ที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ในประเด็นนี้อาจพิจารณาได้ว่า รุสโซพยายามแก้ไขความคิดปฏิทรรศน์ของเพลโต โดยชี้ว่า การศึกษาตามแนวทางของเขานั้น สามารถสร้างได้ทั้งนักปราชญ์ หากผู้ศึกษามีภูมิปัญญาและพรสวรรค์เพียงพอ พร้อมๆกับการเป็นผู้ปกครอง (ruler) หากผู้ศึกษาปรารถนาจะเป็น โดยนัยนี้อาจตีความได้เช่นกันว่า รุสโซพยายามจะชี้ด้วยว่า Emile ก็คือ “ราชาปราชญ์” แห่งยุคสมัยใหม่ (modern period) โดยได้เปิดทางเลือกไว้คือ ปราชญ์ผู้ผ่านการศึกษาตามวิถีทางธรรมชาติของรุสโซ จะทำหน้าที่เป็นผู้ปกครองหรือไม่นั้น ก็คงต้องขึ้นอยู่กับความปรารถนาของเขาเอง

แม้ว่ารุสโซจะพยายามหาคำ ตอบสำหรับชีวิตที่ดีและการปกครองที่ดีของเพลโต ด้วยวิธีวิทยาที่มีความก้าวหน้าขึ้นก็ตาม แต่รุสโซก็ยังแสดงออกถึงจิตนิยมแบบเพลโต (Platonic Idealism)อันถือได้ว่าเป็นตัวแบบโบราณ (Ancient Model) ของระบบปรัชญาในโลกตะวันตก รวมถึงอาจพิจารณาได้ว่าแนวคิดแบบปัจเจกชนนิยม (individulist) ของรุสโซที่ปรากฏอย่างชัดเจนใน The First Discourse ก็มีความคล้ายคลึงกับลัทธิสโตอิก (Stoicm) ในสมัยกรีกอย่างมาก โดยลัทธินี้มีความเชื่อถือธรรมชาติและกฏธรรมชาติ พร้อมๆกับสนับสนุนความสุขของปัจเจกชนอย่างเข้มข้น วัตถุประสงค์ของลัทธิสโตอิกก็คือการทำให้ชีวิตของปัจเจกชนมีความสุข แต่ก็สนับสนุนให้มีความสำนึกต่อผลประโยชน์ส่วนรวมไปพร้อมๆกัน

และแม้รุสโซจะมีความคิดคำนึงถึงอดีต (nostalgia) แต่อดีตอันรุ่งโรจน์ตามทัศนะของรุสโซกลับมิใช่อารยธรรมอันยิ่งใหญ่แห่งโลกโบราณ ไม่ว่าจะเป็นอียิปต์ กรีก หรือโรมัน ดังทัศนะตามแบบสมัยใหม่ในยุคหลังโรมันของคัสซิโอโดรัส (Cassiodorus.485-580) นักประวัติศาสตร์ผู้เริ่มลากเส้นแบ่งระหว่างภาวะโบราณ (antiqui) กับสมัยใหม่ (moderni) และเชื่อว่าเป็นหน้าที่ของคนร่วมสมัยที่จะต้องพยายามนำความรู้และวัฒนธรรม ของคนโบราณหรือตัวแบบโบราณของโรมัน (the Roman antiquitas) แต่รุสโซได้ย้อนกลับไปไกลถึงมนุษย์บุพกาล ผู้มีความสุขอยู่กับสภาวะธรรมชาติและอิสรภาพที่ปราศจากการพึ่งพิงใดๆรวมถึง ปราศจากแม้กระทั่งปฏิสัมพันธ์ทางสังคมทุกประการ อันถือได้ว่าเป็นสังคมในอดีตอันไกลโพ้นและไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าสภาวการณ์ ดังกล่าวมีอยู่จริงหรือไม่

รุสโซมองภาพพจน์ของสังคมอารยะในโลกโบราณ ในแง่มุมที่ตรงข้าม/ขัดแย้งกับนักคิดนักปรัชญาทั้งในยุคก่อนสมัยใหม่(pre-modern) ที่เชื่อมั่นต่อศิลปะวิทยาการแห่งโลกอารยธรรมโบราณ พร้อมๆกับวิพากษ์ทัศนะของนักคิดนักปรัชญาในยุคสมัยใหม่ (modern period) แห่งช่วงการปฏิวัติทางภูมิปัญญา (และต่อเนื่องมาถึงยุคสมัยปัจจุบัน) ที่บูชาความมมั่งคั่งอันเป็นผลมาจากความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการสมัยใหม่ รุสโซเชื่อว่าอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่และเต็มเปี่ยมไปด้วยความรู้และปรัชญา ในท้ายที่สุดย่อมต้องถูกทำลายไปอย่างย่อยยับ ไม่ว่าจะเป็นอียิปต์ที่ถูกบดขยี้ไปโดยอาณาจักรเปอร์เซีย กรีกที่ถูกมาเซโดเนียพิชิต โรมซึ่งล่มสลายไปด้วยพวกอานารยชน และจีนที่ถูกพวกตาตาร์สบุกเข้าทำลาย รุสโซชี้ถึงข้อขัดแย้งที่สำคัญของความรู้ความก้าวหน้าทางวิทยาการคือ การสร้างความเฉลียวฉลาดให้กับมนุษย์พร้อมๆกับมีอิทธิพลครอบงำเหนือคุณธรรม (virtue) รูปแบบชีวิตที่ดีที่สุดตามทัศนะของรุสโซคือความเรียบง่าย (simplicity) ความไร้
เดียงสา (innocence) ความยากไร้ (poverty) และการมีคุณธรรม

อย่างไรก็ดี รุสโซมิได้ปฏิเสธความยิ่งใหญ่ของอารยธรรมโบราณอย่างสิ้นเชิง แต่ทัศนะของรุสโซ ค้านกับสิ่งที่คนส่วนมากเห็นดีเห็นงาม รุสโซมิได้ยกย่องความยิ่งใหญ่ของศิลปะวิทยาการของเอเธนส์และจักรวรรดิโรมัน แต่รุสโซกลับยกย่องนครรัฐสปาร์ตา อันเป็นนครรัฐแห่งการทหารในยุคกรีก รุสโซเชื่อว่าสปาร์ตาเป็นเมืองแห่งมนุษย์กึ่งเทพเจ้า (demigods) ชาวนครรัฐสปาร์ตาล้วนเป็นผู้มองเห็นถึงความเปล่าประโยชน์ของความก้าวหน้าทาง วิทยาการและปรัชญา ดังนั้น สปาร์ตาจึง ‘ไม่หลงเหลือสิ่งใดไว้ให้ชนรุ่นหลัง

นอกจากความทรงจำเกี่ยวกับวีรกรรมอันกล้าหาญของพวกเขา’ซึ่งรุสโซถือว่ามีความ เป็นเลิศเสียยิ่งกว่าดินแดนอารยธรรมอื่นๆ รุสโซยกย่องบรรดานักการเมืองยุคโบราณที่มักจะพูดถึงศีลธรรม (moral) และคุณธรรม (virtue) ในขณะที่ผู้คนในยุคสมัยแห่งภูมิปัญญาอันเป็นยุคสมัยใหม่ กลับพูดถึงแต่เรื่องของการค้า (commerce) และเงินตรา (money)

รุสโซ โทษศิลปวิทยาการว่าเป็นตัวการที่ทำให้มนุษย์ฉ้อฉล (corruption) พร้อมกับได้ตีตรวนให้กับชีวิตมนุษย์ ในขณะที่ผู้ปกครองได้ดำเนินการอย่างแยบยลเพื่อมิให้ไพร่ฟ้า (subject) ของตนล่วงรู้ถึงการสูญเสียเสรีภาพภายใต้พันธนาการเช่นนี้ ซึ่งนี่เองเป็นเหตุผลที่รุสโซอธิบายว่า เหตุใดอานารยชน (The Babarian) ผู้นำความล่มสลายมาสู่จักรวรรดิโรมัน จึงไม่ทำลายล้างห้องสมุดอันเป็นแหล่งรวบรวมภูมิปัญญามาตั้งแต่ยุคกรีก นั่นก็คืออานารยชนตระหนักดีถึงผลลัพธ์ของการอบรมบ่มเพาะทางจิตใจ (mind cultivation) ด้วยศิลปะวิทยาการและปรัชญาความรู้ อันเป็นเสมือนการสวมใส่พันธนการไว้ให้กับประชากร โดยไม่จำเป็นต้องจับพวกเขาไปจองจำ

ในขณะที่ความคิดหลายประการที่ ปรากฏอยู่ในงานเขียนของรุสโซจะมีแนวโน้มเป็นไปตามแบบโบราณ แต่ก็ถือได้ว่าเป็นความโบราณที่ไม่ปรากฏพื้นที่ (space) และเวลา (time) ที่แน่ชัด ‘ตัวแบบ’ของรุสโซล่องลอยอยู่ในจินตภาพแห่งอุดมคติ อันมีลักษณะที่เป็นนามธรรมที่ต้องอาศัยการตีความอย่างลึกซึ้ง และนอกจากตัวแบบโบราณที่ปรากฏอยู่อย่างมากมายในความคิดของรุสโซแล้ว แนวคิดและทัศนะในหลายประเด็นที่พิจารณาได้ว่าเป็นตัวแบบของยุคสมัยใหม่ ก็มีปรากฏอยู่ไม่แพ้กัน

ประเด็นที่ทำให้พิจารณาได้ว่าความคิดของรุ สโซมีความก้าวหน้าอย่างยิ่งคงไม่พ้นทัศนะของเขาที่มองว่า มารยาทและความสุภาพเรียบร้อย อันเป็นสิ่งที่แสดงออกทางสังคม ล้วนแต่เก็บกด/ปิดกั้นธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งทำให้ผู้คนต้องปิดบังตัวตนที่แท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมสมัยใหม่ (modern society) ซึ่งมนุษย์สร้างความสุขของตัวเองขึ้นจากความคิด (opinion) ของบุคคลอื่นๆ รุสโซได้หยิบยกงานศิลป์ขึ้นมาเป็นหลักฐานสนับสนุน โดยชี้ว่า ผลงานทางศิลปะร่วมสมัยของเขานั้น เป็นการแสดงออกเพื่อสนองความพึงพอใจของผู้เสพงานศิลป์มากกว่าจะเป็นการ แสดงออกทางอารมณ์ความรู้สึกของตัวศิลปินเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผลงานศิลปะเชิงการค้า (commercial arts)รุสโซยังชี้ถึงบ่อเกิดของศิลปวิทยาการว่ามาจากแหล่งกำเนิดที่นักบรรดา นักปราชญ์พยายามขยับขยายและต้องการคงรักษาสภาพไว้ด้วยเหตุผลเพียงสองประการ ด้วยกันคือ ความเกียจคร้าน (idleness) และความปรารถนาต่อชื่อเสียงเกียรติยศ (desire for distinction)

สิ่งที่ดูเป็นสมัยใหม่ที่ปรากฏในความคิด ของรุสโซอีกประการคือการมองเวลาและประวัติศาสตร์อย่างที่ไม่สามารถหวนกลับ คืนได้ (irreversibility of history) ความคิดดังกล่าวพบเห็นได้อย่างชัดเจนในทัศนะเกี่ยวกับเสรีภาพของรุสโซ โดยเฉพาะในสัญญาประชาคม รุสโซพยายามตอบคำถามว่าทำอย่างไรจึงจะทำให้เสรีภาพดั้งเดิมของมนุษย์สามารถ ดำรงอยู่ในสภาวะของสังคม ทั้งนี้เพราะรุสโซเชื่อว่าประวัติศาสตร์ไม่อาจย้อนกลับไปสู่สภาวะธรรมชาติ ได้อีก รุสโซต้องการชี้ถึงปัญหาเกี่ยวกับความชอบธรรมสิทธิของมนุษย์โดยไม่ได้ให้ ความสำคัญกับปัญหาทางประวัติศาสตร์ และเช่นกัน การมองเวลาเป็นเส้นตรงที่ไม่อาจหวนคืนกลับได้นั้นทำให้รุสโซมองมนุษย์ผู้ ศิวิไลซ์ (civilized man) ก็ไม่อาจจะกลายเป็นมนุษย์ผู้บริสุทธิ์ (innocent) ดังเช่นบรรพบุรุษในยุคบุพกาลได้เช่นกัน

แม้ว่ามนุษย์จะสูญเสียภาวะ ของความเป็นผู้บริสุทธิ์ไปแล้วก็ตาม แต่รุสโซเชื่อว่ามนุษย์ก็จะยังสามารถบรรลุถึงศีลธรรมได้พร้อมๆกับการมี เสรีภาพ โดยไม่จำเป็นต้องรอคอยชีวิตในโลกแห่งจิตวิญญาณตามปรัชญาของคริสตศาสนา เช่นกันแม้ว่ารุสโซจะคัดค้านระบบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล แต่รุสโซก็มิได้เสนอให้ต้องยกเลิกการถือครองทรัพย์สิน โดยปัญหาเหล่านี้ล้วนแก้ไขได้ด้วยสัญญาประชาคม รุสโซมองทัศนะว่าด้วยการปลดปล่อยมนุษยชาติ (salvation) ที่มิใช่เป็นการรอคอยการมาถึงของพระผู้ไถ่ (messiah) แต่เป็นการสร้างสรรขึ้นจากสังคมที่เสื่อมโทรม มนุษย์ที่ดีจะต้องเป็นมนุษย์ที่ปราศจากความขัดแย้งในตัวเอง และไม่ถูกครอบงำโดยความไม่เสมอภาค (inequality) รวมถึงการพึ่งพา (dependency) ในสังคม

บทสรุป:จากทัศนะวิพากษ์สู่การเปลี่ยนแปลงสังคมในยุคสมัยใหม่

งานเขียนของรุสโซ ได้ก่อให้เกิดกระแสการโต้เถียงขึ้นอย่างมหาศาลนับแต่ศตวรรษที่ 18 มาจนแม้กระทั่งในปัจจุบัน รุสโซได้รับการยกย่องถึงความฉลาดเฉลียวและการใช้สำบัดสำนวนในการเขียนที่คม คาย แต่ด้วยความคิดอันเป็นปฏิทรรศน์อย่างมากมายที่ปรากฏอยู่ในผลงานของรุสโซ ทำให้เขาต้องถูกวิจารณ์ว่าไม่ได้เป็นนักปรัชญาอาชีพ ทัศนะของรุสโซว่าด้วยธรรมชาติมนุษย์ ถูกโต้แย้งว่า เป็นมายาภาพ (illusion) เนื่องด้วยเหตุผลที่ว่าหากมนุษย์มิได้รับการอบรมปลูกฝังศิลปะวิทยาการแล้ว ไซร้ เขาก็จะเป็นมนุษย์ที่ป่าเถื่อน (babaric) และโหดเหี้ยม (cruel) ในขณะที่ประวัติศาสตร์ตามความคิดของรุสโซล้วนคลุมเครือและเลอะเลือน

อย่างไรก็ดีแม้ว่าความคิดหลายประการจะนำมาซึ่งความสับสนและแสดงออกถึงความขัดแย้ง ทางความคิดอย่างมาก แต่ทัศนะในเชิงวิพากษ์ (critical thinking) ของเขาเป็นเสมือนจุดกำเนิดของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างขนานใหญ่ในช่วง ศตวรรษที่ 19 และ 20 และอาจกล่าวได้ว่า แนวคิดที่รุสโซมองว่าสังคมไม่มีทางแก้ไขปรับปรุงให้ดีและสมบูรณ์ขึ้นและการ เสนอให้มนุษย์กลับสู่สภาพชีวิตที่มีการติดต่อทางสังคมน้อยที่สุด รวมถึงการมองสังคมร่วมสมัยว่าเป็นวิกฤติการณ์ และข้อเรียกร้องเชิงปรัชญาที่ต้องการนำคุณธรรมของมนุษย์ผู้ทรงเกียรติ (noble man) จากบุพกาลกลับคืนมานั้น เป็นการวางรากฐานไว้ให้กับการปฏิวัติทางสังคมอย่างถอนรากถอนโคนในยุคสมัยถัด มา

รุสโซหยิบยื่นสังคมการเมืองในอุดมคติที่ดีไว้ให้กับอารยธรรมตะวัน ตก ด้วยรูปแบบของสังคมที่เจตจำนงทั่วไป (general will) นำไปสู่เป้าหมายร่วมกันในทางที่ดี โดยต้องเป็นเจตนารมณ์ที่เปี่ยมไปด้วยเหตุผล ความคิดของรุสโซยังแผ่อิทธิพลอย่างสูงยิ่งในช่วงหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส (The French Revolution.1789) ดังเช่นในความคิดทางปรัชญาของคานท์และเฮเกล (George Winhelm Friedrich Hegel.1770-1831) ซึ่งนำแนวคิดเกี่ยวกับธรรมชาติมนุษย์ของรุสโซมาต่อยอดว่าแม้มนุษย์จะสูญเสีย ความดีงามและความบริสุทธิ์ไปเพราะสังคม แต่ก็สามารถแก้ไขได้ด้วยการสร้างสังคมใหม่ที่เปี่ยมศีลธรรมและเสรีภาพ

ดังนี้ อาจกล่าวได้ว่า มรดกทางความคิดของรุสโซ ทั้งที่เป็นปฏิทรรศน์และนามธรรม ล้วนแต่เป็นสิ่งที่รุสโซได้ทิ้งไว้ให้คนยุคใหม่ในสมัยถัดมาได้ใช้ความ คิด/เหตุผลของตัวเองพิจารณาไตร่ตรองและต่อยอดออกไปจนก่อให้เกิดการเปลี่ยน แปลงขึ้นอย่างมากมายทั้งในแง่ความคิดทางปรัชญาและในทางปฏิบัติอันแสดงออกใน รูปแบบของการปฏิวัติ และที่สำคัญเชื่อว่า รุสโซในฐานะนักวิพากษ์สังคมสมัยใหม่ยังได้มอบมรดกทางภูมิปัญญาที่สำคัญไว้ก็ คือ ทัศนะเชิงวิพากษ์ อันถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความก้าวหน้าทางวิชาการอย่างมหาศาล และแม้ว่าสิ่งที่รุสโซได้วิพากษ์และพยายามสลาย/สั่นคลอนในยุคสมัยแห่ง ภูมิปัญญานั้น จะเป็นการคัดค้านต่อภาวะสมัยใหม่ (modernity) ตามทัศนะของนักคิดทั่วยุโรปในขณะนั้น แต่เชื่อว่าความคิดเช่นนี้ของรุสโซก็มิได้เป็นการผลักไสให้เขาต้องกลับกลาย เป็นพวกอนุรักษ์นิยมไปแม้แต่น้อย แต่อาจถือได้ว่าเป็นความคิดที่ก้าวหน้าเสียยิ่งกว่าความเป็นสมัยใหม่ในยุค นั้นเสียอีก.

บรรณานุกรม

จัง จ๊ากส์ รุสโซ่ สัญญาประชาคม จินดา จินตนเสรี แปล,เรียบเรียง, (กรุงเทพฯ : บริษัท บพิธ จำกัด,2517)

ชุมพร สังขปรีชา ปรัชญาและทฤษฏีการเมืองว่าด้วยธรรมชาติมนุษย์ (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2531)

สุโขทัย ธรรมาธิราช,สาขาวิชารัฐศาสตร์ เอกสารการสอนชุดวิชาปรัชญาการเมือง หน่วยที่ 1-7 (กรุงเทพฯ;สำนักพิมพ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 2543)

สุโขทัย ธรรมาธิราช,สาขาวิชารัฐศาสตร์ เอกสารการสอนชุดวิชาปรัชญาการเมือง หน่วยที่ 8-15 (กรุงเทพ:สำนักพิมพ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ,2543)

พจนานุกรมศัพท์ปรัชญา อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน.พิมพ์ครั้งที่ 3 (กรุงเทพฯ:ราชบัณฑิตยสถาน,2543 )

วารสารสังคมศาสตร์ ปีที่ 30 ฉบับที่ 2 (กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2540).

แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ (แปล) (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2542)

Immanuel Kant,An Answer to the Question: “What is Enlightenment?” แปล ขยายความและเรียบเรียง โดย ไชยยันต์ ไชยพร เอกสารประกอบการสอนนักศึกษาปริญญาโท รัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ภาคการศึกษาปลาย ปีการศึกษา 2543 มกราคม 2544.

Tilo Schabert ,Modernity and History 1: What is modernity? แปล ขยายความและเรียบเรียงโดยไชยยันต์ ไชยพร เอกสารประกอบการสอนนักศึกษาปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

Derrida,Jacque,”Structure,sign and play in the discourse of the human science,” 278-293. In Writing and Difference,1978

Ian Hampsher-monk,A History of Modern Political Thought :Major Political Thinkers from Hobbes to Marx, (Oxford : Blackwell Publishers,1993)

Jack Lively and Andrew Reeve (edited) Modern Political Theory from Hobbes to Marx:Key Debates,(London:Routledge,1996)

John Gingell,Adrian Little and christopher Winch (edited) Modern Political Thought:A Reader ,( New York : Routledge,2000 )

Marc F. Plattner Rousseau’s state of nature : an interpretation of the Discourse on inequality (Dekalb : Northern Illinois University Press,1979).

Masters,Roger D. The Political philosophy of Rousseau (Princeton,N.J.: Princeton University Press,1968).

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น