10:10
'ก้าวสอง' ของ ประมวล เพ็งจันทร์
เดินเคียงข้างไปกับ "ผู้บรรลุธรรมด้วยปลายเท้า" เพื่อแบ่งปัน "เรื่องราว" ระหว่างทาง และ "สันติภาพ" ให้เบ่งบานในมโนสำนึกของสังคม
ครั้งที่แล้ว แต่ละก้าวของ ประมวล เพ็งจันทร์ มีความหมายถึงการเข้าไปแสวงหาสิ่งที่ยัง "ติดค้าง" อยู่ภายในจิตใจ
ครั้งนี้ ผู้เจนจบในการเดินให้คำจำกัดความที่ต่างออกไป
"การเดินครั้งนี้มีเป้าหมายชัดเจนว่า เพื่อสร้างสภาวะสันติสุขให้เกิดกับสังคม ...พูดง่ายๆ ก็คือ ครั้งที่แล้วผมเดินเข้าข้างใน ครั้งนี้ผมเดินออกมาข้างนอก"
53 วันจากศาลายาสู่ปัตตานี ใต้ธงโครงการ "เดินเพื่อสันติปัตตานี" หลังได้รับคำชวนจาก รศ.ดร.โคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ต้องการใช้ "การเดิน" เป็นสัญลักษณ์การสร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาความรุนแรง และสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ให้กับสังคมไทย ย่อมไม่เหมือนกับ 66 วันจากเชียงใหม่ถึงสมุย
ในฐานะ "ผู้เดินก่อน" เขาไม่ได้คิดว่านี่เป็นการ "ซ้ำรอย" ทางเก่า แต่กลับยิ่งทวีคุณค่า และเพิ่มเส้นทางใหม่ๆ ให้กับตัวเอง เพื่อนร่วมเดินทาง และสังคม
เมื่อ 1,200 กิโลเมตรแรก ช่วยให้ค้นพบ "ตัวตน" จาก "ปลายเท้า"
ขณะที่ 1,100 กิโลเมตรต่อมา ทำให้มองเห็น "โลก" ใน "มิติ" ที่กว้างออกไป
และระหว่างก้าวนั้น มี "บางความหมาย" ที่เขานำมาร่วมแบ่งปัน
การเดินครั้งนี้แตกต่างจากการเดินครั้งแรกไหม
มันต่างกันในแง่ของวัตถุประสงค์ เพราะครั้งแรกผมเดินเพื่อเรียนรู้ฝึกฝนจิตใจตัวตนของผมเอง ไม่ได้สัมพันธ์กับผู้อื่นที่เป็นเพียงฉากประกอบ ดังนั้นการเดินครั้งแรกเป็นการเดินเพื่อเข้าถึง หรือเข้าใจตัวตนของตนเอง แต่ครั้งนี้เป็นการเดินในมิติทางสังคม เป้าหมายชัดเจนว่า การเดินครั้งนี้เพื่อจะสร้างสภาวะที่เรียกว่าสันติสุขกับกับสังคม ซึ่งมันจะเกิดเราผู้เดินจะต้องสัมผัสได้ เข้าถึง เข้าใจอะไรบางอย่าง เพราะตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้าย ก็เหมือนการเรียนรู้สังคม คือ ประชาชน สภาพแวดล้อม สภาพชุมชน สภาพปัญหาต่างๆ ถ้าจะพูดง่ายๆ ครั้งแรกเดินเข้าไปข้างใน ครั้งนี้เดินออกมาข้างนอก
ระหว่างก้าวเดิน ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศ สภาพแวดล้อม หรือผู้คน คุณตีความออกมาแบบใด
มันเหมือนกับว่า ผมมีบางสิ่งบางอย่างอยู่ในใจแล้ว ผมมีความเชื่อมั่นว่า เมื่อจิตใจของเรานิ่งสงบพอก็จะสามารถเชื่อมโยงความสงบนี้ไปสู่เพื่อนร่วมเดินทางได้ สิ่งนี้เป็นประเด็นแรกสุด เพราะขณะที่ผมเดินออกมา ก็มีเพื่อนร่วมทางจำนวนหนึ่งที่เขารู้ว่าผมเคยเดินมาแล้ว ดังนั้น ทำอย่างไรให้ความสงบที่ผมได้สามารถแบ่งปันไปสู่เพื่อนร่วมเดินทางได้ด้วย
มันไม่ใช่การนั่งพูดนั่งคุย ได้ยินคนอื่นคุย แต่เมื่อเราเดินร่วมกัน เมื่อเกิดอะไรขึ้นในใจของเพื่อน ผมสามารถเอาความหมายที่เกิดขึ้นในใจเขามาพูดคุยได้ อย่างเมื่อเราเดิน เราเหนื่อย มีบางคนถามผมว่า อาจารย์ เดินครั้งนี้เราจะได้อะไรบ้าง ผมตอบว่า เดี๋ยวเราจะรู้เอง
การเดินครั้งนี้เรามาเผชิญความเหนื่อย และมันก็กลายเป็นบางสิ่งที่ท้าทาย ผมบอกให้เขาฟังว่า เมื่อก่อน ผมเคยเดินเข้าหาความกลัว เดินเข้าหาความไม่แน่นอน เดินเข้าหาความไม่มั่นคงที่ปกติเราจะกลัวมาโดยตลอด ครั้งนี้เราจะเห็นภาพเลยว่า เราไม่รู้ว่าจะกินอะไร รู้ว่าเหนื่อยแน่ๆ แต่ก็ยังเดินไม่หยุด นี่เป็นภาพ แต่สิ่งที่อยู่ข้างหลังภาพนี้คืออะไร ระหว่างเราเดินแล้วเราจะรู้ ตรงนี้ผมกำลังเชื่อมตัวผมกับเพื่อนร่วมทางแล้ว
ยกตัวอย่าง ตอนเช้าที่อำเภอบ้านแหลม จังหวัดสมุทรสงคราม เราเดินหันหน้าหาทะเลในทางทิศตะวันออก ช่วงที่พระอาทิตย์โผล่แสงสีเงินสีทองมาจากท้องฟ้า เพื่อนหลายคนบอก โห สวยจริงๆ อาจารย์ พวกเราเกิดมากันตั้งไม่รู้กี่ปี เพิ่งจะรู้ว่าท้องฟ้ายามรุ่งอรุณที่พระอาทิตย์สอดแสงสีทองสวยที่สุด และความสวยนี้คือความหมายที่ยิ่งใหญ่ของการเดินทาง
ผมสามารถบอกเล่าความหมายนั้นกับผู้ร่วมเดินทางได้ ไม่ต้องใช้คำพูดเลย ใช้ความรู้สึกที่ปรากฏขึ้นพร้อมๆ กัน
ควบคุมจังหวะของการก้าวอย่างไร
ไม่ได้ควบคุมเลยครับ (ตอบทันที) เพราะแรกๆ เดินเขาจะให้เกียรติผม ในฐานะที่ผมเดินมาแล้ว ให้ผมเดินนำ แต่ปรากฏว่ามีปัญหามาก เพราะผมเดินเร็ว แล้วเพื่อนร่วมเดินบางคนถนัดเดินช้า บางคนถนัดเดินเร็ว เมื่อเราเรียนรู้ตรงนี้ว่า จังหวะของการก้าวเดินนี้ไม่ได้เป็นจังหวะของผมแล้ว ผมต้องฝึกเดินเป็นจังหวะของเพื่อนผู้ร่วมเดิน นี่เป็นความหมายที่สำคัญมาก
วันหนึ่งที่เราเดินคนเดียวจังหวะก้าวมันสัมพันธ์กับตัวเราคนเดียว ก้าวอย่างไรทำให้เราทำสมาธิได้มั่นคง ก้าวอย่างไรทำให้จิตเราอยู่กับปัจจุบัน แต่การเดินครั้งนี้ไม่ใช่ ก้าวอย่างไรให้การเดินครั้งนี้มีความหมายกับเพื่อนๆ ก้าวอย่างไรถึงจะทำให้เพื่อนร่วมเดินทางมีความเบิกบานกับการเดิน ซึ่งถือเป็นโอกาสของผมจะได้ค้นพบ ตอนหลังผมจึงฝึกเดินช้า ต่อมาผมจึงฝึกเดินข้างหลัง ขอให้เพื่อนผู้ร่วมเดินทางเดินก่อน แต่เขาก็จะบ่นว่า อาจารย์ประมวลเดินข้างหลังทำให้เขาเกร็ง เพราะเหมือนกับว่าผมกำลังมองเขาอยู่ (หัวเราะ) ผมก็เลยเรียนรู้ว่า ถ้าอย่างนั้นเรามาเดินเสมอกัน หลังๆ เรานิยมที่จะเดินคุยกัน ซึ่งปกติผมไม่เคยปฏิบัติเช่นนี้
ที่สำคัญ พอเราเดินคุยกันกลับมีเรื่องราวสารพัด เราพูดคุยเรื่องเหล่านั้นในความหมายที่เราก้าวเดินได้ การเดินในครั้งนี้ จังหวะก้าว ความหมายของการก้าว ทำยังไงจึงจะให้จังหวะก้าวของเรา และจังหวะก้าวของเขาเป็นจังหวะเดียวกัน และเราเดินพร้อมๆ กัน ถ้าเป็นดนตรีก็คือ ท่วงทำนองแห่งการเดิน หรือลีลาผสานกัน เครื่องดนตรีทุกๆ ชิ้นกลายเป็นเสียงอันไพเราะเพราะการผสานกัน นี่เป็นการเรียนรู้ที่สำคัญ และรู้สึกดีมาก
สิ่งที่คุณค้นพบในจังหวะก้าวเดินตั้งแต่ การเดินนำ การเดินตาม ไปจนถึงการเดินด้วยกัน มีอะไรบ้างและเชื่อมโยงกันได้อย่างไร
เวลาเดินนำ เราต้องกำหนดความหมายว่าเราจะเดินอย่างไร เพื่อให้เพื่อนที่เดินตามเขาสามารถเดินได้ง่ายและดี ดังนั้นเราต้องคอยใส่ใจดูแล ปกติถ้าเดินคนเดียว ผมไม่เคยหันหลังกลับมามองข้างหลัง แต่ครั้งนี้ ผมเป็นผู้นำ ผมต้องหันมองข้างหลังตลอดเวลาว่าเพื่อนร่วมเดินของผมเขาเหนื่อยล้า หรือห่างจากผมไปแล้วหรือยัง ถ้าห่างไป ผมก็ต้องชะลอความเร็วลง
ถ้าเราเดินตาม เราก็ดูไปว่าเพื่อนเขาเดินเร็วเดินช้าแล้วปรับจังหวะของเราให้เข้ากับเขา แต่ขณะที่เราเดินเคียงคู่กันเราไม่ต้องดู ซึ่งมันเป็นความหมายที่ดีมากเลยนะ (ยิ้ม) เวลาเราเดินเคียงคู่กัน ไม่มีใครนำใคร ต่างฝ่ายต่างเดินเคียงคู่ซึ่งกันและกัน ถ้าเราอยากเดินเร็ว เขาก็เร็วตามเรา ถ้าเราอยากเดินช้าเขาก็ช้าตามเรา นี่เป็นความหมายที่ลึกล้ำกว่าความหมายเชิงกายภาพ ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจความหมายของการเดินด้วยกัน ที่ไม่มีใครเป็นผู้กำหนดนอกจากคนสองคน
ในการเดินครั้งแรกคุณเห็นอะไร
ครั้งแรกนี่มันมากจนต้องบอกว่าตั้งแต่วันแรกที่ออกจากบ้าน ภาพความเป็นไปในชีวิต ความหมายของชีวิต ภาพของความรู้สึกที่มันเป็นปัญหาอยู่ในอดีต อยู่ในปัจจุบันตอนนั้น มันค่อยๆ รื้อฟื้นขึ้นมา ตัวตนของผมถ้าเปรียบเป็นบ้านหลังหนึ่ง มันต่อเติมมาเรื่อยๆ โดยที่เราไม่เคยตรวจสอบเลยว่า บ้านหลังนั้น มีห้อง มีมุม ประตูหน้าต่างเป็นยังไง แต่ละวันที่เดินจึงเหมือนการที่เราค่อยๆ เปิดประตู สำรวจซอกมุม จนกระทั่งผมเรียนรู้ว่ามันมีอะไรมากกว่านี้
ช่วงเวลาการเดินครั้งนั้น ไม่มีเรื่องข้างนอกเลย ผมไม่สนใจเรื่องเวลา ไม่สนใจเรื่องระยะทาง ไม่สนใจสภาพที่เรียกว่าเป็นกายภาพ แต่ผมสนใจเพียงอย่างเดียวว่า ตัวตนของผมในขณะนั้นถ้ามีความขุ่นมัวขึ้นมา มันเกิดขึ้นได้อย่างไร ความกลัวเกิดมาอย่างไร ดูจนกระทั่งมันเกิดสภาวะ "การเกิด-ดับของความกลัว ความต้องการ" เช่นความหิว ความอ่อนแรง
ขณะเดียวกันผมก็เห็นคุณค่าของความอิ่มอาหารที่ได้มา บางครั้งผมจึงกินอาหารแล้วร้องไห้ว่า ทำไมเกิดมาตั้งนานกว่าห้าสิบปีแล้ว กินมานับมื้อไม่ถ้วน เรารู้สึกว่ามันอร่อยหรือไม่อร่อย แต่เราไม่เห็นค่าของมันเท่ากับตอนกำลังเดิน เพราะเวลาที่เรากินอาหารเข้าไป ชีวิตก็ฟื้นขึ้นมาอีก ทั้งหมดก็ทำให้เรารู้ว่า ชีวิตมีอยู่ มันมาจากปัจจัยแวดล้อมธรรมชาติ เพื่อนมนุษย์ที่เกื้อกูลเราตลอดเวลา แต่เราไม่เคยตระหนักรู้ ถึงคุณค่า และบุญคุณของสิ่งเหล่านี้ เห็นตัวเองที่ค่อยๆ เล็กลง
แล้วครั้งนี้?
มันมีความหมายไปอีกแบบหนึ่ง เมื่อเราเดินมา ผมเห็นความทุกข์ของเพื่อน เป็นความทุกข์ของผม หมายความว่า เมื่อเราเป็นเพื่อนกันปกติเราจะเห็นคนอื่นเป็นคนอื่น เขาสุข เขาทุกข์ เราก็รู้สึกสงสารในบางครั้ง แต่มันก็เป็นความรู้สึกสงสารในความหมายของคนอื่น แต่ครั้งนี้ เราเป็นคนเดียวกัน เพียงแค่ว่าเราเห็นใครคนใดดนหนึ่งในกลุ่มเราเจ็บ ก็เอาเท้าของเพื่อนมานวดมาเฟ้น ในทางกลับกัน เพื่อนก็ช่วยเรา
สภาวะเช่นนี้ มันทำให้ความรู้สึกของเราที่เมื่อก่อนก็จะเป็นส่วนๆ ถูกเขย่าจนกลายเป็นเนื้อเดียวกัน ความสุขความทุกข์ของคนแต่ละคน เป็นสิ่งที่เรารับรู้ร่วมกัน รายละเอียดที่ต่างไปจากเดิมเหล่านี้ ทำให้ผมกระจ่างชัดขึ้นว่า ที่ผ่านมาเราทำให้ตัวเองเป็น ปัจเจกบุคคล แและคิดแบบแยกส่วน
วันหนึ่งเมื่อเพื่อนเราคนหนึ่งเสียชีวิต มันบอกไม่ถูกว่าความรู้สึกของทุกคนคืออะไร เหมือนกับว่าการเดินทางครั้งนี้เราต้องเสียสละอวัยวะบางส่วนของเราไป แต่สวนที่เหลือมันจะเกิดพลังในการเดินต่อไป ซึ่งเรามีความรู้สึกแบบนี้ในสังคมน้อยมาก เพราะเราต่างคนต่างแยกกันอยู่ เราต่างมุ่งหวังที่จะเอาตัวเองให้รอด เลยทำให้เราไม่ใส่ใจเพื่อนมนุษย์ในสังคมเท่าที่ควร
การเดินครั้งนี้ทำให้ผมเข้าใจว่า เราต้องร่วมกันอยู่ เหมือนอย่างที่ได้เห็นเป้ของคุณชาตรี (ชาตรี อังอัจฉะริยะ) ที่วันหนึ่งเขาได้จากพวกเราไป แต่วันนี้เป้ใบนี้กลับมามีความหมายขึ้นมาอีกครั้งเมื่อลูกชายกลับมาสะพายต่อ มันยิ่งใหญ่มาก
ต่างจากเป้าหมายที่วางไว้แต่แรกไหม ?
ไม่ได้วางเป้าอะไรเลยตั้งแต่แรก ผมใส่ใจว่า การเดินครั้งนี้ ผมจะเดินกับเพื่อนร่วมทางของผม ผมจะรับใช้เขา ผมจะทำให้การเดินทางของเรามีความหมายร่วมกัน ซึ่งคืออะไรผมไม่รู้ แต่จะมีคำตอบเองในหนทางข้างหน้า และผมเชื่อว่าการเดินครั้งนี้จะทำให้เกิดความหมายที่ดีงามขึ้นในใจของพวกเราทุกคน
คำตอบของการเดินครั้งนี้ไม่ได้กระจ่างชัดในวันที่เราก้าวผ่านประตูรั้วมัสยิดกลาง?
ผมพูดเสมอว่า เป้าหมายเชิงกายภาพมันคือปัตตานี แต่เป้าหมายที่สำคัญคือ เป้าหมายทางความรู้สึก ซึ่งอยู่ในใจเราทุกคน และต้องเดินกันต่อไป สันติไม่ได้รอเราอยู่ที่มัสยิดกลาง ปัตตานี แต่สันติรออยู่ในใจเรา เพียงแค่เราเดินไปหาสันติในใจเราให้เจอ และเมื่อเราเจอสันติที่อยู่ในใจ เราจะพบสันติในสังคม เมื่อใดที่ใจหนึ่งดวงสัมผัสความสงบ สังคมก็สงบ
แน่นอน ใจทุกดวงสัมผัสความสงบไม่ได้ แต่ถ้ามีใจบางดวงเกิดความสงบ อย่างน้อยๆ ก็ทำให้เกิดความหมายในเชิงสงบขึ้นในสังคมนั้น
ในความเป็นจริง การสะท้อนกลับไปยังสังคมเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา จะเป็นไปได้แค่ไหน
เป็นไปได้ เวลาเราพูดถึงความเป็นจริง เรามักจะคิดว่าความเป็นจริงอยู่นอกตัวเรา และเราไปแสวงหาความเป็นจริงชุดนั้น แต่จริงๆ แล้วความเป็นจริงที่เป็นจริงในปัจจุบันมีอยู่ 2 ส่วน ส่วนหนึ่งอยู่ข้างนอก ขณะที่อีกส่วนหนึ่งอยู่ข้างในใจเรา จะทำยังไงให้ความเป็นจริงข้างนอก กับความเป็นจริงในใจเราสัมพันธ์กันให้ได้ นี่คือความหมายที่สำคัญ เพราะความหมายของการมีชีวิตอยู่ เราไปคิดว่ามันมีความหมายอยู่ข้างนอก แต่จริงๆ แล้วมันมีความหมายอยู่ในใจเรา
เราต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่า สันติภาพในความหมายที่เป็นสังคม มันเป็นภาวะที่เกิดดับตลอดเวลา ผิดกับสันติภาพในใจคนๆ หนึ่งอาจจะเกิดขึ้น และคงอยู่อย่างถาวร เพราะสังคมคือมวลรวมของประชาชนจำนวนมากมาย ซึ่งมีทั้งที่จิตใจสงบ จิตใจเร่าร้อน อีกทั้งสภาวะของความเกลียด ความชังอีกมากมายมหาศาล เพราะฉะนั้นเราอย่าได้ฝันว่าทุกคนในสังคมนี้ จะสงบ แต่ให้เราฝันว่า มันมีคนบางคนที่จะมาเป็นคนสงบ และคนบางคนน่าจะเป็นที่ตั้งของความสงบได้
อยากให้เข้าใจว่า ความรุนแรงกำลังมาเยือนเพื่อให้เราเห็นค่าของสันติภาพ โปรดจงอย่าเข้าใจว่า ทุกคนต้องมีความสงบร่วมกัน สังคมจึงจะสันติสุข ลองนึกภาพดูนะครับ มีคนที่สงบนิ่งสักหนึ่งคนก็สามารถเกื้อกูลคนที่เหลือ แม้กระทั่งคนที่ยังเร่าร้อนอยู่ได้ เหมือนที่เราพูดว่าสันติภาพกับความรุนแรง อยู่คู่กันมาตลอด
ในสังคมนี้ก็มีสภาวะเช่นเดียวกัน ถ้าวันใดเราพบความรุนแรงขอให้เราตระหนักรู้ถึงโทษของมัน แล้วก็ให้ตระหนักรู้ถึงคุณค่าของความสงบ ความเกื้อกูล ถ้าเรามีจิตที่สามารถแยกสองสิ่งนี้ แล้วสามารถเห็นคุณ เห็นค่า เห็นโทษมันได้ ผมเชื่อว่าทุกคนจะวิ่งเข้าหาสันติภาพ วิ่งเข้าหาความสงบ ความเมตตาก็เกิดขึ้น
สำหรับตัวคุณเอง การเดินทั้งสองครั้งถือว่าประสบความสำเร็จหรือเปล่า
สำเร็จครับ (ยิ้ม) ผมไม่ได้พูดว่า การเดินทางครั้งก่อนนั้นยังบกพร่อง หรือสมบูรณ์นะ ผมเชื่อว่าการเดินทางครั้งนี้ทำให้ความหมายการเดินทางของผมมีมิติสมบูรณ์ กว้าง และลึกขึ้น ผมมักจะพูดกับคนที่มาช่วยเหลือเกื้อกูลผมว่า ผมจะใช้ชีวิตส่วนที่เหลือนี้ให้ดีที่สุด
ถามว่าดีที่สุดคืออย่างไร วันนี้ผมมีคำตอบ ชีวิตที่ดีที่สุดคือชีวิตที่มีคุณมีค่าต่อเพื่อนมนุษย์
สิ่งที่ยากที่สุดของการเดินครั้งนี้อยู่ตรงไหน
ผมยังมีความรู้จำกัด ผมไม่สามารถหยั่งถึง และเข้าถึงจิตของเพื่อนร่วมเดินทางได้ เวลาที่เราเดินร่วมกัน แล้วมีคนหนึ่งที่เขาไม่ประสบความสำเร็จ มันคือความล้มเหลวของเราด้วย ความรู้สึกว่าได้ หรือเสีย ความเศร้าโศกเสียใจ ไม่ได้อยู่ที่ตัวเราเป็นผู้กำหนดแล้ว แต่อยู่ที่สังคม และส่วนรวมกำหนด และตรงนี้คือความหมายของการเชื่อมโยงตัวตนของเราให้สัมพันธ์กับเพื่อน กับสังคม มันจึงจะกลายเป็นความหมายเดียวกัน
ตอนนี้ผมกำลังรู้สึกว่า ถ้าเพื่อนเสียผมก็เสีย ถ้าเพื่อนได้ผมก็ได้ เพราะตัวของผมก็อยู่ในตัวของเขา ตัวของเขาก็อยู่ในตัวของผม ตรงนี้มันจึงเป็นความหมายของการเดินทางครั้งนี้ ฉะนั้นความสำเร็จในการเดินทางครั้งนี้อยู่ตรงที่เราได้ผสานใจจำนวนมาก แม้ไม่ได้มากทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็มีใจสองดวงสามดวง มารวมกันเป็นหนึ่งเดียวแล้วเราเดินไปด้วยกัน
นักเดินทางบางคนกลัวว่าการเดินทางจะสิ้นสุดลงเมื่อเขาถึงจุดหมายปลายทางแล้ว คุณเคยรู้สึกแบบนั้นบ้างไหม
ไม่เลยครับ เรารู้สึกเสียดาย จนบางคนบอกว่าเราเดินไปจนถึงนราธิวาสกันไหม เป็นการชวนกันเฉยๆ แน่นอนว่าการเดินในเชิงกายภาพมันต้องมีการหยุด แต่ผมเข้าใจว่า การเดินแห่งสันติภาพ หรือแสวงหาสันติภายในใจจะไม่มีวันสิ้นสุด และความรู้สึกแบบนี้เป็นสิ่งสำคัญ
เรายังจะต้องเดินทางต่อไป เพื่อไปสู่สันติสุข เพื่อไปสู่ความหมายที่ดีงามร่วมกัน
เดินถึงก้าวสุดท้ายแล้ว เป็นอย่างไรบ้าง
ตื้นตันจนพูดไม่ออก (ยิ้ม) เวลา 53 วัน ที่ต่างคนต่างมา บางคนเป็นเจ้าของกิจการ เขาอยู่ที่บ้านมีแต่คนคอยเอาใจ สะดวกสบาย ตอนมาเดินอยู่ชีวิตเปลี่ยนไปเลย ความหมายที่เรามาเดินอยู่ทำให้ชีวิตพลิกเปลี่ยน มันเป็นผลของการเดิน สันติ หรือการแก้ปัญหาภาคใต้จะเป็นยังไงผมก็ไม่รู้ เพราะมันมีปัจจัยมากมายเหลือเกิน แต่ที่แน่ๆ คนกลุ่มหนึ่งที่มาเดินจะรู้สึกแบบนี้ และมีคนอีกกลุ่มที่รอคอยพวกเราอยู่ ก็มีความหมายมากเหมือนกัน
จะมีก้าวที่สาม ก้าวที่สี่สำหรับประมวล เพ็งจันทร์ต่อไปไหม
มันคงมี ถ้าชีวิตยังมีอยู่ก้าวต่อไป ตราบที่ชีวิตยังมีลมหายใจ และมีกำลังอยู่ แต่ที่ไหน หรืออย่างไร ก็ไม่ได้กำหนด เพราะทุกครั้งที่ผมก้าวเดิน ผมไม่เคยคิดถึงวันพรุ่งนี้ ผมดีใจที่ยังมีวันนี้ และผมตื่นขึ้นมาก้าวเท้าเดินได้ ผมไม่ได้คิดว่าพรุ่งนี้จะมีหรือไม่ แต่วันนี้มีแล้ว และผมจะเดินให้ดีที่สุด (ยิ้ม)
โดย : ชัยณรงค์ กิตินารถอินทราณี
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น