10:32

กระจกเงาประวัติศาสตร‏์


บรรดาละอ่อนในวงการสังคมศาสตร์ โดยเฉพาะสาขาประวัติศาสตร์และรัฐศาสตร์มีหนังสือวิชาการชั้นครูอย่างน้อย 2 เล่ม ที่ต้องเคยผ่านหูผ่านตากันมาบ้างในช่วงเวลาที่ยังหวานชื่นในมหาวิทยาลัย แม้กระทั่งระดับเซียนอย่างบรรดาคณาจารย์ยังต้องใช้บริการตำราขั้นพื้นฐานที่ว่านี้อยู่บ่อยครั้ง

หนึ่งนั้นคือ A History of SouthEast Asia ของท่าน D.G.E. Hall ปรมาจารย์ด้านประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้นามอุโฆษ เล่มนี้เวอร์ชันภาษาอังกฤษหนาเป็นพันหน้า เก็บรายละเอียดทุกแง่มุมตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ยุคอิทธิพลอินเดีย อิสลาม การติดต่อตะวันตก จนมาถึงต้นยุคใหม่ นับเป็นตำราที่ครอบคลุมที่สุดเล่มหนึ่ง

น่ายินดีที่หนังสือเล่มนี้ได้รับการถ่ายทอดเป็นภาษาไทยแล้ว โดยมีอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เป็นบรรณาธิการ ชื่อชั้นของอาจารย์ไม่เป็นที่สงสัยว่างานที่ออกมาจะครบถ้วนกระบวนความมากน้อยเพียงใด


ส่วนสุดยอดคัมภีร์อีกเล่มแปลเป็นภาษาไทยแล้วเช่นกัน และอันที่จริงถ่ายทอดออกมาตั้งแต่ปี 2515 คราวนี้ได้รับการตรวจทานและแก้ไขใหม่ โดยเฉพาะส่วนของการถอดเสียงภาษาจีนที่ได้อาจารย์วรศักดิ์ มหัทธโนบล กูรูจีนศึกษามาแก้การถอดชื่อเฉพาะให้ถูกต้องยิ่งขึ้น

เล่มที่ว่านั้นก็คือ “เอเชียตะวันออกยุคใหม่ : จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน” ตำราขนาดยักษ์ที่ปลุกปั้นขึ้นจากมันสมองของปรมาจารย์ด้านเอเชียตะวันออกศึกษาชั้นเซียน นำโดย John K. Fairbank ที่มีดีกรีถึงขั้นเคยผ่านร้อนผ่านหนาวในจีนช่วงยุคสงครามจีน ญี่ปุ่น และสงครามกลางเมืองระหว่างคอมมิวนิสต์และจีนคณะชาติมาแล้ว

เช่นเดียวกับคัมภีร์ของ Hall ตำราเล่มนี้มีความหนาเป็นพันหน้า เมื่อแปลเป็นภาษาไทยจึงต้องแบ่งเป็น 2 เล่ม ซึ่งน่าจะสะดวกดีสำหรับผู้อ่านที่มีกำลังแขนไม่มาก แต่ที่น่าติคือขนาดหนังสือยังหนาปึ๊กอยู่ดี อีกทั้งการทำให้หนังสือมีความทนทานยิ่งขึ้น (หรือเพิ่มมูลค่ามากขึ้น) ด้วยการพิมพ์ปกแข็ง จึงยากที่บรรดาละอ่อนที่เบี้ยน้อยหอยน้อยจะซื้อหามาเติมเต็มสติปัญญาได้

การมอบปัญญาราคาถูกถือเป็นกุศลอย่างแรง ทั้งยังช่วยให้หนังสือรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่ามากขึ้น ดีกว่ารูปลักษณ์ที่สวยงามและทนทาน แต่กลับถูกอัญเชิญเข้าตู้ กลายเป็นเฟอร์นิเจอร์ชนิดหนึ่ง

ความเข้มข้นของเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ไม่น่าเป็นห่วง ผู้เขียนในภาษาเดิมบรรยายความได้กระชับ และคณะแปลถอดความได้ไม่วกวน ปราศจากศัพท์แสงทางวิชาการเกินความจำเป็น ไม่เหมือนตำราวิชาการบางเล่มที่แปลเป็นไทยแล้วยังติดสำนวนอังกฤษ เล่นเอาคนอ่านมึนไปแปดตลบ อย่างนี้แปลเป็นไทยก็เปล่าประโยชน์

ความที่ผู้เขียนและคณะแปลทำหน้าที่ได้อย่างน่าสรรเสริญ ทำให้เนื้อหาของหนังสือไม่เป็นวิชาการจ๋าสามารถอ่านได้ทุกเพศทุกวัย และจะดีอย่างมากสำหรับผู้มีภูมิหลังด้านเอเชียตะวันออกมาแล้ว เพราะเล่มนี้มุ่งเฉพาะประวัติศาสตร์ยุคใหม่ เริ่มต้นที่การมาเยือนของโปรตุเกส ชาวยุโรปกลุ่มแรกที่เดินทางเข้าเอเชีย ปิดท้ายที่ความเคลื่อนไหวในทศวรรษที่ 60 ช่วงเวลาที่สงครามเย็นกำลังระอุ

น่าเสียดายที่ตำราเล่มนี้ดูจะอิงกับมุมมองตะวันตกเป็นศูนย์กลาง (Eurocentric) มากไปหน่อย โดยเฉพาะเล่มแรกที่อุทิศให้กับยุคแห่งการล่าอาณานิยม ผู้เขียนค่อนข้างให้น้ำหนักของชาวตะวันตกในฐานะผู้นำภูมิภาคเอเชียตะวันออกสู่ยุคใหม่ มากกว่าที่จะเจาะลึกถึงพลวัตภายในที่ทำให้ภูมิภาคนี้เคลื่อนไหวสู่หน้าประวัติศาสตร์ใหม่

แน่นอนว่า นี่เป็นผลพวงของกรอบวิธีคิดที่ชาวตะวันตกยังมองส่วนอื่นๆ ของโลกเป็นเพียงชายขอบของอารยธรรมตะวันตก หรือมองว่าความเป็นสมัยใหม่ (Modernity) ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในมุมใดของโลก ล้วนแต่เป็นปรากฏการณ์ที่อิงกับวัฒนธรรมตะวันตก แม้บรรดาผู้เขียนจะเคยคลุกคลีกับชาวตะวันออก และหนังสือเล่มนี้จะเผยแพร่ในราวทศวรรษที่ 60 อันเป็นช่วงปลดปล่อยทางความคิดอย่างกว้างขวางก็ตาม

แน่ละ เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า หากไม่มีอิทธิพลตะวันตก เอเชียตะวันออกคงไม่มีรูปลักษณ์อย่างที่เห็นในปัจจุบัน โดยเฉพาะญี่ปุ่นที่ซึมซับความเป็นตะวันตกได้อย่างรวดเร็ว และใช้เวลาไม่นานเกิน 4 ทศวรรษในการก้าวขึ้นมาเทียบชั้นมหาอำนาจตะวันตก หลังจากเปิดประเทศที่ปิดตายมาหลายศตวรรษ ขณะนี้ญี่ปุ่นแกร่งเพียงใดเราคงไม่ต้องสงสัย

เช่นเดียวกัน จีนจากที่เคยง่อยเปลี้ยเสียขาจนถูกปรามาสว่าเป็น “คนป่วยแห่งเอเชีย” วันนี้แม้แต่มหาอำนาจตะวันตก กระทั่งญี่ปุ่นที่เคยรุมสกรัมจีนต่างระแวงอิทธิพลพญามังกรไปตามๆ กัน ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นล้วนมีเอี่ยวกับปฏิสัมพันธ์ระหว่างตะวันออกและตะวันตก เพียงแต่เราจะมองในมุมที่ตะวันตกเป็นพลวัตหลัก หรือพลังภายในเป็นตัวชี้นำ ก็ตามแต่ศรัทธา

ตำราวิชาการเล่มนี้แม้จะมีกลิ่นอายของ Eurocentric แต่ไม่ได้หมายความว่าจะล้าสมัยในยุคที่อุดมการณ์ดังกล่าวกำลังตายซาก ตรงกันข้ามเราอาจเรียกได้ว่าเป็นหลักไมล์หนึ่งในการสำรวจประวัติศาสตร์โลกผ่านสายตาของคนอีกซีกโลกหนึ่ง

จะจริงหรือเท็จ เท็จหรือจริง จะเป็นความเห็นหรือข้อมูล ล้วนเป็นผู้อ่านที่ต้องกล้ากลั่นกรองกันเองด้วยใจเป็นกลาง เพราะตำราประวัติศาสตร์ไม่ใช่ของที่โยนไว้บนหิ้งเพื่อกราบไหว้ แต่เป็นอดีตที่จับต้องได้

นี่แหละข้อดีของตำราประวัติศาสตร์

เรื่อง : ฟองมัน โคมูตร 

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น