09:16

"พุทธทาส" กับทฤษฎีไร้ระเบียบ


"พุทธทาส" กับทฤษฎีไร้ระเบียบ
บทความพิเศษ โดย ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ โดย ประชาชาติธุรกิจ 


1.โลกไร้ระเบียบของวันนี้และวันพรุ่ง

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้สิ้นสุดลงใหม่ๆ ป้อมค่ายทางเศรษฐกิจและการเมืองได้มีการแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่ายอย่างชัดเจน ฟากหนึ่งเป็นโลกทุนนิยมที่สหรัฐอเมริกาเป็นพี่เอื้อย ส่วนอีกฟากหนึ่งเป็นโลกสังคมนิยมที่มีสหภาพโซเวียต เป็นแกนและสาธารณรัฐประชาชนจีน

ณ เวลานั้นสามารถจำแนกมิตรและศัตรูกันได้ชัดเจน ถึงแม้จะมีกลุ่มไม่ฝักฝ่ายค่ายใดอยู่ประมาณ 30 ประเทศที่ขออยู่ตรงกลางไม่เป็นพวกใครเต็มตัวเป็นเกาะเล็กๆ ท่ามกลางทะเลแห่งการต่อสู้อย่างดุเดือดทางอุดมการณ์สองลัทธิ

การขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจ การเมือง และการทหารของสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต จะไม่ลดละให้แก่ฝ่ายใดสักนิ้วเดียว สองอภิมหาอำนาจไม่ยอมให้มีการเพลี่ยงพล้ำดุลแห่งกำลังเป็นอันขาด เพราะการไม่คานกำลังกันโดยเฉพาะด้านกำลังอาวุธมันจะกลายเป็นการคุกคามความมั่นคงของแต่ละอภิมหาอำนาจ

พูดง่ายๆ เมื่อตาชั่งแห่งแสนยานุภาพทางทหาร เอียงไปข้างใดเกินไป โลกจะไม่มั่นคงทันที ในห้วงเวลาตั้งแต่พุทธศักราช 2488 ถึง 2533 แม้จะมีสงครามตัวแทนและสงครามเพื่อเอกราชประชา ธิปไตยในทวีปแอฟริกา เอเชีย และอเมริกาใต้เกิดขึ้นตลอดเวลา แต่โลกก็ยังมีเสถียรภาพอยู่ เพราะแต่ละอภิมหาอำนาจรู้ดีว่า "เส้นแบ่งเสถียรภาพ" นั้นอยู่ตรงจุดใด และไม่ควรล้ำเส้นนี้ออกไป

มันเป็นโลกที่ดูเหมือนอันตราย แต่แก่นแท้แล้วมีเสถียรภาพมั่นคง เพราะมันตรรกะที่ชัดเจน มองเห็น "เส้น" ชัดเจนแต่ละฝ่ายสามารถคำนวณและหยั่งเชิงกันได้ ไม่ให้ "ออกนอกกรอบ" แห่งดุลกำลัง ทั้งสองฝ่ายรู้ว่าตนเองต้องเล่นตามกฎและกติกา เพื่อจะได้ไม่ปล่อยให้เรื่องเล็กๆ ความไม่เข้าใจกันหรือความเข้าใจผิดเล็กน้อย (ดังกรณีคิวบาในปี 2505 เกิดขึ้นอีก) มาทำให้เรื่องบานปลายเป็นสงครามนิวเคลียร์ ซึ่งพินาศย่อยยับกันทั้งคู่ มันเป็นโลกที่มีความชัดเจน และ "เป็นระเบียบ"

การพังทลายลงของกำแพงเบอร์ลินเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2532 โลกที่แบ่งค่ายและโลกที่ต่อสู้ กันทางเศรษฐกิจและการเมือง มีแสนยานุภาพที่ทำลายกันให้อีกฝ่ายย่อยยับนั้นได้สิ้นสุดลง มันกลายเป็นโลกใบเดียวทั้งทางกายภาพ ทางเศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งถูกเสริมการพึ่งพากันและกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ด้วยสายใยเครือข่ายของการติดต่อสื่อสาร และสารสนเทศ โลกไร้พรมแดนที่มีเสถียรภาพและศานติ ดังเพลง Imagine ของจอห์น เลนนอน ส่อแววว่าจะเป็นความจริง

ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์การเมืองในเมื่อสหภาพโซเวียตและบริวารสังคมนิยม อันเป็นศัตรูสำคัญของระบบทุนนิยมเสรีได้ล้มครืนลงไปแล้ว จะมีใครหน้าไหนมาบังอาจตั้งตัว เป็นคู่ต่อสู้ของอภิมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาได้ มันมองไม่เห็นอันตรายที่จะคุกคามความสงบและเสถียรภาพของโลกได้เลย

จึงไม่เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจอันใดเลยเมื่อสหรัฐอเมริกาปราบกองทัพของซัดดัม ฮุสเซน ในสงครามที่ชื่อว่า "พายุทะเลทราย" ได้สำเร็จด้วยความเหนือกว่าหลายขุมของอาวุธเทคโนโลยี เมื่อเสียเวลาเพียงประมาณ 3 สัปดาห์ และทหารอเมริกันเสียชีวิตเพียงไม่กี่สิบคน ย่อมทำให้ประธานาธิบดีบุช (ผู้พ่อ) ประกาศอย่างมั่นใจเต็มเปี่ยมเกินร้อยว่า "เรากำลังจัดระเบียบโลกใหม่" โดยผู้นำอเมริกันคิดว่าเขาสามารถควบคุมโลกให้เดินไปตามเส้นทางที่วอชิงตันกำหนดไว้ได้ โดยไม่มีการหักเหออกจากทิศทางที่วอชิงตันกำหนดไว้

แต่โลกที่เป็นจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ สหรัฐอเมริกาแม้จะมีอำนาจทางการเมือง ทางการทหารและทางวัฒนธรรมก็ไม่สามารถสนตะพายโลกแล้วจูงไปตามเส้นทางที่ตนเองปรารถนาได้

มันมีปัจจัยตัวแปรต่างๆ ที่สำคัญ เช่น digitalization, individualization ของโลก ซึ่งได้มีปฏิสัมพันธ์เชื่อมโยงกันไปมา ของเหตุการณ์ด้านต่างๆ ที่ก่อกำเนิดสถานการณ์ที่คาดไม่ถึง จนทำให้นักวิชาการในสาขาต่างๆ หันมาศึกษาค้นคว้าโลกที่สลับซับซ้อนยุ่งเหยิงไร้ระเบียบ เพื่อรับมือในการอยู่กับโลกที่วุ่นวายนี้ให้ได้

ในการประชุมวิชาการประจำปีของสมาคมไซเบอร์เนติกทางเศรษฐศาสตร์และสังคม เมื่อวันที่

4-5 ตุลาคม 2534 ที่เมืองอาเชน (Aachen) ประเทศเยอรมนี ศาสตราจารย์ไฮโย ริกมันน์ (Heijo Rieckmann) แห่งสถาบันเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยคลาเก้นเฟิร์ต (Klagenfurt) ประเทศออสเตรีย ได้พูดประโยคสำคัญในการสัมมนาทางวิชาการดังนี้ "เราได้ก่อสร้างโลกที่ซับซ้อน อ่อนไหวและตื่นตระหนกง่ายขึ้นมาแล้ว"

ศาสตราจารย์ไฮโยมองเห็นว่า "เรายิ่งมีอำนาจทางเทคโนโลยีมากขึ้นเท่าใด อำนาจในการควบคุมยิ่งลดลงไปเท่านั้น และความเสี่ยงยิ่งสูงเพิ่มเป็นเงาตามตัวด้วย" ความอหังการของมนุษย์ ซึ่งมีกระบวนทัศน์เก่าครอบงำอยู่กว่า 200 ปีที่มองเห็นโลกเป็นเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่เราสามารถควบคุมระบบการทำงานของมัน ให้เดินไปตามตรรกะของเหตุและผลที่เป็นเชิงเส้นกำลังคลอนแคลนอย่างถึงรากถึงโคน



Charles Handy talking to the group
Photograph by Elizabeth Handy

ชาร์ลส์ แฮนดี้ (Charles Handy) ชาวอังกฤษผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็น "ปราชญ์แห่งการบริหารจัดการ" ได้เขียนถึงโลกที่ขัดแย้ง และสวนทางกัน หรือโลกปฏิทรรศน์ (world of paradox) ไว้ในหนังสือ "คิดใหม่เพื่ออนาคต" (Rethink the Future) ซึ่งตีพิมพ์ในปี 2540 เขาให้ทรรศนะว่าเราจำเป็นต้องมี "สัมผัสใหม่" เพื่อเอาตัวให้รอดในโลกที่เป็นอนิจจัง 

ในบทความ "ค้นหาญาณในความไม่แน่นอน" (Finding Sense in Uncertainty) ชาร์ลสŒ แฮนดี้ ย้ำว่า "เรามีชีวิตอยู่ในห้วงเวลาที่สับสนยิ่ง เพราะเงื่อนไขปัจจัยต่างๆ ที่ก่อกำเนิดโครงสร้างแห่งชีวิตของเรานั้นได้ปลาสนาการไปแล้ว อนาคตข้างหน้าไม่มีใครมากำหนดมันเป็นไปได้ตายตัว แม้กระทั่งวิทยาศาสตร์ยังพูดถึงผลกระทบผีเสื้อ ซึ่งเรื่องเล็กๆ สามารถสร้างผลสะเทือนใหญ่บานปลายอย่างไม่มีใครคาดถึงได้ ดูไปแล้วมันเป็นเรื่องน่าห่วง เพราะเรากำลังอยู่ในช่วงของความยากลำบาก โลกไม่มีเส้นทางที่โรยด้วยกลีบกุหลาบอีกต่อไป 

แต่ถ้ามองจากอีกมุมหนึ่งของโลกปฏิทรรศน์ในความไม่แน่นอนมันก็เป็นโอกาสของการเกิดสิ่งใหม่ ที่เราสามารถทำให้มันแตกต่างออกไปจากเดิมได้ หนทางสำคัญในการ 

สร้างอนาคตให้แก่ตัวเราเอง ให้แก่องค์กรและสังคมนั้น มันไม่ได้อยู่กับใครที่ไหน มันอยู่ที่ตัวของเราเอง" 

เราคงไม่ต้องอ้างนักวิชาการ หรือนักวิทยาศาสตร์คนใดมาเป็นหลักฐานยืนยันว่าโลกมันวุ่นวาย ไร้ระเบียบ ปั่นป่วน และเปลี่ยนแปลงฉับพลันอย่างคาดไม่ถึง เพราะเหตุการณ์ เช่น การถล่มตึกเวิรลด์เทรดฯ ในกรุงนิวยอร์กของคนในเครือข่ายของบินลาเดน เมื่อเดือนกันยายน 2544 การแพร่ระบาดของโรคซาร์ส และโรคระบาดไข้หวัดนกในทวีปเอเชีย ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและชีวิตของผู้คนในที่ต่างๆ รวมไปถึงการระบาดของระเบิดพลีชีพและกิจการร้ายในทุกทวีป 

สิ่งเหล่านี้คนไทยเคยได้ดูได้ฟังจากโทรทัศน์ วิทยุ และอ่านในหนังสือพิมพ์ แต่บัดนี้มันได้เข้ามาสู่ชีวิตประจำวันของเราแล้ว จากเหตุร้ายรายวันใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มาสู่การวางระเบิดที่สนามบินหาดใหญ่และโรงแรมในจังหวัดสงขลา มันล้วนเป็นประจักษ์พยานของอันตรายอันมาจากความรุนแรงต่อชีวิตผู้บริสุทธิ์ ซึ่งเราคิดว่ามัน จะเกิดกับประเทศอื่น ความรุนแรงดังกล่าวเรา ไม่เคยอยู่ในจิตนาการมาก่อนว่าจะเกิดขึ้นใน 

ประเทศไทย 

ในโลกใบเดียวที่เชื่อมโยงกันราวเป็นหมู่บ้านเดียวกัน ผลกระทบมันวิ่งถึงกันเร็วจี๋ ดูกรณีคลื่นยักษ์สึนามิที่ก่อตัวที่อินโดนีเซีย กวาดล้างชีวิตผู้คนนับแสน ยังกระทบมาถึงความตายของคนหลายพันคนในฝั่งทะเลอันดามันของไทยได้ 

ประโยคที่ว่า "มันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย มันมีแต่ในประเทศอื่น... มันคงจะไม่เกิดขึ้นกับเรา" จะนำมาใช้ไม่ได้อีกต่อไป 




2.ว่าด้วยหลักคิดของทฤษฎีไร้ระเบียบในมุมของวิทยาศาสตร์ 

ความไร้ระเบียบในความหมายทางวิทยาศาสตร์ คือ สภาพและกระบวนการของระบบที่ไร้เสถียรภาพ (unstable) อันมีความอ่อนไหวสูงยิ่งและเปราะบาง เมื่อมีการกระทบเพียงเล็กน้อยในสาเหตุเบื้องต้น (initial condition) แต่เมื่อเกิดบ่อยๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เหตุเล็กๆ เพียงเบื้องต้นทำให้เกิดพัฒนาของระบบที่ดำเนินไปอย่างไม่เป็นเส้นตรง เป็นเส้นทางคดเคี้ยว กวัดแกว่ง บางครั้งถึงก้าวกระโดดฉับพลัน ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจึงทำนายให้ถูกต้องแม่นยำได้ยาก 

ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งตรงกันข้ามกับแนวคิดหลักที่เชื่อถือกันมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 ว่า สรรพสิ่งทั้งหลายอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่สามารถคำนวณได้อย่างถูกต้องไม่ผิดพลาด ขอให้รู้สมมติฐานอันเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นให้ชัดเจน จริงๆ จะสามารถทำนายผลลัพธ์ออกมาได้อย่างแม่นยำ 

Edward Lorenz

ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมนั้นเราสามารถศึกษาได้จาก Edward Lorenz แห่งสถาบัน MIT เมื่อกลางทศวรรษที่ 60 อาจารย์ด้านอุตุนิยมวิทยา (meteoro logy) ผู้นี้พยายามสร้างโมเดลการคำนวณในการพยากรณ์อากาศโดยใช้สมการง่ายๆ แสดงการ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างอุณหภูมิกับกระแสลม เขาป้อนข้อมูลที่จุดทศนิยม 6 หลัก คือ 0.506127 เข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ซึ่งพิมพ์ผลออกมาทุกๆ นาทีด้วยความ เบื่อที่นั่งคอยผลลัพธ์นานๆ เพราะคอมพิวเตอร์ยุคนั้นทำงานช้า Lorenz จึงตัดตัวเลขหลังจุดทศนิยมออกไปเสีย 3 หลัก ให้เหลือ 0.506 เขาเอาผลลัพธ์จากระยะหนึ่ง มาเป็นจุดเริ่มต้นของการคำนวณ แล้วสตาร์ตโปรแกรมใหม่ ผลของการคำนวณระยะแรกเหมือนกับการทดลองเก่าๆ ที่เคยทำมาครั้งแล้วครั้งเล่า หลังจากลุกไปชงกาแฟแล้ว กลับมาดูตัวเลขใหม่ ปรากฏว่าผลลัพธ์ต่างกันโดยสิ้นเชิง โมเดลของดินฟ้าอากาศไปกันคนละทิศทาง 

Lorenz คิดว่าเครื่องคอมพิวเตอร์คงจะมีอะไรผิดพลาด จึงทดลองซ้ำอีก ผลคำนวณยังคงยืนยันว่าความแตกต่างดังครั้งแรก เขาทดลองอีกสองสามครั้ง ซึ่งก็ย้ำความถูกต้องของคอมพิวเตอร์ 

จนในที่สุด เขาก็ได้รู้ว่าความแตกต่างของโมเดลนั้นมาจากการลดตัวเลข 3 หลักหลังจุดทศนิยมซึ่งเป็น "เงื่อนไขเบื้องต้น" (initial condition) ในการคำนวณ เพราะความต่างของตัวเลขหลังจุดทศนิยมเพียงน้อยนิด ในเหตุเบื้องต้นคือ 1 : 1,000 เกิดเป็นผลลัพธ์ที่ต่างออกไป จากจุดเริ่มต้นจำนวนมหา ศาลอย่างไม่น่าเชื่อ 

ผลกระทบผีเสื้อ (butterfly effect)

เปรียบเสมือนการไหวตัวของกระแสลมเบาๆ ที่มาจากการกระพือปีกของผีเสื้อแต่กลับกลายไปสร้างผลกระทบใหญ่หลวง ทางดินฟ้าอากาศได้ Lorenz จึงขนานนามว่าเป็น "ผลกระทบผีเสื้อ" (butterfly effect) ซึ่งกลายเป็นถ้อยคำที่โด่งดังไปทั่วโลก 

ศาสตราจารย์ Lorenz กล่าวว่า "ในทางทฤษฎีด้านอุตุนิยมวิทยา ผีเสื้อใหญ่ตัวหนึ่งกระพือปีกที่ฮ่องกง สามารถทำให้ดินฟ้าอากาศที่แคลิฟอร์เนียเปลี่ยนแปลงเป็นพายุได้เมื่อหนึ่งเดือนให้หลัง" 

ทฤษฎีไร้ระเบียบนอกจากพูดถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงของสาเหตุเบื้องต้นแล้วยังพูดถึงเรขาคณิตเศษส่วน (fractal geometry) หรือ ไวยากรณ์แห่งทฤษฎีไร้ระเบียบ 

Attractors

มีคนแปลคำว่า geometry ในเชิงภาษาว่า "การวัดแผ่นดิน" และคำว่า fractal มาจากภาษาละติน fractus หรือ fractrum ซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า fragmented (or irregular) เมื่อแปลเป็นไทย คือ แตกเป็นชิ้น เป็นเศษ 

ขณะที่เรขาคณิตคลาสสิกของยูคลิดที่เราเรียนกันเมื่อเป็นเด็ก เป็นเรขาคณิตที่สนใจต่อแบบฟอร์มและรูปร่างในอุดมคติ คือ มีรูปร่างเป็นเส้นตรง วงกลม สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม หรือวงรี รูปร่างและทรงต่างๆ ในเรขาคณิตยูคลิดจึงสะอาด ราบเรียบ สม่ำเสมอ และชัดเจน 

แต่เรขาคณิตเศษส่วน หรือ fractal geometry สนใจค้นคว้ารูปทรงที่เป็นจริงของธรรมชาติซึ่งขรุขระ ไม่เรียบร้อย เช่น ใบไม้ ก้อนเมฆ สายฟ้าแลบ ชายฝั่งทะเล ภูเขาและโตรกผา ปอดของมนุษย์ เป็นต้น มิติของเรขาคณิตเศษส่วนจึงมีลักษณะคล้ายทศนิยมไม่รู้จบ เช่น มิติเศษส่วนของสมองเรา คือ 2, 79 และของก้อนเมฆ คือ 2, 35 มิติเศษส่วนหรือ fractal ในที่นี้จะเป็นสองมิติของพื้นที่ หรือเป็นสามมิติของพื้นที่ หรือเป็นสามมิติแบบทรงลูกเต๋า หรือลูกกลมก็ได้ 

คุณสมบัติสำคัญของ fractal หรือเศษส่วนไม่รู้จบ คือ "ความคล้ายตนเอง" (self-similarity) นั่นคือ โครงสร้างของเศษส่วนที่ขยายตัวออกไปอย่างไม่สิ้นสุด ไม่ว่าในมิติทางกาล (time) หรือมิติทางเทศะ (space) ล้วนแล้วแต่มีรูปร่างคล้าย คลึงซ้ำกับแบบแผน (pattern) อันแรก อันเป็นแม่แบบของมัน (ดูภาพประกอบ) 


B.Mandelbrot, introduction to The Fractal Geometry of Nature


Benoit Mandelbrot ผู้ค้นคว้าทฤษฎีไร้ระเบียบทางคณิตศาสตร์ สรุปความเชื่อมโยงแนบแน่นระหว่างคณิตศาสตร์เศษส่วนกับทฤษฎีไร้ระเบียบไว้ดังนี้ 

ความสัมพันธ์ระหว่างรูปร่างที่เป็นเศษส่วน (fractal) กับระบบที่ไร้ระเบียบ (chaotic system) เกิดจากคุณสมบัติข้อที่บอกว่า การเปลี่ยนแปลงที่ขึ้นต่อ (depend) ความอ่อนไหวอย่างยิ่งยวดของเงื่อนไขเบื้องต้น ประกอบกับการพัฒนาลักษณะพลวัตอันซับซ้อนและยอกย้อนกลับไปกลับมา ทำให้เศษส่วนแต่ละอัน จึงไม่เหมือนกันร้อยเปอร์เซ็นต์ รูปลักษณ์แต่ละภาพจะมีความคลาดเคลื่อนไปบ้าง เช่น ปุยเมฆแต่ละก้อน ต้นไม้แต่ละต้น ใบไม้แต่ละใบ หัวใจแต่ละดวง และสมองแต่ละก้อน ย่อมต่างกันไปบ้าง 

อย่างไรก็ตาม เมื่อเรามองเห็นก็รู้ได้ทันทีว่านี่คือต้นมะม่วง นี่คือต้นมังคุด นี่คือใบโพธิ์ เป็นต้น และนี่เป็นสิ่งที่ทฤษฎีไร้ระเบียบ พยายามตอบคำถามว่า ทำไมเกล็ดหิมะแต่ละเกล็ดที่โปรยปรายลงมา จึงมีความแตกต่างกันไปเล็กน้อย ก็เนื่องจากว่าผลรวมของตัวแปรที่มีอิทธิพลต่อการเกิดเกล็ดแต่ละเกล็ดต่างกัน 


Benoit Mandelbrot


การค้นคว้าในมิติเศษส่วน (fractal) จึงมิใช่การนิยามสัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ที่ประดิษฐ์ขึ้นมาเอง แต่เป็นการนำเสนอให้เห็นคุณสมบัติอันแท้จริงของสภาพแวดล้อมในระดับต่างๆ ตั้งแต่ขนาดจิ๋ว (micro) จนถึงขนาดยักษ์ (macro) ซึ่งปรากฏอยู่ในโลก 

การพัฒนาที่ดำเนินไปในลักษณะเศษส่วนและไร้ระเบียบนั้น น่าสนใจ มิใช่เพียงว่าได้แสดงให้เห็นโครงสร้างที่ไม่สม่ำเสมอ ในระบบพลวัตที่ไม่เป็นเส้นตรงเท่านั้น ความสำคัญอีกข้อหนึ่งซึ่งจะมีประโยชน์ในการสังเกตดูแบบแผนของสรรพสิ่งในโลก (รวมถึงสังคม) คือโครงสร้างไร้ระเบียบ (chaotic structure) เป็นโครงสร้างพื้นฐานของกระบวนการสร้างสรรค์ในธรรมชาติ ธรรมชาติมีพลังสร้างสรรค์ในการจัดตั้งรูปแบบอย่างมหัศจรรย์ เมื่อได้สร้างแม่แบบเบื้องต้น ขึ้นแล้วรูปแบบอื่นก็จะลอกเลียนตามมา นักวิจัยไร้ระเบียบเรียกเศษส่วนคล้ายธรรมชาตินี้ว่า "ภาษาของธรรมชาติ" พวกเขาเชื่อว่าวิธีการและรูปแบบที่เรขาคณิตเศษส่วนและทฤษฎีไร้ระเบียบได้ถ่ายทอดความเป็นจริงของโลกออกมานั้น พอจะกล่าวได้ว่าทฤษฎีไร้ระเบียบเป็นเสาหลักของโลกทัศน์ใหม่ได้ และความสำคัญของเศษส่วน (fractal) ในการวิจัยคือ การช่วยทำให้เข้าใจ "จุดดึงดูดไร้ระเบียบ" (chaotic attractors) ได้ดีขึ้น เพราะมันมีโครงสร้างเศษส่วน (fractal structure) อยู่ในนั้น 



สรุปอีกครั้งหนึ่งว่า เมื่อระบบพลวัตเคลื่อนตัวเข้าสู่สภาพไร้ระเบียบ รูปแบบและโครง สร้างของความไร้ระเบียบสามารถใช้เรขา คณิตเศษส่วนอธิบายให้เข้าใจ และในทางกลับกัน ทฤษฎีไร้ระเบียบช่วยในการคิดค้นว่า โมเดลอะไร กลไกอะไร ที่มีส่วนทำให้เกิดโครงสร้างเศษส่วนขึ้นมา การค้นพบดังกล่าวทำให้เกิดประโยคที่ว่า การวิจัยความไร้ระเบียบคือรากฐานของศาสตร์แขนงใหม่ เป็น "ศาสตร์อนิจจัง" (science of becoming) 


3.โลกไร้ระเบียบในทรรศนะของท่านพุทธทาส 

ในหนังสือชื่อ "บันทึกนึกได้เอง" ที่ นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช ได้จัดพิมพ์ขึ้นด้วยการถ่ายสำเนาลายมือท่านพุทธทาส ที่บันทึกไว้ในหนังสือไดอะรี่ เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2495 ท่านได้เขียนว่า 

"ครั้นบัดนี้โลกโคลง เร่าร้อนอย่างยิ่ง จนเราต้องเตรียมใจกันใหม่เพื่อรับหน้า" 

ต่อมาวันที่ 16 เมษายน ท่านได้ตั้งคำถามว่า "โลกต้องการอะไรบ้าง เพื่อลดความเร่าร้อนรุนแรงให้เย็นลง" ซึ่งท่านได้วงเล็บภาษาอังกฤษกำกับไว้ด้วย to cool the present turmoil 

ในปีเดียวกันอีกนั่นเอง ท่านบันทึกไว้ในสมุดที่เป็นหน้าของวันศุกร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ.2495 ท่านเขียนตัวโตไว้กลางกระดาษ เพื่อย้ำความสำคัญเป็นอักษรพาดหัวใหญ่ว่า "โลกหมุนเร็วขึ้นทุกที ?" แล้วเสริมรายละเอียดข้อสังเกตด้วยลายมือของท่านเองดังนี้ 

"นักวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะทาง physics ย่อมไม่เชื่อและเห็นด้วย แต่สำหรับนักธุรกิจ นักรัฐศาสตร์ หรือนักการเมือง และอื่นๆ อีกเป็นอันมากย่อมมองเห็นชัด และเชื่อว่าโลกหมุน "จี๋" ยิ่งขึ้นทุกที และจะหมุนเร็วขึ้นอีกจนละลายไป เพราะการหมุนเร็วเกินขอบขีดนั้นก็ได้" 

นี่เป็นข้อห่วงใยที่ท่านพุทธทาสมีต่อโลกและมนุษยชาติ สิ่งที่ท่านได้เขียนเอาไว้และกล่าวไว้ในหลายๆ ที่ในเวลาต่อมา ไม่ได้ต่างไปจากช่วงเวลานั้นเลย 

นักรัฐศาสตร์ นักธุรกิจและนักสังคมศาสตร์ ได้พูดถึงโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็วจี๋ โลกที่พึ่งพิงอิงกันและกัน เขย่ากันไปมาจนโคลงเคลงเสียศูนย์ เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมานี้เอง 

แต่ท่านพุทธทาส ท่านได้ "เห็น" โลกหมุนจี๋ เมื่อ 50 กว่าปีมาแล้ว อัจฉริยะอันน่าอัศจรรย์ในการมองเห็นภาพใหญ่ของโลก ได้อย่างถูกต้องของท่าน มีต้นตอหรือแหล่งที่มาจากแหล่งใด ?

ท่านพุทธทาสมีสายตาที่แหลมคมมองเห็นจุดเล็กนิดเดียวกับฝุ่นบางๆ ที่เกิดขึ้น ณ เบื้องขอบฟ้าอันไกลโพ้น แล้วท่านหยั่งรู้ได้ว่ามันนำไปสู่อะไร แค่เห็นเงื่อนไขเบื้องต้นเพียงนิดเดียวก็ประเมินผลลัพธ์ที่ใหญ่หลวงได้ 

นี่คือความหยั่งรู้ หรือญาณ หรือ sense ที่ชาร์ล แฮนดี้ พูดถึงใช่หรือไม่ ว่าเราต้องพัฒนาทักษะตัวนี้ขึ้นมาให้ได้ เพื่อรับมือกับโลกปฏิทรรศน์ 

เรื่องที่ท่านพุทธทาสเขียนไว้เมื่อปี พ.ศ.2495 สังคมไทยย่อมตามไม่ทัน มองไม่เห็น และเข้าใจได้ยากเพราะล้ำสมัยมากๆ 

ขณะนั้นเรายังไม่มีโทรทัศน์ดูกัน โทรศัพท์ยังมีกันไม่มาก เครื่องบินไอพ่นที่นำนักท่องเที่ยวจำนวนมากมาประเทศไทยก็ยังไม่มี การทำมาค้าขายกับธุรกิจต่างประเทศก็ยังมีไม่กี่รายการ ไม่มี CNN ไม่มีอินเทอร์เน็ต ไม่มีมือถือและ MTV เรายังปฏิสัมพันธ์กับโลกอย่างช้าๆ และเบาบาง ไม่เข้มข้น และถี่ยิบเป็นวินาทีดังตลาดหุ้นวันนี้ ในบริบทดังกล่าวเป็นเรื่องยาก ที่คนธรรมดาจะมีจิตนาการได้ลึก 

เมื่อพิจารณาตามสภาพของโลกเครือข่ายในวันนี้ เรื่องที่ท่านพุทธทาสสอนเอาไว้จึงมีความหมายอย่างยิ่งยวด สำหรับคนไทยในปัจจุบัน และอนาคตไปอีกหลายสิบปี 

เราจำเป็นจะต้องศึกษาค้นคว้าสิ่งที่ท่านได้บรรยายเอาไว้ในที่ต่างๆ และเวลาต่างๆ อย่างเอาจริงเอาจัง เพื่อสามารถนำไปปฏิบัติได้ด้วย 

มันเป็นเรื่องธรรมดาที่คนทั่วไปจะเข้าใจ "ความรู้" บางเรื่องที่ล้ำลึกและมาก่อนกาล ต้องใช้เวลานานกว่า ดูกรณีทฤษฎีสัมพันธภาพ (relativity theory) ของไอน์สไตน์ ซึ่งถูกเสนอเมื่อปี 2448 กว่านักฟิสิกส์จำนวนมากจะเข้าใจ และพิสูจน์ได้ว่าจริงก็ผ่านไปหลายสิบปี 

"บันทึกนึกได้เอง" ของท่านพุทธทาส เมื่อปีพุทธศักราช 2495 ที่เตือนเรื่องโลกโยกโคลง และหมุนเร็วจี๋เกินขอบเขต กว่าที่คนทั่วไปจะตระหนักและเตรียมรับมือกับมันย่อมต้องใช้เวลาเช่นกัน 


4.พุทธทาสกับทฤษฎีไร้ระเบียบ 

จากการได้ติดตามอ่านสิ่งที่ท่านพุทธทาสได้กล่าวเตือนเรื่องโลกที่กำลังอันตรายจากการโยกโคลงและหมุนเร็วจี๋เกินขอบเขต ทำให้ผมอดถามตนเองไม่ได้ว่าท่านพุทธทาสสามารถมองเหตุการณ์ล่วงหน้าได้เร็วกว่านักวิชาการตะวันตกถึง 30-40 ปีได้อย่างไร ? ท่านใช้หลักอะไร และวิธีการอะไร ในการมองทะลุ (insight) ทั้งๆ ที่สมัยนั้นยังไม่มีอินเทอร์เน็ต และโทรศัพท์มือถือ คำว่าโลกาภิวัตน์ยังไม่ได้บัญญัติ แต่ท่านบอกว่าโลกกำลังอยู่ใน turmoil ท่านก็รู้ล่วงหน้าแล้วว่าอันตรายใหญ่หลวงน่ากลัวต่อมนุษยชาติได้เกิดขึ้นแล้ว ท่านเตือนเรื่องการอยู่อย่างเท่าทันโลก ไม่ให้ถูก "เขี้ยวของโลก" ขบกัดได้ เสมือนลิ้นงูที่อยู่ในปากงูแต่ไม่ถูกเขี้ยวงูขบกัด 

ถ้าจะเปรียบกับทฤษฎีไร้ระเบียบ ท่านพุทธทาสมีความเข้าใจลึกซึ้งต่อระบบที่ห่างไกลจากจุดสมดุล (system far from equilibrium) ท่านรู้กฎของวิทยาศาสตร์แห่งความอนิจจัง (science of becoming) เป็นอย่างดี ดังนั้นเมื่อท่านจับการเปลี่ยนแปลงของเงื่อนไขเบื้องต้น (initial condition) และเห็นการเชื่อมโยงป้อนกลับของปัจจัยต่างๆ ที่กระทำต่อกันและกัน ท่านจึงรู้เรื่อง "ผลกระทบผีเสื้อ" (butterfly effect) ที่เหตุเล็กๆ สามารถสร้างผลสะเทือนใหญ่ได้ 

พูดง่ายๆ ท่านเข้าใจแก่นแท้ของศาสตร์แห่งความไร้ระเบียบอย่างดียิ่ง โดยที่ไม่จำเป็นจะต้องพูดตัวทฤษฎี 

ปริศนาที่ผมถามตัวผมเอง และพยายามค้นหาคำตอบด้วยตนเอง ผมพอสรุปเป็นข้อมูลสมมติฐานว่าอัจฉริยภาพของท่านพุทธทาสในการเข้าใจแก่นของทฤษฎีไร้ระเบียบ น่าจะมาจากการที่หลักการการคิดและวิธีการแสวงหาปัญญา ดังนี้ 

ข้อที่หนึ่ง ว่าด้วยหลักอิทัปปจยตา อันเป็นกฎที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เป็นเรื่องการพึ่งพิงอิงกันของปัจจัยต่างๆ ที่เชื่อมโยงกระทบถึงกันและกันหมด และเมื่อเหตุปัจจัยดังกล่าวได้มาพบพานพร้อมกัน "สิ่ง" นั้นจึงอุบัติขึ้นมา 

"สภาวะต่างเป็นที่เกี่ยวพันกันอยู่อย่างไม่รู้จักจบสิ้น" นั่นก็คือ การพิจารณาการปรากฏขึ้นของปรากฏการณ์ต่างๆ ที่ต้องอิงอาศัยกันและกัน การพิจารณาเช่นนี้จะช่วยปลดปล่อยเราให้เป็นอิสระจากบัญญัติแห่ง "เอกภาพ-ความหลากหลาย" หรือบัญญัติแห่ง "หนึ่ง-ทั้งหมด" การพิจารณานี้จะช่วยแยกสลายบัญญัติแห่ง "ตัวฉัน" เพราะว่าบัญญัติแห่งตัวตนนั้น สร้างอยู่บนพื้นฐานของความแตกต่างระหว่างเอกภาพกับความหลากหลาย เมื่อเราคิดถึงฝุ่นผงหนึ่งอณู ดอกไม้ดอกหนึ่งหรือมนุษย์ผู้หนึ่ง ความคิดของเรามิอาจหลุดพ้นออกมาจากความเป็นหนึ่งหรือเอกภาพนั้นได้ เรามองเห็นเส้นที่คั่นอยู่ระหว่างหนึ่งกับสิ่งอื่นๆ ที่มีอยู่มากหลายระหว่างหนึ่งกับสิ่งที่มิได้เป็นหนึ่งนั้น ในชีวิตประจำวัน เราต้องการสิ่งเดียวกันนี้ เช่นเดียวกับที่รถไฟอาศัยราง แต่ถ้าเราประจักษ์แจ้งในธรรมชาติที่ต้องอิงอาศัยกันและกันของฝุ่น ดอกไม้ และมนุษย์ เราจะสามารถมองเห็นได้ว่าเอกภาพนั้นมิอาจดำรงอยู่ได้โดยปราศจากความหลากหลาย ทั้งเอกภาพและความหลากหลายสามารถเหลื่อมล้ำกันได้อย่างเป็นอิสระ เอกภาพก็คือความหลากหลาย นี่คือหลักการของการต่างเป็นและต่างอยู่ในกันและกันของอวตังสกสูตร 

ต่างเป็นนั้นหมายถึง "นี่ก็คือนั่น" และ "นั่นก็คือนี่" เมื่อเราพิจารณาลึกๆ ลงไปในความต่างเป็นและต่างอยู่ในกันและกัน เราจะเห็นว่าความคิดเรื่องหนึ่งกับมากมายนั้นคือสังขารที่จิตใจปรุงแต่งขึ้นมา ดุจเดียวกับถังที่ใช้โอบอุ้มน้ำ ครั้นเมื่อเราหลุดพ้นออกจากข้อจำกัดอันนี้ เราก็จะเหมือนกับรถไฟที่วิ่งไปได้โดยไม่ต้องอาศัยราง เช่นเดียวกับเมื่อเราประจักษ์ว่าเราอยู่บนโลกกลมๆ ที่หมุนรอบตัวเองและหมุนรอบดวงอาทิตย์ บัญญัติเรื่องข้างบนข้างล่างก็จะสลายตัวไปเอง เมื่อเราประจักษ์แจ้งในการอิงอาศัยกันและกันของสิ่งทั้งหลายทั้งปวง เราก็จะเป็นอิสระจากความคิดเรื่อง "หนึ่ง-มากหลาย" 

ในอวตังสกสูตรได้มีการใช้ภาพของร่างแหแห่งรัตนะ เพื่อแสดงถึงปฏิสัมพันธ์ และความเกี่ยวพันอันหลากหลาย และไม่มีที่สิ้นสุดของสรรพสิ่ง ร่างแหนั้นประกอบด้วยรัตนะอันทอประกายสดใส ซึ่งมีหลากหลายชนิด และแต่ละรัตนะนั้นก็เจียระไนให้มีหลายแง่หลายมุม รัตนะหนึ่งๆ ได้ประมวลภาพของบรรดารัตนะทั้งหลายเอาไว้ในตัว เช่นเดียวกับที่มีภาพตัวอยู่ในรัตนะอื่นๆ ทั้งมวล ในภาพนี้เองที่แต่ละรัตนะย่อมบรรจุไว้ด้วยรัตนะอื่นๆ ทั้งหมด 

เราสามารถให้ตัวอย่างจากรูปทรงทางเรขาคณิตไว้ด้วย ยกตัวอย่างรอบวงกลมที่มี ก. เป็นจุดศูนย์กลางวงกลม ก็จะประกอบด้วยจุดต่างๆ รอบๆ ก. ที่มีความห่างจาก ก. เท่าๆ กัน วงกลมเกิดขึ้นได้ก็เพราะมีจุดต่างๆ ทุกจุดอยู่ที่นั่น ถ้าขาดจุดใดจุดหนึ่งวงกลมก็จะไม่เป็นวงกลมเช่นเดียวกับบ้านที่สร้างขึ้นมาจากสำรับไพ่ หากชักไพ่ใบใดใบหนึ่งออกบ้านทั้งหมดก็จะพังลง ไพ่แต่ละใบต้องขึ้นต่อกันและกัน ถ้าขาดหายไปเพียงหนึ่งใบ บ้านก็จะไม่มี การปรากฏของจุดจุดหนึ่งในวงกลมขึ้นอยู่กับการปรากฏของจุดอื่นๆ ณ จุดนี้เราจะเห็นได้ว่า "หนึ่งคือทั้งหมด ทั้งหมดคือหนึ่ง" จุดทุกจุดในวงกลมมีความสำคัญทัดเทียมกัน ไพ่แต่ละใบในบ้านที่สร้างด้วยไพ่ ย่อมมีความสำคัญเท่าๆ กัน แต่ละใบย่อมมีความสำคัญต่อการดำรงอยู่ของทั้งหมด และย่อมหมายถึงความสำคัญต่อการดำรงอยู่ของส่วนอื่นๆ ด้วย นี่ก็คือการอิงอาศัยกันและกัน... 

...หลากหลายในหนึ่ง มองเห็นหนึ่งในความหลากหลาย มองเห็นหนึ่งในสิ่งที่มิอาจประมาณได้ มองเห็นสิ่งมิอาจประมาณได้ในหนึ่ง การเกิดและการดำรงอยู่ของธรรมทังหลายทั้งปวง มีธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้จึงเป็นสิ่งไม่จริงแท้ และไม่อาจแตะต้องสัมผัสผู้ตรัสรู้ได้ ดังที่ฉันได้กล่าวถึงความคิดประการหนึ่งในวิชาฟิสิกส์ร่วมสมัย คือความคิดเรื่อง "หูรองเท้าบูต" คือหูรองเท้าบูตที่ใช้จับเพื่อดึงเวลาสวมรองเท้าบูต ซึ่งเป็นความคิดที่ใกล้เคียงกับความคิดเรื่องต่างเป็นและต่างอยู่ในกันและกันมาก ความคิดเรื่อง "หูรองเท้าบูต" เป็นความคิดที่ปฏิเสธความคิดหน่วยพื้นฐานของสสาร (ความคิดหน่วยพื้นฐานของสสารที่กล่าวไว้ว่า สสารนั้นเมื่อแยกย่อยลงไปเรื่อยๆ เราจะพบหน่วยที่เล็กที่สุดที่มิอาจแบ่งแยกอีกต่อไปได้ หน่วยดังกล่าวนั้นคือหน่วยพื้นฐานของสสาร) จักรวาลนี้ก็คือ เครือข่ายและโยงใยของปรากฏ การณ์ ที่ปรากฏการณ์หนึ่งจะเกิดขึ้นจากการเกี่ยวโยงของปรากฏการณ์ต่างๆ ทั้งมวล สิ่งที่เราเรียกว่าอนุภาค แท้ที่จริงก็คือความสัมพันธ์ระหว่างอนุภาคต่างๆ นั่นเอง" 

Fritjof Capra

หนังสือที่เราเคยอ่าน เช่น "จุดเปลี่ยนแห่งศตวรรษ" และ "ข่ายใยแห่งชีวิต" ได้สะท้อนโลกทัศน์แบบองค์รวมที่ฟริตจอฟ คาปรา (Fritjof Capra) นำไปพัฒนาเป็น "ระบบทัศน์แห่งชีวิต" (system view of life) ก็ดี และวิธีคิดกระบวนระบบ (system thinking) ที่ปีเตอร์ เซ็งเก้ ใช้อธิบายถึงการเปลี่ยนรูปของสังคม (social transformation) ก็ดี ล้วนมีหลักการเดียวกับอิทัปปจยตา ความแตกต่างเพียงเล็กน้อยอยู่ที่การใช้ภาษาถ้อยคำและเทคนิคในการอธิบายเท่านั้น 

ข้อที่สอง การอธิบายเรื่องหลักการของอิทัปปจยตาเป็นเรื่องไม่ยาก แต่การฝึกให้เรามีทักษะในการคิดเป็นองค์รวม และเห็นความเชื่อมโยง มองทะลุปรากฏการณ์ไปสู่สาเหตุที่แท้จริงเป็นเรื่องยาก บทเรียนจากการฝึกเรื่องวิธีคิดกระบวนระบบหรือ system thinking ได้พิสูจน์มาแล้ว เพราะคนธรรมดาทั่วไปคิดแบบแยกส่วนมานาน และการคิดแบบธรรมดายังอาศัย ตา หู จมูก ลิ้น กาย อันเป็นมูลฐานแห่งการสัมผัส ท่านพุทธทาสเห็นว่า "อายตนะต่างๆ เท่าที่เรามีนั้น อาจสัมผัสสิ่งต่างๆ ได้ภายในขีดอันจำกัด คือเท่าที่ประสิทธิภาพของมันพึงมี" 

ดังนั้นการมองด้วยสายตาที่แหลมคมจนเห็น "การเชื่อมโยงที่ซ่อนเร้น" (hidden connection) ที่ ฟริตจอฟ คาปรา เขียนไว้จึงต้องอาศัย "ตาใน" หรืออินทรีย์พิเศษ อินทรีย์ขั้นพิเศษของท่านพุทธทาส คือ ปัญญา และตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่ถูกควบคุมไว้ได้ภายใต้อำนาจของปัญญาอีกชั้นหนึ่ง แต่การที่เราจะเข้าถึงปัญญาที่ลึกซึ้งเช่นนี้ได้ ก็ต้องมีการปฏิบัติสมาธิให้จิตสงบแน่วแน่เสียก่อน 

ข้อที่สาม การที่จะเข้าใจและรับมือกับโลกที่กำลังอยู่ในอันตรายได้นั้น จำเป็นจะต้องรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่มีพลวัตสูง ต้องตระหนักว่าสิ่งที่เราเห็น เราเป็นอยู่ในวันนี้ วันพรุ่งก็จะเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นก็ได้ ในโลกยุคดิจิทัล ปัจจุบันเราสามารถเปลี่ยนเป็นอดีตในชั่วพริบตา ดังกรณีการพลัดพรากจากกันของครอบครัว การล้มครืนลงฉับพลันของธุรกิจและชีวิตชุมชน เมื่อครั้งเกิดคลื่นสึนามิ ที่พังงาและภูเก็ต 

การเรียนรู้จากโลกที่จะผุดบังเกิด (emergence) จะต้องไม่ยึดมั่นอยู่กับทฤษฎีเก่าๆ และความคิดเก่าๆ ที่เชื่อตามกันโดยไม่ได้พิสูจน์ การทดลองค้นหาความจริงที่แท้นั้นต้องออกนอกกรอบของวิถีเดิมๆ ในหนังสือ "ภูมิปัญญาการนำทางสู่เนื้อธรรมของท่านพุทธทาส" ที่เขียนโดย อำนวย ยัสโยธา ได้อุปมาวิถีการค้นหาภูมิปัญญาแห่งอิสรภาพขั้นสูงสุดของท่าน ดุจดังนกนางนวล โจนาธาน ลิฟวิงสตัน ที่กล้าแตกฝูงไปพบโลกใหม่ด้วยความกล้าหาญที่ต้องการพิสูจน์ของสมมติฐานของตนว่าจะเป็นจริงหรือไม่ ด้วยการปฏิบัติซ้ำแล้วซ้ำอีกเพื่อยืนยันความเป็นวิทยาศาสตร์ และว่าไม่ใช่เรื่องบังเอิญ 

ผมคิดว่าท่านพุทธทาสมีจิตใจที่เปิดกว้าง เป็นอิสระ ไม่ยึดติดกับสิ่งใดๆ ท่านจึงสามารถใช้ภาษาและความคิดใหม่ๆ ของศาสนาอื่น นิกายอื่น มาอธิบายธรรมะให้คนทั่วไปเข้าใจได้ง่ายดังตัวอย่างที่ท่านได้เขียนคำว่า โอปนยิโก ไว้ในสมุดบันทึกวันพุธที่ 26 มีนาคม 2495 ท่านตั้งข้อสังเกตไว้ดังนี้ "คำว่า โอปนยิโก ซึ่งเป็นคุณบทบทหนึ่งของพระธรรมนั้น พวกลังกาไม่ได้แปลว่าควรน้อมเข้ามาในตน เหมือนดังที่แปลกันในเมืองไทย แต่แปลว่า is free and open to all ว่าเป็นสิ่งที่ควรคิดดูอย่างยิ่ง" 

การฝึกฝนตนเองให้มีความสามารถและทักษะสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ดังที่สรุปมาแล้ว ทั้งสามข้อน่าจะสร้างฐานกำลังของการรับมือกับโลกที่ปั่นป่วนและซับซ้อนได้ 



5.พุทธทาสกับโลกที่กำลังจะเลี้ยวกลับ 

เมื่อไม่นานมานี้ มีนักเขียนหนุ่มชาวอินเดีย ชื่อ ซาอิด ฮัสซัน (Zaid Hassan) ได้เขียนบทความชิ้นหนึ่ง ชื่อ "อักษรยู : ภาษาแห่งการฟื้นฟูพลัง" (The U : Language of Regeneration) เขาพูดถึงความจำเป็นที่มนุษย์ในปัจจุบัน ต้องสนใจฝึกฝนตนเองให้มีวิธีมอง "แบบใหม่" เพื่อทำให้มีสายตาที่แหลมคม (insight) "วิธีมองแบบใหม่" นี้เป็นสิ่งที่ผู้รู้หรือนักปราชญ์ในอดีตสามารถทำได้เป็นกิจวัตร ซาอิดบรรยายถึงความสำคัญในการใช้ทักษะนี้พินิจพิจารณาโลก เพราะโลกวันนี้มันเปลี่ยนแปลงพลิกผันเร็วจี๋อย่างไม่มีใครคาดเดาได้ เปรียบเสมือนว่าเรากำลังเผชิญสัตว์ร้ายที่คาดเดาอารมณ์มันไม่ถูก เมื่อเราเผชิญหน้ากับสัตว์ร้ายตัวนี้ เราก็ต้องรับมือกับมันให้ได้ 

อุปมาอุปไมยที่ซาอิดยกขึ้นมาใน พ.ศ.2548 นั้น ท่านอาจารย์พุทธทาสกล่าวเอาไว้เมื่อหลายสิบปีมาแล้วว่า เราต้องระวัง "เขี้ยวของโลก" อย่าให้เขี้ยวของโลกมาขบกัดเราได้ เราต้องทำตัวเสมือนลิ้นงูที่อยู่ได้ในปากงูโดยไม่ถูกเขี้ยวงูทำร้าย 

ชีวิตประจำวันของเราคนไทย ไม่ว่าจะอยู่ในกรุงเทพฯหรือหมู่บ้านไกลปืนเที่ยงล้วนมีโอกาสถูก "เขี้ยว" ของโลกขบกัดได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอันตรายฉับพลันจากธรรมชาติ จากอาชญากรรม จากโรคระบาด จากอุบัติภัย ทุพภิกขภัย และภัยจากโรคระบาด หรือโอกาสของการพลิกผันของสถานการณ์ธุรกิจและการเมืองเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ในระยะสิบปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการล้มระเนนระนาดของเผด็จการในประเทศต่างๆ เช่น ในอดีตประเทศที่เคยอยู่กับสหภาพโซเวียตมาก่อน 

ไม่เพียงแต่การล่มสลายของระบบการเมืองผูกขาด บรรษัทใหญ่ๆ ของโลกที่นิตยสารธุรกิจเคยยกย่องว่า มีอำนาจและอิทธิพลไปทั่วโลก เช่น Enron, WorldCom หรือ Adelphia ความมั่นคงแข็งแรงทางธุรกิจล้มครืนลงชั่วข้ามคืน และผู้บริหารบรรษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้ก็ถูกจับในฐานะอาชญากรทางการเงิน 

ข้อมูลที่ผ่าน BBC หรือ CNN หรือผ่านอินเทอร์เน็ตก็ดี ในหน้าหนังสือพิมพ์ก็ดี ล้วนสร้างบรรยากาศของความไม่ไว้วางใจไปทั่วโลก เมื่อ 2-3 ปีก่อนสหประชาชาติได้ตำหนิ 85 บรรษัทใหญ่ที่ได้มีส่วนร่วมในการ "ปล้น" ทรัพยากรธรรมชาติในคองโก และเมื่อรายงานทางด้านเศรษฐกิจฉายข้อมูลออกมาว่า ช่องว่างระหว่างคนรวยที่มีไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์กับคนจนกว่า 25 เปอร์เซ็นต์ ในแต่ละประเทศได้ถ่างกว้างออกไปอีก แล้วยังมีข่าวที่ไมเคิล ไอส์เนอร์ (Michael Eisner) ซีอีโอแห่ง บริษัทดิสนีย์ มีรายได้ถึง 576 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 23,040 ล้านบาท) ย่อมสร้างความขุ่นเคืองให้ผู้คนทั่วไป แม้กระทั่ง อลัน กรีนสแปน (Alan Greenspan) นายใหญ่แห่งธนาคารกลางสหรัฐ ยังเอ่ยปากตำหนิบรรดาซีอีโอใหญ่ๆ ทั้งหลาย "โรคไวรัสแห่งความโลภได้ระบาดในโลกธุรกิจเสียแล้ว" 

การเคลื่อนไหวประท้วงองค์กรที่โลกเห็นแก่ได้ และขาดธรรมชาติ บางทีปรากฏถี่ขึ้นในสังคมตะวันตก เช่น เมื่อ 10 ปีก่อน กลุ่มกรีนพีซได้นำประชาชนในยุโรปตะวันตกประท้วงกรณี Brent Spar ทำให้บริษัทเชลล์ ต้องประสบความเสียหายทางธุรกิจน้ำมัน ต่อมากลุ่ม Free Burma Coalition ก็บีบบริษัทใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ต้องถอยออกจากพม่า และเครือข่าย Rain Forest Action Network รณรงค์คัดค้านบริษัทค้าไม้ Home Depot จนทำให้ต้องปรับนโยบายใหม่ 

การประท้วงของกลุ่มพลเมืองที่รักความเป็นธรรมและต้องการสันติภาพต่อธุรกิจที่ไม่รับผิดชอบต่อสังคมมีถี่ขึ้นเรื่อยๆ โดยพุ่งเป้าเข้าสู่ความน่าเชื่อถือและภาพลักษณ์ขององค์กร เมื่อปี 2546 และ 2547 ได้มีการประชุมเครือข่ายรากหญ้าที่นิวยอร์ก เรื่อง Brand Bashing Culture Jamming และ Subvertising การบ่อนเซาะภาพลักษณ์ของธุรกิจ ไม่อาจประมาทคนรากหญ้าได้เลย 

ถึงแม้กลุ่มคนที่เอาการเอางานจะมีไม่มาก แต่พลังของพวกเขาอยู่ที่ระบบ IT ดังเช่น walmartwatch.com, chasebanksucks หรือ McSpotlight เมื่อเรื่องราวได้ถกกันมากใน "ห้องสนทนา" เกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของผลิตภัณฑ์ การกระจายข่าวของผู้บริโภค สู่พนักงานบริษัท ไปยังนักข่าวแล้วกระจายออกสื่อสารมวลชน มันก็กลายเป็นแรงกดดันมหาศาลไปทั้งโลก กลุ่มนักกิจกรรมพูดว่า "ธุรกิจมีชีวิตและตายด้วยภาพลักษณ์" จึงไม่น่าแปลกใจอันใดที่ชนชั้นนำทั้งหลายเมื่อพบกันใน World Economic Forum ที่ Davos เมื่อปี 2003 จึงตั้งหัวข้อสนทนาว่า "การฟื้นฟูความเชื่อมั่น" (rebuilding trust) 

ถ้ากวาดสายตาให้กว้างออกไปทั้งโลก จะพบว่าการฟื้นฟูความเชื่อมั่น มันไม่ได้จำกัดตัวอยู่ในภาคธุรกิจเท่านั้น ภาคการเมืองก็มีปัญหาหนักหน่วงไม่แพ้กัน งานวิจัยของโรเบิร์ต พุตนัม (Robert Putnum) ที่ได้ตีพิมพ์เมื่อปี 2539 พบว่าประชาชนในประเทศประชาธิปไตยมีความไว้วางใจพรรคการเมืองและนักการเมืองของตน น้อยกว่าเมื่อ 30 ปีที่แล้วมาก นักหนังสือพิมพ์ชาวอิตาเลียนชื่อ อันโตนิโอ โปลิโต (Antonio Polito) ได้เกริ่นนำในหนังสือ "การสนทนาว่าด้วยวิกฤตประชาธิปไตย" ปี 2546 ว่า "หลังจากที่ได้ผ่านการทดสอบมาร่วมสองร้อยปี ระบอบประชาธิปไตยกำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤตอย่างหนักหน่วง จึงไม่รู้ว่าทางออกจะเป็นอย่างไร" 

การหาทางออกที่ดีนั้น จำเป็นต้องมีการ "ย้ายกระบวนทัศน์ใหม่" (paradigm shift) ทั้งในระดับปัจเจกและระดับองค์กรหรือสถาบัน (institution) ความสนใจเรื่องการพัฒนาองค์กรและสถาบันที่ไม่ได้เป็นเครื่องจักร แต่เป็นเรื่องของความลึกซึ้ง ด้านความหมายแห่งชีวิตและคุณค่าแห่งความ เป็นมนุษย์ได้เริ่มก่อร่างสร้างตัวอย่างเป็นกิจจะ ลักษณะ เมื่อ ชาร์ลี คีเฟอร์ (Charly Kiefer) และ ปีเตอร์ เซงเก้ ได้เขียนบทความที่กลั่นออกมาจากงานเป็นที่ปรึกษา และจัดสัมมนาปฏิบัติการ ตอนปลายทศวรรษที่ 70 ว่าด้วย "องค์กรเมทาโนอิก" (metanoic organization) คำว่า เมทาโนอิก เป็นภาษากรีก แปลว่า "การเปลี่ยนแปลงพื้นฐานของจิต" (fundamental shift of mind) ซึ่งต่อมาชาวคริสเตียนยุคต้น ได้ให้การอรรถาธิบายใหม่จากมุมของตนว่า เป็นการ "ตื่นแห่งศรัทธา" ซึ่งเห็นความสำคัญของวิสัยทัศน์และการมีคุณค่าแห่งชีวิต องค์กร "เมทาโนอิก" จึงไม่เพียงดำรงอยู่เพื่อทำเป้าหมายขององค์กรให้เป็นจริงเท่านั้น ทว่าต้องรับใช้สังคมด้วย 


เมื่อปีเตอร์ เซงเก้ ได้อาศัยข้อมูลและผลวิจัยจากการสัมมนาเชิงปฏิบัติการที่ได้ทำมากว่าสิบปีแล้วลงมือเขียนหนังสือ The Fifth Discipline (วิชาที่ห้า) เขาพบว่าคำว่า discipline ซึ่งแปลว่าวิชาหรือวินัยนั้น มีนัยซ่อนอยู่ การที่เราจะเชี่ยวชาญวิชาใดวิชาหนึ่งนั้นจำเป็นต้องมีวินัยในการเรียนรู้และวินัยในการปฏิบัติ ดังชื่อในการสอนในวิชาศิลปะ หรือในศาสนา ที่มนุษย์จะบรรลุเป้าหมายที่ปรารถนาได้ ต้องมีวินัย ต้องฝึกฝนตนเองอย่างเข้มงวด 

สิ่งที่ปีเตอร์ เซงเก้ ค้นพบจากงานฝึกอบรมและสัมมนาก็คือ การสร้างองค์กรเรียนรู้ (learning organization) หรือประชาคมแห่งการปฏิบัติ (communities of practice) นั้น ล้วนเกี่ยวพันกับเรื่องการเจริญสติและมีสมาธิ ยกตัวอย่างเช่น การทำ "ภาวนาสนทนา" (dialogue) ในกลุ่มจะต้องมีความเงียบเพื่อครุ่นคิดลึกๆ สำรวจความรู้สึกนึกคิดของตนเอง การฝึกฝนตนเองให้มีทักษะในการนิ่งอยู่ในความเงียบ และสงบจิตสงบใจ ได้กลายเป็นเรื่องสำคัญของการบริหารจัดการสมัยใหม่ในโลกที่มีพลวัต ซับ


Peter Senge, ‘The Fifth Discipline Fieldbook’

ในขณะที่การบริหารจัดการเริ่มมีการย้ายกระบวนทัศน์ ก็มีปรากฏการณ์คู่ขนานที่น่าสนใจเกิดขึ้น คือนับแต่ทศวรรษที่ 90 เป็นต้นมา นั่นคือ การสร้างความรู้และปฏิบัติการเรียนรู้ภาคการบริหารจัดการ ได้นำความรู้ของวิทยาศาสตร์ใหม่ (new science) เช่น ทฤษฎีไร้ระเบียบ ทฤษฎีซับซ้อน (complexity theory) มาใช้ในการบริหารจัดการองค์กรที่ให้ความสำคัญ ของพลังจิตวิญญาณเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ 

ในห้วงเวลาเดียวกันก็ได้มีการสนทนาแลกเปลี่ยนมุมมอง และค้นหาความสัมพันธ์ระหว่างวิทยาศาสตร์ใหม่ กับพุทธศาสนาถี่ขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเราสามารถหาอ่านได้จากหนังสือหลายเล่ม เช่น The Lotus and Quantum, Buddhism and Breaking New Ground และ The Psychology of Awakening : Buddhism, Science and Our Day to Day Lives เป็นต้น 

ในการสนทนาระหว่างภูมิปัญญาลึกล้ำของตะวันออกกับวิทยาศาสตร์ใหม่นั้น ทางฝ่ายพุทธศาสนามีท่านดาไลลามะเป็นผู้นำ และบางครั้งก็มีตัวแทนของไทยเข้าร่วมแลกเปลี่ยนด้วย 

ตัวท่านพุทธทาสเองได้ศึกษาวิทยาศาสตร์ใหม่มาด้วยตนเองและสามารถนำไปใช้ในการอธิบายเรื่องอิทัปปจยตามาแล้ว เมื่อท่านได้พูดถึง "ทฤษฎีของสี" ระหว่างปาฐกถาพิเศษเรื่อง "วิถีแห่งการเข้าถึงพุทธธรรม" ณ พุทธสมาคม เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2483 

การเชื่อมเข้าหากันของปราชญ์และมี "สนาม" อันเป็นพื้นที่ที่ทำให้เกิดการสอดบรรสานของภูมิปัญญาตะวันออก และภูมิปัญญาตะวันตกในปัจจุบัน และการวิวัฒนา การต่อไปข้างหน้าสะท้อนการมองการณ์ไกลของท่านพุทธทาสได้ดี 



6.Happiness is back 

เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2548 หนังสือพิมพ์รายวัน "ทาเกสสปีเกิล" ในกรุงเบอร์ลิน ได้ตีพิมพ์บทสัมภาษณ์จิตแพทย์คนหนึ่งแห่งโรงพยาบาล "ชาร์ริแทร์" เธอพูดว่า ขณะนี้จำนวนผู้ป่วยจากความเครียดในประเทศเยอรมนีมีจำนวนเพิ่มสูงมากในระยะ 5 ปีหลัง ชาวเยอรมันจำนวนค่อนข้างมากมีความวิตกกังวลต่อโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างคาดไม่ถึงสูงขึ้น คำว่า angst อันเป็นภาษาเยอรมันซึ่งแปลว่า "ความกลัว" ปรากฏมากขึ้นในสื่อมวลชนเยอรมัน และที่น่าสนใจก็คือในนิตยสารหรือหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษก็รับคำว่า angst ไปใช้มากขึ้น เพราะมันสะท้อนความกลัวที่ลึกไปกว่าคำว่า fear ในภาษาอังกฤษ 

ถ้าเรากวาดสายตาไปรอบโลกจะพบว่าความกลัว (angst) ต่ออนาคตที่คาดเดาไม่ได้นั้น ไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นในประเทศเยอรมนีเท่านั้น ประเทศอื่นๆ อีกมากน่าจะมีผู้คนที่หวาดหวั่นต่ออนาคตที่ยังมาไม่ถึง 

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ? ทั้งๆ ที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีก้าวไปไกลมากจนถึงสามารถชะลอความตายของมนุษย์ได้ อายุโดยเฉลี่ยก็สูงขึ้น ความสมบูรณ์พูนสุขทางวัตถุก็มีจนล้นเหลือ แต่คนส่วนใหญ่โดยเฉพาะประเทศที่ก้าวหน้าในตะวันตกและญี่ปุ่นยังคงไม่ได้มีความสุขกว่า 50 ปีก่อน หรือกล่าวให้ชัดลงไปความสุขกลับน้อยลงกว่าอดีต 

มันเป็นโลกปริทรรศน์โดยแท้ 

จากความกลัวและความทุกข์ที่สังคมต่างๆ เผชิญในวันนี้ ทำให้นักคิด นักวิชาการ และประชาชน จำนวนหนึ่งเริ่มตั้งคำถามต่อทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่เน้นตัวเลขของความเจริญเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ แต่ไม่ได้คำนึงถึงเงื่อนไขด้านอื่นๆ ของสังคมว่าเป็นเป้าหมายที่ยังคงต้องเดินไปหามันหรือไม่ 


ริชาร์ด เลยาร์ด (Richard Layard) ได้เขียนหนังสือ เล่มหนึ่งชื่อ "Happiness is back" พูดถึงความ จำเป็นที่รัฐจะต้องปรับเปลี่ยนนโยบายสาธารณะเสียใหม่ และปัจเจกชนเองก็ต้องปรับทัศนคติหรือปรัชญาชีวิตเสียใหม่ด้วย โดยเอา "ความสุข" เป็นเป้าหมายแทนความร่ำรวยทางวัตถุฝ่ายเดียว 

เรื่องที่ริชาร์ด เลยาร์ด นำเสนอนั้นเป็นตัวอย่างหนึ่งของการเคลื่อนไหวของกระบวนการกระบวนทัศน์ใหม่ ถ้าบทความนี้ถูกเสนอเมื่อ 20 ปีก่อน ความคิดเช่นนี้อาจจะถูกโจมตีว่าเพ้อฝัน เพราะการวัดความสุขที่เกิดขึ้นในสมองมนุษย์ เป็นเรื่องที่วัดได้ยาก ทำให้ขาดน้ำหนักในการผลักดัน แต่วันนี้ "วิทยาศาสตร์ใหม่" โดยเฉพาะ neuroscience สามารถวัดความสุขได้จริง จึงน่าจะทำให้การผลักดันนโยบายสาธารณะมีพลังมากขึ้น ในสังคมไทยเองสำนักงานปฏิรูปสุขภาพแห่งชาติ (สปรส.) ก็กำลังเคลื่อนไหวนโยบาย "อยู่เย็นเป็นสุข" ว่าเป็นเป้าหมายที่เราควรเพิ่มเข้าไป 

อย่างไรก็ตาม การเอาชนะกลุ่มเศรษฐกิจกระแสหลักให้ได้มันยังเป็นหนทางที่ยาวไกลอยู่ ซึ่งควรศึกษาบทเรียน ของกระบวนการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่ามีความคดเคี้ยวของการเดินทางอย่างไร 


ดูจากจุดเริ่มต้นของความคิดซึ่งส่องประกายจากหนังสือ The Silent Spring (ฤดูใบไม้ผลิที่เงียบงัน) ของ ราเชล คาร์สัน (Rachel Carson) ซึ่งออกตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2505 ทำให้สังคมตะวันตกต้องตะลึงงันกับ "ความจริงใหม่" ที่ถูกมองข้าม และเริ่มก่อตัวเคลื่อนไหว น้ำหนักของกระบวนการเริ่มมีมากขึ้น เดนนิส มีดอฟ (Dennis Meadows) ได้เขียนหนังสือชื่อ "การเติบโตที่จำกัด" (limits to growth) ในปี 2515 ความคิดเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนก็ได้มีการค้นคว้าทดลองทำอย่างจริงจัง จนหลายประเทศแถบสแกนดิเนเวียได้รับความสำเร็จค่อนข้างสูง และก็มีพรรคการเมืองที่ให้ความสำคัญ ต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมดังที่เรียกกันว่า พรรคกรีน เกิดขึ้นในหลายประเทศ 


อย่างไรก็ตามมองภาพรวมทั้งโลกการอนุรักษ์ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมยังไม่สามารถยับยั้งทิศทางการทำลายโลก จากนโยบายเศรษฐกิจที่เน้นความรวยและความโลภเป็นสรณะ แม้กระทั่งพรรคกรีนแห่งเยอรมนี ซึ่งมีทีท่าว่า จะเป็นพลังแห่งกระบวนทัศน์ใหม่ก็ขาดพลังทางสังคม และพลังทางการเมืองอย่างน่าใจหาย วิกฤตโลกมันโบยแส้ใส่เราทุกวันจากรายงานดินฟ้าอากาศที่วิปริตทำให้ผู้คนล้มตายลงครั้งละมากๆ จากภัยธรรมชาติ และยังไม่นับหายนะลูกใหม่ที่จ่อคอหอยมนุษยชาติอยู่คือ โรคระบาดไข้หวัดนกที่อาจกลายพันธุ์เข้าไป สู่ผู้คน แล้วกลายเป็นโรคระบาดครั้งใหญ่ในยุคโลกาภิวัตน์ที่อาจจะมีผู้ตายนับล้านคน 

มนุษย์จะต้องหันทิศทางการพัฒนาจากการสร้างงาน สร้างเศรษฐกิจของการผลิตเชิงปริมาณ มาสู่การผลิตเชิงคุณภาพด้วย ใช้หลักคิดเดียวกับเรขาคณิตเศษส่วน (fractal geometry) ที่มีอยู่ในทฤษฎีไร้ระเบียบสร้างเป็นโมเดลของการผลิตซ้ำในทางลึก ที่ละเอียดอ่อน แทนที่จะขยายออกในทางปริมาณ แต่กลับให้งานเกิดขึ้นจากการให้เวลานั่งผลิตงานแต่ละชิ้นให้ประณีต ให้มีคุณภาพ ทำให้ได้คุณค่าทางจิตใจของผู้ผลิตและผู้บริโภคด้วย เรขา คณิตเศษส่วนน่าจะเป็นโมเดลเศรษฐกิจที่น่าสนใจ ในยุคที่ทรัพยากรต่างๆ เริ่มจำกัดขณะที่ตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ในจีนและอินเดียกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว เพราะโดยหลักคิดแบบเรขาคณิตเศษส่วนเรื่องการขยายตัวของ self similarity มันสามารถขยายซ้ำแล้วซ้ำอีกอย่างไม่มีวันสิ้นสุด 


ลีโอ เนฟิโอดอฟ (Leo Nefiodow)

การเคลื่อนไหวสังคมไปสู่การพัฒนาทิศทางใหม่ที่เชื่อมวัตถุกับจิตใจเข้าเป็นหนึ่งเดียวกัน แม้จะมิใช่กระแสหลักแต่เมื่อศึกษางานเขียนชิ้นสำคัญๆ ในการทำนายอนาคตโลกก็พอมองเห็นแสงสว่างรำไรที่ปลายอุโมงค์ จากหนังสือ "คลื่นคอนดราเทียฟลูกที่ 6" ที่เขียนโดย ลีโอ เนฟิโอดอฟ (Leo Nefiodow) ซึ่งนำความรู้นักเศรษฐศาสตร์ชาวรัสเซียชื่อ คอนดราเทียฟ (Kondratieff) ซึ่งวิเคราะห์คลื่นความยาวทางเศรษฐกิจทุนนิยมที่มีอายุคลื่นแต่ละคลื่นประมาณ 50 ปี ซึ่งมีช่วงคลื่นเศรษฐกิจขาขึ้นจนถึงขาลงว่ามาจากผลนวัตกรรมทางเทคโนโลยี คอนดราเทียฟวิเคราะห์ลูกแรกที่สำคัญเมื่อปี ค.ศ.1800 ว่าเกิดจากนวัตกรรมเครื่องจักรไอน้ำมาใช้ในการผลิตอุตสาหกรรมผ้าฝ้าย เนฟิโอดอฟนำความรู้นี้มาพัฒนาต่อเมื่อ 20 ปีก่อน เขาบอกว่าขณะนี้สังคมตะวันตกซึ่งเป็นหัวจักรเศรษฐกิจโลกนั้นกำลังอยู่ในช่วงคลื่นยาวคอนดราเทียฟลูกที่ 5 ซึ่งตัวเทคโนโลยีสำคัญคือ เทคโนโลยีสารสนเทศ และผลิตผลสำคัญคือความรู้จะเป็นตัวขับเคลื่อนการจ้างงาน และสร้างรายได้ให้แก่สังคม เนฟิโอ ดอฟคาดคะเนว่าอีก 10 ปีข้างหน้า เทคโนโลยีสำคัญในการสร้างความสามารถทางการผลิตของสังคม จะย้ายไปอยู่ที่จิตวิทยาสังคมอันเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ไม่ใช่วัตถุ และสุขภาวะจะเป็น "ผลิตภัณฑ์" ที่มนุษย์ปรารถนา (ภาษาเยอรมัน Psychosozial, Gesundheit ) 

เนฟิโอดอฟเชื่อว่าความสามารถของสังคมที่ดีจะเกี่ยวข้องกับสภาพความคิด และจิตใจของคนในสังคมที่สามารถร่วมกันคิดและร่วมกันทำ โดยเฉพาะความสามารถในการคิดอย่างลุ่มลึก มีญาณทัสนะ และมีปัญญาจะเอาชนะความซับซ้อนและความผันผวนที่ถาโถมเข้ามาได้ 

เนฟิโอดอฟให้ความสำคัญต่อภูมิปัญญาตะวันออกที่มีปรัชญาพื้นฐานของการมองโลกแบบองค์รวม และเสนอว่าตะวันตกจะต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์เสียใหม่ และต้องสนใจ ศึกษาพัฒนาความลึกซึ้งทางจิตวิญญาณ (spiritual) อย่างจริงจังและเป็นวิทยาศาสตร์ 


สืบทอดปณิธานท่านพุทธทาส (จบ) 

เมื่อเราได้เดินทางสืบค้นภูมิปัญญาของท่านพุทธทาสมาจนถึงบทนี้ เราจะพบว่าท่านพุทธทาสมี "อินทรีย์พิเศษ" ที่ทำให้ท่านมองได้อย่างแหลมคมและลึกซึ้งกว่าคนธรรมดาหลายสิบปี เนื่องจากท่านเดินบนเส้นทาง "พุทธมรรควิถี" อย่างแท้จริง ทำให้ท่านไม่จำเป็นจะต้องยึดมั่นถือมั่นดังที่ท่านได้บรรยายในหัวข้อ "หลุดพ้นเสียจากความหลุดพ้น" เมื่อท่านไม่ยึดติดกับเปลือกท่านจึงพลิกแพลงและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ในการที่จะสื่อสารให้คนธรรมดาสามารถก้าวเข้าสู่เส้นทางของผู้ตื่น ผู้รู้ และผู้เบิกบานได้ 

ท่านจึงสามารถนำความรู้ทางวิทยาศาตร์ นำเรื่องจิตวิเคราะห์ของซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) หรืออัลเฟรด อาดเลอร์ (Alfred Adler) มา ทดลองใช้ในการสอนธรรมะได้ ท่านพุทธทาสยังคงให้ความสนใจเรื่องศิลปะและใช้งานศิลป์เป็นเครื่องมือในการแสดงธรรม ดังตัวอย่างที่ท่านได้บรรยายในหัวข้อ "ศิลปะสำหรับการมีชีวิตอยู่ในโลก" และได้สร้างโรงมหรสพทางวิญญาณขึ้นดังข้อความบางตอนที่ท่านได้เขียนจดหมายถึงสหายธรรมทาน 

"...อนึ่ง ขอวิงวอนผู้สนใจในการประกาศธรรมจงได้ร่วมมือกันสร้าง "โรงหนัง" แบบนี้ในลักษณะ ที่เหมาะแก่ท้องถิ่นของตัวกันขึ้นให้ทั่วหัวระแหงด้วยเถิด จะเป็น moral rearmament ทางศีลธรรมที่มีลักษณะเป็น dynamic อันมองไม่เห็นตัวอย่างรุนแรงในบรรยายกาศทั่วไป เพื่อประโยชน์แก่สันติภาพอันถาวรของมนุษย์เรา..." 

ท่านพุทธทาสท่านก้าวเร็วล้ำหน้าคนทั่วไปมากจนสิ่งที่ท่านพร่ำเตือนไว้เมื่อกว่า 50 ปีก่อนจึงยังไม่เข้าสู่หัวใจคนไทย เพราะคนทั่วไปยังไม่ประสบกับอันตรายอย่างชัดเจน แต่วันนี้สถานการณ์ของความเร้าร้อนรุนแรง (turmoil) มันอยู่รอบตัวเราทุกๆ วัน ตั้งแต่ความรุนแรงของวัยรุ่นในรูปแบบต่างๆ ความเสื่อมทางศีลธรรมของผู้นำทุกระดับและทุกวงการ จนถึงภัยพิบัติจากธรรมชาติ และการฆ่าฟันรายวันในทุกภาคโดยเฉพาะชายแดนภาคใต้ ไฟกำลังไหม้ห้องเก็บของของบ้านเราแล้ว ถ้าเราไม่ช่วยกันดับไฟนี้เราจะไม่มี "บ้าน" ให้อยู่กันอย่างอบอุ่นเป็นสุขอีกต่อไป 

แต่เราจะมองแต่บ้านเราหลังเดียวไม่ได้แล้ว เพราะบ้านของเรานั้นอยู่ใน "หมู่บ้านโลก" ซึ่งมีอีกหลายหลัง ไฟกำลังลุกไหม้อยู่เราคงไม่เพียงแต่ต้องดับไฟของบ้านเราเท่านั้น เราต้องช่วยดับไฟของบ้านเพื่อนด้วย เพราะนอกจากช่วยเขาให้พ้นทุกข์แล้ว มันยังช่วยให้เราอยู่เย็นเป็นสุขด้วย 

วันนี้คนไทยพุทธมีพันธกิจที่ต้องปฏิบัติเพื่อถวายเป็นการบูชาท่านพุทธทาส ด้วยการสืบทอดปณิธานของท่านที่เพียรพยายามทำให้เป็นจริง 

ปณิธาน 3 ประการของท่านพุทธทาส 

1.การเข้าถึงหัวใจของศาสนาตน เพราะทุกศาสนามุ่งให้คนเป็นคนดีอย่างแท้จริง 

2.ช่วยทำให้เกิดความเข้าใจระหว่างศาสนา ซึ่งเป็นการลดความขัดแย้งต่างๆ ที่ติดตามมาทั้งในสังคมและในโลก 

3.ทำให้หลุดออกจากวัตถุนิยมสุดโต่งมาสู่ความสมดุลของวัตถุนิยมและจิตนิยม อย่าให้วัตถุมาอยู่เหนือจิตใจ เพราะความสุขที่แท้จริงอยู่เหนือวัตถุ 

นับแต่วันนี้เราต้องช่วยกันทำให้จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญเกิดขึ้นในสังคมไทยได้ไหม ? 

ถ้า "ผีเสื้อ" ตัวกระจ้อยร่อยอย่างพวกเรามาช่วยกันกระพือปีกแรงๆ พายุใหญ่แห่งการอภิวัฒน์น่าจะเกิดขึ้นได้แม้เวลาที่เกิดขึ้นจริงจะทอดยาวออกไปบ้าง 


ประวัติผู้เขียน 
ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ เป็นชาวนครศรีธรรมราช มาอยู่กรุงเทพฯ ตั้งแต่เด็ก เข้าเรียนหนังสือที่โรงเรียนมัธยมสาธิตประสานมิตร แล้วไปจบการศึกษาที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ไปเรียนต่อที่เยอรมัน เจ้าตัวอยากเรียนปรัชญาและการเมืองแต่พอแม่คัดค้าน “กลัวจะไส้แห้ง” เลยเรียนวิชาบริหารธุรกิจ ขณะที่ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโท ชีวิตได้มาถึงจุด “ทางแพร่ง” ที่สำคัญ 
จากการได้อ่านหนังสือ สิทธารถะ ของ แฮร์มัน เฮสเส และได้สนทนากับท่านอาจารย์ ปรีดี พนมยงค์ จึงตัดสินใจเลือกเส้นทางชีวิตที่คิดว่าให้ “ความหมาย” ในการดำรงอยู่ ทิ้งการศึกษาในมหาวิทยาลัย มาเป็นนายกสมาคมนักเรียนไทยในสหพันธรัฐเยอรมันปี 2516 ทำให้สามารถจัดงานทางด้านวิชาการและการเมืองมากขึ้น พร้อมกับทำงานเป็นครูสอนภาษาไทยและวิชาการเมืองกับการพัฒนาให้แก่พัฒนากรชาวเยอรมันที่จะทำงานในประเทศไทย 
ปลายปี 2517 กลับมาเมืองไทยทำงานอยู่ในหนังการเมืองสัปดาห์ ทำงานในขบวนการกรรมกรอยู่หลายปี 
ปัจจุบันทำงานอาสาสมัครให้แก่สถาบันพัฒนาเพื่อชีวิต เป็นผู้อำนวยการ Bangkok Forum เป็นวิทยากรให้แก่สหภาพแรงงาน เกษตรกร นักศึกษาและประชาชนทั่วไป และเป็นล่ามภาษาเยอรมัน 
11 ปี ที่ใช้ชีวิตอยู่ในเยอรมัน เป็นห้วงยุคทองของขบวนการนักศึกษา “1968” ซึ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างถึงรากถึงโคนทางวัฒนธรรมสังคมและการเมืองในยุโรปและสหรัฐอเมริกา 
ความที่เป็น “พลังทวนกระแส” จึงติดตัวมาจนถึงทุกวันนี้. 
(ที่มา : แนะนำผู้เขียน จากหนังสือ “ทฤษฎีไร้ระเบียบ กับทางแพร่งของสังคมสยาม” ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2, สิงหาคม 2538) 
ผลงานหนังสือ 
--ทฤษฎีไร้ระเบียบ (Chaos Theory) กับทางแพร่งของสังคมสยาม 
--มองอนาคตการเมืองไทยกับทิศทางประชาธิปไตยโลก 
: บทวิเคราะห์ว่าด้วยประชาสังคมกับการเมืองภาคประชาชน ผ่านวิธีคิดเชิงกระบวนระบบ (System Thinking) 
--การประชุมอย่างสร้างสรรค์ : ศิลปะแห่งการสร้างพลังเพื่อการเปลี่ยนแปลง 
ฯลฯ 
สถานที่ติดต่อ 
สถาบันการเรียนรู้และพัฒนาประชาสังคม (Civicnet Institute) 
693 ถ.บำรุงเมือง เขตป้อมปราบฯ กรุงเทพฯ 10100 / โทรศัพท์ (02) 624-7814-5 / โทรสาร (02) 621-7816 
E-Mail : chaiwatthirapantu@hotmail.com / WebSite : http://www.thaicivicnet.com

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น