10:43

ศิลปะแห่งการคอร์รัปชัน


วาทะที่ได้ยินบ่อยๆ อย่าง 'เงินไม่มา การไม่เป็น' หรือ 'โกงไม่ว่า ขอให้ทำงาน' สะท้อนภาพปัญหาการฉ้อฉลหรือคอร์รัปชันที่กำลังจะกลายเป็นเรื่องปกติในสังคมไทย ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมืองอย่างตอนนี้ โครงการ 'ศิลปะแห่งการคอร์รัปชัน' เกิดขึ้นเพื่อกระตุกสังคมให้มองเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว ชาธิป สุวรรณทอง มีรายงาน

'คอร์รัปชัน' ปัญหาหลักที่ถ่วงความเจริญของประเทศชาติมาช้านาน ไม่เพียงแต่จะเป็นปัญหาใหญ่อันดับต้นๆ ของประเทศแต่ยังเป็นปัญหาเรื้อรังที่นำไปสู่ปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย
ศิลปะแห่งการคอร์รัปชัน
ชาธิป สุวรรณทอง : รายงาน



จริงหรือ...ที่นักเล่นการเมืองและข้าราชการเท่านั้นที่ฉ้อโกงปล้นชาติ จริงหรือ...ที่ 'คอร์รัปชัน' กลายเป็นวัฒนธรรมส่วนหนึ่งของสังคมไทย จริงหรือ...ที่ความฉ้อฉลเป็นส่วนหนึ่งของนิสัยคนไทย ช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในขณะนี้อาจเป็นเวลาที่เหมาะสมสำหรับจะวิเคราะห์กันถึงรากเหง้าของปัญหาการฉ้อฉลโกงกินในเมืองไทย

โครงการ 'ศิลปะแห่งการคอร์รัปชัน' (Art of Corruption) โดยสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ สบร. สำนักนายกรัฐมนตรี จึงเกิดขึ้นเพื่อตีแผ่ ขุดคุ้ย วิเคราะห์รากเหง้าของคอร์รัปชันเพื่อปลุกจิตสำนึกของสังคมไทยให้เข้าใจและตระหนักถึงผลร้ายของการฉ้อโกงที่เป็นปัญหาเรื้อรังของสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ถ่ายทอดผ่านกิจกรรมหลากหลายมิติ

"คอร์รัปชันมันมีกระบวนการ มีความสลับซับซ้อน ออกกฎหมายมาเอื้อต่อการคอร์รัปชัน เรียกได้ว่าคอร์รัปชันในเมืองไทยนี่ทำได้ถึงระดับงานศิลปะไปแล้ว ก็เลยเกิดโครงการ ศิลปะแห่งการคอร์รัปชัน ขึ้นมา เพื่อจะย้อนแย้งกับการคอร์รัปชันที่นับวันมันจะมีความซับซ้อนขึ้น แยบยลขึ้น คนที่ทำก็มีการหาข้อมูลทั้งเรื่องกฎหมาย เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ หลายอย่างๆ มาประกอบเพื่อให้กระบวนการตรวจสอบไปไม่ถึง เราก็มองว่ามันเหมือนการทำงานศิลปะที่มันมีความประณีตขึ้น ก็เลยตั้งประเด็นว่า Art of Corruption" ไพศาล ธีรพงศ์วิษณุพร ภัณฑารักษ์ของโครงการ 'ศิลปะแห่งการคอร์รัปชัน' กล่าว

เขาเล่าอีกว่า โครงการนี้เกิดจากการสนทนาปัญหาบ้านเมืองระหว่างศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ดร.ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อดีตสมาชิกวุฒิสภา มานิตย์ ศรีวานิชภูมิ และ วิชญ์ พิมกาญจนพงศ์ ศิลปินร่วมสมัย จนได้แนวคิดในการใช้ศิลปะในการนำเสนอประเด็นการคอร์รัปชันในสังคมไทยช่วงก่อนการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม และได้ข้อสรุปในการจัดเป็นโครงการที่ประกอบด้วยการเสวนา การทำสื่อวิจัยเพื่อรวบรวมองค์ความรู้และวิเคราะห์ปัญหาการคอร์รัปชัน รวมทั้งการนำเสนอประเด็นของการคอร์รัปชันผ่านผลงานศิลปะที่จัดแสดงในนิทรรศการอีกส่วนหนึ่ง เพื่อสำรวจรากเหง้าของการคอร์รัปชัน ศึกษาสภาพปัญหาในปัจจุบัน รวมถึงคาดการณ์อนาคตของสังคมไทยหากปัญหาการคอร์รัปชันยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง

"คนไทยรู้สึกว่าการคอร์รัปชันเป็นวัฒนธรรมส่วนหนึ่งของสังคมไทยไปแล้ว ถ้าไปถามคนทั่วไปว่าอยากได้นายกฯ แบบไหนจะเริ่มมีการตอบว่าโกงไม่เป็นไรขอให้ทำงาน หรือแทนที่จะเลือกคนดีกลายเป็นว่าจำต้องเลือกคนที่เลวน้อยที่สุด โครงการนี้มุ่งหวังจะกระตุ้นให้สังคมเห็นว่าการคอร์รัปชันมีกระทบถึงทุกคนในสังคม และหวังจะกระตุ้นให้เกิดการตระหนักคิดได้บ้าง" ไพศาล สรุป

ขุดรากคอร์รัปชัน

ส่วนหนึ่งของโครงการเป็นการจัดการเสวนาในหัวข้อ 'สังคมไทยกับการคอร์รัปชัน' ซึ่งจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 17 พฤศจิกายน เพื่อมองลึกลงไปถึงกำเนิดและพัฒนาการของกระบวนการคอร์รัปชันในสังคมไทย

ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอว่า การคอร์รัปชันมีมา 3-4 พันปีแล้ว โดยมีหลักฐานจากคัมภีร์ศาสนาโบราณที่เปรียบคอร์รัปชันเหมือน “น้ำผึ้งที่อยู่ตรงปลายลิ้น เราจะอดใจได้หรือที่จะไม่ตวัดเข้าปาก”

ประเด็นเรื่องคอร์รัปชันมีการต่อต้านกันอย่างรุนแรงในสมัยกรีกโบราณ ที่กรุงเอเธนส์ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยทางตรง ทุกคนมีอำนาจโดยตรงที่จะกำหนดเรื่องราวของบ้านเมืองโดยไม่ต้องมีตัวแทนหรือส.ส. ปรากฏว่ามีประเด็นร้องเรียนเรื่องมีคนเอาสมบัติของพลเมืองไปใช้ส่วนตัวมากมาย อาจจะมากกว่าปัจจุบันด้วยซ้ำ ขณะเดียวกัน การกล่าวหาว่าคอร์รัปชันก็เป็นอาวุธในการโจมตีคู่ต่อสู้ทางการเมืองด้วย

ในระบอบประชาธิปไตยเมื่อพูดถึงปัญหาคอร์รัปชันมักจะเน้นไปที่นักการเมืองหรือเจ้าหน้าที่รัฐ แต่โดยหลักการพื้นฐานผู้มีอำนาจทางการเมืองที่แท้จริงคือประชาชน ดังนั้น หากประชาชนไม่เป็น 'พลเมือง' ไม่มีความรู้สึกว่าเป็นเจ้าของสิ่งที่เป็นประโยชน์สาธารณะร่วมกัน ประชาชนฉ้อฉลตัวเองตั้งแต่ต้น นั่นคือไม่เหลืออะไรเลย

"แม้แต่ในระบบการศึกษาก็มีการฉ้อฉล เห็นได้จากโครงการปริญญาโทและปริญญาเอกภาคพิเศษของมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่อ้างว่าต้องหารายเลี้ยงตัวเอง มีการเก็บค่าเล่าเรียนแพงๆ ขณะที่การเรียนการสอนเป็นไปแบบ 'เรียนสนุก ลุกสบาย จ่ายครบ จบแน่' ขอให้จ่ายเงินก็ได้ปริญญาแน่ๆ" ดร.ไชยันต์ กล่าว

"คำถามว่าคอร์รัปชันมันอยู่ในสายเลือดคนไทยไปแล้วหรือ อันนี้เป็นคำที่สาหัสมาก ไม่ใช่หรอก ใครจะเป็นหมาตั้งแต่กำเนิด มันไม่ได้อยู่ในสายเลือดไม่ได้อยู่ในยีน เป็นเรื่องของการเรียนรู้และวิวัฒนาการ" อาจารย์แก้วสรร อติโพธิ เลขานุการคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) เปิดประเด็นว่าด้วยการที่มาที่ไปของคอร์รัปชันในสังคมไทย

'ประชาชนที่ไม่ยอมเป็นพลเมือง' คือสิ่งที่ทำให้คอร์รัปชันเติบโตในสังคมไทย

"เวลาออกจากบ้านช่วยใส่หมวกพลเมืองกันบ้าง อย่าเป็นแต่ปัจเจก แต่ละคนอยู่ในบ้านสวย แต่พอออกนอกบ้านก็จะเจอถนนที่ไม่ซ่อม เจอศาลพระภูมิทิ้ง เจอเด็กไม่ได้รับการดูแลติดยาอยู่ใต้สะพาน ทั้งหมดนี้เกิดจากคอร์รัปชัน เริ่มตั้งแต่ประชาชนที่ไม่ยอมเป็นพลเมือง นี่คือชะตากรรมของทุกบ้านเมืองถ้าเราไม่สามารถประคองหรือตั้งหลักได้ แต่ถ้าประชาชนสามารถมีตัวตน เข้มแข็ง ไม่ใช่ก้อนกรวดแต่เป็นคอนกรีต วิกฤติไหนมาก็ไม่ต้องกลัว ฟื้นได้ เยอรมนีทำไมฟื้นได้ ญี่ปุ่นทำไมฟื้นได้ เกาหลีทำไมขึ้นมาได้ ไม่ใช่เพราะจูมง เพราะประชาชนพลเมืองต่างหาก หันมามองคิดอ่านว่าบ้านเมืองเป็นยังไง ตรงนี้เป็นจุดที่จะฝ่าวิกฤติไปได้"

ด้าน ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ รองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์มติชน เสนอว่า กรณีฉ้อราษฎร์บังหลวงนั้นมีมานานในสังคมไทย ข้าราชการหลอกชาวบ้าน ผู้พิพากษาถูกไล่ออกมีมานานแล้ว แต่ในปัจจุบันปัญหานี้มีมากขึ้น เห็นได้จากผลสำรวจขององค์กรเพื่อความโปร่งใสระหว่างประเทศ และดูจากข้อร้องเรียนที่มีไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตั้งแต่ปี 2542 ซึ่งเป็นปีแรกของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต จนถึงปัจจุบันมีเรื่องที่ร้องเรียนเกือบ 20,000 เรื่อง รวมถึงจากผลสำรวจในหัวข้อ 'ถ้ารัฐบาลมีคอร์รัปชัน คุณรับได้ไหม' ร้อยละ 51 ตอบว่ายอมรับได้ถ้าทำให้ชีวิตดีขึ้น

"กับประโยคที่ว่าอย่าไปพูดถึงประชาธิปไตย ตราบที่คนไทยท้องยังหิว มันหิวจริงรึเปล่า อินเดียคนเขาอดอยากกว่าเรามากทีเดียวแต่ประชาธิปไตยค่อนข้างเข้มแข็ง ยิ่งหิวยิ่งต้องออกมาเรียกร้องสิทธิของตนเอง ที่เขายังไม่ออกมาน่าจะเพราะเขายังกลัว ยังไม่กล้า การบังคับใช้ กฎหมายนอกจากกระบวนการยุติธรรมแล้วก็ ตัวเราเองนี่แหละ แต่มันเหนื่อย เท่านั้นเอง"

เขาเสนอด้วยว่า ระบบประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง ระบบประชาธิปไตยอีกความหมายหนึ่งคือการจัดสรรทรัพยากรอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม ทรัพยากรไม่ได้หมายถึงที่ดิน หรือเงิน แต่หมายถึง 'สิทธิและหน้าที่' ถ้ากระบวนการการเมืองสามารถจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นธรรมได้นั่นคือประชาธิปไตยที่เหมาะสมที่สุด

เมื่อศิลปะปะทะคอร์รัปชัน

เมื่อพูดถึงศิลปะกับการคอร์รัปชัน 'การ์ตูนการเมือง' คือแนวหน้ากล้าตายของศิลปะที่ออกไปปะทะกับการเมืองเป็นอย่างแรกๆ ชัยวัฒน์ สุวัฒนรัตน์ หรือ 'กุ่ย' การ์ตูนนิสต์การเมืองประจำหนังสือพิมพ์คมชัดลึก เล่าว่า การ์ตูนการเมืองเข้ามาทำหน้าที่ที่ภาพถ่ายไม่สามารถทำได้ เช่น การเพิ่มเติมองค์ประกอบของภาพบางอย่างเพื่อเน้นบุคลิกและพฤติกรรมของนักการเมืองแต่ละคน

"เนื้อข่าวคือความจริง ส่วนการ์ตูนการเมืองมันจะเหมือนกับเป็นทางออกของคนอ่านและก็คนทำข่าวด้วย บางทีก็รู้อยู่ว่ามันโกง สัญญาสารพัดแต่เบื้องหลังโกงกิน เราก็ใช้การ์ตูนเป็นทางออกของนักข่าว ใช้การ์ตูนในการเสียดสี ใช้การ์ตูนในการฟ้องผู้อ่าน อย่างกรณีนักการเมืองออกมาโวยเรื่องถูกตัดสิทธิ แต่สมัยฆ่าตัดตอนคุณเงียบเพราะตอนนั้นพรรคคุณทำ ข้อดีของการ์ตูนคือมันสามารถเล่าเรื่องย้อนหลังได้ด้วย เหมือนกับการฟ้องประชาชนว่านักการเมืองกำลังจะทำอะไร" ชัยวัฒน์ กล่าว

นอกเหนือจากการเสวนาปัญหาคอร์รัปชันแล้ว ในโครงการ 'ศิลปะแห่งการคอร์รัปชัน' ศิลปะหลากหลายสาขาจะได้โอกาสในการสะท้อนปัญหาคอร์รัปชันในสังคมไทย โดยมีการเชื้อเชิญศิลปินหลากสาขาหลายวัย มาสร้างสรรค์ผลงานที่สะท้อนปัญหาเรื่องการฉ้อโกงและผลกระทบต่างๆ ที่สืบเนื่องจากกลไกการฉ้อโกงการโกงกินที่มีปรากฏอยู่ในสังคม ในรูปแบบนิทรรศการ 'ศิลปะแห่งการคอร์รัปชัน' ที่แสดงออกผ่านผลงานศิลปะจากศิลปินจำนวน 10 คนที่ได้รับการคัดเลือกเชื้อเชิญเข้าร่วมโครงการ ได้แก่ ขวัญสรวง อติโพธิ,กมล เผ่าสวัสดิ์, วสันต์ สิทธิเขตต์, มานิต ศรีวานิชภูมิ, อิ๋ง กาญจนะวณิชย์, สุธี คุณาวิชยานนท์, สาครินทร์ เครืออ่อน,วิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์, พรทวีศักดิ์ ริมสกุล และพรรษา พุทธรักษา 



ผลงานที่จะปรากฏในนิทรรศการศิลปกรรม 'ศิลปะแห่งการคอร์รัปชัน' จะมุ่งเน้นไปที่การกระตุ้นเร้าอารมณ์ความรู้สึกของผู้ชมให้ร่วมตระหนักขบคิดถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากการฉ้อโกงทั้งหลาย โดยเฉพาะผลกระทบจากการฉ้อโกงที่รุนแรงที่สุดคือการทำให้เพื่อนมนุษย์ต้องสูญเสียชีวิต และสังคมถดถอย ไร้เสถียรภาพ

เนื้อหาของนิทรรศการจะมุ่งถ่ายทอดเนื้อหาที่ครอบคลุมถึง 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 'สำรวจอดีต' ว่าด้วยความเป็นมาของรากเหง้าต้นกำเนิดการฉ้อฉลโกงกิน 'สะท้อนปัจจุบัน' ว่าด้วยสถานการณ์ความสลับซับซ้อนซ่อนเงื่อนเกินกว่าจินตนาการของประชาชนทั่วไปจะจับได้-ไล่ทัน และส่วนสุดท้าย 'มองอนาคต' เพื่อพินิจดูว่าสังคมไทยจะเป็นอย่างไรสืบไป หากสภาพสังคมยังคงอุดมไปด้วยการฉ้อโกงในทุกระดับ โดยจะถ่ายทอดองค์ความรู้นี้ผ่านนิทรรศการศิลปกรรม พร้อมศิลปะการแสดงอื่นๆ ตลอดภายในงาน

"ตอนนี้เท่าที่ทราบอาจารย์กมล เผ่าสวัสดิ์ จะทำถ้วยรางวัลคอร์รัปชันดีเด่น มานิต ศรีวานิชภูมิ จะหยิบเหตุการณ์ที่จังหวัดระยองที่เด็กในหมู่บ้านได้รับผลจากการคอร์รัปชันมีการปล่อยน้ำเสียจากโรงงานทำให้เด็กเจ็บป่วยเป็นโรคผิวหนัง โรคทางเดินหายใจ เขาก็ทำเป็นบ้านสีดำ เอารูปเด็กติดในบ้านแล้วคนดูต้องใช้ไฟฉายส่องแทนความมืดมนของอนาคตเด็กและอนาคตของสังคมไทย ส่วนของสุธี คุณาวิชยานนท์ จะทำวอลล์เปเปอร์สะท้อนปัญหาคอร์รัปชัน" ไพศาล ธีรพงศ์วิษณุพร ภัณฑารักษ์ของโครงการ กล่าว

ขณะที่ ใบปิด/โปสเตอร์ เป็นศิลปะอีกแขนงที่จะมาร่วมสะท้อนปัญหาคอร์รัปชัน เพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งของการสื่อสารกับผู้ชมวงกว้างทั้งประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ-ภาคเอกชน ได้รับรู้ถึงพิษภัยของการฉ้อโกง โครงงานในส่วนนี้ได้เชื้อเชิญและมอบหมายให้นักออกแบบชั้นนำของไทยมาช่วยกันออกแบบใบปิด/โปสเตอร์ เพื่อใช้ในการเผยแพร่เนื้อหาโครงการครั้งนี้

ศิลปินที่มาร่วมออกแบบใบปิด/โปสเตอร์ ได้แก่ ศิวะ ศิริฤทธิชัย, อนุทิน วงศ์สรรคกร, เอกลักษณ์ เพียรพนาเวช, วิเชียร โต๋ว, กนกนุช ศิลปวิศวกุล, สันติ ลอรัชวี, สำเร็จ จารุอมรจิต และ บี อาส เฟรนด์ สตูดิโอ

โครงการนี้ ยังรวมไปถึงการสรุปบทเรียนในรูปแบบหนังสือ 'รู้เท่าทันการคอร์รัปชัน' เป็นเอกสารที่มุ่งรวบรวมเนื้อหาข้อมูล เพื่อมุ่งเน้นให้ความรู้ สร้างความเข้าใจกับประชาชนต่อเรื่องราวของการฉ้อโกง ที่อุบัติเกิดขึ้นในสังคมไทยยุคปัจจุบัน ซึ่งเต็มไปด้วยความสลับซับซ้อน ความฉลาดหลักแหลมแยบยล และความยอกย้อนซ่อนเงื่อนหลากหลายรูปแบบกลวิธี จนยากแก่การสะสางแก้ไข หรือปราบปรามทำลายให้หมดหายไปจากสังคมโดยง่ายดายได้ ซึ่งจะจัดพิมพ์จำนวน 1,000 เล่มเพื่อแจกจ่ายภายในงานนิทรรศการที่จะจัดขึ้น

นิทรรศการศิลปกรรมและโปสเตอร์จะจัดแสดง ณ ห้องโถงชั้นล่าง ภายในตัวอาคาร ทีพีไอ ทาวเวอร์ หัวมุมถนน นราธิวาสราชนครินทร์ ตัดกับถนนจันทร์ ตั้งแต่วันอังคารที่ 11 ธันวาคม 2550 ถึงวันอาทิตย์ที่ 20 มกราคม 2551 ระหว่างเวลา 10.30-19.30 น. โดยในวันเปิดงานจะมีการเสวนาว่าด้วยสื่อกับการคอร์รัปชันด้วย

เป็นอีกครั้งที่วงการศิลปะก้าวกระโดดออกจากโลกของจินตนาการสู่โลกของความเป็นจริง และขยับตัวร่วมมือกับองคาพยพอื่นๆ เพื่อผลักดันสังคมไทยไปสู่ภาวะที่ดีกว่า

1 ความคิดเห็น:

ckg5555@gmail.com กล่าวว่า...

สังคมโลกกำลังเผชิญภัยคุกคามหลายอย่าง คอร์รัปชันเป็นภัยคุกคามตั้งแต่ระดับปัจเจกบุคคล จนถึงประเทศ ประชาคมโลก ประวัติศาสตร์หรือข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ชี้ชัดให้เห็นถึงโทษ ภัยคุกคามนี้ที่บิดเบือนการปกครองให้ประโยชน์ตกแก่ผู้มีอำนาจเพียงไม่กี่กลุ่ม ไม่กี่คน ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นผู้แบกรับภาระเพื่อประโยชน์ของคนส่วนน้อย
http://www.positive4thailand.com/2013/07/international-community-130721.html

แสดงความคิดเห็น