11:15

บุหรี่กับความยากจน : วงจรแห่งความชั่วร้าย

โดย สุชาดา ตั้งทางธรรม 
สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช 
 มติชนรายวัน วันที่ 01 มิถุนายน พ.ศ. 2547 ปีที่ 27 ฉบับที่ 9580


บทความนี้มีที่มาจากรายงานเรื่อง Tobacco and Poverty : A Vicious Circle ที่องค์การอนามัยโลก(WHO) ได้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นประเด็นให้พิจารณาสำหรับวันงดสูบบุหรี่โลก 31 พฤษภาคมศกนี้

รายงานฉบับนี้ชี้ให้เห็นวงจรชั่วร้าย หรือวงจรอุบาทว์ที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างบุหรี่กับความยากจนที่เกิดขึ้น ในประเทศกำลังพัฒนา สรุปว่ามีใครบ้างที่ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการสูบบุหรี่ ใครที่ได้ประโยชน์มากที่สุด และในตอนท้ายได้สรุปว่าการควบคุมการบริโภคยาสูบเป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกประเทศต้องดำเนินการ


  เป็นที่ทราบกันดีว่าการสูบบุหรี่นอกจากจะทำให้ผู้สูบเสียค่าใช้จ่ายโดยไม่เกิดประโยชน์แล้ว ยังชักนำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บและการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ในทุกประเทศผู้สูบบุหรี่ส่วนใหญ่จะเป็นคนจน การสูบบุหรี่จึงทำให้ยิ่งจนลงไปอีก เกิดเป็น วงจรชั่วร้าย เชื่อมโยงความยากจนกับการสูบบุหรี่อย่างไม่สิ้นสุด
ปัจจุบันมีผู้สูบบุหรี่ทั่วโลกประมาณ 1,300 ล้านคน ในจำนวนนี้ร้อยละ 84 อยู่ในประเทศกำลังพัฒนาและประเทศที่มีการปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจ สถิติจากเว็บไซต์ของธนาคารโลก(www.worldbank.org/tobacco)

แสดงให้เห็นว่านับตั้งแต่เดือนมกราคม 2543 เป็นต้นมาจนถึงขณะนี้มีผู้เสียชีวิต ด้วยโรคอันเนื่องมาจากการสูบบุหรี่แล้วประมาณ 17.7 ล้านคน
ใครรับภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น

องค์การอนามัยโลกระบุว่าการสูบบุหรี่นอกจากจะทำให้ผู้สูบยากจนลงแล้วยังทำให้ประเทศยากจนลงด้วย
การที่ผู้สูบส่วนใหญ่มีรายได้น้อย การสูบบุหรี่จึงทำให้ผู้สูบและครอบครัวยากจนลง เงินที่ทำมาซื้อบุหรี่จะมี "ค่าเสียโอกาส(opportunity cost)" สูง เนื่องจากไปเบียดบังเอามาจากส่วนที่ควรนำไปจับจ่ายใช้สอยในสิ่งอื่นที่จำเป็น เช่น การใช้จ่ายสำหรับปัจจัยพื้นฐานอันได้แก่ อาหาร ที่อยู่อาศัย การศึกษา และสุขภาพเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น

นี่ยังไม่นับรวมเงินรายได้ที่ขาดหายไปเนื่องจากการเจ็บป่วยที่ทำให้ไม่สามารถทำงานได้ และเงินค่ารักษาพยาบาลอีกส่วนหนึ่งที่ต้องสูญเสียไปกับการรักษาโรคอันเนื่องมาจากการสูบบุหรี่
พิจารณาผลกระทบโดยรวม การสูบบุหรี่ทำให้ประเทศที่ยากจนต้องจนลงไปอีก เพราะนอกจากจะต้องใช้เงินจำนวนมากในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยด้วยโรคอันเนื่องจากมาจากการสูบบุหรี่แล้ว ความสามารถในการผลิตของประเทศก็ลดลงเนื่องจากกำลังแรงงานเกิดเจ็บป่วยและเสียชีวิตก่อนวัยอันควรด้วย
การนำเข้าผลิตภัณฑ์ยาสูบยังทำให้หลายประเทศต้องสูญเสียเงินตราต่างประเทศจำนวนมากในแต่ละปี ในปี 2545 มีการศึกษาพบว่าจากประเทศที่สำรวจรวม 161 ประเทศ 2 ใน 3 มีมูลค่าการนำเข้าใบยาสูบและผลิตภัณฑ์ยาสูบมากกว่าการส่งออก

ในจำนวนนี้มีประเทศที่ขาดดุลการค้าสำหรับสินค้านี้มากกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐถึง 19 ประเทศ และหนึ่งในจำนวนนั้นก็คือ กัมพูชา ประเทศเพื่อนบ้านที่ยากจนของเราด้วย
สำหรับประเทศที่มีการปลูกยาสูบจำนวนมาก การใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงได้กลายเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพของประชาชน และก่อความเสียหายอย่างมากต่อสิ่งแวดล้อม ในปี 2542 มีการศึกษาพบว่าเกือบร้อยละ 5 ของการตัดไม้ทำลายป่าในประเทศกำลังพัฒนามีสาเหตุสำคัญมาจากการปลูกยาสูบ
ใครได้ประโยชน์มากที่สุด

ในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมาทั่วโลกได้มีการผลิตและการบริโภคยาสูบเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนามีอัตราการเติบโตถึงร้อยละ 128 ในช่วงปี 2518-2541
ในปี 2545 บรรษัทบุหรี่ข้ามชาติ 3 ยักษ์ใหญ่ คือ Phillip Morris, Japan Tobacco และ British American Tobacco มีสถิติยอดจำหน่ายรวมกันถึงกว่า 121,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เปรียบเทียบง่ายๆ ก็คือสูงกว่างบประมาณแผ่นดินของประเทศไทยในปีเดียวกันถึงกว่า 4 เท่า หรือเกือบ 5 เท่าเลยทีเดียว
มักมีการกล่าวกันว่าอุตสาหกรรมยาสูบมีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศ เพราะก่อให้เกิดการจ้างงานและรัฐบาลมีรายได้จากภาษีอากรที่จัดเก็บ ผู้นำรัฐบาลหลายประเทศทั้งประเทศที่ร่ำรวยและยากจนจึงมักมีทีท่าสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้

อย่างไรก็ตาม จากผลการศึกษาของประเทศต่างๆ หลายประเทศทั่วโลก องค์การอนามัยโลกได้สรุปว่าต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ผู้สูบบุหรี่และครอบครัว และสังคมหรือประเทศชาติโดยรวมต้องรับภาระมีมากกว่าผลประโยชน์ที่ได้รับ

ปัญหาเรื่องบุหรี่ไม่ใช่เป็นเพียงปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพของผู้สูบเท่านั้น แต่ยังเป็นปัญหาเศรษฐกิจสำคัญที่ทำให้ชาวไร่ผู้ปลูกยาสูบ ผู้บริโภคหรือผู้สูบ และประเทศยากจนทั้งหลายต้องจนลงไปอีก เป็นภาระหนักของประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศที่ส่วนหนึ่งก็มีภาระต้องต่อสู้กับปัญหาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ อันได้แก่ โรคเอดส์ วัณโรค และมาลาเรียอยู่แล้วในปัจจุบัน
การควบคุมการบริโภคยาสูบจึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นที่รัฐบาลทุกประเทศต้องพิจารณาดำเนินการอย่างจริงจัง

เมื่อปีที่ผ่านมาองค์การอนามัยโลกได้ร่วมกับองค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา(OECD) จัดทำรายงานเสนอแนวทางในการพิจารณาให้ความช่วยเหลือและพัฒนาแก่ประเทศต่างๆ โดยตระหนักเป็นอย่างดีว่าบุหรี่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมากกับความยากจน และเสนอให้องค์กรพัฒนาทั้งหลายถือปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าว ควบคู่ไปกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน และอื่นๆ เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายในเรื่องนี้

ในการประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลกเมื่อเดือนพฤษภาคม 2539 ประเทศสมาชิกหลายประเทศได้เรียกร้องให้มีการจัดทำ กรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ(Framework Convention on Tobacco Control) ขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือในการสกัดกั้นมิให้ยาสูบแพร่กระจายออกไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศร่ำรวยไปสู่ประเทศยากจน

ได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาร่างกรอบอนุสัญญาดังกล่าวหลายครั้ง และเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว ผู้แทนประเทศสมาชิกทั้ง 192 ประเทศ ก็ได้มีมติรับรองอย่างเป็นเอกฉันท์
กรอบอนุสัญญานี้ถือเป็นสนธิสัญญาด้านสาธารณสุขฉบับแรก ที่มีการตกลงระหว่างประเทศสมาชิก ที่จะยึดถือปฏิบัติร่วมกัน มาตรการต่างๆ ที่กำหนดในกรอบอนุสัญญาแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่น ที่จะร่วมกันปกป้องคุ้มครองสุขภาพของประชาชนทั่วโลกให้พ้นจากพิษภัยของยาสูบ ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะทำให้ประชาคมโลกได้ตระหนักถึงพิษภัยของบุหรี่ทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ
กรอบอนุสัญญายังได้คำนึงถึงความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องให้ความช่วยเหลือแก่ชาวไร่ผู้ปลูกยาสูบ ตลอดจนผู้ใช้แรงงานทั้งหลายที่ทำงานในอุตสาหกรรมยาสูบที่จะได้รับผลกระทบอันเนื่องมาจากการดำเนินมาตรการต่างๆ ในการควบคุมการบริโภคยาสูบด้วย

องค์กรระหว่างประเทศอีกองค์กรหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญก็คือธนาคารโลก ธนาคารโลกตระหนักถึงภัยของยาสูบเป็นอย่างดีจึงได้กำหนดนโยบายไว้อย่างชัดเจนตั้งแต่ปี 2534 แล้วว่าจะไม่สนับสนุนให้เกิดการผลิต การนำเข้า หรือการตลาดสำหรับสินค้านี้อีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นเพื่อการบริโภคภายในประเทศหรือเพื่อการส่งออก

สำหรับประเทศที่มีรายได้สำคัญจากการส่งออกใบยาสูบก็มีนโยบายส่งเสริมให้ปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน
ในปี 2542 ธนาคารโลกได้จัดพิมพ์รายงานสำคัญเรื่องหนึ่ง คือ Curbing the Epidemic : Governmetns and the Economics of Tobacco Control ซึ่งสถาบันควบคุมการบริโภคยาสูบกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้สนับสนุนให้แปลเป็นภาษาไทยในชื่อว่า หยุดการแพร่ภัยบุหรี่ : สิ่งที่รัฐต้องทำและผลได้ผลเสียทางเศรษฐกิจของการควบคุมยาสูบ

รายงานนี้ได้กล่าวถึงแง่มุมต่างๆ ทางเศรษฐศาสตร์และชี้ให้เห็นความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการในการควบคุมยาสูบ จากมาตรการต่างๆ ที่กำหนด ภาษีอากรถือเป็นมาตรการสำคัญที่สุดมาตรการหนึ่งที่ธนาคารโลกได้เสนอแนะให้ดำเนินการ
ประเทศไทยได้นำเอามาตรการทางภาษีมาใช้แก้ปัญหาในเรื่องนี้แล้วหลายปีก่อนที่ธนาคารโลกจะเสนอแนะ
ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาได้มีการปรับอัตราภาษีบุหรี่ขึ้นหลายครั้งจากร้อยละ 55 ในปี 2533 มาเป็นร้อยละ 75 ในปัจจุบัน
เหตุผลในการขอปรับก็มีทั้งเหตุผลด้านสุขภาพและเพื่อหารายได้เข้ารัฐ
และผลลัพธ์ที่ได้คือนอกจากจะช่วยสกัดกั้นไม่ให้เยาวชนสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นแล้ว รัฐบาลยังมีรายได้จากภาษีอากรเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งจะเห็นได้จากสถิติการจัดเก็บภาษียาสูบที่ผ่านมา
นอกจากมาตรการดังกล่าวแล้ว ประเทศเรายังล้ำหน้าประเทศอื่นหลายประเทศ ที่รัฐบาลได้มองการณ์ไกล โดยอนุมัติจัดสรรเงินรายได้ส่วนหนึ่ง ที่ได้จากภาษีสุรา และยาสูบมาจัดตั้งเป็นกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ

ถึงแม้จะเพิ่งบุกเบิกงานได้ไม่นาน หน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลการดำเนินงานของกองทุนนี้ ก็สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเป็นที่ยอมรับของบุคคลทั่วไปที่หวังเห็นสังคมไทยเป็นสังคมที่อยู่ดีมีสุข
วันงดสูบบุหรี่โลกจะมีความหมายและมีคุณค่าอย่างมาก หากรัฐมนตรีและผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในกระทรวง และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะเข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเป็นองค์รวมและช่วยกันเร่งหาทางแก้ไข เพื่อให้คนไทย/ประเทศไทยได้หลุดพ้นจากบ่วงวงจรชั่วร้ายระหว่างบุหรี่กับความยากจนอย่างแท้จริง

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น