13:22

มรดกที่ปฏิเสธไม่ได้

ผู้เขียน : ภาวัน 
ที่มา : นิตยสาร IMAGE ฉบับเดือน มิถุนายน 2554


dna

รู้กันมานานแล้วว่า พ่อแม่สามารถมีอิทธิพลต่อลูกได้ ทั้งรูปร่าง สุขภาพ และนิสัยใจคอ โดยผ่านทางสายเลือด(หรือพันธุกรรม) กับการเลี้ยงดู ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม เช่น การสร้างบรรยากาศแวดล้อม หรือการประพฤติตัวให้เด็กเห็นโดยไม่ตั้งใจ

แต่เพิ่งไม่นานมานี้เองที่เราพบว่าพ่อแม่สามารถถ่ายทอดคุณสมบัติบางอย่างให้ลูกโดยกลไกอย่างอื่นได้ด้วย ยิ่งกว่านั้นคุณสมบัติดังกล่าวยังสามารถ่ายทอดไปยังหลานและเหลนได้อีก แม้จะไม่เคยเห็นหน้าค่าตากันเลย

การค้นพบดังกล่าวมาจากหลายทิศทาง หนึ่งในนั้นก็คือการวิจัยเกี่ยวกับหนู ที่ออสเตรเลียมีการเลี้ยงหนูตัวผู้ด้วยอาหารอุดมไขมัน จนตัวอ้วนฉุและกลายเป็นโรคเบาหวาน(ประเภทที่ ๒ ซึ่งไม่ได้เกิดจากกรรมพันธุ์) ที่น่าแปลกใจก็คือลูกเพศเมียของหนูเหล่านี้เมื่อโตขึ้นก็เป็นเบาหวานประเภทเดียวกัน ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยกินอาหารอุดมไขมันเลย และแม้ว่าแม่ของพวกมันมีน้ำหนักปกติและกินอาหารที่มีคุณภาพดีขณะตั้งท้องก็ตาม






ตามปกติอาหารที่แม่กินย่อมมีผลต่อสุขภาพของลูกเมื่อโตขึ้นเพราะมีสายรกเป็นตัวเชื่อม แต่ในกรณีนี้สุขภาพของลูกกลับเป็นผลมาจากสุขภาพของพ่อ คำถามก็คือมันเป็นไปได้อย่างไรในเมื่อพ่อไม่เคยสัมผัสกับลูกเลย แล้วเขาก็พบว่าน้ำเชื้อของพ่อคือต้นเหตุ อาหารอุดมไขมันของพ่อได้เปลี่ยนแปลงคุณสมบัติบางประการในน้ำเชื้อของมัน ซึ่งทำให้เกิดเบาหวานในตัวลูก การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมิใช่การเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม เพราะยีน(หรือการเรียงตัวของดีเอ็นเอ)ยังเหมือนเดิม แต่มีการทำงานที่เปลี่ยนไปในบางจุด คือยีนบางตัวที่ควรทำงานแต่กลับไม่ทำงาน ขณะที่ยีนตัวอื่นไม่ควรทำงานแต่กลับทำงาน

ที่ชิคาโกมีการศึกษาความเปลี่ยนแปลงของหนูเช่นกัน แต่เน้นพฤติกรรมของมันแทนที่จะเป็นเรื่องสุขภาพ เขาให้หนูเพศเมียอายุ ๑๕ วันวิ่งเล่นเป็นเวลา ๒ สัปดาห์ในสิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นเร้าผัสสะ เช่น มีจักรให้ถีบ มีของแปลก ๆ ใหม่ ๆ ให้เล่น และมีกิจกรรมมากมายให้ทำ ผลก็คือหนูเหล่านี้มีความจำดีและเรียนรู้ไว นั่นไม่ใช่เรื่องแปลก ที่แปลกก็คือ ลูกของหนูเหล่านี้มีความจำดีและเรียนรู้ไวเหมือนแม่ ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยอยู่ในบรรยากาศแวดล้อมที่กระตุ้นเร้าความสนใจอย่างที่แม่ประสบเลย

กรณีดังกล่าวชี้ว่านอกจากคุณสมบัติทางพันธุกรรมแล้ว คุณสมบัติที่เกิดจากประสบการณ์ของแม่สามารถถ่ายทอดไปยังลูกได้ ทั้งนี้โดยผ่านความเปลี่ยนแปลงในไข่ของแม่ กรณีนี้ยังสะท้อนว่า สิ่งแวดล้อมที่หล่อหลอมพฤติกรรมของแม่นั้นสามารถส่งผลข้ามไปถึงตัวลูกได้ด้วย

ไม่ใช่แต่หนูเท่านั้น การศึกษาเกี่ยวกับมนุษย์ก็ให้ข้อสรุปสอดคล้องกัน และชี้ว่าผลกระทบนั้นสามารถต่อเนื่องไปหลายชั่วอายุคนด้วย ที่สวีเดนมีการศึกษาพฤติกรรมสุขภาพของคนในเมืองโอเวอร์คาลิกซ์ (Overkalix) ซึ่งเก็บประวัติการเกิดและตายของประชากรอย่างดีมาก ผู้วิจัยพบว่าหากพ่อเริ่มสูบบุหรี่ก่อนอายุ ๑๑ ปี ลูกชายของเขาจะล่ำอ้วนกว่าลูกชายของคนที่เลิกสูบบุหรี่เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ ขณะเดียวกันผู้ชายที่ขาดอาหารในช่วงอายุ ๘-๑๒ ปี ลูกชายของลูกชายมีโอกาสมากที่จะตายในวัยหนุ่ม ส่วนผู้หญิงที่ขาดอาหารในวัยเด็ก ลูกชายของลูกสาวก็มีแนวโน้มสูงที่จะตายในวัยสาว นอกจากนั้นเขายังพบว่า ผู้ชายคนใดที่กินมากในวัยเด็ก ลูกชายของลูกเขามีแนวโน้มที่จะเป็นโรคเบาหวานและโรคหลอดเลือดหัวใจ

พฤติกรรมและประสบการณ์ของเรานั้นสามารถก่อผลกระทบกว้างไกลกว่าที่เราคิด แม้การศึกษาวิจัยเหล่านี้จะมิใช่บทสรุปที่ชี้ขาด แต่ก็มีความเป็นไปได้มากว่า การกิน การบริโภค และการใช้ชีวิตของเรา ไม่เพียงส่งผลต่อตัวเราและคนรอบข้าง ตลอดจนลูกของเราเท่านั้น แต่ยังสามารถส่งผลไปไกลถึงหลานและอาจถึงเหลนของเราด้วยก็ได้ เขาอาจเป็นเบาหวานหรือโรคหัวใจ ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยกินอาหารตามใจปากหรือสูบบุหรี่เลย แต่เป็นเพราะพฤติกรรมของพ่อแม่หรือปู่ย่าตายายต่างหาก ในทางตรงข้าม หากเราหมั่นดูแลสุขภาพ อารมณ์เย็น ใฝ่รู้ และอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ประเทืองปัญญาและอารมณ์ ก็สามารถส่งผลให้ลูกหลานของเรามีสุขภาพดีและมีสติปัญญาตามไปด้วยก็ได้ แม้เขาไม่มีโอกาสอยู่ในสิ่งแวดล้อมดี ๆ เหมือนเรา

มนุษย์เราต่างมีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างสลับซับซ้อนยิ่ง ทั้งกว้างและไกลไปถึงอนาคตอันกำหนดจุดจบได้ยาก เพียงแค่ดำรงชีวิตอย่างใส่ใจเท่านั้น เราก็สามารถช่วยเหลือผู้คนได้มากมาย การอยู่อย่างมีสติจึงมิได้เป็นประโยชน์ต่อตนเองเท่านั้น หากยังเป็นความรับผิดชอบต่อโลกด้วย

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น