11:05

มองรุสโซในฐานะนักวิพากษ์สังคมสมัยใหม่ (Rousseau as The Modern Social Critic)

มองรุสโซในฐานะนักวิพากษ์สังคมสมัยใหม่
(Rousseau as The Modern Social Critic)
ราม โชติคุต

จัง จ๊าร์ค รุสโซ (Jean-Jacques Rousseau.1712-1778) นับเป็นนักคิด/นักปรัชญาการเมือง ที่มีทัศนะอันเป็นการผสมผสานกันระหว่างความเป็น “โบราณ” (ancient) กับความเป็น”สมัยใหม่” (modern) จนมีผู้ขนานนามว่าเขาเป็น “คนโบราณที่มีจิตใจสมัยใหม่” (An ancient with a modern soul) รุสโซโหยหาเสรีภาพในสภาวะตามธรรมชาติของมนุษย์สมัยโบราณ พร้อมๆกับเชื่อว่า อารยธรรมได้สร้างแอกและพันธการให้กับมนุษย์จนไม่อาจหลีกหนีได้ด้วยหนทางใด แม้แต่วันที่ความตายมาเยือน

“มนุษย์ผู้มีอารยธรรม เกิดและตายเยี่ยงทาส ทารกที่ลืมตาขึ้นมาดูโลก ก็เริ่มถูกห่อหุ้มไว้ด้วยผ้าอ้อม จนกระทั่งแม้กลายเป็นซากศพ เขาก็ยังคงต้องถูกกักขังและตราตรึงไว้อย่างแน่นหนาด้วยฝาโลง ในขณะที่ตลอดช่วงชีวิตของเขานั้น ล้วนถูกพันธนาการไว้ด้วยสถาบันต่างๆที่มีอยู่สังคม”

แม้รุสโซ จะได้ชื่อว่าเป็นนักคิด (thinker) แห่งยุคสมัยภูมิปัญญา (The Enlightenment) แต่ความคิดทางปรัชญาของรุสโซหลายประการ กลับค้านต่อความคิดอันเป็นกระแสหลัก (common view) ของบรรดานักคิดร่วมสมัยของเขา ซึ่งในยุคสมัยนั้น ถือได้ว่าการใช้เหตุผล (Rationality) และมโนทัศน์แบบมนุษย์นิยม (Humanism) เป็นสิ่งที่สำคัญและเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยนำพามนุษย์ไปสู่ความเจริญก้าว หน้า นักคิดในยุคภูมิปัญญา เชื่อมั่นว่าเหตุผลของมนุษย์จะสามารถใช้เป็นเครื่องมือต่อสู้กับความโง่เขลา (ignorance) และมายาคติที่เกิดจากความเชื่อถือสิ่งที่ไร้เหตุผล (superstition) รวมไปถึงการปกครองที่ใช้อำนาจแบบพลการ (tyranny) อันจะนำไปสู่การสร้างโลกใหม่ที่ดีกว่า โดยเป้าหมายหลักของนักคิดในยุคภูมิปัญญาเหล่านี้ ก็คือการคัดค้าน/ต่อต้านการครอบงำสังคมจากอิทธิพลของศาสนจักรโรมันคาทอลิก และการปกครองของคณะขุนนางที่ถ่ายทอดกันผ่านทางสายเลือด




มโนทัศน์ เหล่านี้ อันเป็นเสมือนหัวใจของยุคภูมิปัญญาได้กลายเป็นสิ่งที่รุสโซหยิบยกขึ้นมาตั้ง คำถามและวิพากษ์อย่างเข้มข้น รุสโซแสดงความกังขาต่อพลังอำนาจของการใช้เหตุผล พร้อมๆกับปฏิเสธทัศนะเกี่ยวกับความก้าวหน้าอันเป็นผลที่ติดตามมา รุสโซได้ทวนกระแสความเชื่อมั่นต่อศิลปะวิทยาการ (Arts and Science) ที่จะช่วยให้สังคมมนุษย์เจริญก้าวหน้า พร้อมกับแสดงทัศนะในทางตรงข้ามที่เชื่อว่า ศิลปะวิทยาการกลับจะนำความเสื่อมโทรมทางด้านศีลธรรมมาสู่สังคม รุสโซ ถือได้ว่าเป็นนักคิดคนแรกที่แสดงทัศนะต่อต้านระบบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลใน ที่ดินและในเครื่องมือการผลิต อันเป็นต้นแบบที่สำคัญยิ่งของลัทธิสังคมนิยมในยุคสมัยต่อมา

ความคิด อันเป็นข้อขัดแย้งกับแนวคิดหลักของยุคภูมิปัญญาของรุสโซดังกล่าว ก่อให้เกิดวิวาทะที่สำคัญคือ ท่าทีในการคัดค้านความคิดหลักของยุคภูมิปัญญา อันถือได้ว่าเป็นชุดความคิดหลักของยุคสมัยใหม่ (modernity) ของรุสโซดังกล่าว ทำให้รุสโซกลายเป็นนักคิดที่มีความเป็นโบราณ (ancient) ใช่หรือไม่? หรือโดยเนื้อแท้แล้ว ความคิดเหล่านั้นกลับเป็นสิ่งที่มีความเป็นสมัยใหม่ยิ่งกว่านักคิดร่วมสมัย รายอื่นๆ ?

ในบริบทนี้ นอกจากจะเป็นการสำรวจความคิดของรุสโซในฐานะนักวิพากษ์สังคมสมัยใหม่ในช่วง ศตวรรษที่ 18 ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นยุคสมัยของกระฎุมพี (Bourgeois Society) หรือชนชั้นกลาง แล้วยังจะเป็นการตรวจสอบความคิดอันถือได้ว่าเป็น “สมัยใหม่” และ “โบราณ”ของรุสโซไปพร้อมๆกัน โดยจะให้ความสำคัญกับการวิพากษ์และความคิดที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมให้มี เหตุผลและยุติธรรม อันปรากฏอยู่ใน ความเรียง The First and Second Discourses ซึ่งรุสโซส่งประกวดในการแข่งขันที่จัดขึ้นโดย Academy of Dijon ในปีค.ศ.1750 และ 1754 และถือเป็นงานสองชิ้นแรกที่ทำให้รุสโซเริ่มเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง The Social Contract หรือสัญญาประชาคม อันเป็นผลงานเขียนชิ้นสำคัญของรุสโซ ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ในปีค.ศ.1762 และ Emile ซึ่งเขาเขียนขึ้นในช่วงบั้นปลายชีวิตในปีค.ศ.1762

ผลงานชิ้นนี้เป็นงานเขียนที่ก่อให้เกิดการตอบโต้อย่างรุนแรงจากองค์กรศาสนาและรัฐ จนรุสโซต้องหลบหนีไปอยู่ภายใต้การคุ้มครองของกษัตริย์เฟรเดอริคที่ 2 แห่งปรัสเซียในปีเดียวกันนั้นเอง

ว่าด้วยการวิพากษ์ ‘เหตุผลนิยม’และ ‘มนุษย์นิยม’

รุสโซได้ตั้งคำถามที่สำคัญต่อพลังอำนาจของเหตุผล อันเป็นแกนกลาง/หัวใจของสังคมยุโรปในยุคภูมิปัญญา อันถือเป็นยุคสมัยแห่งการ’ปฏิวัติ’ การให้นิยมของความเป็นสมัยใหม่ (modernity) ไม่ใช่ด้วยสาเหตุมาจากการที่บรรดานักคิดร่วมสมัยในยุคภูมิปัญญาให้ความสำคัญ กับสิ่งนี้มากเกินไป (overestimate) แต่เกิดจากการสังเกตุการณ์ของเขาที่เชื่อว่าการที่บทบาทของเหตุผลเพิ่มมาก ขึ้นในการใช้ชีวิตของมนุษย์ ได้ก่อให้เกิดผลที่น่าหวาดกลัว (disastrous result) ขึ้น รุสโซไม่ได้ปฏิเสธแนวคิดนี้ว่า เหตุผลเป็นสิ่งที่สามารถเอาชนะความโง่เขลา (ignorance) ได้ แต่ก็เชื่อว่าเป็นเพียงแค่ในระดับที่ทำให้มนุษย์เกิดความสงสัย (sceptics) ขึ้นเท่านั้น เหตุผลยังได้ถูกใช้เพื่อการสะกัดกั้น (suppress) และบิดเบือน (distort) การตอบสนองตามธรรมชาติในการแสดงออกซึ่งความเห็นอกเห็นใจและความเมตตาสงสาร กล่าวคือ เหตุผลได้กลายเป็นสิ่งที่บิดเบือนการแสดงออกทางศีลธรรมของมนุษย์อย่างน่า กลัวยิ่งนัก

มุมมองของรุสโซต่อวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ที่เฟื่องฟูอยู่ในยุคภูมิปัญญานั้น ก็มิได้เป็นไปตามกระแสสังคมที่เชื่อว่าตั้งอยู่บนหลักของเหตุและผล แต่กลับมีพื้นฐานที่สำคัญอยู่กับสิ่งที่สังคมสมัยใหม่ (modern society) ไม่ได้ให้การยอมรับ เช่น วิชาดาราศาสตร์ (Astronomy) ที่มีพื้นฐานมาจากโหราศาสตร์ (Astrology) ซึ่งก็คือความเชื่อในพลังเหนือธรรมชาติ (superstition) วิชาคณิตศาสตร์ (Mathematics) จากการก่อหนี้สิ้น (accounting) อันเป็นผลมาจากความโลภของมนุษย์ กฎหมาย (Law) ก็เป็นผลที่เกิดขึ้นโดยตรงจากความไม่เท่าเทียม (inequality) และความอยุติธรรม (injustice) ในสังคมมนุษย์ ขณะเดียวกัน ความก้าวล้ำหน้าในเทคโนโลยีการทำสงคราม ได้เข้ามาแทนที่/บดบังความกล้าหาญของทหาร ที่ร้ายกาจที่สุดก็คือ ความก้าวหน้าทางด้านการแพทย์แผนใหม่ ได้ทำลายความสามารถของมนุษย์ที่จะเผชิญหน้ากับความตาย (capacity to face death)

“ข้าพเจ้าไม่อาจทราบได้ว่าแพทย์รักษาโรคภัยให้กับเราได้อย่าง ไรกัน แต่ข้าพเจ้ารู้ดีว่า พวกหมอได้ทำให้เราติดเชื้อโรคร้ายแรงหลายชนิดเข้าไป นั่นคือ การไร้ความกล้าที่จะเผชิญกับอันตราย ความขลาดเขลา การเชื่อคนง่ายเกินไป และความหวาดหวั่นต่อความตาย จะเกิดอะไรขึ้นหากพวกแพทย์สามารถทำให้คนตายลุกขึ้นมาเดินได้ เราคงไม่อยากได้ประชากรที่เป็นซากศพ เพราะพวกเขาไม่มีความเป็นมนุษย์ ซึ่งถือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับพวกเรา”

นักคิดร่วมสมัยเดียวกับรุสโซ จำนวนมาก โดยเฉพาะในฝรั่งเศส ให้ความสำคัญกับความเชื่อของจอห์น ล็อค (John Locke .1632-1704) นักปรัชญาชาวอังกฤษ ซึ่งพยายามแสดงให้เห็นว่า จิตใจมนุษย์สามารถที่จะสร้างภาพอันสัมพันธ์กัน (coherent picture) ของโลกผ่านประสาทสัมผัส (sense-perception) โดยไม่จำเป็นต้องพึ่ง”มโนภาพแต่กำเนิด” (innate ideas) แต่อย่างใด

แนว คิดนี้มีความสำคัญต่อความเชื่อมั่นอย่างสูงต่อความสามารถในการปรับตัวให้ เหมาะสมของจิตใจมนุษย์ (adaptability of the human mind) และเป็นการเปิดทางไปสู่การปฏิรูปทางสังคมโดยผ่านการศึกษาและกระบวนการสังคม ประกิต (socialisation) ที่เหมาะสม ในขณะเดียวกัน ก็ได้ก่อให้เกิดความหวาดเกรงที่สำคัญคือ การที่แนวคิดดังกล่าวสนับสนุนความคิดแบบอเทวนิยม (athetic tendencies) หรือการไม่เชื่อถือในบทบาทของพระผู้เป็นเจ้า อันเป็นรากฐานอันสำคัญของสถาบันคริสตจักร

ย่อมเป็นที่แน่นอน รุสโซได้ปฏิเสธแนวคิดอันแพร่หลายดังกล่าว ด้วยความเชื่อว่า ลักษณะอันอ่อนไหวได้ง่ายของจิตใจ (plasticity of mind) กลับจะเป็นการทำให้จิตใจของมนุษย์สามารถถูกลดคุณค่าลงได้อย่างไม่จบสิ้น (infinitely degraded) พร้อมกับนำไปสู่คำถามที่สำคัญคือ ค่านิยม (values) ใดคือสิ่งที่ถูกต้อง/เหมาะสม ที่จะถูกนำเสนอผ่านกระบวนการสังคมประกิตและการศึกษา? ด้วยความหวั่นเกรงว่า ผู้ที่รับความรู้ความเข้าใจและคุณค่าผ่านกระบวนการดังกล่าว อาจกลับกลายเป็น”เหยื่อ” (victims) ของความรู้สึกและประสบการณ์ของผู้ให้การศึกษา หากเนื้อหาที่ปรากฏอยู่ในการศึกษา และกระบวนการสังคมประกิตนั้นไม่ได้เป็นสิ่งที่ถูกต้อง

การวิพากษ์ เหตุผลอันเป็นแก่นกลางสำคัญของลัทธิปัจเจกนิยมที่เน้นความมีเหตุผล (individualist rationalism) ดังว่ามาแล้วนั้น อาจมองได้ว่าเป็นการพยายามการรื้อทำลายสลายแบบถอนรากถอนโคน (deconstruct) แก่นกลาง (center) ของแนวคิดมนุษย์นิยม (humanism) อย่างสำคัญ คล้ายกับวิธีการคัดค้านกระแสสมัยใหม่ของฌาร์ค แดร์ริดา (Jacques Derrida)นักคิดนักปรัชญาในยุค”หลังสมัยใหม่” (Postmodern) แดร์ริดาเชื่อว่าสิ่งที่เป็น ศูนย์กลาง (Center) ของโครงสร้างทุกโครงสร้างโดยเฉพาะในโลกของปรัชญาตะวันตกนั้น เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น (Construct) มากกว่าจะเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่หรือคงอยู่ (present-being) ศูนย์กลางเป็นเพียงจินตภาพที่ถูกแทนที่ด้วยสัญญะอย่างไม่รู้จบ (sign-substitution came into play) กล่าวคือศูนย์กลางจะถูกแทนที่ด้วยสิ่งที่บางยุคสมัยคือพระเจ้า แล้วถูกแทนที่ด้วยเหตุผลของมนุษย์ในยุคต่อมา ก่อนที่จะเป็นจิตไร้สำนึกของมนุษย์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระบบปรัชญาหรือความเชื่อที่มีอิทธิพลอยู่ในยุคสมัยนั้นๆ

อย่างไรก็ดี เมื่อรุสโซได้สลาย/สั่นคลอน (decentering) สิ่งที่เรียกว่าเหตุผลแล้ว รุสโซก็ได้สร้างนิยามขึ้นใหม่เพื่อแทนที่/สวมรอยแนวคิดหรือสิ่งที่นักคิดใน แนวหลังสมัยใหม่เรียกว่า “วาทกรรม” (discourse) ชุดใหม่ขึ้น ซึ่งในแง่นี้หากใช้แนวคิดของแดร์ริดาเข้ามาพิจารณาจะพบว่า รุสโซยังไม่ได้สลาย/สั่นคลอนอย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งในแง่นี้สอดคล้องกับข้อสงสัยของแดร์ริดาร์ เราจะสามารถศึกษาระบบและศูนย์กลางได้โดยไม่เป็นการสร้างระบบใหม่ขึ้นด้วย ศูนย์กลางดังกล่าวได้หรือไม่? เพราะสิ่งที่ถูกนำมาแทนที่/สวมรอยสิ่งที่ถูกสลาย/สั่นคลอนไปนั้นได้กลับกลาย มาเป็นศูนย์กลางของสำนักคิดของตัวเองไปในที่สุด ซึ่งแดริดาร์ตั้งข้อสังเกตว่าเหตุผลที่ทำให้เราไม่สามารถวิพากษ์และรื้อระบบ ใดๆได้ก็เนื่องจาก พวกเรายังไม่มีภาษาที่แตกต่างไปจากระบบเหล่านั้น

ว่าด้วยเสรีภาพและมุมมองที่แตกต่างของรุสโซ

สังคม สมัยใหม่ของยุคแห่งภูมิปัญญา เสรีภาพ (freedom) ตามความเชื่อความเข้าใจของนักคิดจำนวนมากโดยเฉพาะในอังกฤษ ได้รับอิทธิพลอย่างสำคัญจาก โธมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes.1588-1679) ที่เชื่อว่า เสรีภาพเป็นสิ่งที่ผูกพันอยู่กับภาวะของร่างกาย กล่าวคือ ใครก็ตามที่ไม่ได้ถูกพันธนาการด้วยโซ่ตรวนหรือถูกจองจำในสถานที่กักขัง ก็ล้วนแล้วแต่เป็นเสรีชนทั้งสิ้น โดยฮอบส์ได้ให้นิยมของคำว่าเสรีภาพไว้ว่า คือ สภาวะที่ปราศจากสิ่งกีดขวาง ไม่มีอุปสรรคภายนอกมาขัดขวางการเคลื่อนไหว เสรีภาพของมนุษย์ก็คือ การปราศจากสิ่งกีดขวางในกิจกรรมที่เขากำลังทำอยู่หรืออยากจะกระทำ ฮอบส์ถือว่าความกลัวไม่ได้ขัดแย้งกับเสรีภาพเพราะแม้จะกระทำการใดๆด้วยความ กลัวก็ตาม แต่เขาก็ยังสามารถตัดสินใจที่จะเลือกกระทำสิ่งที่ตรงกันข้ามได้

“มนุษย์ ผู้เสรี ที่แท้ก็คือ,ในสิ่งซึ่งโดยพละกำลังและสติปัญญาที่เขาสามารถจะกระทำ เขาไม่ได้ถูกขัดขวางต่อสิ่งที่กระทำหรือปรารถนาจะกระทำ”

ฐานคติ (pre-occupation) ที่สำคัญของรุสโซก็คือเสรีภาพ ซึ่งมีคู่ตรงข้าม (binary opposition) คือ การพึ่งพิง (dependency) แต่รุสโซได้นำเสนอในแง่มุมที่ลุ่มลึกลงไปอีก รุสโซไม่ได้ให้ความสำคัญกับการก่อกำเนิดขึ้นหรือพยายามอรรถาธิบายถึงสภาวะ ของการมีเสรีภาพ แต่เขาได้ก่อวิวาทะที่สำคัญขึ้นจากถ้อยคำอันเป็นอมตะของบทที่ 1 ตอนที่ 1 ของสัญญาประชาคม

“มนุษย์เกิดมาเสรี แต่ทุกหนทุกแห่งเขาอยู่ในเครื่องพันธนาการ ใครที่คิดว่าตนเป็นนายคนอื่นย่อมไม่วายจะกลับเป็นทาสยิ่งเสียกว่า ความผันแปรเช่นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ข้าพเจ้าไม่ทราบ อะไรเล่าที่จะพึงทำให้ความผันแปรนั้นกลายเป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฏหมาย ข้อนี้ข้าพเจ้าคิดว่าจะตอบปัญหาได้”

รุสโซมิได้พยายามอธิบายว่า มนุษย์ถูกพันธนาการได้อย่างไร แต่รุสโซให้ความสำคัญกับเหตุผลที่ว่าเหตุใดจึงปล่อยให้พันธนาการดังกล่าว กลายเป็นสิ่งชอบธรรม รวมถึงข้อสรุปที่ว่า มนุษย์จะมีชีวิตที่ดีงามและเป็นอิสระเสรีได้อย่างไร หากยังคงถูกขัดขวางไว้โดยพันธนาการเหล่านั้น รวมถึงจะทำอย่างไรจึงจะสามารถปฏิรูปสถาบันในสังคมให้เอื้ออำนวยชีวิตอันเป็น เสรี

รุสโซได้นำเสนอแนวคิดว่าด้วยสภาวะธรรมชาติ (state of nature) ที่ขัดแย้งอย่างชัดเจนกับนักคิดในสายสัญญาประชาคม (contractarian) คนอื่นๆ แนวคิดของเขาแตกต่างจากล็อคในแง่ที่ว่าภาวะธรรมชาติ ไม่เพียงแต่เป็นภาวะที่ปลอด (absence) จากสังคมการเมือง แต่ยังปลอดจากสัมพันธภาพทางสังคม (social relationship) ทุกประการ ไม้เว้นแม้แต่สัมพันธภาพในครอบครัว (familial relationship)

สภาวะธรรมชาติของรุสโซยังแตกต่างจากฮอบส์อย่างเด่นชัดในการที่เขาได้ปฏิเสธ สมมุติฐานที่ว่า คุณลักษณะสำคัญของมนุษย์ในสภาวะธรรมชาติ จะสามารถค้นพบได้จากการสังเกตุการณ์มนุษย์ในสังคมที่เจริญขึ้นมาแล้ว สำหรับรุสโซ มนุษย์ในสภาวะธรรมชาติ เป็นมนุษย์ที่มีชีวิตอย่างโดดเดี่ยว (isolated) พวกเขาไม่มีความสัมพันธ์ที่ผูกพันธ์ใดๆหรือมีการแลกเปลี่ยนกันทางความคิด ระหว่างกันแต่อย่างใด ในสภาพการณ์เช่นนี้ อาจมองได้ว่า มนุษย์ในสภาวะตามธรรมชาติมีความเป็นอิสระ (independence) จากการพึ่งพิงบุคคลอื่น ทั้งในทางกายภาพและทางสติปัญญา มนุษย์ตามธรรมชาติตามทัศนะของรุสโซ สามารถใช้เหตุผลของตัวเองตัดสินและทำความเข้าใจสรรพสิ่งได้ด้วยตัวเขาเอง
หาก พิจารณางานเขียนว่าด้วยการใช้เหตุผลของมนุษย์เพื่อเป็นเครื่องมือในการขับ ไล่ความโง่เขลาและมายาคติในสังคมสมัยใหม่ของมนุษย์ที่สำคัญของนักคิดและนัก ปรัชญาในยุคภูมิปัญญา โดยเฉพาะจากงานเขียน “An Answer to the question : ‘What is Enlightenment’’ ของนักปรัชญาชาวเมืองโคนิกส์เบิร์กคนสำคัญคือ อิมมานูเอล ค้านท์ (Immanuel Kant :1724-1804) จะพบความสอดคล้องที่สำคัญประการหนึ่งในแง่ของสภาวะของมนุษย์สมัยใหม่ (modern man) ตามทัศนะของค้านท์คือผู้ที่สามารถ “หลุดออกจากสภาพอันอ่อนเขลา ซึ่งความอ่อนเขลาที่ว่านี้เกิดจากการที่พวกเขาตั้งใจให้เป็นเช่นนั้น สภาวะด้อยพัฒนาที่ว่านี้คือสภาพของการที่คนเราไม่สามารถใช้ความนึกคิดความ เข้าใจของตัวเองได้ด้วยตัวของเขาเอง” ซึ่งก็คือการเกิดความรู้แจ้งหรือ Enlightenment กล่าวคือ มนุษย์ในสภาวะธรรมชาติซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้มีเกียรติ (noble) ตามความเชื่อของรุสโซ มีสภาวะที่ใกล้เคียงกับมนุษย์สมัยใหม่ตามทัศนะของค้านท์ ที่สามารถใช้เหตุผล/ความคิดของตัวเองในการทำความเข้าใจสรรพสิ่งได้อย่าง อิสระ ซึ่งเชื่อว่าไม่น่าเป็นเรื่องแปลกแต่อย่างใด เพราะรุสโซถือเป็นนักคิดที่มีอิทธิพลสำคัญยิ่งต่อความคิดทางปรัชญาของค้านท์ ซึ่งเป็นนักปรัชญาที่อยู่ในช่วงยุคสมัยใหม่ (The Modern Period)

รุสโซต้องการคงเสรีภาพของมนุษย์ที่เคยมีอยู่ในสภาวะธรรมชาติในบริบทของสภาวะ ทางสังคม และเชื่อว่าการปฏิเสธเสรีภาพก็คือการปฏิเสธคุณค่าความเป็นมนุษย์ ยิ่งไปกว่านั้นรุสโซยังเห็นว่าการเป็นทาสด้วยความสมัครใจเป็นสิ่งที่พึงต้อง ได้รับการประณามอย่างรุนแรง ในขณะที่การอ้างว่าการเป็นทาสเพราะถูกบังคับเป็นสิ่งชอบธรรมก็เท่ากับเป็น การอ้างว่าการใช้กำลังเป็นสิ่งชอบธรรม รุสโซเห็นว่าสิทธิทางสังคมมิได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติ ดังนั้นสังคมจึงควรตั้งขึ้นโดยอาศัยสัญญาประชาคม ซึ่งมีข้อกำหนดความสัมพันธ์ของบุคคลที่ร่วมสัญญา องค์อธิปัตย์ของสังคมที่ตั้งขึ้นโดยสัญญาประชาคม ได้เข้ามาแทนที่เสรีภาพธรรมชาติ หรืออาจกล่าวได้ว่า เสรีภาพในสภาวะสังคมก็คือการเคารพเชื่อฟังกฏหมาย เสรีภาพจะเกิดขึ้นได้ก็แต่โดยองค์อธิปัตย์ แทนที่จะถูกคุกคามโดยองค์อธิปัตย์

“สัญญาประชาคมทำให้มนุษย์ต้องสูญ เสียเสรีภาพตามธรรมชาติ และสิทธิอันไม่มีขอบเขตในการจะได้ทุกสิ่งทุกอย่างที่ตนปรารถนาและสามารถจะ ไขว่คว้าเอามาได้ ส่วนสิ่งที่มนุษย์ได้จากสัญญา
ประชาคมก็คือ เสรีภาพของพลเมืองและกรรมสิทธิ์ในทุกสิ่งทุกอย่างที่ตนครอบครองอยู่”

รุสโซให้ความสำคัญกับเจตจำนงทั่วไป (General Will) ในฐานะเป็นเจตจำนงของประชาคมหรือของรัฐซึ่งแสดงออกได้ด้วยเสียงข้างมาก อันเป็นแนวคิดพื้นฐานที่สำคัญยิ่งของระบอบเสรีประชาธิปไตย แต่เขาก็เชื่อว่าไม่จำเป็นเสมอไปที่เจตจำนงทั่วไปจะได้มาด้วยคะแนนเสียง เอกฉันท์ กล่าวคือสิ่งที่เสียงข้างมากให้ความเห็นชอบก็ถือได้ว่าคือเจตจำนงทั่วไป ส่วนสิ่งที่เสียงข้างน้อยแสดงออกถือเป็นเพียงความคิดที่ผิดเกี่ยวกับเจตจำนง ทั่วไป

แนวคิดว่าด้วยเจตจำนงเสรีดังกล่าวถือได้ว่าเป็นประเด็นที่ คลุมเครือและเข้าใจได้ยากยิ่ง พร้อมกับยังได้ก่อให้เกิดกระแสวิวาทะที่สำคัญคือ รุสโซสนับสนุน “อำนาจนิยม” (Totalitarian) หรือ “เสรีนิยม” (Liberal) กันแน่? คำถามเช่นนี้ย่อมเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่สำคัญของนักคิดนักปรัชญา และนักวิชาการในยุคสมัยถัดมาและเชื่อว่าจะยังคงต่อเนื่องไปในอนาคต ในการตีความ (interpretation) งานเขียนของรุสโซ ซึ่งเต็มไปด้วย”ความคิดแบบปฏิทรรศน์” (paradox)โดยเฉพาะวิวาทะว่าด้วยความเป็นประชาธิปไตยและเผด็จการเสียงข้างมาก

ว่าด้วยการวิพากษ์สังคมกระฎุมพี

รุสโซ เป็นนักคิดและนักปรัชญาการเมืองในยุคสมัยใหม่คนแรกที่เปิดฉากวิพากษ์สังคม กระฎุมพี (bourgeois society)อย่างเข้มข้น การโจมตีสังคมกระฎุมพีของรุสโซ มิได้เป็นความพยายามต่อต้านการปรากฏขึ้นของสังคมดังกล่าวภายในบริบทของระบอบ อภิชนาธิปไตย (aristocracy) และศาสนจักรโรมันคาทอลิก (Church) แต่รุสโซมุ่งวิพากษ์เสรีภาพและความเสมอภาค (Freedom and Inequality) อันถือเป็นคติพจน์ (motto) ที่สำคัญยิ่งของสังคมชนชั้นกลางในยุโรปช่วงศตวรรษที่ 18 หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นการวิพากษ์จากจุดยืนของฝ่ายซ้าย (the Left) นั่นเอง

ทัศนะ ของรุสโซที่มีต่อกระฎุมพีในยุคสมัยนั้น เป็นการมองในแง่ที่เลวร้าย รุสโซไม่เพียงแยกแยะชนชั้นกระฎุมพีออกมาในฐานะชนชั้นทางเศรษฐกิจสังคม (socioeconomic class) เท่านั้น แต่ยังได้แสดงถึงความแปลกแยก (alienation) ในตัวตนของมนุษย์ในสังคมสมัยใหม่ (modern period) โดยเฉพาะสถานะของการเป็นปัจเจกชน (man) และพลเมืองของรัฐ (citizen)
“ความ ขัดแย้งในตัวตนที่เป็นอยู่เสมอ,การแยกขาดจากกันระหว่างความปรารถนากับอำนาจ หน้าที่,ทำให้เขาไม่ได้เป็นทั้งมนุษย์ปัจเจกหรือพลเมืองของรัฐ;เขาจะไม่เคย กระทำดีต่อทั้งตนเองหรือกับผู้อื่น คุณลักษณะเช่นนี้พบได้ในประชากรร่วมสมัยของเรา นั่นคือชาวฝรั่งเศส,ชาวอังกฤษ พวกกระฎุมพี;ซึ่งไม่มีความหมายใดๆเลย”

รุสโซมองว่าพวกกระฎุมพีขาดซึ่งความเป็นธรรมชาติ (naturalness) และขาดความอิสระในฐานะปัจเจกชนที่มักจะกระทำการใดๆเพื่อตอบสนองความปรารถนา (desires) ของตัวเอง กระฎุมพีขาดจิตวิญญาณแห่งการเป็นสมาชิกของประชาคมสาธารณะ (public-spiritedness) และตัวตนอันเที่ยงแท้ของแห่งการเป็นพลเมืองของรัฐ (selfness of the genuine citizen) ที่จะต้องเคร่งครัดต่อหน้าที่ทางสังคม ทัศนะว่าด้วยความแปลกแยกของตัวตนในหมู่ชนชั้นกลางของยุโรปในยุคสมัยนั้นใน ฐานะปัจเจกชนที่แท้กับพลเมืองของรัฐที่ดีของรุสโซดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดกระแสวิวาทะที่สำคัญคือรุสโซสนับสนุน”ปัจเจกนิยม” (individulist) หรือ “ลัทธิกรรมสิทธิ์ร่วม” (collectivist)

การวิพากษ์สังคมกระฎุมพีของรุสโซ ปรากฏอย่างเด่นชัดในความเรียงสองชิ้นอันเป็นผลงานในช่วงแรกของรุสโซคือ Discourse on the Arts and Sciences (หรือ First Discourse) ในปีค.ศ.1750 และ Discourse on The Origin and foundations of inequality Among Men (หรือ Second Discourse) เผยแพร่ในปีค.ศ.1755 ผลงานสองชิ้นนี้ถือได้ว่าเป็นการพยายามวิพากษ์จิตวิญญาณในเชิงพาณิชย์ของ ภาวะสมัยใหม่ (commercial spirit of modernity)

ใน First Discourse รุสโซได้วิพากษ์การอบรมสั่งสอนศิลปะวิทยาการ (Arts and Sciences) ว่าเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับพัฒนาการไปสู่สังคมมนุษย์ที่ดี โดยเขามีจุดยืนของตัวตนในฐานะพลเมืองแห่งรัฐ (citizen) ความเรียงชิ้นนี้ เป็นผลงานที่ได้รับรางวัลจาก The Academy of Dijon จากหัวข้อแข่งขันที่ชื่อว่า “ความเจริญก้าวหน้าของศิลปะและศาสตร์ต่างๆได้ทำให้มนุษย์ดีขึ้นและมีความสุข มากขึ้นจริงหรือไม่”

หัวข้อเรียงความดังกล่าวเป็นผลสะท้อนโดยตรงของ วิวาทะทางภูมิปัญญาในช่วงกลางศตวรรษที่ 18 ของยุโรป นั่นคือวิวาทะว่าด้วยความเป็นโบราณและสมัยใหม่ (Ancient vs Modern) ที่สืบเนื่องมาจากยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ (Renaissance) และแน่นอนในสังคมร่วมสมัยซึ่งเป็นยุคที่ความโบราณกำลังดับแสงและพ่ายแพ้ต่อ ความเป็นสมัยใหม่ ความคิดทางภูมิปัญญาหลักในสมัยนั้นจึงย่อมสนับสนุนความเจริญก้าวหน้าของ ศิลปะวิทยาการ รวมถึงความมั่งคั่งว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยฟื้นฟูคุณค่าและศักดิ์ศรีของ ความเป็นมนุษย์ อีกทั้งยังจะช่วยให้สังคมมีความสุขมากขึ้นกว่าสังคมในสมัยโบราณ มนุษย์ควรมองไปข้างหน้าโดยไม่จำเป็นต้องโหยหาถึงอดีต (nostalgia) อันรุ่งเรืองของกรีกและโรมัน

อย่างไรก็ดีสิ่งที่รุสโซหยิบยื่นให้ สังคมในคำตอบที่ปรากฏอยู่ใน First Discourse กลับเป็นการยืนยันความคิดในทางตรงกันข้ามอย่างยิ่ง นั่นคือ อารยธรรมได้ทำให้มนุษย์เสื่อมทรามลง พร้อมกับเสนอว่ามนุษย์ที่ดีที่สุดและมีความสุขที่สุดคือมนุษย์ที่มีชีวิต อยู่ใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด รุสโซวิพากษ์ศิลปะและวิทยาการในฐานะสิ่งที่ขัดแย้งกับคุณธรรม (virtue) โดยเขาได้ย้ำว่า“ข้าพเจ้ามิได้กำลังกล่าวร้ายต่อวิทยาการ,ข้าพเจ้าได้บอกกับ ตัวเองว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้ปกป้องคุณธรรมต่อบรรดาผู้ถือธรรมทั้งหลาย”

รุสโซเสนอว่าการอบรมสั่งสอนศิลปะและวิทยาเป็นการประพฤติมิชอบต่อศีลธรรม โดยเฉพาะเมื่อความสามารถพิเศษของบุคคล (talent) ได้ถูกประเมินค่าอย่างสูงและเป็นสิ่งที่ควรได้รับรางวัลตอบแทนในสังคมสมัย ใหม่ของพวกกระฎุมพีนั้น คุณธรรมก็จะกลายเป็นสิ่งที่ถูกทอดทิ้งไปโดยพลัน ระบบทุนนิยม (capitalist system) เป็นระบบที่ให้ความสำคัญและเอื้อประโยชน์ให้กับคนที่มีความเฉลียวฉลาดผู้มี ความสามารถ และอุตสาหะ ซึ่งรุสโซถือว่าเป็นสิ่งที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับคุณธรรมของพลเมืองแห่ง รัฐ

นักคิดคนสำคัญของสังคมกระฎุมพีคือฮอบส์ เสนอว่า “คุณค่า (value) ของความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่สิ่งใดเลยนอกเหนือไปจากมูลค่า (price) ของตัวเขานั่นเอง”แนวคิดนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญที่รุสโซหยิบยกขึ้นมาวิพากษ์ ด้วยข้อสรุปที่ว่า สังคมที่ให้คุณค่าและยกย่องศิลปะและวิทยาการ จะเป็นสังคมที่ลดคุณค่าทางคุณธรรมของพลเมือง รุสโซยกย่องการปฏิบัติตามคุณธรรมมากกว่าการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับคุณธรรม และบูชาการทำหน้าที่พลเมืองที่ดีมากกว่าบูชาความก้าวหน้าของวิทยาการ รุสโซยังได้เสนอให้บรรดานักวิทยาศาสตร์ชั้นนำในยุคสมัยแห่งภูมิปัญญา เช่น เบคอน ,เดส์การ์ต และนิวตัน ทำหน้าที่ให้คำแนะนำต่อบรรดาเจ้าผู้ปกครอง (princes) และเป็นผู้ชี้นำมวลชนในการทำหน้าที่ของพลเมืองแห่งรัฐ

แนวคิดทางสังคมและการเมืองที่สำคัญตามแบบอย่างสมัยใหม่ (modernity) คือการแยกแยะกันอย่างชัดเจนระหว่างการเมืองกับจริยธรรม ซึ่งหากเราจะพิจารณาโดยยึดแนวทางดังกล่าว อาจมองได้ว่า
รุสโซได้ทำ หน้าที่ของการเป็นนักวิพากษ์สังคมโดยผ่านบริบททางจริยธรรม ด้วยการเตือนสติผู้คนร่วมสมัยที่กำลังเห่อเหิมกับความก้าวหน้าของวิทยาการ สมัยใหม่ แทนที่จะยกย่องสิ่งเหล่านี้ว่าจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เกิดความเจริญ รุ่งเรืองในสังคม รุสโซกลับชี้ว่าสิ่งนี้เป็นวิกฤตการณ์ (crisis) ที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข

รุสโซย้ำความคิดมูลฐานอันสำคัญของเขา ต่อสาธารณชนคือการที่มนุษย์เกิดมาเสรีแต่สังคมและอารยธรรมทำให้มนุษย์ชั่ว ร้าย พร้อมกับพยายามเตือนมนุษย์ด้วยบทบาทเดียวกับ Prometheus ที่พยายามเตือนมนุษย์ถึงภัยอันตรายของไฟ ที่สำคัญรุสโซยังได้เพาะเชื้อแห่งการปฏิวัติ (revolution) และการล้มล้างระบอบให้กับสังคม
ยุโรป ซึ่งปรากฏผลและผลิบานต่อมาในช่วงศตวรรษที่ 18,19 และ 20

การวิพากษ์สังคมกระฎุมพีของรุสโซใน Second Discourse ได้ปรับเปลี่ยนจุดยืนจากการเป็นพลเมืองของรัฐมาเป็นจุดยืนของปัจเจกบุคคลผู้ สันโดษ (solitary individual) รุสโซได้พยายามตรวจสอบสภาวะธรรมชาติของมนุษย์ในบริบทที่ปราศจากสถาบันทาง สังคมหรือประชาคมทุกรูปแบบ อันนำไปสู่การวิพากษ์สถาบันหลักที่สำคัญยิ่งของสังคม นั่นคือ สถาบันครอบครัว กรรมสิทธิ์ทรัพย์สินส่วนบุคคล และกฎหมาย โดยรุสโซมีเป้าหมายหลักของการวิพากษ์อยู่ที่พลเมืองของรัฐและพวกกระฎุมพี

ประเด็น หลักของการวิพากษ์มนุษย์ผู้มีอารยธรรม (civil man) ของรุสโซคือการยกย่องสภาวะทางธรรมชาติ (the savage) อันเป็นสภาวะที่มนุษย์มีเสรีภาพสูงสุด รุสโซถือว่าเสรีภาพคือของขวัญที่สำคัญจากธรรมชาติ เสรีภาพในสภาพธรรมชาติ ทำให้มนุษย์มีความเป็นอิสระและปราศจากการพึ่งพิง (independence) ต่อกัน มนุษย์ในสภาวะเช่นนี้ จึงสามารถประพฤติปฏิบัติตนเช่นใดก็ได้เพื่อสนองตอบต่อความปรารถนาของเขา

ความไม่เสมอภาคระหว่างมนุษย์นั้น รุสโซได้แยกแยะออกเป็นสองรูปแบบคือความไม่เสมอภาคตามธรรมชาติ อันเกิดจากข้อแตกต่างทางกายภาพและสติปัญญา กับความไม่เสมอภาคอันเกิดจากสภาวะความแตกต่างทางสังคม รุสโซมองการก่อกำเนิดของสังคมมนุษย์ต่างจากมุมมองของนักคิดในยุคสมัย ภูมิปัญญาที่เชื่อว่าการเข้าสู่ชีวิตทางสังคมมนุษย์เป็นการช่วยให้มนุษย์พ้น จากสภาพที่ไม่มั่นคงของสภาวะธรรมชาติ โดยเฉพาะฮอบส์ ที่เชื่อว่าการเข้ารวมกันเป็นสังคมของมนุษย์ ก็เพื่อให้พ้นจากภาวะสงครามและการเข่นฆ่า รุสโซกลับเชื่อว่าการเปลี่ยนผ่านจากสภาวะธรรมชาติมาสู่สภาวะสังคมนั้นทำให้ จิตใจมนุษย์เลวร้ายลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การก่อกำเนิดขึ้นของกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินส่วนบุคคล (private property)

“มนุษย์ คนแรกที่เริ่มต้นปักปันแบ่งเขตดินแดน พร้อมกับประกาศว่า ‘นี่เป็นที่ดินของฉัน’ และก็มีมนุษย์ที่เบาปัญญาพอที่เชื่อ เขาผู้นี้แหละที่เป็นผู้ก่อตั้งสังคมขึ้นมา”

พร้อมๆกับการสูญเสีย อิสรภาพไปจากการที่ต้องพึ่งพิงและการแลกเปลี่ยนของมนุษย์ ระบบกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินส่วนบุคคลในทัศนะของรุสโซ ได้ก่อให้เกิดการสะสมทรัพย์สมบัติ และยิ่งเป็นการช่วยตอกย้ำความไม่เท่าเทียมกันของมนุษย์ที่มีมาแต่ธรรมชาติ รวมถึงยังนำมาซึ่งอาชญากรรม การลักขโมย ความทุกข์เข็ญและสิ่งเลวร้ายนานาชนิด สภาพการณ์เช่นนี้ย่อมทำให้บรรดามนุษย์เจ้าสมบัติ หรือกลุ่มที่มั่งคั่งย่อมต้องรู้สึกถึงความไม่มั่นคงต่อทั้งสิทธิที่เหนือ กว่า (privilege) และทรัพย์สมบัติ (wealth) ของพวกเขา และนำไปสู่การปฏิวัติทางสังคมที่สำคัญอีกครั้งนั่นคือการที่บรรดากลุ่มเจ้า สมบัติได้ใช้กลอุบายอันแยบยลขอให้ผู้คน (ที่พวกเขาหวั่นเกรงว่าจะคุกคามทรัพย์สิน) ใช้กำลังกายเข้าปกป้องผู้อ่อนแอและทรัพย์สินส่วนบุคคลภายใต้อำนาจสาธารณะ (public authority) และเมื่อการปฏิวัติทางสังคมครั้งที่สามเกิดขึ้น ซึ่งก็คือการถ่ายโอนอำนาจสาธารณะจากประชาชนไปสู่ปัจเจกบุคคล (private individual) การสูญเสียเสรีภาพ (Liberty) ของมนุษย์ก็เป็นอันเสร็จสิ้นบริบูรณ์และ ถือเป็นต้นกำเนิดของพันธนาการแก่ผู้อ่อนแอและการสร้างพลังอำนาจ ให้กับผู้แข็งแรงในสังคมจวบจนนิรันดร์

แนวคิดของรุสโซที่ปรากฏใน Second Discourse นี้ ถือได้ว่าเป็นรากฐานที่สำคัญของลัทธิกรรมสิทธิ์ส่วนรวม (collectivism) ที่ต้องการยกเลิกกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเอกชน พร้อมกับยังเป็นการชี้ให้เห็นว่า รัฐคือสิ่งที่ถือกำเนิดขึ้นเพื่อให้กลุ่มคนร่ำรวย (the rich) เอาเปรียบคนยากจน (the poor) ได้อย่างชอบธรรม หรืออาจกล่าวได้ว่ารัฐก็คือเครื่องมือของชนชั้นนายทุนเพื่อกดขี่ชนชั้น กรรมาชีพ ทัศนะเช่นนี้เป็นคติพจน์ที่สำคัญของลัทธิสังคมนิยม ซึ่งคาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx.1818-1883)และเฟรดริค เองเกลส์ (Friedrich Engels.1820-1895) ใช้วิพากษ์สังคมนายทุนในช่วงศตวรรษที่ 19 และ 20 โดยมาร์กซ์และเองเกลส์ได้ต่อยอดความคิดของรุสโซออกไปอีกว่า พันธนาการจะต้องถูกปลดเปลื้อง เนื่องจากมันเป็นอุปสรรคอันสำคัญต่อการพัฒนาความเป็นคนของมนุษย์

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น