10:56

คมความคิดและจินตนาการของ โชเซ ซารามาโก‏


นักเขียนรางวัลโนเบล และนักหนังสือพิมพ์ชาวโปรตุกีส โชเซ เด ซูซา ซารามาโก หรือรู้จักกันดีในนาม โชเซ ซารามาโก เจ้าของผลงานเขียนที่มีเอกลักษณ์เป็นประโยคที่ยาวที่สุดในโลกก็ว่าได้

ผลงานของเขาส่วนใหญ่มักอิงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ ทว่าไม่ได้เน้นเนื้อหาสาระที่ความจริงที่เกิดขึ้น หากเล่าถึงมุมมองและผลกระทบที่มาสู่คน ทั้งมีเป็นจำนวนมากที่ออกมาในเชิงเปรียบเทียบ มีคติสอนใจให้ได้คิด
ขณะที่โชเซได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม จาก Baltasar and Blimunda ในปี 1988 นั้น เขาอายุปาเข้าไป 50 กว่าๆ แล้ว และนิยายเรื่องเดียวกันนี้ ก็กลายเป็นการแจ้งเกิดครั้งแรกของนักเขียนชาวโปรตุกีส ในแวดวงของคนที่นิยมอ่านวรรณกรรมภาษาอังกฤษ โดยนิยายเรื่องนี้ยังได้รางวัลวรรณกรรมของโปรตุเกส อย่าง เพน คลับ อะวอร์ด (PEN Club Award) ด้วย

นิยายของโชเซ มักจะมีฉากแลนด์สเคปตามท้องเรื่องสวยงาม น่ามหัศจรรย์ อย่างเช่น The Stone Raft ปี 1986 ที่เขาเลือกดำเนินเรื่องราวในคาบสมุทรไอบีเรีย ทางตอนใต้ของยุโรป อันเต็มไปด้วยมนต์ขลัง ต่างจากบรรยากาศของส่วนอื่นๆ ในยุโรป ส่วนเรื่อง Blindness ปี 1995 มีฉากล่องเรือออกไปสู่มหาสมุทรแอตแลนติกอันเวิ้งว้างแต่งดงาม ขณะที่อีกบางเรื่องของเขาก็เต็มไปด้วยจินตนาการของสถานที่ที่ไม่มีอยู่จริง เช่น The Year of the Death of Ricardo Reis (คว้ารางวัลเพน คลับ อะวอร์ด และอินดิเพนเดนต์ ฟอเรนจ์ ฟิกชัน อะวอร์ด) ด้วยเช่นกัน

ที่สอดแทรกอยู่ในนิยายอันเต็มไปด้วยจินตนาการสุดบรรเจิด และฉากสวยงามของสถานที่ เป็นความคมคายในความคิด ในแต่ละเรื่องล้วนแสดงสติปัญญาอันคมกริบของโชเซ ซึ่งสอดแทรกอยู่ในเรื่องราวแสนงดงามแต่ละเรื่อง ทั้งทำให้ประโยคอันแสนยืดยาวของเขา (บางครั้งยาว 1 หน้ากระดาษ) ไม่น่าเบื่อแต่อย่างใด หากเต็มไปด้วยความตื่นเต้น และเนื้อหาสาระที่ต้องคอยคิดตาม

สิ่งที่โดดเด่นที่สุดอีกอย่างหนึ่งในผลงานของนักเขียนรางวัลโนเบลท่านนี้ก็คือ การได้รับยกย่องว่าเป็นงานเขียนที่ใส่ใจในความเป็นในสถานะแห่งความเป็นมนุษย์ รวมทั้งลักษณะการใช้ชีวิตในปัจจุบันที่มีความเป็นปัจเจกมากขึ้นทุกที ตัวละครหลายตัวของเขามักจะต้องทนทุกข์กับสัมพันธภาพระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ทั้งในระดับบุคคลและระดับสังคม ด้วยความขัดแย้งในตัวเอง ทางหนึ่งก็ต้องการเป็นเอกเทศ เป็นอิสระ แต่อีกทางหนึ่งก็โหยหาความรัก ความเข้าใจ ขณะที่ต้องการค้นหาความหมายและความภาคภูมิในตัวเอง ด้านสถานะทางสังคมและความมั่งคั่งทางการเงิน

แฮโรลด์ บลูม นักวิจารณ์วรรณกรรมชาวอเมริกัน เรียกโชเซว่า เป็นนักเขียนนิยายที่มีพรสวรรค์ที่สุดที่ยังมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้

โชเซ ซารามาโก เกิดจากครอบครัวชาวนาที่ไร้ที่ดินเป็นของตัวเอง ในอะซินฮากา หมู่บ้านเล็กๆ ของจังหวัดรีบัตเตโฮ ประเทศโปรตุเกส จริงๆ แล้วเขาชื่อว่า โชเซ เด ซูซา แต่ ซารามาโก ซึ่งในภาษาโปรตุเกสหมายถึง หัวไช้เท้าป่า เป็นชื่อสกุลของครอบครัวที่ชาวบ้านรู้จักกัน แต่กลับไปปรากฏอยู่ในใบเกิดของเขาด้วยความบังเอิญ จึงกลายเป็นชื่อ/นามสกุลจริงของเขาไปโดยปริยาย

ครอบครัวของโชเซย้ายเข้ามาอยู่ในกรุงลิสบอน ในปี 1924 โดยบิดาของเขาเปลี่ยนมาทำอาชีพตำรวจ แต่ครอบครัวก็ยังไม่มีเงินพอที่จะส่งเด็กสมองดี อย่างโชเซ ให้เรียนในโรงเรียนสามัญ เขาจึงต้องย้ายไปเรียนสายอาชีพตอนอายุ 12 พอเรียนจบ เขาทำงานเป็นช่างซ่อมรถอยู่ 2 ปี ก่อนจะเปลี่ยนไปรับแปลหนังสือ นักหนังสือพิมพ์ และกลายเป็นนักเขียนในที่สุด

โชเซสมรสกับอิลดา ไรส์ ในปี 1944 มีลูกด้วยกัน 1 คน คือ ไวโอลันเต ภายหลังเขาแต่งงานใหม่กับปีลาร์ เดล ริโอ นักหนังสือพิมพ์สาวสเปน ผู้ผูกขาดแปลนิยายภาษาโปรตุกีสของเขาให้เป็นภาษาสเปน

เขาเป็นสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์โปรตุเกส ตั้งแต่ปี 1969 นอกจากออกมาประกาศว่า ไม่เชื่อในพระเจ้าแล้ว เขายังอธิบายตัวเองว่าเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย ความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ ของเขา ส่งผลให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์เสมอในสังคมชาวโปรตุเกส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากที่เขาเขียนหนังสือ The Gospel According to Jesus Christ ในปี 1991 และการแสดงออกที่ต่อต้านท่าทีของอิสราเอลต่อปาเลสไตน์และเลบานอน

ระหว่างสงครามเลบานอน 2006 โชเซรวมกลุ่มนักคิด นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ อาทิ ทาริก อาลี จอห์น แบร์เกอร์ นอม ชอมสกี เอดูอาร์โด กาลีโน นาโอมิ ไคลน์ แฮโรลด์ ปินเตอร์ อรุณธาตี รอย และฮาเวิร์ด ซินน์ ร่วมกันลงนามในถ้อยแถลงเรียกร้องให้ยุติสงครามดังกล่าวโดยเร็ว

ปัจจุบัน โชเซ ซารามาโก ใช้ชีวิตอยู่ในเซบีญา ประเทศสเปน กับภรรยานักหนังสือพิมพ์สแปนิช ปิลาร์ เดล ริโอ




0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น