11:51

มโนทัศน์ชนชั้นของคาร์ล มาร์กซ์ และ แมกซ์ เวเบอร์ : มโนทัศน์ชนชั้นของสังคมไทย


มโนทัศน์ชนชั้นของ คาร์ล มาร์กซ์ (Kari Marx) ผ่านมาพร้อมกับประวัติศาสตร์การแบ่งมนุษย์เป็นชนชั้นในทุกสภาพสังคม เพื่อต้องการแสวงหาผลประโยชน์ให้ชนชั้นด้วยตัวเองเป็นหลัก เช่น ในสภาพของลัทธินายทุน ซึ่งมีระหว่างชนชั้นผู้กดขี่และผู้ถูกกดขี่ รวมถึงผู้ซื้อและผู้ขายแรงงาน โดยมีลักษณะร่วมกันทางหน้าที่เท่านั้น เพื่อแสดงอำนาจที่อยู่เหนือกว่าในนัยยะของชนชั้นทางสังคม




แต่อีกประเด็นซึ่งขัดกับการแสดงอำนาจที่เหนือกว่าของผู้กดขี่ นั่นคือ การที่บุคคลอยู่ในสภาพเฉพาะที่ เช่น โรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งแต่ละบุคคลไม่รู้จักกัน แต่สามารถแสดงพลังร่วมกันต่อต้านผู้ว่าจ้างได้อย่างมีพลังอำนาจ โดยพวกเขาเริ่มคิดในโชคชะตาร่วมกัน เริ่มก่อตัวเป็นชนชั้นที่สามัคคีและมีผลประโยชน์ร่วมกัน

ส่วนมโนทัศน์ชนชั้นของ แมกซ์ เวเบอร์ (Max Weber) อธิบายลักษณะทางชนชั้นซึ่งแบ่งกลุ่มตามสถานภาพที่ขึ้นกับแบบแผนการบริโภคของบุคคลมากกว่าขึ้นอยู่กับตำแหน่งในตลาดหรือกระบวนการผลิต โดยสถานภาพที่ขึ้นกับแบบแผนการบริโภคของบุคคลมากกว่าขึ้นอยู่กับตำแหน่งในตลาดหรือกระบวนการผลิต โดยสถานภาพนั้นต่างจากชนชั้น มีลักษณะที่เป็นการรวมกลุ่มแบบชุมชน มีแนวคิดกับวิถีชีวิตที่เหมาะสม และต้องการได้รับการชื่นชม ยกย่องจากสังคมอื่น รวมถึงการกีดกันจากสังคมที่ไม่อยู่แวดวงเดียวกัน จากความห่างเหินทางสังคมก่อให้เกิดลักษณะที่แบ่งแยกระหว่าง "พวกเขา" กับ "พวกเรา"

ในประเด็นอำนาจทางเศรษฐกิจ แมกซ์ เวเบอร์ (Max Weber) อธิบายว่า บ่อยครั้งที่อำนาจทางเศรษฐกิจเป็นรูปแบบหลักของอำนาจ โดยเฉพาะโลกทุนนิยมสมัยใหม่ โดยเวเบอร์กล่าวว่า การเกิดขึ้นซึ่งอำนาจทางเศรษฐกิจ อาจเป็นผลมาจากการมีอำนาจซึ่งเกิดขึ้นมาบนรากฐานอื่น เช่น ผู้ที่สามารถบริหารองค์กรอาจมีอำนาจทางเศรษฐกิจมาก แต่กลับเป็นพียงลูกจ้างที่กินเงินเดือนเท่านั้น

จะเห็นได้ว่าสองแนวความคิดมีลักษณะที่แตกต่างออกไป โดยที่มาร์กซ์ให้ความสำคัญกับชนชั้นในส่วนของการผลิตเพียงอย่างเดียว แต่เวเบอร์มองถึงการแบ่งชนชั้นโดยทางสถานภาพ ซึ่งมีลักษณะของความขัดแย้ง แต่สมาชิกเองจะยอมรับในสภาพของการจัดลำดับสูงต่ำ

นอกจากนี้มาร์กซ์เชื่อว่าอำนาจตั้งอยู่บนรากฐานความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ แต่เวเบอร์เชื่อว่าการเกิดขึ้นของอำนาจทางเศรษฐกิจอาจมีผลมาจากอำนาจที่เกิดขึ้นบนรากฐานอื่น ซึ่งเป็นความแตกต่างกันของสองแนวคิด

หากมองลักษณะชนชั้นในสังคมไทย เราสามารถนึกสภาพในระบบสถาบันกษัตริย์และระบบชนชั้นที่เรียงรายลงมาตามรูปแบบการปกครองของผู้ที่มีอำนาจเหนือประชาชนทั้งหลาย และการใช้ระบบของอำนาจปกครอง มีการแบ่งชนชั้นโดยสถาบันกษัตริย์อยู่เป็นชนชั้นเหนือสุด ต่อมากลุ่มชนชั้นล่าง นั่นคือประชาชนทั่วไป มีระบบศักดินา อย่างที่ จิตร ภูมิศักดิ์ เขียนไว้ในโฉมหน้าศักดินาไทย กล่าวถึงระบบการปกครองที่ใช้อำนาจกดขี่ ขูดรีด กับประชาชนอย่างทารุณ และยังต้องเทิดทูนกลุ่มศักดินาเหล่านี้ให้อยู่จนถึงปัจจุบัน ก่อเป็นระบบชนชั้นอย่างเห็นได้ชัด

งานเขียนของจิตร ภูมิศักดิ์ ใช้แนวคิดของมาร์กซ์ในการวิจารณ์สภาพสังคมไทย การพยายามแสวงหาผลผลิตและกำไรจากชนชั้นที่ต่ำกว่านั้น น่าจะใช้ได้กับยุคสมัยการส่งส่วยเนื่องจากชนชั้นล่างเองก็ยอมรับยินดีในชะตากรรม และพร้อมที่จะเชื่อฟังและปฏิบัติ

แต่สมัยปัจจุบัน เมื่อสังคมไทยเข้าสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข นั่นหมายความว่าอำนาจการปกครองแท้จริงอยู่ที่ภาคประชาชน การมีระบบการเลือกตั้งที่ให้ตำแหน่งนักการเมืองเป็นตัวแทนประชาชนทั้งประเทศ หมายความว่าถ้าประชาชนไม่พอใจการทำงานของนักการเมือง ซึ่งเปรียบเสมือนตัวแทนของพวกเขาสิ่งนี้ใช่หรือไม่ที่ภาคประชาชนคิดว่า นี่คือสิทธิอันชอบธรรมของตนเองในการมีส่วนร่วมปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

ถ้ามองในแง่การเมืองปัจจุบันที่มีปัญหาความขัดแย้งระหว่างหลายฝ่ายที่มีความคิดเห็นต่างกัน โดยมีจุดยืนและวัตถุประสงค์ในการแสดงพลังเดียวกัน เปรียบเสมือนนักการเมืองหรืออำนาจรัฐเป็นนายทุนที่คอยกดขี่ ขูดรีด ทำร้ายทั้งทางร่างกายและจิตใจ ภาวะที่ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจ สู่ปัญหาความยากจน กระทั่งกลุ่มชนชั้นล่างที่เสียเปรียบกลับต้องลุกขึ้นสู้เพื่อปากท้อง เพราะสภาวะทางเศรษฐกิจบีบบังคับ

หากเปรียบเทียบกลุ่มคนชั้นล่างหรือกลุ่มเกษตรกรที่เรียกร้องความเสมอภาคในด้านความคิดและสิทธิที่พึงได้รับนั้นย่อมเป็นสิ่งที่ถูกหลักในแนวทางประชาธิปไตย ซึ่งปรากฏให้เห็นโดยตลอดมานับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แต่ด้วยสาเหตุใดหรือที่ส่งผลให้กลุ่มพวกเขาต้องกลายเป็นกลุ่มสังคมที่โดนกีดกันโดยตลอดมาเช่นกัน เนื่องจากมีแนวคิดต่างกันกับรัฐเพียงเท่านั้นหรือ ซึ่งโครงสร้างลักษณะเช่นนี้เป็นอำนาจการเมืองของสังคมไทยที่สัมพันธ์กับระบบชนชั้น แนวคิดของมาร์กซ์จึงสามารถอธิบายและเปรียบเทียบได้กับชนชั้นบนกับล่างที่ถูกกระทำและพยายามกดดัน บีบบังคับให้ปฏิบัติตามหลักแนวทางที่เป็นธรรม

ในขณะที่แนวคิดของเวเบอร์นั้น ถ้ามองให้สอดคล้องกับระบบชนชั้นสังคมไทยแล้วนั้นคือการแบ่งแยกกลุ่ม สี หรือสภาพสังคมที่ต่างกัน อย่างกรณีภาคเหนือ กลาง อีสาน และภาคใต้นั้น ที่มีกรอบความคิดทางการเมืองแตกต่างกัน ท้ายที่สุดแล้วกลับมองว่าไม่ใช่กลุ่มเดียวกัน และจะไม่มีทางยอมรับถ้าไร้จุดมุ่งหมายด้านการเมืองที่เหมือนกัน แสดงให้เห็นถึงการสร้างผลประโยชน์ต่อรองระหว่างกัน

จากสถานการณ์การเมืองของสังคมไทยที่หมักหมมปัญหามาช้านาน ซึ่งมาจากการถือครองอำนาจของหลายกลุ่มและฝ่ายที่ไม่ได้มาจากตัวแทนประชาชนอย่างแท้จริง รวมทั้งระบบศักดินาแบบชนชั้นและกลุ่มพวกพ้องที่ยังคงเกี่ยวข้องเชื่อมโยงการเมืองไทยมาโดยตลอด นี่คงจะเป็นระบบอำนาจแบบชนชั้นที่มาร์กซ์และเวเบอร์ได้อธิบายไว้ ซึ่งมันมีความสอดคล้องกับรูปแบบการปกครองของไทยอย่างไม่สามารถแยกออกกันได้ และกลายเป็นปัญหาความขัดแย้งอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้โดยตลอดมา

ที่สำคัญกลุ่มคนระดับล่างมักตกเป็นเหยื่อการต่อรองอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจของกลุ่มหรือฝ่ายที่กุมอำนาจอยู่จนกระทั่งปัจจุบัน



โดย ศิวนันท์ คีรีเพ็ชร์ (หมายเหตุ ผู้เขียนเป็นอาจารย์ประจำสาขาภูมิภาคศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ปฏิบัติงานสหกิจสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์)‏

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น