10:49

ตาที่สามแห่งปัญญา‏

อาหารสมอง
วีรกร ตรีเศศ Varakorn@dpu.ac.th มติชนรายสัปดาห์ ปีที่ 26 ฉบับที่ 1358

พระพุทธรูปหลายองค์โดยเฉพาะในปางพระโพธิสัตว์ต่างๆ ของนิกายมหายาน บนหน้าผากระหว่างตา จะมีรอยนูนกลมเป็นจุดขึ้นมา รูปเขียนก็จะมีจุดกลมนี้เช่นเดียวกัน จุดกลมนี้สัมพันธ์กับจุดกลม ที่มักเป็นสีแดงอยู่บนหน้าผากของผู้หญิงฮินดู ทั้งนี้ เพราะเป็นตัวแทนของ Third Eye หรือ "ตาที่สาม" เหมือนกัน

ในศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธ "ตาที่สาม" นี้เป็นสัญลักษณ์ของ "ความสว่างไสวทางปัญญา" หรือบางทีเรียก Eye of Wisdom (ดวงตาแห่งปัญญา) เราเห็น "ตาที่สาม" นี้บนรูปปั้นพระศิวะ พระโพธิสัตว์ต่างๆ (เช่น เจ้าแม่กวนอิม) โดยเฉพาะบนหน้าผากคนที่นับว่าตนเป็นคนฮินดู
คำว่า "ฮินดู" (Hinduism) กินความหมายกว้างขวาง เพราะหมายถึงศาสนาในแง่มุมที่เกี่ยวกับ การปฏิบัติตามศาสนาที่หลากหลายมาก หมายถึงปรัชญาซึ่งมีกำเนิดจากถิ่นแคว้นที่ประเทศอินเดีย และประเทศใกล้เคียงตั้งอยู่ในปัจจุบัน ตลอดจนหมายถึงกลุ่มคนที่เชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของพระวิษณุ พระศิวะ ฯลฯ

ฮินดูเป็นศาสนาใหญ่อันดับสามของโลก มีผู้นับถือประมาณร้อยละ 80.5 ของประชากรอินเดีย 1.1 พันล้านคน (จึงมีประมาณ 890 ล้านคน ที่เหลืออีก210 ล้านคนอยู่นอกอินเดีย) และไม่มีองค์ศาสดาเช่นศาสนาอื่นๆ

อินเดียซึ่งเป็นต้นน้ำหลักของวัฒนธรรมไทย (มีชื่อคนไทยกี่คนที่มิได้มีที่มาจากวัฒนธรรมอินเดีย) มีคนหลากหลายศาสนา มีมุสลิมร้อยละ 16.2 (ประมาณ 180 ล้านคน ซึ่งเป็นประชากรมุสลิมในโลกที่ใหญ่เป็นที่สองรองจากอินโดนีเซีย) ซิกข์ (ร้อยละ 2) คริสเตียน (ร้อยละ 2.43) พุทธ (ร้อยละ 0.76) ที่เหลือเป็นศาสนาอื่นๆ

อินเดียประกอบด้วย 3 กลุ่มชาติพันธุ์คือ กลุ่ม Indo-Aryan (ผิวขาวหรือน้ำตาล) มีจำนวนร้อยละ 72 ของประชากรทั้งประเทศ กลุ่ม Dravidian (ผิวดำแบบกลุ่มทมิฬของศรีลังกา) ร้อยละ 25 และกลุ่มมองโกลอยค์ (ผิวเหลืองแบบพวกเราๆ) ร้อยละ 3 ภาษาของอินเดียจึงมี 2 ตระกูลหลักแยกตามกลุ่มชาติพันธุ์ใหญ่ข้างต้น รัฐธรรมนูญอินเดียระบุ 23 ภาษาราชการ แต่ในความเป็นจริงแล้วภาษาที่มีคนใช้กันมากที่สุดคือฮินดี (Hindi) และอังกฤษ ถ้านับทุกภาษาท้องถิ่นใช้กันแล้ว อินเดียมีรวมกันทั้งหมดถึง 1,652 ภาษา

คำว่า India มาจากคำว่า Indus ซึ่งมีรากมาจากคำในภาษาเปอร์เซียเก่า (เปอร์เซียก็คืออิหร่านในปัจจุบัน) ว่า Hindu ซึ่งมาจากคำว่า Sindhu (สินธู) ในภาษาสันสกฤตอีกต่อหนึ่ง คนอินเดียเรียกชื่อประเทศตนเองกันในอีกชื่อหนึ่ง คือ Bharat (ภารตะ) เหมือนคนไทยเรียกอีกชื่อหนึ่งของประเทศไทยว่าเมืองไทย

การเรียกชื่อแบบนี้ทำให้สับสนเหมือน Don Muaeng International Airport (สนามบินดอนเมืองในชื่อเก่า) กับ Bangkok International Airport (สนามบินกรุงเทพชื่อใหม่) จนบางคนโดนตุ๋นรับตั๋วเครื่องบินฟรีซึ่งบินระหว่างสนามบินดอนเมือง และสนามบินกรุงเทพ

(ระวังให้ดีก็แล้วกันจะมีกรณีของสนามบินหนองงูเห่ากับสนามบินสุวรรณภูมิ)

ขอกลับมาเรื่อง "ตาที่สามต่อ" จุดกลมบนหน้าผากระหว่างตาสองข้างนี้มีชื่อเรียกว่า Tilaka หรือ Tilak หรือ Tilakam หรือ Bindi

หญิงฮินดูที่แต่งงานแล้วมีจุดสีแดงหรือส้มออกแดงเข้มที่ตำแหน่งซึ่งถือว่า เป็นจุดรวมพลังของร่างกาย และจิตวิญญาณนี้มานานนับพันๆ ปีเพื่อแสดงความเป็นฮินดูโดยถือว่าเป็นตาแห่งจิตวิญญาณ (spiritual eye) ตามความเชื่อในศาสนา

นอกจากนี้ Tilaka ยังเป็นตัวแทนแห่งความโชคดีมั่งมีศรีสุขและเป็นการป้องกันภูตผีปีศาจอีกด้วยทั้งๆ ที่ในเบื้องต้นเป็น "ตาแห่งปัญญา" แต่ต่อมาก็กลายเป็นอย่างอื่นเฉกเช่นเดียวกับสังคมไทย (การเจิมหน้าคู่บ่าวสาว น่าจะสัมพันธ์กับประเพณีนี้ของฮินดู แต่เราเจิมกัน 3 จุด เข้าใจว่าเพื่อแทนพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เรียกว่าตีกันยุ่งไปอีกระดับ)

สีที่ทำให้เป็นจุดกลมนั้นบ้างก็ใช้เถ้าถ่านผสมน้ำ บ้างก็ใช้ไม้หอมป่น บ้างก็ใช้ผงแป้งสีแดงที่เรียกว่า sindoor บ้างก็ผสมเลือดลงไปด้วย ในพิธีแต่งงาน ฝ่ายชายก็มีการแต้มสีบนหน้าผากเช่นกัน บ้างก็ลากเป็นเส้น 3 เส้นขนานกัน บ้างก็ 2 เส้นตั้งฉาก บ้างก็เป็นรูปตัวยู (พวกเชียร์ฟุตบอลโดยเพ้นท์สีธงชาติ หรือทีมของตนเองลงบนหน้า อาจเลียนแบบจากประเพณีนี้ก็เป็นได้)

ในรัฐทางใต้ของอินเดีย เช่น Tamil Nanu, Kerala ผู้หญิงฮินดูแต่งงานแล้วเลือกที่จะแต้ม Tilaka หรือไม่ก็ได้ แต่ในส่วนอื่นๆ ของอินเดีย หญิงแต่งงานแล้วต้องแต้ม Tilaka จุดแต้มนี้เป็นเครื่องหมายแห่งการมีคู่แล้ว และเป็นตัวบ่งชี้อย่างหนึ่งของฐานะทางสังคมของเธอ (ในอินเดียหญิงต้องจ่ายสินสอดเพื่อให้ได้สามี การไม่มีเงินเป็นสินสอดจนหาสามีไม่ได้จึงเป็นความน่าละอายของพ่อแม่ฝ่ายหญิง)

Tilaka ของหญิงฮินดูแต่งงานแล้วถือกันด้วยว่าเป็นสัญลักษณ์เตือนใจให้นึกถึงคำปฏิญาณ เมื่อตอนแต่งงานว่า จะต้องซื่อสัตย์ต่อสามี

นอกจากจุดแต้มนี้จะเรียกว่า Tilaka แล้ว ยังนิยมเรียกกันในชื่อ Bindi อีกด้วย โลกตะวันตกรู้จักในชื่อนี้ดีกว่าชื่ออื่น โดยเฉพาะในปัจจุบันเมื่อหญิงอินเดียจำนวนมากไม่ว่าแต่งงานแล้วหรือไม่ก็ตามและหญิงตะวันตกบางกลุ่มนิยม Tilaka หรือ Bindi เป็นการประดับความงาม

Bindi ปัจจุบันมีหลากสี หลายรูปแบบดีไซน์ มีทั้งจุดกลม รูปหัวใจ สามเหลี่ยม ฝังด้วยเพชรนิลจินดา หญิงฮินดูหรือไม่ก็ตามในอินเดีย นิยม Bindi กันไปทั่ว ในทุกชั้นและอายุ ไม่มีข้อจำกัดว่าต้องเป็นสีแดง หรือรูปร่างหรือขนาดอีกต่อไป เรียกว่าหากคนฮินดูเมื่อหลายร้อยปีก่อนฟื้นขึ้นมาเห็นคงสลบด้วยความมึนงงเป็นแน่ คำว่า Bindi ในปัจจุบันจึงมีความหมายเอียงไปทางการเป็นจุดแต้มเพื่อความงามมากกว่าการเป็นตัวแทนของ "ตาที่สาม" ตามจุดประสงค์ดั้งเดิม

Bindi มาจากคำภาษาสันสกฤตว่า Bindu ซึ่งหมายถึงว่าจุดหรือหยด บางพวกนิยมใช้ Bindi ชนิดที่เป็นกระดาษเทปแปะเอาเลย เพื่อความสะดวกไม่ต้องมัวปั้นความกลมของจุดบนหน้าผากอีกต่อไป

การเปลี่ยนความหมายของการเป็นสัญลักษณ์แห่ง "ความสว่างไสวทางปัญญา" "ดวงตาแห่งปัญญา" ของ Tilaka สู่ความโชคดี มั่งคั่ง ป้องกันภูตผีร้ายและสู่การเพิ่มความงาม เป็นวิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ ของประเทศที่มีวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่ และมีระบอบประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ถ้าเราจะเลือกแปลความหมายของ Tilaka ว่าคือ "ตาแห่งสำนึกของตนเอง" ที่ต้องมีอยู่เสมอก็คงจะดี เพราะเราอาจกระทำสิ่งชั่วร้ายโดยไม่มีใครเห็น แต่กระนั้นก็ยังมีผู้เห็นอยู่คนหนึ่งเสมอ นั่นก็คือตัวเราเอง

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น