12:17

กฎของพาร์คินสัน

เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ค.ศ.1955 (คือเมื่อกว่าห้าสิบปีก่อน) The Economist วารสารชื่อดังของอังกฤษ ได้ตีพิมพ์รายงานคลาสสิคเรื่องกฎของพาร์คินสัน

บทความแนวขำขันอ่านสนุกเรื่องนี้ได้ถูกนำมาตีพิมพ์ซ้ำอีกครั้งในปี ค.ศ.2009

โดยมีเนื้อหาคร่าวๆ ดังต่อไปนี้

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ปริมาณงานมักเพิ่ม-ลดตามเวลาที่ถูกจัดสรรไว้สำหรับงานนั้นๆ หญิงชราผู้ว่างงานสามารถใช้เวลาหนึ่งวันเต็มๆ กับการเขียนไปรษณียบัตรไปหาหลานในต่างเมือง เธออาจใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงเพื่อเลือกไปรษณียบัตรที่ถูกใจ และอีกหนึ่งชั่วโมงในการค้นหาแว่นสายตา เวลาอีกครึ่งชั่วโมงถูกใช้ไปกับการหาที่อยู่ของหลาน หลังจากนั้นเธอก็อาจใช้เวลาอีกร่วมชั่วโมงเพื่อเขียนไปรษณียบัตร เมื่อเขียนเสร็จเธอจะใช้เวลาอีกยี่สิบนาทีเพื่อตัดสินใจว่าเวลาเดินไปปากซอยเพื่อส่งไปรษณียบัตรนั้น เธอควรจะถือร่มไปด้วยหรือไม่






สรุปแล้ว หญิงชราคนนี้ใช้เวลาหนึ่งวันที่เต็มไปด้วยความเหนื่อย เครียด และกังวล เพื่อทำกิจกรรมที่คนทำงานทั่วไปจะทำเสร็จในสามนาที

เนื่องจากเวลาในการทำงาน (โดยเฉพาะพวกงานเอกสารทั้งหลาย) สามารถยืด-หดได้ตามแต่ปริมาณเวลาที่ถูกจัดสรรให้มัน ดังนั้นปริมาณงานและจำนวนคนทำงานจึงไม่จำเป็นต้องมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ใดๆ ต่อกัน กฎที่ว่านี้มีชื่อเรียกว่า กฎของพาร์คินสัน

กฎข้อนี้สวนทางกับทรรศนะของนักการเมืองและประชาชน (ซื่อๆ) ผู้เสียภาษี บางคนที่เชื่อว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปีเพราะปริมาณงานมีมากขึ้น ในเวลาเดียวกัน กฎข้อนี้ก็สวนทางกับทรรศนะของคนบางกลุ่มที่เชื่อว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐเพิ่มขึ้นทุกปีเพราะคนพวกนี้ขี้เกียจและทำงานน้อยลงๆ ทรรศนะที่ว่ามานี้ล้วนเป็นทรรศนะที่ผิด เพราะว่าจำนวนเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เปลี่ยนไปนั้น แท้ที่จริงถูกกำหนดโดยกฎของพาร์คินสัน และไม่ว่าปริมาณงานที่แท้จริงจะเพิ่มขึ้น คงที่ ลดลง หรือหมดไปโดยสิ้นเชิง เราก็ยังจะเห็นจำนวนเจ้าหน้าที่ของรัฐเพิ่มขึ้นในอัตราเดียวกับที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ไม่มีผิด

กฎของพาร์คินสันสามารถพิสูจน์ได้ด้วยกระบวนการทางสถิติ แต่ก่อนอื่นขออธิบายถึงปัจจัยหลักสองปัจจัยที่เป็นแรงขับเคลื่อนอยู่เบื้องหลังกฎสำคัญข้อนี้

ปัจจัยข้อแรก-เจ้าหน้าที่ทุกคนย่อมอยากมีลูกน้องมากขึ้น แต่ไม่อยากมีคู่แข่งมากขึ้น

ปัจจัยข้อที่สอง-เจ้าหน้าที่แต่ละคนย่อมสร้างงานให้เจ้าหน้าที่คนอื่นๆ

เจ้าหน้าที่ทุกคนย่อมอยากมีลูกน้องมากขึ้น แต่ไม่อยากมีคู่แข่งมากขึ้น

เรามาดูปัจจัยข้อแรกกันก่อน สมมุติว่ามีเจ้าหน้าที่คนหนึ่งชื่อนาย ก. นายคนนี้มีความรู้สึกว่าตัวเองต้องทำงานมากเกินไป ความรู้สึกที่ว่านี้อาจเกิดมาจากปริมาณงานที่เพิ่มมากขึ้นจริงๆ หรือเกิดมาจากฮอร์โมนที่ผันผวนของคนวัยทองก็เป็นได้ อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่แท้จริงมิได้มีความสำคัญต่อเรื่องที่เรากำลังจะวิเคราะห์กันตอนนี้

นาย ก. มีทางเลือกหลักๆ สามทางในการรับมือกับปัญหางานหนัก คือ หนึ่ง ลาออก สอง เรียกร้องให้นาย ข. เพื่อนร่วมงานรับงานของตนไปครึ่งหนึ่ง หรือ สาม ขออนุมัติจ้างผู้ช่วยเพิ่มอีกสองคน (สมมุติว่าชื่อนาย ค. กับนาย ง.)

ทางเลือกข้อแรกนั้นคงตัดทิ้งไปได้ไม่ยาก เพราะขืนลาออก นาย ก.ก็อดบำเหน็จ-บำนาญกันพอดี สำหรับทางเลือกข้อที่สอง ก็ตัดไปได้เหมือนกัน เพราะหากนาย ก. แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบให้นาย ข. ไปกึ่งหนึ่ง ก็เท่ากับว่าเป็นการเพิ่มคู่แข่งในการเลื่อนตำแหน่งปีหน้า สรุปแล้ว ทางเลือกที่สามจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด

โปรดสังเกตว่าการจ้างลูกน้องเพิ่มนั้น จำเป็นต้องจ้างทีละสองคน ทั้งนี้เพราะถ้าจ้างมาคนเดียว เด็กใหม่อาจตีตนเสมอท่าน (เพราะเห็นว่าตัวเองก็ทำงานครึ่งหนึ่งเท่าๆ กับนาย) การจ้างทีละสองคนจะเป็นการสร้างคู่แข่งให้เด็กใหม่ ทำให้พวกนี้ไม่กล้าเหลิง นอกจากนี้ การแบ่งงานให้นาย ค. กับนาย ง. ทำคนละครึ่ง ย่อมหมายความว่านาย ก. จะเป็นคนเดียวที่รู้งานในภาพรวม ซึ่งก็ยิ่งทำให้นาย ก. ดูดีขึ้นไปอีก

ต่อมาอีกไม่นาน เวลานาย ค. เริ่มบ่นว่างานของตัวเองเยอะเกินไป ทางออกที่เหมาะสมก็คือ การอนุมัติให้นาย ค. จ้างลูกน้องเพิ่มสองคน (สมมุติว่าชื่อนาย จ. กับนาย ฉ.) แต่เพื่อป้องกันความขัดแย้งและข้อกล่าวหาว่าขาดความยุติธรรม นาย ก. ก็ย่อมต้องจ้างลูกน้องให้นาย ง. (เพื่อนร่วมรุ่นของนาย ค.) เพิ่มอีกสองคนด้วย (สมมุติว่าชื่อนาย ช. กับนาย ซ.)

ทีนี้นาย ก. ก็มีผู้ใต้บังคับบัญชาทั้งหมดหกคน ถึงสิ้นปี เขาต้องได้รับการเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นอย่างค่อนข้างชัวร์

เจ้าหน้าที่แต่ละคนย่อมสร้างงานให้เจ้าหน้าที่คนอื่นๆ

โปรดสังเกตว่าถึงตอนนี้ งานที่นาย ก. เคยทำอยู่คนเดียวก็ได้กลายเป็นงานของเจ้าหน้าที่ทั้งหมดเจ็ดคน (คือ นาย ก. และลูกน้องทั้งหก) เรามาดูกันว่าเจ้าหน้าที่พวกนี้จะสร้างงานให้กันและกันจนสุดท้ายคนเจ็ดคนต้องลงเอยกับการวุ่นวายด้วยงานที่เคยทำโดยคนเพียงคนเดียวได้อย่างไร

สมมุติว่ามีเอกสารเข้ามาฉบับหนึ่ง นาย จ. ผู้รับเอกสารเห็นว่ามีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบของนาย ฉ. จึงส่งต่อไปให้เพื่อน นาย ฉ. ได้รับแล้วก็ร่างเอกสารตอบแล้วส่งให้นาย ค. ตรวจ นาย ค. เห็นว่าเอกสารตอบยังไม่ได้เรื่องจึงแก้ไขเป็นการใหญ่ เสร็จแล้วก็ส่งให้นาย ง. พิจารณา นาย ง. ไม่รอช้าส่งต่อให้นาย ช. เอาไปดำเนินการ แต่บังเอิญนาย ช. ลาพักร้อนอยู่พอดี นาย ซ. เลยต้องร่างบันทึกข้อความเสนอข้อแก้ไขต่างๆ ที่เห็นควร แล้วส่งกลับให้นาย ง. เซ็น พอนาย ง. เซ็นแล้วก็ส่งคืนกลับไปให้ นาย ค. ผู้ต้องมานั่งแก้เอกสารตอบกลับตามคำแนะนำของนาย ซ. ก่อนที่จะยื่นเรื่องทั้งหมดขึ้นไปให้นาย ก. พิจารณา

ในขณะนั้นนาย ก. ของเราก็มีงานยุ่งเหยิงเกินตัวอยู่แล้ว เพราะไหนจะต้องตัดสินใจเลือกระหว่างนาย ค. และนาย ง. ว่าจะให้ใครได้เลื่อนตำแหน่งมาแทนตน ไหนจะต้องอนุมัติเรื่องการลาพักร้อนของนาย ช. ไหนจะต้องเป็นห่วงนาย ซ. ที่หมู่นี้ดูซีดเซียว (เพราะปัญหาครอบครัว) ไหนจะต้องอนุมัติเงินพิเศษให้นาย ฉ. ไปสัมมนาต่างประเทศ และเดินเรื่องให้นาย จ. ย้ายไปทำงานแผนกอื่นตามคำขอ เท่านั้นยังไม่พอ ยังมีเรื่องนาย ง. ไปเป็นชู้กับเลขาฯที่แต่งงานแล้ว ซ้ำร้ายนาย ฉ. กับนาย ช. ก็โกรธไม่มองหน้ากันเสียอีกด้วย

แต่เพราะนาย ก. เป็นเจ้าหน้าที่ผู้มีความรับผิดชอบสูง เขาจึงตรวจแก้เอกสารที่นาย ค. ส่งมาให้อย่างละเอียด ทำการลบข้อความห่วยๆ ที่นาย ค. และนาย ซ. เขียนไว้ออกไป แล้วก็แก้ภาษาที่นาย ฉ. เขียน (เพราะเด็กยุคใหม่เขียนหนังสือไม่รู้เรื่อง) สุดท้ายนาย ก. ก็ได้เอกสารแบบเดียวกับที่เขาคงจะเขียนขึ้นมาเองหากไม่มีนาย ค. ง. จ. ฉ. ช. และ ซ. มาข้องเกี่ยว

สรุปแล้ว คนมากมายใช้เวลามากโขไปกับการทำงานปริมาณเท่าเดิม โปรดสังเกตด้วยว่าในกรณีนี้ไม่มีใครทำตัวขี้เกียจ ทุกคนทำงานอย่างตั้งใจสุดความสามารถ

เย็นวันนั้น นาย ก. ง่วนอยู่กับการแก้เอกสารจนต้องกลับบ้านดึกเป็นพิเศษ เขายิ้มแห้งๆ พร้อมคิดกับตัวเองว่า "การต้องอุทิศตนทำงานหนักจนหัวหงอกนี่มันเป็นราคาแห่งความสำเร็จในหน้าที่การงานของเราเสียจริงๆ"

หลักฐานทางสถิติ

ตัวอย่างหลักฐานทางสถิติที่สนับสนุนกฎของพาร์คินสันสามารถดูได้จากข้อมูลของกองทัพเรืออังกฤษในช่วง ค.ศ.1914-1928 ในช่วงเวลาดังกล่าว กำลังพลของกองทัพเรือลดลงหนึ่งในสาม และจำนวนเรือรบลดลงกว่าสองในสาม ยิ่งไปกว่านั้น สนธิสัญญาวอร์ชิงตันที่อังกฤษได้ร่วมลงนามในปี ค.ศ.1922 ยังจำกัดมิให้กองเรืออังกฤษเพิ่มจำนวนเรือรบมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ อย่างไรก็ดี จำนวนเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรการและสนับสนุนของกองทัพเรือในช่วงเวลาเดียวกันกลับเพิ่มขึ้นจาก 2,000 เป็นกว่า 3,500 นาย เฉลี่ยแล้วเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 5.6 เปอร์เซ็นต์

ตัวอย่างอีกชิ้นหนึ่งมาจากข้อมูลของสำนักกำกับดูแลอาณานิคมอังกฤษ ในระหว่างปี ค.ศ.1935-1954 ในช่วงเวลาดังกล่าว ดินแดนที่เป็นอาณานิคมของอังกฤษมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นๆ ลงๆ โดยในช่วง ค.ศ.1935-1939 ขนาดอาณานิคมค่อนข้างคงที่ ในปี ค.ศ.1943 มีขนาดลดลง (เพราะเสียดินแดนให้ฝ่ายศัตรู) ในปี ค.ศ.1947 อาณานิคมอังกฤษมีขนาดเพิ่มขึ้นอีกครั้ง แต่นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา อังกฤษก็มีดินแดนอาณานิคมลดน้อยลงทุกปี เพราะบรรดาอาณานิคมค่อยๆ เริ่มประกาศอิสรภาพไปทีละประเทศสองประเทศ

หากพิจารณาจำนวนเจ้าหน้าที่ของสำนักกำกับดูแลอาณานิคมอังกฤษตลอดช่วงเวลาดังกล่าว เราก็จะพบว่าการเปลี่ยนแปลงของจำนวนเจ้าหน้าที่เป็นอิสระกับปริมาณงาน (คือ ขนาดดินแดนอาณานิคม) อย่างสิ้นเชิง กล่าวคือ จำนวนเจ้าหน้าที่มีเพิ่มมากขึ้นทุกปีด้วยอัตราคงที่ประมาณปีละ 5.9 เปอร์เซ็นต์ (คิดเฉพาะในยามสงบ คือ ไม่รวมช่วงสงคราม) ส่งผลให้จำนวนเจ้าหน้าที่ของสำนักเพิ่มจาก 373 คนในปี ค.ศ.1935 เป็น 1,661 คน ในปี ค.ศ.1954

จากการวิเคราะห์ทางสถิติพบว่าการเพิ่มขึ้นของจำนวนเจ้าหน้าที่ในองค์กรของรัฐถูกกำหนดโดยตัวแปรสำคัญคือ

-จำนวนเจ้าหน้าที่ที่กำลังพยายามหาทางเลื่อนตำแหน่ง (ยิ่งมากก็ยิ่งเพิ่มเร็ว)

-ปริมาณเวลาที่คนในองค์กรใช้ในการเขียนบันทึกข้อความหรือบันทึกการประชุม (ยิ่งมากก็ยิ่งเพิ่มเร็ว) และ

-จำนวนปีเฉลี่ยนับจากวันเริ่มจ้างไปจนถึงวันเกษียณของเจ้าหน้าที่ในองค์กร (ยิ่งยาวก็ยิ่งเพิ่มเร็ว)

ปัจจัยเหล่านี้อธิบายการเพิ่มขึ้นของจำนวนเจ้าหน้าที่รัฐในอัตราคงที่ปีละห้าเปอร์เซ็นต์กว่าๆ ทั้งนี้ ปริมาณงานที่ต้องทำมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับอัตราการเปลี่ยนแปลงของจำนวนเจ้าหน้าที่ที่รัฐว่าจ้างแต่ประการใด


โดย วินัย วงศ์สุรวัฒน์ คณะวิทยาการจัดการ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (AIT)
วันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11491

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น