แม็กซิม กอร์กี้
Maksim Gorky (1868-1936)
“ผมว่าไม่มีบทเพลงใดจะไพเราะไปกว่า Appassionata, ผมฟังได้ทุกวัน ช่างเป็นบทเพลงที่สุดวิเศษน่าอัศจรรย์ ผมรู้สึกหยิ่งทะนง ขณะเดียวกันก็ไร้เดียงสาประดุจเด็กน้อย เมื่อคิดว่ามนุษย์สามารถสร้างงานอันน่ามหัศจรรย์เช่นนี้ขึ้นมา
“แต่ผมไม่อาจฟังบ่อยๆ มันมีผลต่อประสาท ผมอยากพูดจาอ่อนหวาน และลูบศีรษะผู้คนที่สร้างสรรค์ความงดงามในโลกโสมม แต่ทุกวันนี้เราลูบศีรษะคนไม่ได้เพราะอาจโดนแว้งกัดที่มือ, พวกเขาต้องโดนตีที่ศีรษะ, ตีโดยปราศจากเมตตา, แม้ว่าเราจะมีอุดมการณ์ต่อต้านการใช้ความรุนแรงต่อประชาชน ช่างเป็นภารกิจที่ยากเย็นอย่างร้ายกาจเสียจริง!”
วลาดิมีร์ เลนิน
Vladimir Ilyich Lenin (1870 - 1924)
เลนินกล่าวคำพูดนี้กับกอร์กี้ในค่ำวันหนึ่งระหว่างฟังโซนาต้าของลุดวิก ฟาน เบโธเฟน(1770-1827) ประพันธกรชาวเยอรมัน บรรเลงโดย อิไซ โดโบรวีน ส่วน Appassionata ที่เลนินอ้างถึงคือ “เปียโน โซนาต้า หมายเลข 23” ซึ่งเบโธเฟนประพันธ์ขึ้นช่วงปี 1804-1806 และได้รับการยกย่องว่าเป็น 1 ใน 3 สุดยอดเปียโน โซนาต้า ในช่วงกลางของชีวิตนักประพันธ์ดนตรีผู้ยิ่งใหญ่ผู้นี้
ลุดวิก ฟาน เบโธเฟน
Ludwig Van Beethoven
เรื่องราวในหนังเยอรมัน The Lives of Others (Das Leben der Anderen) เจ้าของรางวัลออสการ์หนังภาษาต่างประเทศหนล่าสุด ของผู้กำกับฯ ฟลอเรียน เฮนเกล ฟอน โดนเนอร์สมาร์ค ที่ใช้ฉากเยอรมนีตะวันออก ปี 1984 หรือ 5 ปีก่อนการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน มีจุดเริ่มแห่งแรงบันดาลใจมาจากคำพูดข้างต้น โดยนำมาดัดแปลงแทรกไว้ในบทสนทนาของตัวละคร
ตัวละคร เกอ็อก เดรย์มาน นักประพันธ์บทละครหนุ่มใหญ่กล่าวกับแฟนสาวนักแสดง คริสต้า-มาเรีย ซีแลนด์ หลังจากเล่นเปียโนเพลง “โซนาต้าแด่ผู้แสนดี” (Sonata for a good man) จากแผ่นโน้ตที่เพื่อนผู้กำกับละครที่เพิ่งปลิดชีวิตตนเองมอบให้เป็นของขวัญวันเกิด ว่า “เลนินเคยกล่าวถึง Appassionata ว่าหากยังขืนฟังต่อไป จะปฏิวัติไม่สำเร็จ”
แม้คำพูดจะผิดเพี้ยนไป แต่นัยยะที่โดนเนอร์สมาร์คดึงมาเพื่อต้องการสื่อคือ ศิลปะดนตรีสามารถเปลี่ยนความแข็งกระด้างในจิตใจคน โดยในฉากดังกล่าวผู้ที่เฝ้าฟังเหตุการณ์นี้ตั้งแต่เสียงเพลงเปียโนมาจนถึงคำกล่าวเกี่ยวกับเลนิน คือ แกร์ด วีสเลอร์ ตำรวจลับจากหน่วยสตาซีที่ได้รับมอบหมายให้มาสอดแนมเดรย์มาน หลังจากสงสัยว่าฝักใฝ่ตะวันตก
วีสเลอร์เป็นตำรวจลับซึ่งรับใช้พรรคคอมมิวนิสต์อย่างเคร่งครัดและซื่อตรงเสมอมา มีหน้าที่หลักคือจัดการผู้ไม่ภักดีต่อรัฐ แต่ภารกิจครั้งล่าสุดนั้นต่างออกไป หลังจากเข้าไปติดตั้งอุปกรณ์สอดแนมในที่พักของเดรย์มานแล้ว เขาใช้เวลาส่วนใหญ่สังเกตความเคลื่อนไหวและลอบฟังเสียงสนทนาของสามี-ภรรยา กระทั่งได้รู้ว่าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอยู่นี้มีเบื้องหลังไม่ชอบมาพากลเกี่ยวกับเรื่องชู้สาวของรัฐมนตรีที่คิดจะกำจัดเดรย์มานให้พ้นทางเพื่อครอบครองซีแลนด์ ขณะเดียวกัน หัวหน้าของวีสเลอร์ก็หวังว่างานนี้จะส่งให้เป็นใหญ่เป็นโตในพรรคคอมมิวนิสต์
เมื่อภารกิจของชาติเป็นเพียงเรื่องส่วนตัวของผู้บังคับบัญชา ทัศนคติเที่ยงตรงของวีสเลอร์จึงโอนอ่อนผ่อนคลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเหยื่อของความเลวร้ายนี้คือนักแสดงสาวสวยอย่างซีแลนด์ กำแพงในใจตำรวจลับผู้หนึ่งจึงค่อยๆ ทลายลง
เสียงเพลงบรรเลงเปียโนอันไพเราะโดยเดรย์มานที่วีสเลอร์ได้ยินผ่านอุปกรณ์ดักฟัง ก็เปรียบได้กับเปียโน โซนาต้า หมายเลข 23 ของเบโธเฟน ที่แม้แต่นักปฏิวัติผู้ยิ่งใหญ่อย่างเลนินยังยอมรับว่ามีอานุภาพเปลี่ยนแปลงเขาได้
Appassionata - Manuscript Page
นอกจากเปียโน โซนาต้า ของเบโธเฟน ที่หนังนำมาใช้เป็นจุดเปลี่ยนของตัวละครแล้ว งานศิลปะอีกชิ้นหนึ่งที่ปรากฏในหนังคือ บทประพันธ์ของ แบร์ทอลท์ เบรคชท์(1898-1956) นักการละครและกวีชาวเยอรมัน
บทประพันธ์ของเบรคชท์เป็นของขวัญที่มีผู้มอบให้แก่เดรย์มาน ก่อนที่วีสเลอร์จะ “ยืม” มาอ่านระหว่างปฏิบัติภารกิจ มีฉากหนึ่งที่สามี-ภรรยากำลังตกอยู่ในความทุกข์ตรม ภาพตัดสลับกับวีสเลอร์ที่อ่านบทประพันธ์ของเบรคชท์ด้วยอาการสะเทือนใจ
ใครจะรู้ว่าเขาสะเทือนใจกับเรื่องราวในหนังสือ หรือกับสถานการณ์ของเป้าหมายที่เขาสอดแนมอยู่...
แบร์ทอลท์ เบรคชท์
Bertolt Brecht (1898-1956)
สำหรับแบร์ทอลท์ เบรคชท์ เป็นนักเขียนบท-กำกับละครที่ประสบความสำเร็จตั้งแต่ทศวรรษ 20 แต่เพราะเขามีประวัติให้การสนับสนุนขบวนการสังคมนิยมในเยอรมนี ทั้งยังศึกษาปรัชญามาร์กซิสต์ เมื่อรัฐบาลนาซีนำโดยฮิตเลอร์ขึ้นครองอำนาจในปี 1933 พวกคอมมิวนิสต์กับสังคมนิยมเป็นกลุ่มศัตรูที่ต้องโดนกำจัด เบรคชท์กับภรรยานักแสดงสาวจึงต้องลี้ภัยออกจากเยอรมนีไปพักอาศัยในหลายประเทศ
ประวัติของเบรคชท์ที่มาคลับคล้ายกับเรื่องราวในหนังเกิดขึ้นเมื่อเขาลี้ภัยไปยังสหรัฐอเมริกา และได้ทำงานเกี่ยวข้องกับฮอลลีวู้ด กระทั่งถูก “คณะกรรมการตรวจสอบพฤติกรรมไม่เป็นอเมริกัน” ที่ตั้งขึ้นเพื่อ “จับคอมมิวนิสต์” โดยเฉพาะ เรียกตัวไปเป็นสอบว่าเกี่ยวข้องกับพรรคคอมมิวนิสต์หรือไม่
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม 1947 เขาคือหนึ่งใน 11 บุคคลในแวดวงฮอลลีวู้ดที่ถูกเรียกแต่ปฏิเสธที่จะให้ปากคำต่อหน้าคณะกรรมการ แต่ภายหลังเบรคชท์เปลี่ยนใจเพียงคนเดียว เขาเข้าให้ปากคำและรอดพ้นข้อกล่าวหามาได้ ส่วน 10 คนที่เหลือถูกคุมขังชั่วคราวและขึ้นบัญชีดำ และต่อมาได้รับขนานนามว่า Hollywood Ten
นอกจากอาชีพนักเขียนบทละคร ทั้งยังมีภรรยาเป็นนักแสดง(ในละครตนเอง) เหมือนกันแล้ว เห็นได้ว่าวิบากกรรมของเบรคชท์กับเดรย์มานสอดคล้องกัน เพียงแต่มีวาระที่ตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิง ฝ่ายแรกถูกสงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ฝ่ายหลังถูกสงสัยว่าฝักใฝ่โลกเสรี
การที่วีสเลอร์อ่านบทประพันธ์ของเบรคชท์ จึงอาจจะมีนัยยะของผู้ตกเป็นเหยื่อความแตกต่างและหวาดระแวงทางการเมือง ซึ่งไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายใดก็ล้วนแต่ถูกกระทำในรูปรอยเดียวกัน และทำให้วีสเลอร์เห็นใจเดรย์มานมากยิ่งขึ้น
ลุดวิก ฟาน เบโธเฟน
Ludwig Van Beethoven
เบโธเฟนประพันธ์ดนตรีต่อไปทั้งที่หูพิการ เบรคชท์ทุ่มเทให้กับการละครแม้ว่าต้องเป็นผู้ลี้ภัยตลอดเวลาร่วมครึ่งชีวิต แล้วตัวละครเดรย์มานกับซีแลนด์เลือกทำเช่นใด ศิลปะจะดำรงอยู่ได้หรือไม่ในวันที่เงื่อนไขชีวิตไม่เอื้ออำนวย นี่คือคำถามที่หนังได้ตั้งไว้ โดยมี เยอร์สกา เพื่อนผู้กำกับละครของเดรย์มานที่ถูกทางการหมายหัวจนไม่ได้ทำงานอีกเป็นตัวอย่างของคำตอบในด้านลบ
สำหรับวีสเลอร์แม้จะเป็นตำรวจลับผู้เคร่งขรึมไร้อารมณ์ แต่นั่นเป็นเพียงบทบาทตามหน้าที่ที่ต้องมีความเลือดเย็นและเด็ดขาด อย่างไรก็ตาม การที่เขาลึกซึ้งกับบทเพลงและวรรณกรรมแสดงว่าเขามีพื้นที่ในจิตใจให้กับงานศิลปะ และก็ใช่ว่าเขาจะไม่มีสถานะของศิลปิน เพราะเมื่อวีสเลอร์เริ่มเห็นใจเป้าหมาย การกระทำของเขาไม่ว่าจะเป็นการกำหนดให้สิ่งใดเกิดหรือไม่เกิดขึ้น หรือการแต่งเรื่องขึ้นเองในรายงานการสอดแนมนั้น ไม่ได้ต่างจากหน้าที่ของผู้กำกับละครและนักประพันธ์เลย
แม้ The Lives of Others เป็นหนังว่าด้วยเหตุการณ์ภายใต้เงื่อนไขทางการเมืองในอดีต แต่ก็ห้อมล้อมไปด้วยเรื่องราวของศิลปิน มีงานศิลป์เป็นองค์ประกอบหลัก และตั้งคำถามถึงการดำรงอยู่ของศิลปะ
ขณะที่ตัวหนังเองก็เป็นงานศิลปะที่น่าประทับใจ
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น