"ข้าพเจ้ามีความปรารถนาสูงสุดอยู่ประการหนึ่ง นั่นคือทำอย่างไรให้ประเทศของเราได้รับอิสรภาพและประชาชนมีเสรีภาพอย่างแท้จริง เพื่อนร่วมชาติทุกคนมีข้าวกินมีเสื้อผ้าใส่ และมีโอกาสได้ศึกษาร่ำเรียน"
นี่คือปณิธานของ โฮจิมินห์ หรือ ลุงโฮ ของประชาชนชาวเวียดนาม ซึ่งเป็น "วีรบุรุษ" ผู้ยิ่งใหญ่ของคนเวียดนาม ในฐานะนักปฏิวัติผู้ต่อสู้ให้ได้มาซึ่งเอกราชและอิสรภาพของเวียดนาม
จากข้อความดังกล่าวถือเป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจน บ่งบอกถึงความปรารถนาอันแสนธรรมดาและเรียบง่ายของผู้นำที่ยิ่งใหญ่ ดังนั้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 120 ปี ชาตกาลของโฮจิมินห์ เมื่อ 19 พฤษภาคม 2553 ที่ผ่านมา ชมรมวัฒนธรรมไทย-เวียดนาม และสาขาวิชาภาษาเวียดนาม ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงจัดเสวนาในหัวข้อ "ลุงโฮกับความยิ่งใหญ่ในความเป็นสามัญ"
แม้การเสวนาจะผ่านมาแล้วเกือบ 1 เดือน แต่ความน่าสนใจเรื่องลุงโฮไม่ได้ลดน้อยลงไปเลย จึงขอเก็บตกความ ประทับใจที่เป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยบางส่วนของงานเสวนาครั้งนี้มาเล่าสู่กันฟัง โดยเฉพาะเรื่องเล่าเกี่ยวกับ "ความเรียบง่าย" ของโฮจิมินห์ ที่ทางผู้จัดงานได้เชิญวิทยากรชาวเวียดนามบินตรงจากเวียดนามมาไทย เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์จริงที่ได้พบปะใกล้ชิดกับโฮจิมินห์ และผู้ที่ศึกษาค้นคว้าประวัติของโฮจิมินห์อย่างละเอียดลึกซึ้ง
โดย ดร.บุ่ย ดิ่ง ฟอง ผู้เชี่ยวชาญเรื่องชีวประวัติของโฮจิมินห์ จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติฮานอย ได้เล่าเรื่องความเรียบง่ายของโฮจิมินห์ในชีวิตประจำวันให้ฟังว่า ความเรียบง่ายของลุงโฮแสดงให้เห็นจากการพูดของลุงโฮ ไม่ว่าจะพูดกับใครจะใช้คำพูดที่เรียบง่ายและกระชับ ทำให้เข้าใจง่าย
ขณะที่การใช้ภาษาของลุงโฮ มักชอบใช้คำว่า "ดงบาว" เรียกประชาชนชาวเวียดนาม ซึ่งมีความหมายมากกว่าคำว่าประชาชนที่ทั่วโลกใช้อยู่ หากแปลเป็นภาษาไทย รศ.แล ดิลกวิทยรัตน์ บอกว่า จะใกล้เคียงหรือตรงกับคำว่า "พี่น้องร่วมท้องเดียวกัน" คือพวกที่มาจากท้องแม่เดียวกัน เป็นพี่น้องกัน
คำว่า "ดงบาว" จึงมีความหมายลึกซึ้ง ศักดิ์สิทธิ์ และแน่นแฟ้นใกล้ชิดมากกว่า คำว่าประชาชนทั่วไป คำนี้มาจากความเชื่อตามตำนานที่เล่ากันว่า ทุกชนเผ่าเวียดนามเกิดมาจากไข่ฟองเดียวกัน แล้วแตกเป็น 100 ฟอง เป็นพี่น้องกัน เพราะฉะนั้น ลุงโฮจึงใช้คำว่า "ดงบาว" จะไม่พูดว่า ประชาชนหรือมวลชน
ในเรื่อง "กิจวัตรประจำวัน" ของลุงโฮ ดร.ฟองเล่าว่า ปกติอาหาร 1 มื้อ ลุงโฮจะทานครบ 5 หมู่ แต่อาหารจะมี 3-4 อย่าง และจะชอบอาหารประจำชาติเวียดนาม เช่น มะเขือดอง ถ้าวันไหนมีแขกมา อาหาร จะมากกว่าปกติ เกรงว่าจะทานไม่หมด ก็จะแบ่งไว้ตั้งแต่แรก จะไม่ทานเหลือไว้
ดร.ฟองบอกว่า มีเรื่องเล่าเรื่องลูกศิษย์คนโปรด ที่ลุงโฮมักจะเรียกมาทานอาหารร่วมกันทุกวันเสาร์ และสอนว่า "เวลาทานต้องทานให้หมด อย่าให้ตกหล่นลงพื้น เพราะข้าวทุกเม็ดเป็นของประชาชน เป็นน้ำพักน้ำแรง เป็นหยาดเหงื่อแรงงานของประชาชนที่ส่งมาให้เรา"
ดร.ฟองบอกว่า ลุงโฮมีเสื้อผ้าน้อยชิ้นมาก คือมีเสื้อสีกา ที่มักจะเห็นใส่ประจำ 2 ชุด เสื้อชุดทหาร 1 ชุด ชุดที่เป็นผ้าไหม 1 ชุด และเสื้อกันหนาวแบบเวียดนามเป็นผ้าสำลีเย็บหนา ๆ 1 ตัว
แต่มีเสื้อตัวหนึ่งขาด ทหารให้เอาไปทิ้ง ลุงโฮก็ไม่ทิ้ง กลับบอกว่า ถ้าขาดก็เอาไปปะสิ แล้วก็ใส่ต่อได้ ทหารถามว่า ทำไม ไม่เอาเสื้อใหม่ (ท่านเป็นถึงผู้นำ ทำไมใส่เสื้อผ้าขาด) ท่านบอกว่า "เราเป็นผู้นำของประเทศที่กำลังปฏิวัติ กำลังต่อสู้กับศัตรูอยู่ ประเทศเรายังยากจนอยู่ เพราะฉะนั้นเราใส่เสื้อผ้าขาดถือว่าเป็นบุญของประชาชนของประเทศ"
ต่อมาเป็นเรื่องพื้นฐานจริง ๆ คือ รองเท้าของลุงโฮที่ทำด้วยยางรถยนต์ เป็นการสะท้อนความเรียบง่ายอย่างแท้จริง รองเท้าคู่นี้ลุงโฮใส่ใช้เดินทางไปทั่วโลก และช่วงการปฏิวัติก็ใช้รองเท้าคู่นี้ จนมีศิลปินเวียดนามแต่งเพลงให้ท่าน ชื่อเพลง "รองเท้าของลุงโฮ" เป็นเพลงที่เมื่อร้องแล้ว คนฟังจะรู้สึกสะเทือนใจ เพราะเป็นภาพผู้นำที่ยิ่งใหญ่ แต่เรียบง่าย
ดร.ฟองบอกว่า รองเท้าที่ลุงโฮใส่มา ตั้งแต่สมัยอยู่ในป่า ค.ศ. 1958 คือ 10 กว่าปี ใส่รองเท้าคู่นี้มาตลอด ครั้งหนึ่ง ลุงโฮไปเยี่ยมทหารเรือ แล้วทหารทุกนาย ก็อยากเข้าหาอย่างใกล้ชิดลุงโฮ ก็เบียดกันเข้ามาใกล้ลุงโฮ แล้วมีทหารนายหนึ่งก็เหยียบโดนรองเท้าลุงโฮ ทำให้สายหลุดออกมา
เพราะเป็นรองเท้าที่ทำจากยางล้อรถยนต์ มีสายคีบที่เสียบเจาะรูลงไปข้างล่าง (เหมือนรองเท้าแตะของไทย) เมื่อเหยียบโดนก็หลุดออกมา ทหารก็ช่วยซ่อม แต่ใช้มากว่า 10 ปีแล้ว จึงต้องเอาตะปูมาตอกให้ติด เพราะไม่สามารถจะซ่อมได้ เนื่องจากยัดสายคีบที่เป็นยางลงไปแล้วก็หลุดออกมาอีก
ส่วนเรื่องบ้าน หรือที่อยู่ของลุงโฮ ดร.ฟองเล่าให้ฟังว่า เมื่อได้อิสรภาพมา ทางรัฐบาลก็จะจัดหาที่พักอาศัยให้ลุงโฮ ก็พาลุงโฮไปดูบ้านหลังหนึ่ง เรียกว่าเป็น "ทำเนียบ" ของผู้ว่าราชการเวียดนาม หรือผู้สำเร็จราชการประจำเวียดนาม ลุงโฮ ก็บอกว่า บ้านนี้สวยจริง แต่ว่าสวยเกินไป เอาเก็บไว้ให้เด็กมาเรียนหนังสือ หรือทำกิจกรรมดีกว่า แล้วลุงโฮก็มาดูบ้านอีกหลังหนึ่งใกล้ ๆ กัน เป็นบ้านของช่างซ่อมไฟประจำทำเนียบของผู้สำเร็จราชการฯ บ้านหลังนี้หลังคาต่ำมาก ทุกคนเห็นว่า บ้านเตี้ยและร้อนมาก แต่ลุงโฮเลือกที่จะอยู่บ้านของช่างซ่อมไฟ
เมื่อลุงโฮต้องการอยู่ก็ให้อยู่ แต่ครั้งหนึ่งลุงโฮต้องไปไกลไม่อยู่บ้าน ทุกคนก็คิดว่าควรจะหาแอร์ (เครื่องปรับอากาศ) ให้สักเครื่องหนึ่ง ก็ไปติดตั้งให้ เมื่อลุงโฮ กลับเข้าบ้าน ก็บอกว่า "ผมรู้สึกได้กลิ่นอะไรแปลกที่บ้านนะ" ทุกคนก็บอกว่าใช่แล้ว ทางกระทรวงการต่างประเทศเพิ่งมอบแอร์ให้เครื่องหนึ่ง เพราะคิดว่าที่นี่ร้อนมาก เกรงว่าลุงโฮจะอยู่ไม่ไหว เลยติดตั้งให้
แต่ลุงโฮกลับบอกว่า "ประเทศเรายังลำบากมาก ไม่ร่ำรวยอะไร แอร์ก็ดีนะ แต่จะดีกว่าถ้าจะให้ที่ที่ต้องการมากกว่า เช่น โรงพยาบาล ผมใช้พัดลมก็พอ" จะเห็นว่าสุดท้ายชีวิตของลุงโฮ ถ้าใครไปบ้านลุงโฮ จะยังเห็นพัดลมตัวหนึ่งที่เก่ามาก ที่ใช้จนบั้นปลายชีวิตของลุงโฮ
แม้แต่เรื่องรถของลุงโฮ ก็มีเรื่องเล่าว่า ลุงโฮมีรถเก่า ๆ ของรัสเซีย ที่ไปไหนมาไหนจะนั่งคันนี้ตลอด แต่ทุกคนอยากให้ ลุงโฮได้นั่งรถคันใหม่ แต่ลุงโฮไม่ยอมนั่ง จะนั่งแต่คันเก่า จนคนที่อยู่รอบ ๆ ตัวก็บอกว่า จะทำอย่างไรให้ท่านยอมนั่งรถคันอื่น ก็มีวันหนึ่งไม่รู้ว่ารถเสียจริงหรือเปล่า แต่ทุกคนบอกกับลุงโฮว่า ให้ไปรถคันใหม่ดีกว่า เพราะรถคันเก่าเสีย แต่ลุงโฮก็บอกว่า "รถเสียก็ซ่อมสิ" และนั่งรอให้ซ่อมจนเสร็จ แล้วบอกว่า "รถไปได้แล้วนี่ เราก็ใช้กันต่อ"
หลังจากที่ลุงโฮได้ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี ดร.ฟองเล่าว่า ในกองทัพ ก็อยากจัดพิธีการตอนรับท่านให้สมเกียรติ เวลาไปไหนมาไหนก็จะจัดพิธีการ มีคน แต่งตัวสวยงามมาต้อนรับ แต่ลุงโฮก็แอบไปสำรวจพื้นที่ก่อน พอถึงเวลาทุกคนก็รอ และรู้สึกแปลกใจว่า เมื่อถึงเวลาแล้วทำไมลุงโฮยังไม่มา ปรากฏว่ามาทราบอีกทีคือจริง ๆ มาตั้งนานแล้ว ทุกคนเลยถามว่า ลุงโฮมาแล้วทำไมเราไม่รู้กัน ลุงโฮก็บอกว่า "บ้านเมืองเราก็ยากจน จะทำอะไรให้ อึกทึกครึกโครมทำไม และทำให้เสียเวลาสิ้นเปลืองเงิน"
"ความเรียบง่ายของลุงโฮมีมากมาย แต่ขอสรุปความเรียบง่ายของลุงโฮว่า มันมาจากความรักประชาชนของลุงโฮ จริง ๆ ไม่ใช่กระทำเพื่อสร้างภาพ แต่มาจากใจของลุงโฮ และความรักของลุงโฮ ทำให้คนเวียดนามรักลุงโฮมากขึ้น" ดร.ฟองกล่าวสรุป
ขณะที่วิทยากรอีกท่านหนึ่งซึ่งน่าสนใจมาก คือ "คุณเตื่อง วี" เป็นศิลปินประชาชน จากประเทศเวียดนาม เป็นบุคคลซึ่งได้มีโอกาสใกล้ชิดกับลุงโฮ ในช่วงหนึ่งที่เวียดนามต้องต่อสู้กับอเมริกัน จะมีการระดมเด็กชาวเวียดนามไป เพาะเมล็ดพืชสีแดง คือจัดตั้งเยาวชนต่อต้านจักรวรรดินิยม เด็กคนใดถนัดเรื่องใดก็ทำเรื่องนั้น เด็กที่ถนัดร้องเพลงก็จัดให้ ร้องเพลง และในช่วงนี้เองที่คุณเตื่อง วี มีโอกาสได้สัมผัสกับลุงโฮอย่างใกล้ชิด
คุณเตื่อง วี ชอบร้องเพลง และหลายครั้งได้ร้องเพลงให้ลุงโฮฟังด้วย เธอได้เล่าถึงหลาย ๆ เหตุการณ์ที่ลุงโฮได้สร้างความประทับใจให้กับเธอและเด็ก ๆ อีกหลายคน
"ลุงโฮเป็นผู้นำประเทศ ขณะเดียวกันก็จะห่วงใยประชาชน โดยเฉพาะศิลปิน ลุงโฮได้แสดงความห่วงใยเสมอมา เมื่อมีแขกมาจากต่างประเทศก็จะให้ไปแสดง ส่วนตัวแล้วหลายครั้งได้ร้องให้ลุงโฮและแขกต่างประเทศฟัง" คุณเตื่อง วี กล่าวถึงความประทับใจในตัวลุงโฮ
เธอเล่าว่า ในความเรียบง่ายของลุงโฮคือความยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะกับเด็ก ๆ และคนที่ขาดโอกาส ห่างไกลพ่อแม่ ตอนนั้นผู้ที่ได้พบลุงโฮยังอยู่ในวัยเยาว์ ก็เป็นอาสาสมัครที่ต้องมาภาคเหนือ ต้องมาฝึกฝน ต้องห่างไกลบ้าน ลุงโฮก็สงสารที่จากบ้านมาไกล วันไหนมีภาพยนตร์ที่สนุก ๆ ลุงโฮจะบอกให้เด็ก ๆ ที่ห่างไกลครอบครัวเข้าไปพบลุงโฮแล้วไปดูภาพยนตร์
มีอยู่ครั้งหนึ่ง เด็กทางใต้จะคิดถึงบ้านเกิดตัวเอง แต่ไม่รู้ว่าจะเขียนจดหมายส่งถึงบ้านเกิดตัวเองอย่างไร ขณะที่เด็กภาคใต้ก็ไม่สามารถจะส่งจดหมายมาภาคเหนือได้ เพราะประเทศถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน มีเด็กคนหนึ่งอายุ 8 ขวบ เขียนจดหมายแล้วไม่รู้จะทำอย่างไรจะส่งไปภาคใต้ได้ ก็เลยขุดดินแล้วเอาจดหมายที่เขียนไว้ฝังไปในดิน และเอาดินกลบ แล้วก็พูดว่า "ดินเอ๋ย ช่วยส่งจดหมายนี้ส่งข่าวไปให้พ่อแม่ด้วย" คุณเตื่อง วี บอกว่า หลังจากที่ลุงโฮฟัง เรื่องราวเด็กคนนี้ก็รู้สึกสะเทือนใจ
อีกเรื่องหนึ่ง คือมีอยู่วันหนึ่ง คุณเตื่อง วี ไปกองทหาร เห็นลุงโฮกำลังให้อาหารปลา มีปลาหลายสีสวยงาม สีเขียว สีเหลือง เห็นลุงโฮกำลังเพลิดเพลินก็ไม่อยากรบกวน จึงย่องไปเบา ๆ แต่ไปเหยียบกิ่งไม้ ทำให้ลุงโฮหันมามอง เธอเลยถือโอกาสทักทาย ลุงโฮวางตะกร้าและตะเบ๊ะเหมือนทหารเขาทำกัน แล้วบอกว่านั่งลง เธอจึงนั่งอยู่ขอบสระ ลุงโฮถามในหน่วยของพวกหนูมีปลาหรือเปล่า เธอตอบว่าพวกหนูไม่มีบ่อปลา ลุงบอกว่ากลับไปบอกที่หน่วยซิ ให้ขุดบ่อเลี้ยงปลา แล้วมาซื้อปลากับลุง 1 ตัว จะแถมให้อีก 1 ตัว
"ความรู้สึกเป็นกันเองของลุงโฮเมื่ออยู่ใกล้ชิด ไม่รู้สึกประหม่า ยิ่งเคารพและก็รัก ในขณะที่กับผู้นำหน่วยของหนูเอง หนูจะรู้สึกกริ่งเกรงกันมาก แต่อยู่ใกล้ลุงโฮซึ่งเป็นผู้นำประเทศกับรู้สึกเป็นกันเอง เพราะลุงโฮเป็นคนที่เรียบง่าย และอารมณ์ดี" คุณเตื่อง วี ย้อนอดีตสมัยเป็นเด็กให้ฟัง
คุณเตื่อง วี เล่าว่า มีอยู่วันหนึ่งเดินไปคุยไปกับลุงโฮ ลุงโฮก็ถามว่า ร้องเพลงเสียงอะไร เธอบอกว่า ร้องสไตล์ซูปราโน ลุงโฮพูดว่าเป็นเสียงที่สูงนี่ และถามอีกคนว่า ร้องแบบไหน อีกคนก็ตอบว่า ร้องแบบเสียงระดับกลาง ลุงบอกว่า แบบนี้ต้องร้องประสานเสียง แล้วลุงก็มีศิลปินคนหนึ่งร้องแบบบาริโทน (เสี่ยงต่ำ) เด็ก ๆ ถามลุงโฮว่าอยู่ที่ไหนเหรอ ลุงโฮบอกว่าเงียบ ๆ แล้วไปกับลุง
ลุงโฮเดินย่องเบา ๆ พวกเด็กก็เดินตาม พอเข้าไปในสวนก็มีเสียงร้องกังวานออกมา ปรากฏว่าเป็น "กบ" คิวบา ที่เขามอบให้ ลุงโฮ ตัวใหญ่ประมาณ 2 กิโล กบจะอยู่ที่ พุ่มไม้ ทุก ๆ เย็นจะเปล่งเสียง ก็จะได้ยินเสียงศิลปินกบทุกวัน ทำให้คุณเตื่อง วี มีความรู้สึกว่า ลุงโฮมีความน่ารัก เรียบง่าย คุยเรื่องที่สอดคล้องเสมอ ๆ
เธอเล่าอีกว่ามีอยู่ครั้งหนึ่ง นักแต่งเพลงหลาย ๆ ท่านได้ร่วมกันแต่งเพลงให้ลุงโฮ เป็นเพลงที่ช่วยเป็นกำลังใจให้ลุงโฮ เวลาที่ไปเยี่ยมลุงโฮ นักแต่งเพลงจะแต่งเพลง ใหม่ ๆ มา แล้วไปร้องเพลงให้ลุงฟัง พอลุงโฮฟัง ก็จะบอกว่า "หนูร้องเพลงนี้เพราะ เหมาะกับโทนเสียงของหนู และบอกว่าเพลงนี้จะดังและอยู่ไปยาวนาน"
คุณเตื่อง วี มีโอกาสใกล้ชิดกับลุงโฮบ่อย เธอเล่าว่า ครั้งหนึ่งตอนตั้งท้องอยู่ ร่างกายไม่ค่อยแข็งแรง ได้ไปร่วมร้องเพลงกับนักร้องท่านอื่น ๆ ตอนที่นักร้องไปถึงบ้านลุงโฮ ลุงโฮกำลังออกกำลังกายอยู่ แต่ทราบเรื่องว่าเธอไม่ค่อยแข็งแรง จึงก้าวเข้ามาข้างหน้าเธอ แล้วถามว่าเป็นอย่างไร แล้วเอานิ้วมาเปิดดูเปลือกตา แสดงความห่วงใย เมื่อดูแล้ว ลุงโฮบอกว่าตายังแห้งอยู่นะ ไม่ต้องร้องเพลงก็ได้ ให้พักผ่อนก่อน
"คิดว่าความเรียบง่ายของลุงโฮยิ่งใหญ่จริง ๆ ตราบเท่าทุกวันนี้ก็จำกลิ่นบุหรี่ของลุงโฮได้ และจำนิ้วของลุงโฮที่เปิดดูเปลือกตาได้" นี่คือความประทับใจที่คุณเตื่อง วี ไม่เคยลืมเลือน
ช่วงสุดท้ายของงานนี้ ปิดท้ายรายการด้วยเสียงเพลงอันไพเราะของคุณเตื่อง วี ในบทเพลงที่ลุงโฮเคยบอกเธอว่า "เพลงนี้จะดังและอยู่ไปยาวนาน"
( ประชาชาติธุรกิจ )
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น