09:48

ประเทศไทยในยุคล่าอาณานิคม



ประเทศไทยได้เสียดินแดนให้แก่ฝรั่งเศสรวม 5 ครั้ง เป็นพื้นที่ทั้งสิ้น 481,600 ตารางกิโลเมตร นับตั้งแต่ปลายรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จนถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ โดยไทยต้องยินยอมเสียดินแดนบางส่วนไป เพื่อรักษาเอกราชและดินแดนส่วนใหญ่ไว้ ทำให้พื้นที่ประเทศไทยเหลืออยู่เพียง 513,600 ตารางกิโลเมตร 
              ดินแดนที่เสียไปตามลำดับมีดังนี้ 
                1.   แคว้นกัมพูชา  เมื่อปี พ.ศ. 2410 
                2.   แคว้นสิบสองจุไทย  เมื่อปี พ.ศ. 2431  เป็นพื้นที่ 87,000 ตารางกิโลเมตร 
                3.   ดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง อันได้แก่ ประเทศลาวปัจจุบัน ในพื้นที่เมืองหลวงพระบาง เมืองเวียงจันทร์ และอาณาเขตนครจัมปาศักดิ์ตะวันออก   ตลอดจนบรรดาเกาะต่าง ๆ ในแม่น้ำโขง  เมื่อปี พ.ศ. 2436   หรือที่รู้จักกันดีคือ ร.ศ. 112   เป็นพื้นที่ 143,000 ตารางกิโลเมตร 
                4.   ดินแดนทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขง บริเวณที่อยู่ตรงข้ามเมืองหลวงพระบาง และตรงข้ามเมืองปากเซ เมื่อปี พ.ศ. 2446  เป็นพื้นที่ 62,000 ตารางกิโลเมตร   เพื่อแลกกับเมืองจันทบุรี ที่ฝรั่งเศสยึดไว้เมื่อ ร.ศ. 112 
                5.   มณฑลบูรพา ได้แก่ พื้นที่เมืองพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ เมื่อปี พ.ศ. 2449 เป็นพื้นที่ 51,000  ตารางกิโลเมตร เพื่อแลกกับเมืองตราด เกาะกง และเมืองด่านซ้าย พร้อมทั้งอำนาจศาลไทย ต่อคนในบังคับฝรั่งเศส 
            ต่อมาประเทศอังกฤษและฝรั่งเศส ได้ทำสัญญาเป็นพันธมิตรกับรัสเซีย เพื่อเตรียมรับสงครามโลกครั้งที่ 1   อังกฤษและฝรั่งเศสจึงได้ประชุมพิจารณาปรองดองกัน ในปัญหาข้อพิพาทเกี่ยวกับอาณานิคมโดยทั่วไป สำหรับประเทศไทยนั้นได้ตกลงแบ่งออกเป็น 3 ส่วน 
            ส่วนที่ 1   เป็นพื้นที่ภาคตะวันออก ตั้งแต่มณฑลนครราชสีมาไปทางตะวันออกทั้งหมด เป็นเขตผลประโยชน์ของฝรั่งเศส 
            ส่วนที่ 2   เป็นพื้นที่ด้านตะวันตกของมณฑลราชบุรีลงไป เป็นเขตผลประโยชน์ของอังกฤษ 
            ส่วนที่ 3   คงเหลือเฉพาะพื้นที่ภาคกลางคงเป็นของไทย 
            สัญญานี้ทำกันเมื่อปี ค.ศ. 1911   แต่เนื่องจากหลังสงครามโลกครั้งที่ 1  มหาประเทศคู่สงคราม ต่างพากันอ่อนกำลังลงไป นอกจากนี้ การที่ประเทศไทยเข้าร่วมสงคราม โดยอยู่ทางฝ่ายพันธมิตร ซึ่งเป็นฝ่ายชนะ จึงทำให้มีฐานมั่นคงขึ้น 
            การเสียดินแดนครั้งนี้ ฝรั่งเศสได้ถือโอกาสที่เกิดเรื่องกระทบกระทั่งกันทางชายแดน ได้ส่งเรือรบ 2 ลำ เข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2436 โดยใช้เรือพาณิชย์นำร่องเข้ามาถึงพระนคร แล้วยื่นเงื่อนไขคำขาดกับไทย 
            ฝ่ายอังกฤษ เห็นพฤติกรรมฝรั่งเศส ที่จะยึดประเทศไทยโดยสิ้นเชิง ก็เข้าประท้วงคุมเชิงอยู่ ฝ่ายรัสเซียพระเจ้าซาร์นิโคลาส ได้มีพระราชโทรเลขไปยังรัฐบาลฝรั่งเศส ให้ยับยั้งการยึดครองประเทศไทย ฝรั่งเศสจึงยอมถอยเรือ กลับไปตามสัญญาลง 3 ธันวาคม 2435   แต่ได้ยึดครองดินแดนฝั่งแม่น้ำโขงไว้โดยสิ้นเชิง 
กับเรียกค่าทำขวัญอีก 3 ล้านบาท  กับเงินฝรั่งเศสอีก 2 ล้านฟรังค์ พร้อมทั้งยึดเมืองจันทบุรีไว้เป็นประกัน 10 ปี รวมทั้งให้ดำเนินคดี พระยอดเมืองขวาง ที่มีกรณีพิพาทกับฝรั่งเศส 
            ครั้นครบกำหนด 10 ปี   ฝรั่งเศสไม่ยอมถอนทหารออกจากจันทบุรี   แล้วกลับตั้งเงื่อนไขเรียกร้องให้ยกเขต จัมปาศักดิ์ ให้แก่ฝรั่งเศสอีก   รัฐบาลไทยต้องจำยอมตามสัญญาลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2446   แต่แล้วฝรั่งเศสก็ถอยไปยึดจังหวัดตราด และเรียกร้องให้ไทยยอมยกดินแดน 4 จังหวัด เมื่อปี พ.ศ. 2449 เพื่อให้ฝรั่งเศสถอนทหารออกไปจากแผ่นดินไทย รัฐบาลไทยจึงต้องยอมยกให้ไป 
            ในการกระทำของฝรั่งเศสดังกล่าว ได้ใช้มองซิเออร์ ปาวี อัครราชฑูตฝรั่งเศส เป็นผู้ดำเนินการ คนผู้นี้ทางราชการได้จ้างมาทำแผนที่ประเทศไทย และเคยถูกจีนฮ่อทำร้ายที่เมืองหลวงพระบาง แต่เจ้าหน้าที่ไทยได้ช่วยชีวิตไว้ 
            เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 อุบัติขึ้นในปี พ.ศ. 2482   ฝรั่งเศสมีความห่วงใย อาณานิคมของตน ในอินโดจีนเป็นอันมาก จึงได้เสนอขอทำสัญญาไม่รุกรานกันกับประเทศไทย เพื่อป้องกันไม่ให้ไทยถือโอกาสยึดดินแดนคืน 
            คณะรัฐมนตรีของไทยในครั้งนั้น   ซึ่งมีนายพันเอกหลวงพิบูลย์สงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี มีจำนวนกว่าครึ่งหนึ่งที่ได้เคยไปศึกษาที่ฝรั่งเศส ต่างก็เห็นอกเห็นใจฝรั่งเศสที่ถูกรุกรานอยู่ จึงได้ตอบสนองการทำสัญญานั้นด้วยดี แต่ได้เสนอให้ฝรั่งเศสปรับปรุงดินแดนฝั่งลำน้ำโขง ที่ล้ำเข้ามาในประเทศไทยเสียใหม่ ให้เป็นการถูกต้อง ได้มีการต่อรองประวิงเวลากันมาหลายเดือน ในที่สุดก็ได้ทำสัญญาไม่รุกรานกันเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2484 อันเป็นห้วงเวลาที่กรุงปารีส ใกล้จะเสียแก่ฝ่ายเยอรมัน   ดังนั้น การที่ฝ่ายฝรั่งเศสประนามว่าไทยใช้มีดทะลวงหลัง เมื่อตนเพลี่ยงพล้ำนั้นจึงไม่เป็นความจริง 
            สนธิสัญญาดังกล่าวยังไม่มีผลใช้บังคับ เนื่องจากยังไม่ได้มีการแลกเปลี่ยนสัตยาบันซึ่งกันและกัน ต่อมาฝรั่งเศษได้ขอให้สนธิสัญญามีผู้ใช้บังคับ โดยไม่ต้องมีการแลกเปลี่ยนสัตยาบันเพื่อที่จะรักษาผลประโยชน์ ของตนในอาณานิคมอินโดจีน เนื่องจากการสงครามในทวีปยุโรป ฝรั่งเศษกำลังพ่ายแพ้เยอรมัน และในทวีปอาเซียน ดินแดนส่วนใหญ่ กำลังถูกคุกคามจากญี่ปุ่น รัฐบาลไทยได้ตอบฝรั่งเศษไปว่ายินดีตกลงปฏิบัติตามสนธิสัญญา ถ้าฝรั่งเศษยอมรับข้อเสนอของไทย 3 ประการ คือ 
            1. ขอให้มีการวางแนวเส้นเขตแดนตามลำน้ำโขงให้เป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่งประเทศ โดยให้ถือร่องน้ำลึกเป็นเส้นเขตแดน 
            2. ขอให้ปรับปรุงเส้นเขตแดนให้เป็นไปตามธรรมชาติ คือถือแม่น้ำโขงเป็นเส้นเขตแดนระหว่าง ไทยกับอินโดจีนตั้งแต่ทิศเหนือจรดทิศใต้ จนถึงเขตกัมพูชา โดยให้ฝ่ายไทยได้รับดินแดนทางฝั่งแม่น้ำโขงตรงข้ามกับหลวงพระบาง และตรงข้ามกับปากเซคืนมา 
            3. ขอให้ฝรั่งเศษรับรองว่าถ้าไม่ได้ปกครองอินโดจีนแล้ว ฝรั่งเศษจะคืนลาวและกัมพูชาให้กับไทย 
            ต่อมาเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2484   วันเดียวกับที่รัฐบาลฝรั่งเศสที่เมืองวิซี่ได้ทำสัญญา ตกลงยินยอมให้ญี่ปุ่นใช้ เมืองฮานอย และเมืองไฮฟอง เป็นฐานทัพ ญี่ปุ่นได้ส่งทหารขึ้นบก ในอินโดจีนถึง 35,000 คน เป็นการเปลี่ยนสภาพอาณานิคมของฝรั่งเศสในอินโดจีนโดยสิ้นเชิง ทำให้การทำสัญญาไม่รุกรานกับไทยไร้ความหมาย เกิดปัญหาความเป็นความตาย สำหรับประเทศไทย 
             ประเทศไทยได้ประท้วงไปยังประเทศฝรั่งเศสอย่างรุนแรงว่า การกระทำของฝรั่งเศสนั้น เป็นอันตรายแก่ประเทศไทย ฉะนั้นเมื่อฝรั่งเศสจะรักษาอธิปไตยในอินโดจีนไว้ ประเทศไทยก็จำต้องเรียกร้องเอาดินแดนคืน เพื่อประโยชน์ในการป้องกันประเทศ และเพื่อมิให้ประชาชนชาวไทย ที่อยู่ในปกครองของฝรั่งเศส ต้องตกเป็นอยู่ในปกครองของประเทศที่ 3 ต่อไปอีก
            รัฐบาลได้ส่งคณะทูตไปเจรจากับรัฐบาลฝรั่งเศสที่กรุงฮานอย    การเจรจาเป็นไปอย่างเผ็ดร้อน 
ฝรั่งเศสกล่าวหาว่าไทยใช้มีดแทงด้านหลัง   ในขณะที่ฝรั่งเศสปราชัย   ฝ่ายฝรั่งเศสใช้ถ้อยคำรุนแรง   โดยกล่าวว่ายกดินแดนไทยให้ญี่ปุ่นดีกว่าที่จะคืนให้แก่ประเทศไทย 
            หนังสือพิมพ์ของทั้งสองฝ่ายต่างโจมตีกันอย่างหนัก   ฝ่ายฝรั่งเศสได้ระดมทหาร เข้ารักษาพื้นที่ตามชายแดน 
และได้ยิงปืนข้ามแม่น้ำโขงมายังฝั่งไทย   พร้อมทั้งส่งเครื่องบินข้ามแดนเข้ามา เป็นทำนองท้าทายอยู่ตลอดเวลา 
สถานการณ์ตึงเครียดขึ้นตามลำดับ   รัฐบาลจึงเตรียมพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับฝรั่งเศส 
เพื่อแก้ปัญหาเรื่องดินแดนให้เด็ดขาด 
            ในที่สุดนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย    และนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์   และการเมืองซึ่งเป็นยุวชน 
นายทหาร ได้ตั้งผู้แทนไปพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ   ขอร้องเดินขบวนเรียกร้องดินแดนคืน   ซึ่งทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้วางหลักไว้เป็นบรรทัดฐานที่จะไม่ให้พระสงฆ์องค์เจ้า    และนักเรียนนิสิตนักศึกษา    ที่อยู่ในวัยศึกษา   เข้าเกี่ยวข้องกับการเมืองเรื่องลัทธิและเรื่องพรรค ฯลฯ 
แต่ในกรณีนี้เห็นว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับความรักชาติอันเป็นสิทธิและหน้าที่ของประชาชน    จึงไม่มีอำนาจที่จะห้ามได้   เมื่อได้ปรึกษากับอธิบดีกรมตำรวจแล้ว   มีความเห็นสอดคล้องกัน   จึงได้รับทราบไว้    และตักเตือนไม่ให้ล่วงเกินสถานทูต   หรือคนสัญชาติฝรั่งเศส    ส่วนข้อความบนแผ่นป้ายต่าง ๆ   ก็ไม่ให้ใช้คำพูดที่หยาบคายก้าวร้าว 
            การเดินขบวนได้เริ่มขึ้น เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2483 ประชาชนนับหมื่นทุกเพศทุกวัย พากันมาจากทุกสารทิศ คนเฒ่าคนแก่ อุ้มลูกจูงหลาน ร้องไห้ฟูมฟายด้วยความเคียดแค้นที่ไทยต้องเสียดินแดนไป ความรู้สึกนี้ได้แผ่ขยายไปทั่วประเทศ เป็นการแสดงมติมหาชนเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันทั้งชาติ 
            ขบวนการเรียกร้องดินแดนคืนของยุวชนนายทหาร ไหลหลากมาเต็มหน้าพระลานและท้องสนามหลวง และได้มาหยุดชุมนุมกันหน้ากระทรวงกลาโหม 
             พลตรี หลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม   พันเอก หลวงเกรียงศักดิ์พิชิต รองผู้บัญชาการทหารบก เจ้ากรมยุวชนทหาร และรองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มาต้อนรับที่หน้ากระทรวงกลาโหม ผู้แทนของมหาวิทยาลัยทั้งสองในเครื่องแบบยุวชนทหาร ได้เรียนเสนอการเรียกร้องดินแดนคืนต่อ พลตรี หลวงพิบูลสงคราม ขอให้เป็นผู้นำกองทัพของชาติ เข้ายึดเอาดินแดนของไทยกลับคืนมา ให้พี่น้องชาวไทยที่อยู่ในดินแดนดังกล่าว ได้กลับมาร่วมเป็นบ้านพี่เมืองน้องของไทยตามเดิม และยุวชนนายทหาร ทั้งสองมหาวิทยาลัย จะมอบชีวิตไว้เป็นชาติพลี 
            พลตรี หลวงพิบูลสงคราม ได้กล่าวปราศรัยต้อนรับ และสรรเสริญสดุดีในความรักชาติ ความสามัคคี และความเสียสละ เพื่อประเทศชาติของชาวไทยทั้งมวล และได้ร่วมกันกล่าวปฏิญาณตน หน้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จบแล้วได้กล่าวอวยชัยให้พร ไชโยสามครั้ง เป็นภาพประวัติศาสตร์ที่ซาบซึ้งตรึงใจเป็นที่สุด 
            การเตรียมกำลังตามแผนยุทธศาสตร์   ได้ดำเนินไปตามลำดับ ฝ่ายฝรั่งเศสได้เคลื่อนกำลังเข้าประชิดแดนไทย ส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดที่จังหวัดนครพนม เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2483 ในที่สุดกองทัพไทย เคลื่อนกำลังเข้าสู่ดินแดนเดิมของเราเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2483 ทางด้านอำเภออรัญประเทศ จังหวัดปราจีณบุรี 
            ในการนี้ ทางรัฐบาลไทยได้ส่งทูตไปเจรจากับรัฐบาลเยอรมัน เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2483 เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง และความจำเป็น ที่ประเทศไทยต้องทำสงครามกับฝรั่งเศส ซึ่งในขณะนั้นอยู่ในความยึดครองของประเทศเยอรมัน โดยคณะทูตที่ไปเป็นนายทหารบก 2 นาย กับนายทหารเรือ 1 นาย คณะทูตได้เข้าพบ จอมพล เกอริง โดยการประสานงานของพระยาพหล ฯ ซึ่งเป็นนักเรียนร่วมรุ่นกับ จอมพล เกอริง ในโรงเรียนนายร้อยเยอรมัน จึงได้รับความสะดวก และความร่วมมืออย่างดีทุกประการ จอมพล เกอริง มีความกังวลว่า การพิพาทกับฝรั่งเศสในอินโดจีน จะบานปลาย เป็นการเปิดแนวรบที่สองขึ้นในตะวันออก และรับรองยินดีสนับสนุน การเรียกร้องดินแดนคืนของประเทศไทย แต่ขอให้เป็นดินแดนเดิมของไทย จะได้ไม่เป็นปัญหาสู้รบกันต่อไปไม่จบสิ้น จากนั้น ได้ติดต่อให้ไปเจรจากับรัฐมนตรีต่างประเทศ การเจรจาเป็นไปด้วยดี โดยทางเยอรมัน ยินดีช่วยเหลือเรื่องการคืนดินแดนที่สูญเสียไปโดยไม่เป็นธรรม ไม่เฉพาะแต่ด้านอินโดจีนฝรั่งเศส แม้ทางด้านพม่า และมลายู ของอังกฤษ มีเมืองมะริด ทวาย ก็ยินดีสนับสนุน 
            จากนั้นได้จัดเป็นคณะทูตพิเศษ ประกอบด้วยนายทหารบก 3 นาย และนายทหารเรือ 3 นาย ออกเดินทางไปประเทศฝรั่งเศส เข้าพบผู้บัญชาการทหารที่ยึดครองกรุงปารีส ซึ่งก็ได้สั่งการไปยังรัฐบาลวิซี่ของฝรั่งเศส ให้ยับยั้งการสู้รบ คณะทูตไทยได้ถือโอกาสเยี่ยมชมป้อมมายิโนต์ อันมีชื่อเสียงของฝรั่งเศส ที่ถูกเยอรมันตีแตกในเวลาเพียง 2 สัปดาห์   และได้พบกับคณะนายทหารญี่ปุ่น ที่มาชมป้อมนี้เหมือนกัน จึงได้ทราบว่าญี่ปุ่นมีแผนที่จะบุกอาเซียอาคเนย์ ในอนาคตอันใกล้ 
                    กองทัพไทย มีชัยชนะกองทัพฝรั่งเศสในทุกด้าน ดังนี้ 
                    กองพลพายัพ ยึดได้แคว้นหลวงพระบาง ฝั่งขวาห้วยทราย ตรงข้ามเชียงแสน มีเมืองปากลาย หงสา และเชียงฮ่อน 
                    กองทัพอิสาน กองพลอุบลยึดได้แคว้นนครจัมปาศักดิ์   กองพลสุรินทร์ ยึดได้เมืองสำโรงจงกัล ทางจังหวัดเสียมราฐ 
                    กองทัพบูรพา ยึดได้พื้นที่ทางทิศตะวันตกของศรีโสภณ กองพลจันทบุรี ยึดได้บ้านกุบเรียง และบ้านห้วยเขมร ทางด้านทิศตะวันตกของบ่อไพลิน และพระตะบอง 
                    กองทัพเรือ ได้มีการรบที่เกาะช้าง เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2484 ซึ่งมีรายละเอียดอยู่แล้วโดยเฉพาะ 
                    กองทัพอากาศ ได้ทำการรบจนมีชัยทางอากาศ และได้ไปทำลายสถานที่สำคัญทางทหาร ในอินโดจีนอีกหลายแห่ง 
            ในช่วงแรกของการรบ   ญี่ปุ่นซึ่งมีฐานทัพอยู่ในอินโดจีนได้เฝ้าดูอยู่    โดยยังมิได้มีปฏิกิริยาใด ๆ 
แต่เมื่อรบกันไปได้ไม่นาน   ก็เห็นว่ากองทัพไทยมีทีท่าว่า จะตีกองทัพฝรั่งเศสตกทะเลในไม่ช้า    ถ้าไม่มีชาติใดมาหยุดยั้งเสียก่อน ญี่ปุ่นเห็นว่าชัยชนะของกองทัพไทย กำลังจะเป็นอันตรายต่อแผนการของตน ที่จะรุกรานลงทางใต้   จึงได้เสนอตนต่อรัฐบาลไทย และรัฐบาลฝรั่งเศสขอเป็นคนกลาง    เพื่อไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทนี้   เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2484 ทั้งสองฝ่ายจึงได้ตั้งคณะผู้แทนขึ้นสองคณะ คณะหนึ่งไปเจรจาทำความตกลงพักรบที่ไซ่ง่อน อีกคณะหนึ่งไปเจรจาสันติภาพ ณ กรุงโตเกียว ไทย และฝรั่งเศส ได้หยุดยิงตั้งแต่ เวลา 10.00 น เป็นต้นไป 
            ประเทศไทยได้ส่งคณะผู้แทนไปเจรจาพักรบที่ไซ่ง่อน มีทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนร่วมกัน เดินทางจากพระนคร เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2484 การเจรจาใช้เวลา 3 วัน ก็ได้ลงนามพักรบบนเรือลาดตระเวณญี่ปุ่น ชื่อ นาโตริ ซึ่งจอดอยู่หน้าเมืองไซ่ง่อน เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2484 ข้อกำหนดพักรบมีกำหนด 15 วัน 
            ต่อจากนั้นรัฐบาลได้ส่งคณะผู้แทนอีกคณะหนึ่ง มีพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวรรณไวทยากร เป็นประธาน   พร้อมด้วยข้าราชการทหารและพลเรือน เดินทางไปยังกรุงโตเกียว เพื่อเจรจาสันติภาพและปรับปรุงเขตแดน การประชุมเริ่มเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2484 โดยมีรัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น เป็นประธานฝ่ายญี่ปุ่น เอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ประจำกรุงโตเกียว เป็นประธานฝ่ายฝรั่งเศส 
            การเจรจาตกลงกันได้ในสาระสำคัญ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2484 ฝ่ายไทย และฝ่ายฝรั่งเศส ตกลงยอมรับแผนการไกล่เกลี่ยของญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2484 โดยฝ่ายฝรั่งเศส ยอมยกดินแดนแขวงหลวงพระบางฝั่งขวาแม่น้ำโขง แคว้นจัมปาศักดิ์ และแคว้นเขมร ให้แก่ไทย ความตกลงข้อนี้เป็นที่พอใจของฝ่ายไทยทุกประการ ในการนี้รัฐบาลไทยได้ประกาศให้หยุดราชการในวันที่ 12 มีนาคม 2484 และได้ประดับธงชาติไทยคู่กับธงชาติญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกมีกำหนด 3 วัน กับได้มีการสวนสนามฉลองชัยชนะที่พระนคร เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2484 
            ได้มีพิธีรับมอบดินแดนที่จังหวัดพระตะบอง เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2484 มีการสวนสนาม โดยมีแม่ทัพบูรพาเป็นประธาน มีผู้แทนจากคณะรัฐมนตรี 3 นาย และผู้แทนฝ่ายทหาร 3 นาย ไปรับมอบดินแดน 
            ต่อมาผู้แทนฝ่ายไทย ฝ่ายฝรั่งเศส และฝ่ายญี่ปุ่น ได้ร่วมกันร่างอนุสัญญาในเรื่องนี้ขึ้น และได้ลงนามเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2484 โดยสนธิสัญญานี้ประเทศไทยได้ดินแดนคืนมาประมาณ 90,000 ตารางกิโลเมตร และได้จัดตั้งเป็นจังหวัดใหม่ขึ้น 4 จังหวัด คือ พระตะบอง พิบูลสงคราม นครจัมปาศักดิ์ และลานช้าง และเพื่อเป็นการถ้อยทีถ้อยตอบแทนกันโดยไมตรี   ฝ่ายไทยให้เงินทดแทนค่าก่อสร้างทางรถไฟ ของอินโดจีนฝรั่งเศส เป็นเงิน 6 ล้าน เปียสตร์อินโดจีน โดยแบ่งใช้มีกำหนด 6 ปี อนุสัญญาสันติภาพฉบับนี้ ได้ประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2484   สภาผู้แทนได้ให้ความเห็นชอบ ให้สัตยาบันอนุสัญญานี้ เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2484 พร้อมทั้งมีมติขอบคุณรัฐบาลและผู้ที่ได้ไปทำงานให้แก่ประเทศชาติจนบรรลุผล ควรจารึกเกียรติคุณไว้ในประวัติศาสตร์ของชาติชั่วกาลปาวสาน 
             ในพิธีสารภาคผนวกของอนุสัญญาสันติภาพ  ลงวันที่ 5 กรฎาคม  2484 
ได้กำหนดให้จัดตั้งคณะกรรมการปักปันดินแดนขึ้น  เพื่อดำเนินงานให้เสร็จสิ้นภายในเวลา 1 ปี   กรรมการดังกล่าวประกอบด้วยฝ่ายไทย   ฝ่ายฝรั่งเศส   และฝ่ายญี่ปุ่น   โดยมีฝ่ายญี่ปุ่นเป็นประธานกรรมการ 
            การปักปันดินแดนได้ดำเนินการอย่างเร่งรีบ   ตั้งแต่เดือน สิงหาคม 2484 
งานได้เสร็จสิ้นลงตามกำหนดเวลา ได้มีการลงนามในพิธีสาร   เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2485  ณ เมืองไซ่ง่อน   และไทยได้เริ่มเข้าครอบครองดินแดนที่ได้ ตั้งแต่ วันที่ 12 กรกฎาคม 2485 
            ไทยได้รับดินแดนบางส่วนที่เสียให้แก่ฝรั่งเศษกลับคืนมารวมประมาณ 69,000 ตารางกิโลเมตร จากดินแดนลาวและเขมรที่ไทยเสียให้แก่ฝรั่งเศษในเหตุการณ์หลายครั้ง รวมทั้งสิ้นประมาณ 467,800 ตารางกิโลเมตร 
            ดินแดนที่ไทยได้คืนจากฝรั่งเศษได้จัดตั้งเป็นอำเภอและจังหวัด เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่แม่ทัพนายกองของไทย และผู้ที่เป็นหลักในการดำเนินการต่อกรณีพิพาทอินโดจีน ดังนี้คือ 
            อำเภอไพรีระย่อเดช อำเภอเกรียงศักดิ์พิชิต อำเภอพรหมโยธี อำเภออธึกเทวเดช อำเภอสินธุสงครามชัย อำเภอวรรณไวทยากร อำเภออดุลย์เดชจรัส อำเภอหาญสงคราม และจังหวัดพิบูลสงคราม และได้จัดการปกครองดังนี้ 
            1. เมืองเสียมราฐ (เขมร) ได้ยกฐานะท้องที่เมืองนี้ขึ้นเป็นจังหวัดพิบูลสงครามปกครองด้วยอำเภอไพรีระย่อเดช อำเภอกลันทบุรี อำเภอพรหมขันธ์ อำเภอเกรียงศักดิ์พิชิต อำเภอวารีแสน และอำเภอจอมกระสานต์ 
            2. เมืองพระตะบอง (เขมร) ยอท้องที่เมืองนี้ขึ้นเป็นจังหวัดพระตะบอง ประกอบด้วยอำเภอเมืองพระตระบอง อำเภอพรหมโยธี อำเภออธึกเทวเดช อำเภอมงคลบุรี อำเภอไพลิน อำเภอศรีโสภณ และอำเภอสินธุสงครามชัย 
            3. นครจัมปาศักดิ์ (ลาว อยู่ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขง) ยกท้องที่แขวงนี้ขึ้นเป็นจังหวัดนครจัมปาศักดิ์ ประกอบด้วยอำเภอเมืองนครจัมปาศักดิ์ อำเภอวรรณไวทยากร อำเภอธาราบริวัติ อำเภอมโนไพร และอำเภอโพนทอง 
            4. หลวงพระบาง (ลาว อยู่ฝั่งขวาแม่น้ำโขง) ยกท้องที่แขวงนี้ขึ้นเป็นจังหวัดลานช้าง ประกอบด้วยอำเภอสะมาบุรี อำเภออดุลย์เดชจรัส อำเภอแก่นท้าว อำเภอเชียงฮ่อน และอำเภอหาญสงคราม 
            ได้มีการเปลี่ยนแปลงใช้ร่องน้ำลึกในแม่น้ำโขงเส้นเขตแดน บรรดาเกาะที่อยู่ฝั่งขวาของเส้นเขตแดน (ด้านทิศตะวันตกของแม่น้ำโขง) เป็นของไทย ยกเว้นเกาะโขง และเกาะโดน ให้ไทยและฝรั่งเศษปกครองร่วมกัน


              สมัยปฎิรูปการปกครอง  ในปี พ.ศ.2433 ทางกรุงเทพ ฯ ได้รวมกลุ่มหัวเมืองต่าง ๆ เป็นสี่หัวเมือง แล้วแต่งตั้งข้าหลวงจากส่วนกลางไปเป็นข้าหลวงกำกับราชการ 
             หัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออก   ตั้งที่ทำการข้าหลวงกำกับราชการที่เมืองจำปาศักดิ์ มีเมืองในสังกัดเป็นเมืองเอก 11 เมือง เมืองขุขันธ์อยู่ในกลุ่มเมืองเอก เมืองที่เป็นเมืองโท เมืองตรี และเมืองจัตวาอีก 16 เมือง 
                    หัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือ  ตั้งที่ทำการ ฯ ที่เมืองอุบล ฯ มีเมืองในสังกัดเป็นเมืองเอกอยู่ 12 เมือง เมืองศรีสะเกษ อยู่ในกลุ่มเมืองเอก เมืองที่เป็นเมืองโท เมืองตรี และเมืองจัตวาอีก 29 เมือง 
                    หัวเมืองลาวฝ่ายเหนือ  ตั้งที่ทำการ ฯ ที่เมืองหนองคาย มีทั้งหมด 52 เมือง 
                    หัวเมืองลาวฝ่ายกลาง  ตั้งที่ทำการ ฯ ที่เมืองนครราชสีมา มีทั้งหมด 19 เมือง 
               สงครามกับฝรั่งเศส  ในปี พ.ศ.2436 (ร.ศ.112) เกิดวิกฤตการณ์สงครามระหว่างฝรั่งเศสกับไทย รัฐบาลฝรั่งเศสแต่งตั้งเรสิดังปัสตา เป็นแม่ทัพคุมทหารญวนเมืองไซ่ง่อน 200 คน และกำลังเมืองเขมร พนมเปญ เป็นอันมาก ลงเรือ 33 ลำ ยกขึ้นมาตามลำแม่น้ำโขง เข้ามาในเขตไทยขับไล่ทหาร ซึ่งรักษาด่านบงขลา แขวงเมืองเชียงแตง และด่านเสียมโบก ยึดด่านทั้งสองไว้ได้ ต่อมาได้ยึกเมืองเชียงแดง จึงเกิดสงครามขึ้นโดยมีพระประชาคดีกิจ (แช่ม) ข้าหลวงฝ่ายไทย ณ เมืองสีทันดรคอยปะทะต้านทานไว้ ข้าหลวงใหญ่หัวเมืองลาวกาว กรมหลวงพิชิตปรีชากร ประทับอยู่ ณ เมืองอุบล ฯ ได้เกณฑ์กำลังเมืองศรีสะเกษ เมืองขุขันธ์ เมืองสุรินทร์ เมืองมหาสารคาม เมืองร้อยเอ็ด เมืองละ 800 คน เมืองสุวรรณภูมิและเมืองยโสธร เมืองละ 500 คน เป็นกองทัพไปต่อสู้กับฝรั่งเศส 
                นอกจากนั้นยังให้เกณฑ์กำลังคนจากเมืองขุขันธ์อีก 500 คน ให้ข้าหลวงเมืองขุขันธ์คุมกำลังไปตั้งอยู่ ณ เมืองมโนไพร และเมืองเซลำเภา พร้อมทั้งให้เมืองใหญ่ทุกเมือง ในมณฑลลาวกาว เตรียมกำลังพลให้พร้อมอีกเมืองละ 1,000 คน 
                โปรดให้ราชวงศ์ ราชบุตร เมืองยโสธร คุมคนเมืองยโสธร 500 คน ให้อุปฮาด (บัว) เมืองกมลาไสยคุมคนเมืองศรีสะเกษ 500 รวมเป็น 1,000 คนร ไปสมทบกำลังที่เมืองสีทันดร และให้ผู้ช่วยเมืองศรีสะเกษ คุมคนเมืองศรีสะเกษ 500 ไปตั้งรักษาอยู่ ณ ช่องโพย และด่านพระประสบ แขวงเมืองขุขันธ์ เกิดการต่อสู้จนบาดเจ็บล้มตายทั้งสองฝ่าย 
                โปรดให้ยกกำลังเมืองสุวรรณภูมิ 500 เมืองร้อยเอ็ด 300 รวม 800 ยกจากเมืองอุบล ฯ ไปช่วย ณ ค่ายดอนสาคร นำกำลังจากเมืองจัตุรภักตร์ 105 เมืองร้อยเอ็ด 210 เมืองมหาสารคาม 210 รวม 525 คน ยกไปรักษาอยู่ ณ เมืองมโนไพร และธาวาบริวัตร และด่านลำจาก 
                ให้ข้าหลวงเมืองศรีสะเกษ ทำหน้าที่ส่งเสบียงไปยังกองพระศรีพิทักษ์ กองกำลังที่ตั้งประจันกันบริเวณลำน้ำโขงมีการต่อสู้กันหลายครั้ง ต่อมาทั้งสองฝ่ายตกลงสัญญากันเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2436 ใช้เวลาครึ่งปีในการรบ 
            กบฎเสือยง   เกิดในปี พ.ศ.2437 ได้คุมสมัครพรรคพวกทำการปล้นตามหมู่บ้านต่าง ๆ ทางเมืองอุบล ฯ และเมืองศรีสะเกษ ร่วมกันปราบปราม เจ้าเมืองศรีสะเกษได้ขอให้เมืองขุขันธ์ช่วยปราบ จับเสือยงได้ นำไปประหารชีวิตที่บริเวณศาลหลักเมือง 
                พ.ศ.2438 ย้ายเมืองราษีไศล จากบ้านโนนหินกองมาตั้งที่บ้านท่าโพธิ์ อำเภอราษีไศล ปัจจุบัน 
            กบฎผีบุญบุญจัน   ในปี พ.ศ.2443 ท้าวบุญจัน บุตรเจ้าเมืองขุขันธ์ ได้เสนอขอย้ายอำเภอกันทรลักษ์ จากบ้านปักดองมาที่บ้านสิ หรือแยกบ้านสิเป็นอำเภอ และขอเป็นนายอำเภอเอง แต่ข้าหลวงเมืองขุขันธ์ไม่เห็นด้วย ท้าวบุญจันไม่พอใจได้ไปซ่องสุมผุ้คนที่ภูฝ้าย ต่อมาได้ย้ายไปที่ซำปีกา มีผู้สมัครเข้าร่วมด้วยเป็นจำนวนมาก 
                ข้าหลวงเมืองขุขันธ์ ได้ขอกำลังจากข้าหลวงผู้สำเร็จราชการมณฑลอีสานไปปราบ จับท้าวบุญจันได้ ตัดศีรษะไปที่เมืองขุขันธ์แห่ตระเวณไปรอบเมือง แล้วเสียงประจานที่ทางสี่แพร่ง 
                พ.ศ.2455 ให้รวมเมืองขุขันธ์ เมืองศรีสะเกษและเมืองเดชอุดม เป็นเมืองเดียวกันเรียกเมืองขุขันธ์ 
                พ.ศ.2459 ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย ให้เปลี่ยนคำว่าเมืองเป็นจังหวัด 
                พ.ศ.2470 ยุบเลิกมณฑลทั่วประเทศ จังหวัดขุขันธ์จึงขึ้นต่อส่วนกลาง และในปีเดียวกันนี้ทางการได้เปิดเดินรถไฟจากกรุงเทพ ฯ ถึงสถานีห้วยทับทันและเดินรถถึงศรีสะเกษ ในปี พ.ศ.2471 
            สมัยประชาธิปไตย  ให้จังหวัดเป็นนิตบุคคล อำนาจบริหารจากเดิมอยู่ที่กรมการจังหวัด เปลี่ยนมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด โดยมีกรมการจังหวัดเป็นที่ปรึกษา 
            พ.ศ.2481 เปลี่ยนนามจังหวัดขุขันธ์เป็นจังหวัดศรีสะเกษ เปลี่ยนชื่ออำเภอห้วยเหนือเป็นอำเภอขุขันธ์ อำเภอน้ำอ้อมเป็นอำเภอกันทรลักษ์ อำเภอดงเป็นอำเภอราษีไศล อำเภอศรีสะเกษเป็นอำเภอเมืองศรีสะเกษ 
เหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ 
            กรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามมหาอาเซียบูรพา ในปี พ.ศ.2483 เกิดกรณีพิพาทไทยกับอินโดจีนของฝรั่งเศส โดยฝรั่งเศสได้ใช้เครื่องบิน เข้ามาทิ้งระเบิดในจังหวัดชายแดนไทย ที่จังหวัดนครพนมกับจังหวัดปราจีนบุรีที่อำเภออรัญประเทศ และได้ส่งกำลังทหารเข้าโจมตี อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ช่องจันทบเพชร ช่องโอบก อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ 
            กองทัพบูรพาของไทย จึงได้รุกเข้าไปในเขตอินโดจีนของฝรั่งเศส ยึดค่ายปอยเปต รุกเข้าไปเกือบถึงเมืองเสียมราฐและศรีโสภณ ยึดนครจำปาศักดิ์ได้ กองกำลังทหาร ตำรวจ ของจังหวัดเลยยึดเมืองปากลาย ทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขงตรงข้ามเมืองหลวงพระบางได้ ต่อมาได้ทำสัญญาหยุดยิงโดยมีญี่ปุ่นเป็นผู้ไกล่เกลี่ย 
            ผลของการรบครั้งนั้นฝ่ายไทยได้จังหวัดที่เคยเป็นของไทยมาก่อนหลายจังหวัดคือ   นครจำปาศักดิ์ พระตะบอง พิบูลสงครามและจังหวัดลานช้าง บางจังหวัดมีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดศรีสะเกษ จึงมีข้าราชการชาวศรีสะเกษที่รู้ภาษาเขมรไปอยู่ประจำทำงานหลายคน 
            ต่อมาในปี พ.ศ.2484 เกิดการสู้รบระหว่างกองกำลังของไทยกับกองทัพญี่ปุ่น ต่อมาเมื่อมีคำสั่งหยุดยิงแล้ว ไทยได้ทำสัญญากับญี่ปุ่น ประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร เป็นเหตุให้คนไทยส่วนหนึ่งจัดตั้งขบวนการเสรีไทยจากทั่วประเทศ รวมทั้งบจากจังหวัดศรีสะเกษด้วย มีการเตรียมการจัดทำสนามบินเพื่อให้เครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรมาลง เช่นที่บริเวณศูนย์การศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ และที่บ้านสมานสามัคคี ตำบลโสน อำเภอขุขันธ์ 
            กบฎสันติภาพและผลสืบเนื่อง  ในปี พ.ศ.2494 รัฐบาลไทยได้ส่งกองทหารไปร่วมรบในสงครามเกาหลี ฝ่ายที่ต่อต้านสงคราม ได้ก่อตั้งขบวนการสันติภาพสากลขึ้น และได้ส่งตัวแทน 9 คน ไปร่วมประชุมสภาผู้สนับสนุนสันติภาพที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อปี พ.ศ.2495 คณะกรรมการสันติภาพได้นำสิ่งของมาบริจาคให้ราษฎรที่บ้านคูซอด จังหวัดศรีสะเกษ หลังจากนั้นชาวบ้านคูซอดก็ถูกจับกุมในข้อหากบฎสันติภาพ 11 คน 
            หลังจากนั้นบ้านคูซอดก็เป็นที่สนใจของขบวนการสังคมนิยม มีการติดต่อประสานงานกันกับนักการเมืองฝ่ายซ้าย เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้ทำการปราบปรามผู้มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ นำไปสู่การกวาดล้างจับกุมแกนนำประชาชนบ้านคูซอด และอื่น ๆ รวม 59 คน 
            เหตุการณ์เสียเขาพระวิหาร  ในปี พ.ศ.2505 ศาลโลกได้ตัดสินใให้ประเทศไทยยกปราสาทเขาพระวิหาร ตำบลบึงมะลู อำเภอกันทราลักษ์ ให้เป็นของประเทศกัมพูชา นับเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของโลก เนื่องจากเป็นไปตามคำพิพากษาของศาลโลก ซึ่งมีเหตุการณ์ดังกล่าวไม่มากนัก และเป็นเหตุการณ์เดียวในประวัติศาสตร์ไทย มีลำดับความเป็นมาดังนี้ 
                11 สิงหาคม พ.ศ.2406   สมเด็จพระเจ้านโรดม กษัตริย์เขมร ทำสัญญายกเขมรให้เป็นของฝรั่งเศส 
                7 ธันวาคม พ.ศ.2406   มีการทำสนธิสัญญาลับระหว่างราชอาณาจักรสยาม กับราชอาณาจักรกัมพูชา ยืนยันว่ากัมพูชาเป็นเมืองขึ้นของราชอาณาจักรสยาม 
                15 กรกฎาคม พ.ศ.2410   มีการทำสัญญาระหว่างราชอาณาจักรสยามกับฝรั่งเศส ยอมรับว่ากัมพูชาเป็นเมืองขึ้นในอารักขาของฝรั่งเศส 
                10 ตุลาคม พ.ศ.2436   ราชอาณาจักรสยามทำสนธิสัญญายกดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง และเกาะแก่งต่าง ๆ ให้แก่ฝรั่งเศส 
                พ.ศ.2441   พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ เสด็จเขาพระวิหาร ประทานนามว่า เทพพระวิหาร 
                13 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2447   ฝรั่งเศสทำสนธิสัญญากับราชอาณาจักรสยาม โดยราชอาณาจักรสยาม ยอมยกเมืองหลวงพระบางบนฝั่งขวาแม่น้ำโขง และดินแดนทางใต้ของทิวเขาพนมดงรัก ให้แก่ฝรั่งเศส เพื่อแลกกับเมืองจันทบุรี ที่ฝรั่งเศสยึดไว้ 
                29 มิถุนายน พ.ศ.2447   มีการทำสนธิสัญญาเพิ่มเติม โดยราชอาณาจักรสยามเสียดินแดนให้ ฝรั่งเศสระหว่างทะเลสาบกับทะเลหลวง 
                23 มีนาคม พ.ศ.2450   มีการทำสนธิสัญญาระหว่างราชอาณาจักรสยามกับฝรั่งเศส โดยราชอาณาจักรสยามยอมยกดินแดนพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ ให้ฝรั่งเศสเพื่อแลกกับเมืองด่านซ้าย เมืองตราด และเกาะทั้งหลายที่อยู่ภายใต้แหลมสิง ไปจนถึงเกาะกูดให้แก่สยาม 
                30 มกราคม พ.ศ.2472   สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เสด็จปราสาทเขาพระวิหาร มีเรสิดัง กำปงธม และนักโบราณคดีฝรั่งเศส มาคอยรับที่ริมบันไดขึ้นพระวิหาร มีการชักธงฝรั่งเศสที่กลางเขาพระวิหารด้วย สร้างความไม่พอใจแก่พระองค์เป็นอย่างยิ่ง 
                11 ตุลาคม พ.ศ.2483  กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหาร เป็นโบราณสถาน และจัดให้หลวงศรี จำศีลภาวนาที่ถ้ำขุนศรี เป็นผู้รักษาเขาพระวิหาร 
                พ.ศ.2484   ญี่ปุ่นซึ่งชนะฝรั่งเศสในสงครามอินโดจีน โดยยกดินแดนบางส่วนรวมทั้งปราสาทเขาพระวิหารคืนแก่ไทย เป็นผลให้เกิดจังหวัดจำปาศักดิ์ จังหวัดพระตะบอง จังหวัดพิบูลสงคราม 
                พ.ศ.2492   ฝรั่งเศสและกัมพูชา คัดค้านอำนาจอธิปไตยของไทยเหนือปราสาทเขาพระวิหาร อย่างเปิดเผยและประท้วงไทยไม่ให้ส่งคนไปรักษาเขาพระวิหาร หลังจากที่ไทยไม่ยอมรับข้อแนะนำของคณะกรรมการประนีประนอม ณ กรุงวอชิงตัน เมื่อ พ.ศ.2490 
                พ.ศ.2501   กระทรวงโฆษณาการกัมพูชา พิมพ์เผยแพร่บทความสรุปว่า ปราสาทเขาพระวิหาร เป็นของกัมพูชาตามอนุสัญญา ฉบับวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2447   อันได้รับการยืนยันจากสนธิสัญญา วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2450   สนธิสัญญานี้กลับบังคับใช้อีกตามข้อตกลงที่วอชิงตัน เมื่อปี พ.ศ.2489 
                4 สิงหาคม พ.ศ.2501   รัฐบาลไทยประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ทางชายแดนไทยด้านกัมพูชารวม 6 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ และอำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบล ฯ สื่อมวลชนทั้งสองประเทศมีการโจมตีกันมากขึ้น 
                1 ธันวาคม พ.ศ.2501   รัฐบาลกัมพูชาประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับราชอาณาจักรไทย หลังจากที่การเจรจาไม่ได้ผล 
                 6 ตุลาคม พ.ศ.2502  รัฐบาลกัมพูชา ได้ยื่นคำร้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ขอให้ศาลวินิจฉัยให้ราชอาณาจักรไทยถอนกำลังคือ อาวุธออกจากบริเวณเขาพระวิหาร และขอให้ศาลชี้ขาดว่าอธิปไตยเหนือเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา 
                4 ธันวาคม พ.ศ.2502 ราชอาณาจักรไทยประกาศขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นโบราณสถานแห่งชาติอีกครั้ง ตามประกาศฉบับที่ 2 ลงวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2502 กับทั้งมีแผนที่แสดงประสาทเขาพระวิหารแนบท้ายด้วย 
                รัฐบาลไทยออกแถลงการณ์อ้างข้อกำหนดในสนธิสัญญา พ.ศ.2447 ต้องใช้สันปันน้ำเป็นเขตแดนธรรมชาติ ซึ่งจะทำให้เขาพระวิหารเป็นของไทย แต่กัมพูชาอ้างแผนที่ ที่มีการจัดทำขึ้นโดยคณะกรรมการผสมตามสนธิสัญญา พ.ศ.2447 ซึ่งมีพลเอกหม่อมชาติเดชอุดม เป็นประธานกรรมการฝ่ายไทย และพันโท แบร์นาร์ด เป็นประธานกรรมการฝ่ายฝรั่งเศส   แล้วส่งให้ฝ่ายไทย 50 ฉบับ สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ตอบรับเมื่อปี พ.ศ.2451 และได้ทรงขอแผนที่ฉบับนี้เพิ่มเติมอีก 15 ฉบับ เพื่อแจกเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นฝ่ายไทย แสดงว่าฝ่ายไทยยอมรับแผนที่นี้ 
                ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช   เป็นทนายแก้ต่างให้รัฐบาลไทยในคดีพิพาทเกี่ยวกับปราสาทเขาพระวิหาร 
                15 มิถุนายน พ.ศ.2505   ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลก ได้พิจารณาลงความเห็นด้วยคะแนนเสียงเก้าต่อสามว่า ซากปราสาทเขาพระวิหาร ตั้งอยู่บนดินแดนใต้อำนาจอธิปไตยของกัมพูชา ทั้งนี้เป็นไปตามแผนที่ซึ่งฝรั่งเศสทำขึ้นตามสนธิสัญญา พ.ศ.2447  และ พ.ศ.2450 โดยอาศัยเหตุผลว่าราชอาณาจักรไทย เพิกเฉยมิได้ประท้วงแผนที่ดังกล่าวนั้น ขณะที่ฝ่ายไทยได้ยืนยันต่อศาลโลก โดยตลอดว่ารัฐบาลไทยถือสันปันน้ำ เป็นเขตแดนตามข้อกำหนดในสนธิสัญญาทุกฉบับ 
                15 กรกฎาคม พ.ศ.2505  พลเอก ประภาส จารุเสถียร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวคำปราศรัยที่จำต้องสละอธิปไตยเหนือเขาพระวิหาร และทำการรื้อถอนทุกสิ่งออกนอกเขต รวมทั้งเคลื่อนย้ายเสาธงพร้อมธงชาติ จากหน้าผาเป้ยตาดี ลงมาโดยไม่มีการลดธงลงจากยอดเสาแต่อย่างใด 
                พื้นที่เขาพระวิหารที่เสียไปเป็นรูปห้าเหลี่ยมคางหมู พื้นที่ประมาณ 150 ไร่

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น