10:34

หัวใจนักปราชญ์‏



 ในหนังสือชุมนุมนิพนธ์อ.น.ก.มีบันทึกคำปาฐกถาของท่านอำมาตย์เอกพระยาอุปกิตศิลปสารไว้ว่าสิ่งที่

ท่านยึดเป็นหัวใจนักปราชญ์มี ๔ อย่าง

เรีกยขานกันย่อๆว่า สุ จิ ปุ ลิ

มาจากคำสุต จิต ปุจฉา ลิขิต

แปลไทยเป็นไทยว่าการฟัง การคิด การถาม การเขียน

ท่านพระยาอุปกิตฯบอกว่าผู้ที่ปฏิบัติตามหลักการทั้ง ๔ นี้ได้บริบูรณ์จึงจะมีฐานะเป็นนักปราชญ์ที่แท้จริง

ขยายความสักนิดก็ได้ว่า


สุ (การฟัง) ได้แก่การแสวงหาความรู้

การเล่าเรียนในสมัยโบราณต้องอาศัยการฟังเป็นพื้นเพราะการใช้หนังสือยังไม่มีแพร่หลาย 

ท่านจึงจัดเอาการฟังเป็นสำคัญ

คนที่จะเป็นนักปราชญ์ได้ก็ต้องได้ฟังมามากซึ่งเรียกว่าพหูสูต คือผู้ฟังมาก

แต่สมัยนี้วิชาหนังสือแพร่หลายทั่วไปจึงควรนับการอ่านเข้าในพหูสูตนี้ด้วย


จิ (การคิด) ในที่นี้ท่านหมายความว่าให้ใช้ความคิด

เป็นขั้นที่ ๒ ต่อจากการฟังและการอ่าน กล่าวคือเมื่อเราฟังหรืออ่านเรื่องราวใดๆเราต้องคิดตามไปด้วย 

ถ้้าพบข้อความแม้นเป็นคำพูดที่ไม่เข้าใจก็ผูกจิตต์ไว้ตรึกตรองภายหลัง เพราะถ้าจะเอามาตรึกตรองเวลา

นั้นก็จะไม่ได้ฟังเรื่องต่อไป


ปุ (การถาม)

เป็นข้อสำคัญไม่แพ้ข้อต้นๆเพราะตามธรรมดาไม่มีใครเป็นสัพพัญญูรู้ทุกสิ่งทุกอย่างได้ ดังนั้นผู้ที่จะเป็น

นักปราชญ์จึงต้องพยายามหาความรู้ในการถามด้วย เบื้องต้นก็คือผู้ที่เราฟังมาจากเขาหรือผู้แต่งหนังสือที่

เราอ่านและครูบาอาจารย์ของเรา เมื่อยังติดขัดก็ถามผู้รู้อื่นๆต่อไปและไ่ม่ควรที่จะกระดากอายในการ

ไต่ถามสิ่งที่เราไม่รู้ เพราะว่า

การทะนงตัวมากหนึ่ง

ดูถูกผู้อื่นว่าไม่รู้หนึ่ง และ

การถือเกียรติว่าไม่ควรถามคนต่ำต้อยกว่าตนหนึ่ง

ทั้งสามนี้เป็นมารที่จะรั้งเราให้ลงจากฐานะเป็นนักปราชญ์

อนึ่งการถามนี้ย่อมเกี่ยวข้องกับจรรยามารยาทด้วยเพราะเราจะต้องพึ่งบุคคลหรือหมู่คณะเพื่อบำรุง

สามัคคี ฉะนั้นจึงนับว่าเป็นจรรยาทางสมาคมในการใช้กิริยาและวาจาของเราให้สมควรอยู่ด้วย

ถ้าเรายึดหลักสุภาษิตว่า “พูดดีเป็นศรีแก่ตัว พูดชั่วอัปราชัย” ก็กินความมาถึงการถามของเราได้ครบครัน 

เพราะการถามก็รวมอยู่ในการพูด และเป็นการพูดขอความเอื้อเฟื้อจากผู้รับคำถามของเราด้วยจึงควรประ

กอบด้วยสัมมาคารวะอันงดงาม


ลิ (การเขียน)

กล่าวคือท่านใ้ห้บันทึกข้อที่ควรรู้ควรจำไว้

หัวใจตัวลินี่แหละสำคัญกว่าตัวอื่นเพราะเป็นการชำระผลของ การฟัง การอ่าน การใช้ความคิด การถามคือ

การสอบสวนของผู้ที่จะเป็นนักปราชญ์ ซึ่งต่อไปภายหน้าอาจจะปรากฏว่าผู้ที่บันทึกข้อความไว้เป็นนัก

ปราชญ์หรือไม่ เป็นนักปราชญ์เพียงไรเป็นต้น

ในสมัยโบราณการบันทึกข้อความนับว่าสำคัญมากเพราะมีผู้รู้หนังสือน้อย ท่านจึงตั้งไว้เป็นหัวใจสุดท้าย

และสำคัญที่สุดของนักปราชญ์ และก็สำคัญจริงๆด้วย โปรดนึกถึงจดหมายเหตุของหลวงจีนฟาเหียนที่ไป

สืบพุทธศาสนาในอินเดีย หลักศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกมหาราชในอินเดีย หลักศิลาจารึกของพ่อขุน

รามคำแหงกรุงสุโขทัย เป็นต้น ว่าให้ประโยชน์ทางประวัติศาสตร์และความรู้อื่นๆเพียงไร

ถ้าพูดถึงวิทยาการแล้ว ข้อสำคัญที่สุดก็คือบันทึกความรู้ที่ได้ค้นคว้าลงไว้เป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อผู้

ศึกษารุ่นหลังจะได้ดำเนินรอยตาม เมื่อได้จริงตามนั้นก็จะได้บันทึกต่อๆไป ซึ่งจะเป็นความรู้ทางวิทยาการ

มากขึ้นๆที่เราจะได้เล่าเรียนและใช้ประโยชน์ในการค้นคว้านั้นๆต่อไปจึงนับว่าสำคัญที่สุด

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น