09:54

: : บทบาททหารไทยเพื่อมนุษยธรรมไม่ใช่ของใหม่ : :‏


ปัญหาติมอร์ตะวันออก มิใช่เป็นปัญหาใหม่ของอารยธรรมตะวันตก หากว่าเป็นผลพวงของอารยธรรมตะวันตกนั่นเอง เกาะติมอร์มีพื้นที่ประมาณ 13,200 ตารางไมล์ ถูกยึดครองโดยปอร์ตุเกส และดัชท์ (เนเธอร์แลนด์) ซึ่งทั้งสองประเทศ ได้ทำสัญญาแบ่งแยกการยึดครอง ไว้ตั้งแต่ ค.ศ. 1859 และปี ค.ศ. 1914 ปัจจุบันมีประชากร ประมาณ 800,000 คน

อินโดนีเซีย เข้ายึดครองเกาะติมอร์ด้วยแผนยุทธศาสตร์สองขั้น คือ ในครั้งแรกเข้ายึดติมอร์ตะวันตกในปี ค.ศ. 1950 เมื่ออินโดนีเซียมีชัยชนะ รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ ในวันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1949 และประกาศอิสระภาพเมื่อ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1950 ต่อมาใน ค.ศ. 1975 เข้ายึดครองด้านตะวันออก เมื่อปอร์ตุเกสให้เสรีภาพกับชาวติมอร์ตะวันออก ในครั้งนั้นคาดว่าชาวติมอร์ตะวันออก หรือชาวมีแลนนีเซียน ถูกสังหารไม่น้อยกว่า 100,000 คน ในการต่อสู้กับ กองทัพอินโดนีเซีย ซึ่งสหประชาชาติ ประณามการยึดครองครั้งนั้นอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ได้ดำเนินการอย่างไร

หากวิเคราะห์ถึงความสำคัญทางยุทธศาสตร์แล้ว จะพบว่า เป็นเขตกันชนอย่างดี ของทั้งออสเตรเลีย และอินโดนีเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ชาวติมอร์ร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่ กับกองทัพออสเตรเลีย ในการต่อสู้กับกองทัพญี่ปุ่น แต่ยุทธศาสตร์ซ่อนเร้นคือ ผลประโยชน์ทางทะเล ได้แก่ แหล่งน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติในช่องแคบติมอร์ (TIMOR GAP) และอาณาเขตไหล่ทวีป รวมถึงการควบคุมเส้นทางเดินเรืออีกต่างหาก

เมื่ออดีตประธานาธิบดีซูการ์โน มีชัยชนะและประกาศอิสระภาพจากเนเธอร์แลนด์ นั้น ติมอร์ตะวันตก เป็นรางวัล และส่งออกชาวอินโดนีเซียที่เป็นมุสลิม เข้าขับไล่ชาวพื้นเมืองซึ่งส่วนใหญ่เป็น คริสเตียน มีแลนนีเซียน

ปอร์ตุเกส เองไม่มีขีดความสามารถ และไม่ปรารถนาที่จะสร้างความเจริญ ให้ติมอร์มาช้านานแล้ว จึงทิ้งให้ชาวติมอร์ อยู่อย่างแร้นแค้น สัจธรรมนี้พิสูจน์ชัดเจน เมื่อนาย แอนโตนิโอ มอนเตียโร (ANTONIO MONTEIRO) เอกอัครราชทูตปอร์ตุเกส ประจำสหประชาชาติ ให้การสนับสนุนการเข้าแทรกแซงของสหประชาชาติ ต่อกรณีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวติมอร์ตะวันออก ของกลุ่มต่อต้านเอกราชของติมอร์ตะวันออก กล่าวว่า “ติมอร์ตะวันออกนั้น เป็นดินแดนเล็กๆ และดูเหมือนว่าจะไม่มีความสำคัญ แต่ด้วยเหตุผลเหล่านี้ โลกจะต้องพิเคราะห์ถึงความยุติธรรม ที่จะต้องต่อสู้ให้ดำรงไว้” วาทะนี้ แสดงถึงความสำนึกผิด ตั้งแต่ปฐมเหตุแล้ว นอกเหนือจากประเด็นนี้แล้ว ออสเตรเลียเอง เมื่อครั้งนาย กาฟ วิทแลม (GOUGH WHITLAM) เป็นนายกรัฐมนตรี ในปี ค.ศ. 1974 กล่าวให้ท้ายอินโดนีเซีย ในการใช้กำลังเข้ายึดครอง และนำไปสู่การต่อสู้เพื่อเอกราชของติมอร์ตะวันออก ตลอดจนความขัดแย้ง ของชนชาติ ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของกองกำลังต่อต้านเอกราช (PRO-INDONESIA MILITIA)

ความหวังที่จะแสวงประโยชน์จากแหล่งทรัพยากรน้ำมัน และก๊าซ ในช่องแคบติมอร์ ออสเตรเลีย จึงมีการสร้างความสัมพันธ์ กับอินโดนีเซีย เต็มรูปแบบ รวมถึงการร่วมมือทางทหารตั้งแต่ปี ค.ศ.1979 เป็นภาพพจน์กุสโลบายการเมือง ของนายกรัฐมนตรี พอลล์ คีตติง (PAUL KEATING) ปี ค.ศ. 1995 ต้องแถลงถึงจุดยืนเชิงยุทธศาสตร์ กรณีทำสนธิสัญญาความมั่นคง กับอินโดนีเซีย ยุคซูการ์โน “ออสเตรเลีย คงไม่ทำลายความสัมพันธ์กับอินโดนีเซีย เพราะปัญหาในเกาะติมอร์”

นับตั้งแต่ภาวะเศรษฐกิจล้มละลาย ในกลุ่มประเทศในอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอินโดนีเซีย ในช่วงปี ค.ศ. 1996 - 1997 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยการลาออกของประธานาธิบดีซูฮาร์โต นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ อีกครั้งหนึ่ง ของอินโดนีเซีย เพราะ เป็นการปรับสู่ระบบการเมืองพรรคเดียว เป็นหลายพรรค เลิกระบบผูกขาดการค้า และเข้าสู่ระบบการตลาดเสรี ตลอดจนลดบทบาททหารลง

ผลจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในหลายๆ ด้าน รวมถึงปัญหาความต้องการเสรีภาพ ของชาวติมอร์ตะวันออก ซึ่งรอวันปะทุอยู่แล้ว จึงขยายตัวอย่างรวดเร็ว และรัฐบาลกลาง ไม่ยอมควบคุม การทำลายล้างจึงทวีความรุนแรง จนเป็นการล้างเผ่าพันธุ์ และลัทธิศาสนา ตามที่สื่อตะวันตกใช้เปรียบเทียบ ประจักษ์ชัดว่ารัฐบาลอินโดนีเซีย นอกจากจะไม่พยายามยุติการทารุณกรรม แต่ยังเสริมดีกรีความรุนแรง ด้วยการสนับสนุนทั้งลับและเปิดเผย ของกองทัพอินโดนีเซีย นับเป็นความผิดพลาดของประธานาธิบดีฮาบิบี ที่ขาดความเด็ดขาด โดยปล่อยให้ลัทธิชาตินิยม นำพาสู่ปัญหาประชาคมโลก ซึ่งห้วงยุคหลังสงครามเย็น เต็มไปด้วยปัญหา การฆ่าล้างเผ่าพันธ์ (GENOCIDE) จนประธานาธิบดีคลินตัน ประกาศหลักการคลินตัน (CLINTON DOCTRINE) “เมื่อไรก็ตาม ที่เกิดปัญหาความรุนแรง ของเชื้อชาติ หรือศาสนา ถ้าประชาคมโลกมีพลังอำนาจที่จะหยุดยั้ง เราควรจะต้องหยุดยั้งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” นับจากปัญหาโซมาเลีย บอสเนีย โคโซโว และสุดท้ายติมอร์ตะวันออก ประธานาธิบดีคลินตัน ได้พิสูจน์ถึงจุดยืนปรัชญาของคนอเมริกัน คือ “ช่วยคนอ่อนแอ รบกับคนชั่วร้ายและน่ารังเกียจ” (HELPING THE WEAK-FIGHT THE BAD AND THE UGLY) เราคงไม่ปฏิเสธ ปรัชญาพื้นฐานของคนอเมริกัน เฉพาะในช่วงประวัติศาสตร์ 223 ปี ของสหรัฐอเมริกา มีสงครามที่สหรัฐอเมริการบกันเอง และเข้าร่วมสงครามโลก ทั้งสองครั้ง ตลอดจน แทรกแซงสงครามเล็กสงครามน้อย หากจะต้องพิจารณาถึงผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกา ว่ามากน้อยประการใด แท้จริง คือความเป็นเอกในโลก ที่สามารถกำหนดนโยบายโลกได้

ในกรณีติมอร์ตะวันออก ก็ไม่ต่างกับปัญหาอื่น ๆ เพียงแต่หยิบยกความสำคัญนี้ให้ออสเตรเลีย เป็นผู้ได้รับประโยชน์ เมื่อนาย จอห์น มัวร์ (MR. JOHN MOORE) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมออสเตรเลีย กล่าวสุนทรพจน์ที่สมาคมเทมาเซค (TEMASEK SOCIETY) ประเทศสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2542 สรุปว่า นโยบายความร่วมมือกับสหรัฐอเมริกา เป็นกุญแจสำคัญ ของยุทธศาสตร์ชาติ ในการรักษาความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ดังนั้น ปัญหาติมอร์ จึงเปรียบเสมือนปัญหาที่สหรัฐอเมริกา ยกมอบให้ออสเตรเลีย ดำเนินการ ประกอบกับออสเตรเลีย จะต้องแก้ตัวเพื่อพ้นผิดจากกรณีการยึดครองติมอร์ตะวันออก ปี ค.ศ. 1975 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โจอาว คาร์รัสคาเรโอ (JOAO CARRUSCALAO) ผู้นำสมัชชาผู้กู้เอกราชชาวติมอร์ กล่าวท้วงออสเตรเลีย

ออสเตรเลีย เริ่มการกดดันอินโดนีเซีย และผลักดันสหประชาชาติ ให้มีการทำประชามติ (REFERENDUM) ในวันที่ 30 สิงหาคม 1999 จากประชากร 450,000 คน ผู้มีสิทธิลงคะแนน ปรากฏว่า 78% ต้านการปกครองของอินโดนีเซีย จนเป็นเหตุการทำลายล้างขั้นสุดท้าย ของกลุ่มสนับสนุนการปกครอง ของอินโดนีเซีย (MILITIA) และทำทีจะขยายขอบเขต

ในการนี้ ออสเตรเลีย จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มอาเซียน โดยอาศัยพลังสหรัฐอเมริกาในเวทีโลก ชี้นำสหประชาชาติ ด้วยข้อเท็จจริง เป็นสัจจธรรมสำคัญ 3 ประการ คือ1. เป็นการฆ่าทำลายล้างเผ่าพันธุ์2. ชาวติมอร์ตะวันออก มิใช่เป็นคนอินโดนีเซีย มาแต่ก่อน3. ชาวติมอร์ตะวันออก ต้องการอิสรภาพ และอธิปไตยหากแต่ว่ากลุ่มอาเซียน เมื่อวิเคราะห์ลึกๆ แล้ว ในกลุ่มประเทศที่เคยเป็นอาณานิคม ย่อมมีปัญหาเรื้อรังเก่าเก็บระหว่างกัน และกับประเทศล่าอาณานิคม หรือผู้สมรู้ร่วมคิด (CONSPIRACY) ในอดีต เช่น ออสเตรเลีย ประเทศไทย จึงเป็นตัวเลือกอันดับหนึ่ง ในการจัดตั้งกองกำลังรักษาสันติภาพ (PEACE KEEPING FORCE) ซึ่งแนวคิดนี้เกิดขึ้นแล้วในช่วงก่อนยุค IMF และมีการประชุม REGIONAL DEFENSE FORUM 2 - 3 ครั้ง แต่ยังหาข้อยุติไม่ได้ถึงวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน วิธีการปฏิบัติ และงบประมาณ ตลอดจน ประเทศใดจะเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ (กองทัพไทยเป็นหนึ่งที่เสนอที่จะเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ)

มีประเด็นที่ควรศึกษาถึงแนวคิดของไทย และประสบการณ์ของกองทัพไทย กับการร่วมรบกับอารยประเทศ หรือพันธมิตร ที่จำยอมในการส่งกำลังรบออกนอกประเทศ (FORCE PROJECTION) รวม 5 ครั้ง คือ.-1. สงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2460 (ค.ศ. 1917)2. สงครามอินโดจีน-ฝรั่งเศส (พ.ศ. 2483 - พ.ศ. 2484)3. สงครามมหาเอเซียบูรพา (พ.ศ. 2484 - พ.ศ. 2488)4. สงครามเกาหลี (พ.ศ. 2493 - พ.ศ. 2518)5. สงครามเวียดนาม (พ.ศ. 2510 - พ.ศ. 2518)ทุกกรณีสงคราม และเหตุผลสำคัญ ที่ประเทศไทยส่งกำลังรบออกนอกประเทศนั้น มหาสงครามโลกครั้งที่ 1 นั้น น่าศึกษามากที่สุด

ในห้วง ร.ศ. 122 (พ.ศ. 2420) ฝรั่งเศส ต้องการยึดครองประเทศไทยมากที่สุด แต่ว่าอังกฤษ เยอรมัน และ รัสเซีย ขัดขวาง แต่ไม่วายที่ไทยต้องเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง นครจำปาศักดิ์ พระตะบอง และเสียมราฐ เพื่อแลกกับเอกราชทางศาสนา แต่เมื่อ วิเคราะห์ถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในช่วงนั้น นับว่าไทยกับเยอรมันจะแน่นแฟ้นที่สุด โดยราชทูตไทยเข้าเฝ้าพระเจ้าไกเซอร์ ในปี ค.ศ. 1881 และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฯ เสด็จประพาสเยอรมัน 2 ครั้ง โดยพระเจ้าไกเซอร์ เสด็จมาทรงต้อนรับด้วยพระองค์เอง และประโยชน์ที่ได้รับคือ.-1. ป้องปรามการยึดครองจากประเทศล่าอาณานิคม โดยเฉพาะฝรั่งเศส และอังกฤษ2. การพาณิชย์ และการลงทุน (มีเรือสินค้าของเยอรมัน เทียบท่าไทย 272 ลำ ขณะที่เรืออังกฤษ เทียบท่าเพียง 151 ลำ)3. การถ่ายทอดเทคโนโลยี เช่น การไปรษณีย์ การรถไฟ และการเดินเรือ เป็นต้น4. การยอมรับความทัดเทียมของราชวงศ์และความเป็นอารยประเทศของไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งรับพระราชโอรสหลายพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯให้ได้ศึกษาในเยอรมัน เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ขึ้นระหว่างพันธมิตรเยอรมัน กับพันธมิตร อังกฤษ–ฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. 1914 และต่อมาสหรัฐอเมริกา เข้าร่วมในปี ค.ศ.1917 ประเทศไทยโดยพระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว วางตัวเป็นกลาง จนกระทั่งสหรัฐอเมริกา เมื่อเข้าร่วมสงคราม ได้ออกหนังสือเชิญกลุ่มประเทศที่เป็นกลางเข้าร่วมกับอังกฤษ และฝรั่งเศส โดยอ้างว่าเยอรมันทำสงครามอย่างทารุณ ใช้อาวุธร้ายแรง และขาดมนุษยธรรมในการทำสงคราม

ด้วยพระราชวินิจฉัยอย่างถ่องแท้ ภายใต้ความกดดันรอบด้าน ทั้งกลุ่มฝักใฝ่ และกลุ่มผลประโยชน์เยอรมัน รวมถึง ความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง แต่ทรงมีพระราชโองการให้ประกาศสงครามกับมหาอำนาจฝ่ายกลาง เยอรมัน ออสเตรีย และฮังการี (CENTRAL POWERS) และส่งทหารไปร่วมรบในวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2460 (ค.ศ. 1917) โดยกำหนดข้อพระราชวินิจฉัย ดังนี้.-1. เยอรมัน ทำสงครามแบบป่าเถื่อน2. ไทยโดยจำเป็นต้องต่อสู้เพื่อมนุษยธรรม (หลังจากที่รัฐบาลไทยได้ทำการประท้วงมาแล้วหลายครั้ง)ประโยชน์ที่ได้รับในทันที คือ.-

การศาล ฝรั่งเศส ยอมรับรองว่าทหารไทยย่อมขึ้นกับศาลทหารของไทย โดยมีข้อตกลงที่นาย ปิซอง ลงนามตกลงไว้กับราชทูตไทย เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2461 ตามความสรุปได้ว่า “สาธารรัฐฝรั่งเศส โดยตกลงร่วมกันกับรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงสยาม ยอมรับรองว่าระหว่างสงครามนี้ ศาลทหารไทย มีสิทธิอำนาจอย่างสมบูรณ์ในดินแดนฝรั่งเศส เหนือบุคคลทั้งปวง ที่อยู่ในกองทัพไทย”

ประโยชน์ที่ได้รับหลังชัยชนะต่อเยอรมัน นับว่ามหาศาล เนื่องจากก่อนหน้านี้ ไทยทำสัญญาเสียเปรียบกับประเทศตะวันตก ด้วยอำนาจการทหารของเราด้อยกว่า ดังนั้น ในฐานะผู้ชนะ และร่วมลงนามสัญญาแวร์ซาย พร้อมกับสัมพันธมิตรอังกฤษ ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา ไทยได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงสัญญาทางพระราชไมตรีกับนานาประเทศ เพื่อปลดสภาพนอกอาณาเขต อันจำกัดสิทธิ ในการใช้อธิปไตยของไทยหลายประการ ตลอดจนเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกราชอันสมบูรณ์ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้พระยากัลยาณไมตรี (ดร.ฟรานซิส บี. แซย์ร) ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ ไปเจรจาเปลี่ยนสัญญากับประเทศต่าง ๆ โดยมีสัจวาจาสำคัญควรยกเป็นอนุสรณ์

“………….เราทั้งหมดได้ทำสงครามสู้รบเคียงบ่าเคียงไหล่กันมา เพื่อสิทธิของอนุประเทศ และเพื่อหนทาง อันกว้างขวาง แห่งธรรม ถ้าหากว่า เราได้ทำการต่อสู้เพื่อป้องกันชาติที่อ่อนแอ ให้ผ่านพ้นจากชาติมหาอำนาจ ซึ่งมีความโลภเป็นยิ่งใหญ่ และทำลาย ยุติธรรมแต่ครั้งดั้งเดิม จึงได้ทำสงครามให้เกิดขึ้นดังที่เราได้เคยกล่าวถึงอยู่บ่อย ๆ นั้นแล้ว จะไม่เป็นการถูกหรือยุติธรรมหรือ ที่ประเทศไทย ควรจะเป็นอิสระพ้นจากความกดขี่บังคับของสนธิสัญญาเก่า ๆ ที่ได้ทำมาก่อน ซึ่งบัดนี้ในฐานะของประเทศไทย ได้เจริญเปลี่ยนแปลงก้าวหน้าไปจากเดิมมากแล้ว สมควรแล้วหรือยังที่เราซึ่งเป็นชาติมหาอำนาจ และพูดเสมอว่า จะนำพาทุกอย่าง เพื่อธำรงความอิสระ เสรีภาพ และภราดรภาพ………..”

และสัจวาจานี้ ประธานาธิบดีวิลสัน แห่งสหรัฐอเมริกา ประกาศยกเลิกสัญญาเก่า ที่ทำไว้กับไทยทั้งสิ้น และทำสัญญาใหม่ ที่เป็นธรรมกับไทย เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2467 และเป็นการประกาศ ความเป็นไทอย่างสมบูรณ์ หากพิจารณาแล้ว ผลพลอยได้ ที่ไทยได้รับจนสามารถยืนผงาดในเวทีโลกได้อย่างเต็มที่ในฐานะผู้ชนะ ได้แก่.-1. ได้รับชื่อเสียงเกียรติคุณ โดย ธงไชยเฉลิมพล ได้รับเหรียญกล้าหาญของฝรั่งเศส2. เข้าร่วมทำสัญญาที่มีฐานะทัดเทียมระหว่างประเทศเป็นครั้งแรก3. เป็นสมาชิกริเริ่มสันนิบาตชาติ และนำไปสู่กำเนิดองค์การสหประชาชาติ ในปัจจุบัน4. ได้รับเทคโนโลยีทางการทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสามารถในการบินทางทหารก่อนใคร ๆ ในภูมิภาคอินโดจีน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ความหวังของมนุษย์ที่จะอยู่ร่วมกันโดยสันติมีอยู่ควบคู่กับสงครามมาตลอด แต่ล้มเหลว จนแผนมาร์แชลร์ (MARSHALL PLAN) หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นหัวหอกนำความหวังและความคิด เป็นแผนปฏิบัติให้มีการฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจยุโรปอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งให้มีการปลดปล่อยอาณานิคมทั้งปวง แผนนี้มีอิทธิพลในการนำสู่องค์การสหประชาชาติ ที่ก่อตั้งทดแทนสันนิบาตชาติ (LEAQUES OF NATIONS) ซึ่งล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง และองค์การป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) การนี้ทำให้ นายพล จอร์จ มาร์แชลส์ (GEORGE MARSHALL , 1880 – 1959) ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ในปี ค.ศ. 1953

เมื่อกองทัพเกาหลีเหนือ ใช้กำลังบุกเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2493 เพื่อยึดครอง และขยายอิทธิพลลัทธิคอมมิวนิสต์ สหประชาชาติเหมือนถูกทดสอบ ด้วยแกนนำของสหรัฐอเมริกา จึงได้รวบรวมกองกำลังสหประชาชาติขึ้นเป็นครั้งแรก และประเทศไทย โดยสภาผู้แทนราษฎร และรัฐบาลไทยตัดสินใจส่งกองกำลังเข้าร่วมรบเพื่อปกป้องการทำลายสันติภาพ และป้องกันการขยายอำนาจของการปกครองโดยลัทธิคอมมิวนิสต์ที่ใช้กำลังรุกรานโดยตรง กองทัพทั้งสาม จึงเริ่มส่งกำลังรบและช่วยรบไปสมรภูมิเกาหลี ตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2493 โดย ร.ล.ประแส ร.ล.บางปะกง และ ร.ล.สีชัง ส่วนกำลังหลัก 4,000 คน (ระดับกรมผสม) เดินทางโดยเรือ เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2493 ส่วนหน่วยบินลำเลียงกองทัพอากาศ เดินทางเข้าที่ตั้งฐานทัพอากาศตาชิกาวา (ญี่ปุ่น) ในวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2494 ด้วยเครื่องบิน C-47 (DAKOTA) 3 เครื่อง ประโยชน์ที่ประเทศ และกองทัพไทยได้รับ คือ.-1. สร้างเกียรติประวัติทางการรบทั้งสามเหล่าทัพ โดยเฉพาะกองพันพยัคฆ์น้อย (กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ในสมเด็จพระบรมราชินีนาถในปัจจุบัน) ที่มีชื่อเสียงถึงความกล้าหาญ2. สมาชิกสหประชาชาติ ได้รู้จักประเทศไทย ที่เปลี่ยนชื่อจากสยามประเทศดีขึ้น ทำให้ได้ประโยชน์จากการลงทุน และการพาณิชย์กับนานาประเทศ อันเป็นพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจในปัจจุบัน เช่น แผนพัฒนาประเทศ ฉบับที่ 1 ถูกกำหนดขึ้นเป็นแผนรองรับ3. ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี ยุทธศาสตร์ และยุทธวิธี (สงครามยุคปรมาณู)4. สร้างจุดยืนการต่อต้านการขยายอิทธิพลของลัทธิจักรวรรดิ์นิยมคอมมิวนิสต์อย่างชัดเจนประสบการณ์เหล่านี้มิได้ได้มาง่ายๆ แต่ลงทุนด้วยหยาดเหงื่อและเลือดเนื้อของทหารหาญ ที่มีอาชีพปกป้องความเป็นธรรม และดำรงสันติ ตลอดจนค่าตอบแทนที่คุ้มค่าในการสมัครไปรบ

สภาวะโลกหลังสงครามเย็นไม่ต่างกับสภาวะโลกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีอาณาเขตของแต่ละประเทศถูกยึดรวมโดยมหาอำนาจ เช่น สหภาพโซเวียต บ้าง ประเทศกำลังพัฒนา เช่น อินโดนีเซีย และตกค้างมาแต่ยุคล่าอาณานิคม เช่น ดินแดนแคชเมียร์ ความแตกต่างเรื่องเชื้อชาติและศาสนาเป็นประเด็นสาเหตุที่มีการต่อสู้อย่างรุนแรง ลักษณะฆ่าล้างเผ่าพันธุ์บ้าง เป็นสงครามจำกัดเขตบ้าง และ เป็นสงครามประกาศอิสระภาพบ้าง

ในกรณีติมอร์ตะวันออกก็มิได้ยกเว้น ประเทศไทย นับว่าเป็นประเทศในอาเซียน ที่มีประสบการณ์ ในการรบร่วม กับสหประชาชาติเป็นชาติแรก เพื่อวัตถุประสงค์ในการรักษาสันติภาพ ป้องกันการทำลายล้างชนชาติ และต่อต้านความทารุณโหดร้าย

สิ่งที่ไทยจะได้ในกรณีติมอร์ตะวันออก คงไม่ต่างกับอดีตมากนัก แต่คงจะเปลี่ยนแปลง ตามลักษณะปรัชญาใหม่ ทางการเมือง ระหว่างประเทศ (NEW WORLD ORDER) เราสามารถคาดหวังได้ว่า การเข้าร่วมกองกำลังรักษาสันติภาพในติมอร์ตะวันออกนี้ เราควรจะได้ประโยชน์ตามสมมุติฐานนี้.-1. เป็นตัวแทนของกลุ่มอาเซียนในการดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม มนุษยธรรรม และ ความชอบธรรม ในการดำรงชีวิต ของมวลมนุษย์2. สร้างอิทธิพลทางการเมืองระหว่างประเทศระดับภูมิภาคและโลก ตลอดจนสามารถกำหนดนโยบาย (MAKING AGENDA) ในระดับหนึ่งตามที่ชาวไทยต้องการ3. เปรียบเทียบความสามารถทางการทหาร เพื่อการพัฒนาไปสู่กองทัพรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ (UN- PERMANENT PEACE KEEPING FORCE) ในอนาคต4. แสวงและขยายประโยชน์จากการเข้าร่วมกองกำลังรักษาสันติภาพในด้านเศรษฐกิจ – การพาณิชย์ การเมือง และการทหารสมมุติฐานเหล่านี้ เป็นเพียงเศษส่วนของความคิด แต่จะต้องศึกษาวิเคราะห์อย่างละเอียดถี่ถ้วน เพราะกองทัพพร้อมเสมอ ที่จะปฏิบัติตามแนวทางยุทธศาสตร์ชาติ ผลประโยชน์สูงสุดของชาติ และมวลมนุษย์ จนสามารถเรียกหลักการนี้ว่า หลักการนายกรัฐมนตรีชวน (CHUAN DOCTRINE) ก็คงจะได้ แต่สิ่งสำคัญที่สุด ทหารทุกคนสมัครใจไปปฏิบัติหน้าที่ และอยู่ใน อาณัติงบประมาณของสหประชาชาติ หรืออย่างน้อยก็ออสเตรเลีย ออกให้ก่อนครับ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น