ขณะนี้ได้เปลี่ยนจากเดิมที่แบ่งเป็นรวย-จน นายทุน-กรรมกร มาเป็น มี-ไม่มี หรือ มี-มีน้อย ซึ่งชนชั้นกลางจะพอใจกับความเติบโตเศรษฐกิจ คนจนจะพอใจในภาวะที่มีน้อย ความขัดแย้งทางชนชั้นในสังคมแบบจน-รวยลดลง… สังคมไทยยังไม่สนใจอุดมการณ์การเมือง และประชาชนส่วนใหญ่สนใจแค่ขอให้ปากท้องอิ่ม ดังนั้นเมื่อไทยรักไทยประกาศนโยบายหลัก คือทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ดี กินดี ท้องอิ่ม จึงอาจทำให้พรรคไทยรักไทยอยู่ยาว…
บทวิเคราะห์นี้ทำให้ผมนึกถึงคำกล่าวของอาจารย์หมอประเวศ วะสี ที่ท่านเคยกล่าวไว้ว่า "งานด้านการตลาด จะใช้การวิจัยทุกขั้นตอน อำนาจจึงมากเหลือเกิน การตลาดไม่มีอะไรทานได้เลย เพราะว่าใช้การวิจัยทุกขั้นตอน แต่อย่างอื่นเราไม่ใช้ เรื่องของการศึกษา การสาธารณสุข เรื่องต่างๆ เราไม่ใช้การวิจัย การวิจัยที่ใช้จะใช้มากอยู่สองภาค คือ ภาคธุรกิจกับภาคการสงคราม"
กรณีตัวอย่างของเรื่องนี้คือ งานวิจัยชุด Faces of Thailand จัดทำโดย บริษัท โลว์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งได้มีการบรรยายสื่อมวลชนไปเมื่อสัปดาห์ก่อนและผมก็ได้มีโอกาสไปนั่งฟังด้วย ในขณะที่ “กรุงเทพธุรกิจ” ก็ได้นำเสนอเป็นข่าวหน้าหนึ่งฉบับวันศุกร์ที่ 18 มี.ค.ที่ผ่านมา
Faces of Thailand ไม่ใช่การวิเคราะห์ชนชั้น หรือแบ่งคนเป็น เอ บี ซี ดี แต่ใช้เงื่อนไขทางจิตวิทยา และนำด้านที่ละเอียดอ่อนของความเป็นมนุษย์เพื่อหาแก่นแท้ ซึ่งในแต่ละประเทศจะมีความแตกต่างกัน อย่างเช่นที่เมืองจีน ทางโลว์ก็ได้แบ่งประเภทของคนออกเป็น 9 กลุ่มคือ 1.Emperors 2. Bourgeoisie 3. Spectators 4. Hopefuls 5. Bright Collar 6. Strugglers 7. Achievers 8. Urban Poor และ 9. Missed Out
พอมาสำรวจเมืองไทย ก่อนจะไปถึงการแบ่งประเภท มีผลสำรวจว่า ทุกวันนี้คนไทยไม่ว่าจะยากดีมีจน รู้สึก "รันทด" คือรู้สึกทำนองว่า "ทุกวันนี้ฉันต้องฝ่าฟันและเผชิญกับสิ่งต่างๆ มากมายเพื่อรักษาสภาพชีวิตอย่างที่เป็นอยู่" หรือไม่ก็ "การใช้ชีวิตทุกวันนี้มีความเครียดและแรงกดดันมาก" ผลวิจัยส่วนนี้ผมคิดว่าต่างจากบทสรุปของ ดร.ธีรยุทธ ที่บอกว่า ชนชั้นกลางจะพอใจกับความเติบโตเศรษฐกิจ คนจนจะพอใจในภาวะที่มีน้อย
แต่ทำไม "ภาวะอันรันทด" นี้ทำให้คนแห่ไปเลือกพรรคไทยรักไทย ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล เพื่อให้เป็นรัฐบาลอีก เทียบกับเมื่อ 4 ปีก่อนที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลคนก็รันทดเหมือนกัน แล้วแห่ไปเลือกพรรคไทยรักไทย (นี่ผมว่าเองนะครับ ไม่ใช่ โลว์เขาว่า)
ดร.อธิชาติ สุนทรส กรรมการผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์และงานวิจัยภาคพื้นเอเชีย อาคเนย์ บริษัท โลว์ (ประเทศไทย) จำกัด อธิบายว่า ถึงแม้วันนี้คนไทยจะรันทด แต่เขากลับมองโลกในแง่ดีและมีความเชื่อมั่นโดย
จำนวน 80.29% เชื่อว่า คุณภาพชีวิตของครอบครัวจะต้องดีขึ้นภายในอีก 2 ปีข้างหน้า
จำนวน 76.14% เชื่อว่า วันหนึ่งฉันจะเป็นคนรวย
จำนวน 74.43% เชื่อว่า อุปสรรคที่ประสบอยู่จะผ่านไปในเร็วๆ นี้
จำนวน 63.14% เชื่อว่า วันหนึ่งจะถูกลอตเตอรี่รางวัลใหญ่
"ลักษณะมองโลกในแง่ดีมีสูงมาก แม้จะรู้สึกว่า ตัวเองรันทด คำพูดติดปากของคนที่เราไปทำวิจัยคือ เดี๋ยวมันก็ดีขึ้นมาเองล่ะ มันก็เป็นอย่างนี้ทุกที สัดส่วนของคนที่คิดอย่างนี้เมืองไทยมีมากกว่าคนจีน" ดร.อธิชาติ กล่าวตอนหนึ่ง
แล้วโลว์สรุปว่า เมืองไทยมีผู้บริโภคกี่ประเภท คำตอบคือ 8 ประเภทซึ่ง "กรุงเทพธุรกิจ" ก็รายงานไปแล้วผมเลยขอฉายซ้ำดังนี้
1.บุกเดี่ยว (Self-Maker) 13.17%
2.ตั้งใจ (Eager Rookie) 19.27%
3.รักบ้าน (Optimistic Warm Family) 16.41%
4.สร้างตัว (Better Life Seeker) 13.07%
5.เติมเต็ม (Fancy Free Empty)7.3%
6.เติมฝัน (Fancy Free Teen)7.4%
7.โดดเดี่ยว (Contented Loner) 6.77%
และ 8.บุญทิ้ง(Helpess Needy) 16.6%
การบรรยายต่อสื่อมวลชนในวันนั้น ให้รายละเอียดในคนสองกลุ่มที่น่าสนใจคือ พวกบุกเดี่ยว (Self-Maker) และพวกโดดเดี่ยว (Contented Loner) ที่ยกสองพวกนี้มาเพราะมีฐานะปานกลางเหมือนกัน อายุอยู่ระหว่าง 35 -50 ปีเหมือนกัน แต่ทัศนคติและการดำเนินชีวิตต่างกัน
พวกบุกเดี่ยวมีทัศนคติแบบว่า "ผมกำหนดชีวิตของผมเองและจะทำให้ดีด้วยสองมือของผม" เป็นเจ้าของกิจการที่มีประสบการณ์ เรียนรู้วิธีการทำธุรกิจด้วยตนเองถึงแม้จะมีการศึกษาค่อนข้างน้อย มองโลกในแง่ดี มีความมุ่งมั่นที่จะประสบความสำเร็จสูง และเป็นผู้ที่เริ่มจะมีฐานะ และพร้อมที่จะเปิดรับสิ่งใหม่ๆ ทั้งทางด้านเทคโนโลยีและแฟชั่น
แล้วพวกโดดเดี่ยว (Contented Loner) เป็นอย่างไร พวกนี้เป็นเจ้าของกิจการเล็กๆ ที่ใช้ชีวิตเรียบง่าย มีฐานะปานกลางกึ่งล่าง ไม่ค่อยมีแรงดลใจใดๆ มีกิจกรรมในชีวิตน้อย เป็นคนที่ตามสังคม แต่ไม่ชอบเข้าสังคมขาดความมั่นใจ
คนทั้งสองกลุ่มนี้แท้ที่จริงก็คือ ผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งบางคนที่เป็นพวกโดดเดี่ยว (Contented Loner) ครั้งหนึ่งเขาอาจจะเป็นพวกบุกเดี่ยว (Self-Maker) มาก่อนก็ได้
พวกตั้งใจ (Eager Rookie) เป็นคนกลุ่มใหญ่ที่สุดในประเทศคือ 19.27% แต่ในกรุงเทพฯ พวกนี้มีสูงถึง 35.1% พวกนี้ต้องการประสบความสำเร็จในชีวิตที่ยิ่งใหญ่ รวดเร็ว ส่วนพวกที่ดูจะคล้ายกันคือพวกสร้างตัว(Better Life Seeker) แต่พวกนี้ต้องการมีชีวิต หรือหน้าที่การงานที่ก้าวหน้าขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งในต่างจังหวัดจะมีสัดส่วนที่สูงกว่าในกรุงเทพฯ
อีกพวกที่เป็นกลุ่มใหญ่ของประเทศคือ พวกบุญทิ้ง(Helpess Needy) ทั้งประเทศมี 16.6% แต่ในกรุงเทพฯ มีถึง 26.3% พวกนี้มีฐานะที่จนที่สุดไร้โอกาส หวังได้แค่บนบานศาลกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์
ก็แสดงว่าโครงสร้างทางสังคมจิตวิทยาคนกรุง ถ้าไม่ใช่มีความหวังในชีวิตแบบสุดๆ ก็หมดหวังกับชีวิตไปแล้ว
ที่มา : วิถีทุน : จุมพฏ สายหยุด กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 24 มีนาคม 2548
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น